“คำนูณ” ย้ำรัฐบาลอย่าเพิ่งประกาศยอมปฏิบัติตามศาลโลก หวั่นตัดสินยกบริเวณชุมชน-วัดในพื้นที่พิพาทให้เขมร ด้าน “พล.ร.ท.ประทีป” ชี้ทางออกไทยควรเดินหน้าสานสัมพันธ์กับสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงฯ
เมื่อวันที่ 24 เม.ย. พล.ร.ท.ประทีป ชื่นอารมณ์ อดีตผู้บัญชาการหน่วยปฏิบัติการลำน้ำโขง และ นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ถึงประเด็นคดีปราสาทพระวิหาร
โดยนายคำนูณ กล่าวว่า กัมพูชาไม่ได้ให้ค่ากับเอ็มโอยู 43 มากนัก แต่สำหรับไทยได้หยิบยกขึ้นมาเพื่อบอกว่า ไม่มีปัญหาที่ศาลต้องเข้ามาตีความ เพราะมีกรอบการเจรจาตามเอ็มโอยู 43 อยู่แล้ว
การจัดทำหลักเขตแดน มีหลัก 3 D 1.Definition 2.Delimitation (การปักปันเขตแดน)3.Demarcation (การจัดทำหลักเขตแดน) โดยกัมพูชาบอกว่าเราสับสนระหว่าง Delimitation กับ Demarcation แล้วบอกด้วยว่ามันไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะเอ็มโอยู 43 เป็นแค่การจัดทำหลักเขตแดน ซึ่งเขายืนยันมาตลอดตามคำพิพากษาศาลปี 2505 ให้เป็นไปตามแผนที่ annex I แล้วเอ็มโอยู 43 ที่จะจัดทำหลักเขตแดนนั้นก็ต้องจัดทำไปตามนั้น
นายคำนูณ กล่าวต่อว่า ที่เป็นห่วงคือ ชุมชนกับวัด ตนคิดว่ากัมพูชาก็ให้น้ำหนักตรงจุดนี้มาก เพราะดูเหมือนว่าเขาต้องการพื้นที่ทางตะวันตกของตัวปราสาทพระวิหาร แต่ข้อต่อสู้ของไทยที่บอกเราได้ประท้วงไป ตรงนี้พอหรือไม่
เมื่อถามถามว่า ระหว่างรอคำตัดสินของศาลโลกไทยควรมีจุดยืนอย่างไร นายคำนูณ กล่าวว่า ถ้าคนไทยส่วนใหญ่วางท่าทีต่อศาลโลก แบบที่ ส.ส.-ส.ว. ที่ขอยื่นแก้รัฐธรรมนูญ และเหมือนเสื้อแดงที่ทำต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะถ้าศาลโลกตัดสินเกินขอบเขตอำนาจก็ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตาม
ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรในประเทศที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ถ้าจะไม่รับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ จะไม่เกิดเรื่องยุ่งกันตายหรือ แต่ศาลโลกเป็นองค์กรโลกบาล ไม่ใช่ทุกประเทศที่อยู่ภายใต้ปฏิญญาศาลโลก แล้วไทยก็ไม่ได้ต่ออายุปฏิญญาการยอมรับอำนาจศาลโลกมานานแล้ว เอาศาลโลก และศาลรัฐธรรมนูญไปเปรียบเทียบดูจะตัดสินได้ไม่ยาก
ส่วนผลตัดสินนั้นยากที่จะคาดเดาได้ ขนาดปี 2505 ก็ไม่มีใครคาดว่าศาลโลกจะเอากฎหมายปิดปากมาใช้กับคดีที่เป็นสินธิสัญญา และให้ยอมรับแผนที่ที่ถูกตีตกไปแล้ว รวมถึงคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก็ตัดสินล้ำไปในดินแดนที่ไม่มีข้อพิพาท แต่เราก็ยอมปฏิบัติตาม
ฉะนั้น นาทีนี้อย่าเพิ่งไปลั่นวาจาว่า ไม่ว่าศาลจะตัดสินใจอย่างไรก็จะเคารพและปฏิบัติตาม กัมพูชาสามารถพูดได้เพราะมีแต่ได้ แต่ไทยมีแต่สียกับเสมอตัว คำพิพากษาออกมาอย่างไร ก็ยังมีเวลากลับมาคิด แม้ว่าการแถลงด้วยวาจาทีมทนายของไทยทำได้ดี แต่ประเด็นแพ้ชนะมันอยู่นอกเหนือจากนี้ ฉะนั้น อย่าตกปากรับคำ
ศ.เจมส์ ครอว์ฟอร์ด (ทนายความชาวออสซี่ของฝ่ายไทย) บอกว่า ทางเลวร้ายที่สุดคือตัดสินให้เป็นไปตามแผนที่ annex I ไม่น่าจะเกิดขึ้น ซึ่งตนก็เชื่ออย่างนั้น แต่มีความเป็นไปได้ที่ศาลจะกำหนดออกมาให้ครอบคลุมวัด ถนน ชุมชน ตีแล้วก็ประมาณครึ่งหนึ่งของ 4.6 ตร.กม. แบบนี้ถือว่าเป็นชัยชนะหรือไม่ และถ้าเป็นเช่นนั้นจะมีคำถามตามมาอีกเยอะ ว่า ปี 2540-2556 ใครบ้างทั้งในระดับนโยบาย และระดับปฏิบัติการ เปิดโอกาสให้กัมพูชาเสมือนใช้อำนาจอธิปไตยในบริเวณนั้นได้ และทำให้เขาเอาไปใช้เป็นข้ออ้างต่อศาล ฉะนั้น วันนี้ชื่นชมทีมทนายได้ ท่านทำได้ดีในระดับเท่าที่จะทำได้ แต่นี่เป็นหนังชีวิตต้องดูคำพิพากษาที่จะออกมาด้วย
พล.ร.ท.ประทีป กล่าวว่า แต่ไทยได้พูดล่วงหน้าว่าจะทำตามคำสั่งศาลตั้งแต่ก่อนไปกรุงเฮกด้วยซ้ำ ซึ่งกรณีนี้ทำให้เห็นว่า กัมพูชามุ่งมั่นจริงจังในการรักษาแผ่นดิน ด้วยการยืนยันให้เป็นไปตามแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน แต่ไทยหลายยุคหลายสมัยกลับไม่จริงจังรักษาแผ่นดินด้วยการยึดมั่นให้เป็นไปตามสันปันน้ำ
นอกจากนี้ ถ้าคิดว่าจะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลโลก กรณีผลออกมาไม่เป็นคุณ ก็ต้องหันกลับมาถามว่า นักการเมืองที่รับผิดชอบ และประชาชนพร้อมหรือยังที่จะแบกรับภาระกับโจทย์ที่เกิดขึ้น โดยโจทย์ที่เลวร้ายที่สุดคือ การถูกแซงก์ชันจากคณะมนตรีความมั่นคง การแก้ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ มีประเทศมหาอำนาจหลายประเทศไม่ทำตามศาลโลก แต่ไม่ได้หมายความว่าชาติเล็กๆ อย่างไทยจะหมดหนทาง ถ้านักการเมืองมีวิสัยทัศน์ มีความสามารถในการเดินเกมการเมืองระหว่างประเทศ สานสัมพันธ์กับสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคง ก็สามารถทำได้ มันมีช่องทางของมัน แต่ว่ามันสายไปเสียแล้ว