xs
xsm
sm
md
lg

“คำนูณ” วอนรัฐอย่าปากโป้งทำตามศาลโลก แนะถามคนไทยก่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“คำนูณ” ย้ำศาลโลกไม่มีสิทธิ์ตีความเกินเลยไปจากคำพิพากษาปี 2505 วอนรัฐอย่าพูดจะปฏิบัติตามคำสั่ง เพราะมันมีผลผูกพัน แนะต้องถามคนไทยก่อนตัดสินใจ


เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 56 นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา และ ดร.สุวันชัย แสงสุขเอี่ยม อดีตสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV ต่อข้อถามที่ว่าต้องการเห็นประเทศไทยมีจุดยืนอย่างไร ถึงกรณีที่ต้องไปแถลงด้วยวาจาต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ในคดีที่กัมพูชายื่นขอตีความคำตัดสินปี 2505 ระหว่างวันที่ 15-19 เม.ย. 56

นายคำนูณกล่าวว่า คำตัดสินของศาลโลกในคดีปราสาทพระวิหารปี 2505 มีแค่บทปฏิบัติการใน 3 ประเด็นคือ 1.ปราสาทพระวิหารอยู่ใต้อธิปไตยของกัมพุชา 2.ไทยต้องถอนทหารออกมา 3.ไทยต้องคืนสิ่งของวัตถุโบราณให้เขมร มีแค่ 3 ข้อนี้ แต่ศาลไม่ได้ตัดสินเรื่องความถูกต้องของแผนที่ระวางดงรัก รวมทั้งไม่ได้พิพากษาเรื่องเขตแดน ทั้งนี้ กัมพูชาได้ขอให้ศาลพิพากษาไปทั้งหมด 5 ข้อ รวมทั้งเรื่องเขตแดนด้วย

นายคำนูณกล่าวต่อว่า การตีความคำพิพากษาของศาลโลกตามมาตรา 60 จะตีความตามบทปฏิบัติการเท่านั้น ไม่ตีความเหตุผลคำพิพากษา การที่ศาลรับตีความครั้งนี้ จนถึงกับมีคำสั่งออกมาตรการคุ้มครองนั้น ต้องดูว่าศาลจะก้าวล่วงไปถึงเหตุผลบทปฏิบัติการ หรือจะตีความเฉพาะตามบทปฏิบัติการ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากจะคาดเดาและน่าเป็นห่วง

สิ่งที่เราเคยมั่นใจมาตลอด โดยเฉพาะเรื่องการล้อมรั้วบริเวณรอบปราสาทพระวิหาร ตามมติครม.ของไทย วันที่ 10 ก.ค.2505 ภายหลังคำพิพากษาของศาลโลก ซึ่งกัมพูชาไม่เคยคัดค้าน อย่างไรก็ตาม มีเอกสารว่า กัมพูชาเคยร้องคัดค้านต่อคณะมนตรีความมั่นคงเมื่อปี 1966 รวมทั้งที่บอกว่า สมเด็จเจ้าสีหนุ ก็ไม่เคยคัดค้านตอนขึ้นไปปราสาทยังต้องปีนขึ้นทางช่องบันไดหัก ก็มีหลักฐานใหม่ว่า สมเด็จสีหนุเคยมีพระราชดำรัสไม่เห็นด้วยกับการล้อมรั้วดังกล่าว ดังนั้นถ้าเราจะอ้างว่า กัมพูชาไม่เคยคัดค้าน ก็จะไม่มีน้ำหนัก

นายคำนูณกล่าวอีกว่า เห็นด้วยที่ตัวแทนประเทศไทยจะไปศาลในวันที่ 15-19 เม.ย.นี้ เพื่อรักษาสิทธิ ถ้าไม่ไปแล้วปล่อยให้ศาลพิจารณาฝ่ายเดียวยิ่งหนักหนาสาหัสเข้าไปใหญ่ แต่ไม่ใช่แปลว่าไปแล้วต้องยอมรับปฏิบัติตามทุกสิ่งที่ศาลสั่งมา เราพลาดไปแล้วขั้นหนึ่งคือการทำตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว และท่าทีของเราที่เป็นมาตลอดคือไปให้ค่ากับคำตัดสินของศาลโลกสูงเกินกว่าที่เป็นจริง เปรียบเสมือนการสู่สนามสงครามถ้าเราไม่เก็บหมัดเด็ดไว้บ้าง รีบไปประกาศว่าจะปฏิบัติตามทั้งหมด ทำให้การตัดสินของศาลไม่ต้องกังวลว่าถ้าคำตัดสินเป็นผลร้าย ประเทศไทยจะมีปฏิกิริยาอย่างไร นี่คือข้อเสียอย่างใหญ่หลวง

นายคำนูณกล่าวอีกว่า กฎเกณฑ์ที่ว่าการตีความคำพิพากษาตามธรรมนูญศาลโลก มาตรา 60 ไม่มีกำหนดระยะเวลา ตนเห็นว่าโดยลายลักษณ์เป็นแบบนั้นก็จริง แต่โดยประเพณีปฏิบัติไม่เคยมีคดีใดที่เกิน 4 ปีเลย แต่คดีนี้เกือบ 50 ปี เราควรต้องพิจารณาว่ามันมากเกินไปหรือเปล่า ที่เราไปยอมรับให้องค์กรใดองค์กรหนึ่งเข้ามามีสิทธิอำนาจเหนือประเทศไทยมากเกินไป

แต่เมื่อยอมรับไปแล้ว ใช้ทฤษฎีเหมือนเราปิดประตูศาลโลกไปเมื่อปี 2503 แต่ยังมีรูส่องลำแสงเล็กๆที่ส่งผลผูกพันต่อเราไปชั่วกัลปาวสาน คือมาตรา 60 แต่มันก็เป็นเพียงรูที่มีลำแสงเล็กๆ การตีความของศาลโลกก็ควรต้องมีขอบเขตอำนาจตามลำแสงเล็กๆนี้ คือต้องไม่เกินเลยไปจากคำพิพากษาปี 2505

“คิดว่าเรามีบทเรียนความเจ็บปวดมาพอแล้ว ไม่มีใครรู้เลยว่าคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวจะออกมาอย่างนี้ เมื่อปี 2505 ก็ไม่มีคาดคิดว่าผลจะออกมาอย่างไร ถึงวันนี้ไม่สามารถเสนอแนะอะไรมากไปกว่านี้ ขออย่างเดียว อย่าเพิ่งพูดว่าจะปฏิบัติตามทุกประการ เพราะมันมีผลผูกพัน ต้องถามคนไทยก่อน” นายคำนูณระบุ

นายสุวันชัยกล่าวว่า จุดยืนไทยคงต้องอิงในแง่เงื่อนไขที่ศาลจะรับพิจารณาในเรื่องการตีความ ต้องพยายามหักล้างสิ่งที่กัมพูชาเสนอ ว่ามันไม่เข้าเงื่อนไขในการตีความ ที่สำคัญคือต้องพูดชัดเจนว่าการตีความนั้น ศาลไม่สามารถทำได้ในส่วนของสิ่งที่ศาลไม่ได้ตัดสิน

ตนไม่ได้ห้ามให้รัฐบาลทำตามคำตัดสิน แต่อยากให้ตระหนักว่าเมื่อศาลตัดสินแล้ว ต้องพิจารณาว่าคำตัดสินอยู่ในขอบเขตอำนาจของศาลหรือไม่ เพราะไทยมีอธิปไตยของเราเอง ถ้าศาลโลกไม่ได้ดำเนินตามกติกาธรรมนูญศาลโลก เขาตัดสินในส่วนที่เกินขอบเขตอำนาจ เรามีความชอบธรรมที่จะโต้แย้ง

แล้วที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 1946-2003 มีการออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวทั้งหมด 11 คำสั่ง แต่มีแค่คำสั่งเดียวที่มีการปฏิบัติตาม เพราะเมื่อสองประเทศเห็นว่าคำพิพากษาไม่สมเหตุสมผล ก็มีสิทธิที่จะไม่ยินยอมปฏิบัติตาม อีกทั้งไม่มีมาตรการใดๆไปบังคับให้ทำตามคำสั่งด้วย ฉะนั้นมันเป็นสิทธิที่เราสามารถทำได้ แล้วเรามีทางต่อสู้ในส่วนของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่ประกอบไปด้วย 5 ประเทศสมาชิกถาวรหากเห็นว่าศาลตัดสินเกินขอบเขตอำนาจ

นายสุวันชัยกล่าวด้วยว่า การที่เราเข้าสู่กระบวนการสู้คดี ไม่ได้หมายความว่าต้องไปยอมรับ นี่เป็นการตีความคดีเก่า ซึ่งเราไม่ได้ยอมรับอำนาจศาลโลกตั้งแต่หมดอายุไปตอนปี 2503 แต่คดีนี้มันเข้ามาได้เพราะเป็นคดีที่เราเคยยอมรับอำนาจศาลในปี 2502 และกัมพูชามีสิทธิยื่นตีความ ซึ่งในธรรมนูญศาลโลกกำหนดว่าถ้าคู่กรณีไม่ไปให้การ คู่พิพาทสามารถขอให้ศาลตัดสิน โดยไม่ตอ้งฟังคำให้การของอีกฝ่ายได้ ต่อให้เราไปหรือไม่ไป ศาลก็สามารถตัดสินได้อยู่แล้ว แต่การที่ไปเกิดประโยชน์ในแง่ไปให้ข้อมูล แต่การปฎิบัติต้องพิจารณาหลังจากมีคำตัดสิน



กำลังโหลดความคิดเห็น