xs
xsm
sm
md
lg

“คำนูณ” ซัดคนทำเอกสาร “50 ประเด็น พระวิหาร” มือไม่ถึง มีนัยแก้ต่างให้กต.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“คำนูณ” ย้ำขอให้ทบทวนนิยามสันปันน้ำในเอกสาร “50 ปี 50 ประเด็น ปราสาทพระวิหาร” หวั่นกระทบการเจรจาเขตแดนในอนาคต ชี้คนทำมือไม่ถึง มีนัยต้องการแก้ต่างให้ กต.กรณีไปทำจอยต์คอมมูนิเก ด้าน “ดร.สุวรรณชัย” แนะใช้กฎบัตรสหประชาชาติ มาตรา 94 สู้กลับกัมพูชา ในเมื่อกล่าวหาไทยละเมิดศาลโลก ผ่านมากว่า 50 ปี ทำไมไม่ยื่นฟ้องคณะมนตรีความมั่นคงฯ

 คลิกที่นี่ เพื่อฟัง รายการ คนเคาะข่าว 

วันที่ 5 ก.พ. 56 นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา และ ดร.สุวันชัย แสงสุขเอี่ยม อดีตสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ร่วมสนทนาในรายการ “คนเคาะข่าว” ทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV

โดยนายคำนูณกล่าวถึงเอกสาร 50 ปี 50 ประเด็นถาม-ตอบกรณีปราสาทพระวิหาร เดิมทีตามอนุสัญญา1904 ข้อ 1 ระบุไว้ว่าเส้นเขตแดนไทย-กัมพูชา ก็คือแนวสันปันน้ำ และแนวสันปันน้ำที่ไทยยึดถือก็คือแนวขอบหน้าผา ฉะนั้น ไทยจึงถือว่าปราสาทพระวิหารเป็นของไทย นี่คือการต่อสู้คดีในปี 2502-2505 และเราก็ยึดถือตามนี้มาตลอด ทีนี้พอกัมพูชาเอาแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน ระวางดงรัก มาเป็นคำฟ้อง เส้นเขตแดนจึงเปลี่ยนไป ไม่ใช่แนวหน้าผา และแม้ว่าศาลโลกจะตัดสินว่าให้ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชาแต่ก็ไม่ได้พูดถึงเรื่องเขตแดน

แต่กระทรวงการต่างประเทศกลับมามีนิยามสันปันน้ำว่า “อาจไม่ใช่สันเขาหรือขอบหน้าผาก็ได้” และ “บริเวณปราสาทพระวิหารจนถึงบัดนี้ยังไม่เคยมีการสำรวจหาสันปันน้ำในภูมิประเทศจริง” แปลว่าเราไม่ยืนยันเส้นที่เคยยืนยันมาตลอด เพราะบอกว่าสันปันน้ำอาจไม่ใช่หน้าผา แล้วไปยืนยันอีกว่าบริเวณนี้ไม่เคยสำรวจหาสันปันน้ำในภูมิประเทศจริงมาก่อน ถามว่าทำไปทำไม เมื่อรองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ (นายณัฏฐวุฒิ โพธิสาโร) บอกว่าเอกสารนี้ไม่เกี่ยวกับการต่อสู้ในศาลโลก ที่จะมีคำพิพากษาในปีนี้ ในเมื่อไม่เกี่ยว ตนขอถามว่าแล้วจะใส่นิยามสันปันน้ำแบบวิปริตผิดเพศเข้ามาทำไม

ตนท้วงติงว่าที่จะพิมพ์ 1 แสนฉบับเพื่อแจกจ่าย อย่าเพิ่งได้ไหม เอาไปทบทวนใหม่ได้ไหม หรือแค่ดึงนิยามสันปันน้ำออกก็ยังดี แต่ท่านกลับมาบอกว่าถูกต้องแล้ว และกำลังถลำลึกไปไกล

สิ่งที่ตนพูดมาตลอด ยืนอยู่บนความคิดที่ว่าเขตแดนไทย-กัมพูชามีทั้งสิ้น 800 กว่ากิโลเมตร 603 กิโลเมตร มีหลักเขตแดน แต่ 195 กิโลเมตร ไม่มีหลักเขตแดน ตรงนี้มันมีสองแนวคิดที่ต่างกันอยู่ แนวความคิดของนักวิชาการภาคประชาชน เช่น ศ.ดร.สมปอง สุจริตกุล มองว่า 195 กิโลเมตร ไทย-ฝรั่งเศส เมื่อ ค.ศ. 1904-1907 ตกลงกันว่าไม่ปักหลักเขตแดน เพราะสภาพธรรมชาติมันแบ่งเขตแดนชัดเจนอยู่แล้ว เพราะเป็นสันเขาของภูเขาดงรัก และจากเอกสารการต่อสู้ฝ่ายไทยในคดีปราสาทภาคแรก ไทยต่อสู้คดีนี้ว่าเขตแดนไทยคือสันปันน้ำ ตามอนุสัญญา1904 และสันปันน้ำอยู่ที่หน้าผา

ตอนนั้นศาลโลกไม่ค่อยได้รับฟังข้อเท็จจริงเท่าไหร่ เพราะมุ่งไปที่แผนที่ 1 ต่อ 2 แสน และอาศัยว่าไทยไม่คัดค้าน แต่กระนั้นก็ดีศาลไม่ได้พิพากษาเรื่องเขตแดน ศาลเพียงแต่บอกว่าปราสาทอยู่ภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา ศาลก็ไม่ได้บอกว่าที่ไทยต่อสู้ไม่ถูก ไม่มีใครในโลกนี้มาบอกได้ว่าไทยต่อสู้ไปไม่ถูกต้อง ถามว่าในเมื่อข้อต่อสู้ของไทยเมื่อ 2505 มันจบแล้ว ว่าเขตแดนอยู่ที่สันปันน้ำ สันปันน้ำอยู่ที่หน้าผา บรรพบุรุษไทยต่อสู้ไว้อย่างนี้ ทำไมกระทรวงการต่างประเทศวันนี้กำลังถลำลึกลงไปทำนองว่าการต่อสู้ปี 2505 ยังเชื่อถือไม่ได้ หรือถ้าท่านเชื่อบริสุทธิ์ใจอย่างนั้นจริงๆ แต่ภาคประชาชนเชื่ออีกอย่างหนึ่ง ท่านควรพูดหรือไม่ ในเมื่อเรื่องเขตแดนยังต้องสู้กันต่อไป เอาสมองส่วนไหนคิดเอานิยามนี้ออกมา

นายคำนูณกล่าวต่อว่า การถลำลึกครั้งนี้กับคดีที่จะพิพากษาอาจไม่เกี่ยวโดยตรง แต่การเจรจาเขตแดนต่อไปในอนาคตมีผลแน่ โดยเฉพาะช่วง 195 กิโลเมตร อีกทั้งกระทรวงการต่างประเทศพูดเหมือนว่าจะให้เจบีซีทบทวนเขตแดนใหม่ทั้งหมด ทั้งที่ตามเอ็มโอยู 2543 แค่ให้ตามหาหลักเขตแดนที่อาจหายไป ตรงนี้กำลังทำให้คนไทยเข้าใจผิด

“คนทำเอกสารชุดนี้มือไม่ถึง การตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อชี้แจงคดีหรือเตรียมรับมือคำพิพากษาปลายปีนี้ แต่ไปเอาประเด็นมรดกโลกมาพ่วงเข้าไว้ มันทำให้ทิศทางสับสน เหมือนกับว่าต้องการแก้ต่างให้กระทรวงการต่างประเทศในการไปทำจอยต์คอมมูนิเก ทั้งที่จริงไม่เกี่ยวในประเด็นเลย สันปันน้ำก็ไม่เกี่ยวกับคดี แต่จะยืดยาวต่อไปในอนาคต” นายคำนูณระบุ

ดร.สุวันชัยกล่าวว่า เรื่องสันปันน้ำโดยหลักสากล เวลาตกลงเรื่องเขตแดนจะใช้สิ่งที่สังเกตง่าย อย่างถ้ามีเทือกเขาก็ใช้สันปันน้ำ เป็นแม่น้ำก็ใช้ร่องน้ำ ยกเว้นบริเวณที่ไม่มีอะไรสังเกตได้ง่ายถึงจะทำหลักเขตแดน สมัยก่อนบริเวณพระวิหารถึงไม่ทำหลักเขตแดน ก็เพราะมันเป็นแนวสันปันน้ำชัดเจน การที่เขียนว่าต้องใช้เครื่องมือทางเทคนิค อันนี้ไม่ใช่เลย

ย้อนกลับไปปี 2502-2505 เราให้ผู้เชี่ยวชาญมาทำแผนที่ยืนยัน แล้วผู้พิพากษาเสียงข้างน้อยท่านหนึ่งก็บอกว่าสันปันน้ำเป็นไปตามที่ไทยยืนยัน หรือแม้แต่ผู้พิพากษาเสียงข้างมากแม้ให้ตัวปราสาทเป็นของกัมพูชา แต่เขายังบอกเลยว่าแนวสันปันน้ำที่ไทยยืนยันมันถูกต้อง แต่เราแพ้เพราะกฎหมายปิดปาก ที่มีโอกาสท้วงติงแต่ไม่ท้วงติง

ดร.สุวันชัยกล่าวต่อว่า ถ้าจะนิยามขอให้ไปเอาคำนิยามสากลก็ได้ว่าสันปันน้ำคืออะไร แต่อันนี้มีการเติมถ้อยคำ ถ้าจะลงก็ควรลงให้ถูกต้อง

ดร.สุวันชัยยังกล่าวด้วยว่า กฎบัตรสหประชาชาติ มาตรา 94 บอกว่าต้องปฏิบัติตามศาลโลก ส่วนหนึ่งที่กระทรวงการต่างประเทศพูดเสมอว่าหากไม่ทำตามคำพิพากษา คณะมนตรีความมั่นคงฯ จะเข้ามาแทรกแซง ตนขอแนะนำว่าในเมื่อกลัวมาตรานี้มาก ก็ควรใช้มาตรานี้ให้เป็นประโยชน์ ด้วยการต่อสู้ว่าในเมื่อกัมพูชาหาว่าไทยไม่ทำตามคำพิพากษาศาลโลกเมื่อปี 2505 แต่ทำไมกัมพูชาไม่ใช้มาตรา 94 วรรค 2 ไปยื่นคณะมนตรีความมั่นคงฯ ปล่อยให้เวลาล่วงเลยมากว่า 50 ปี ตรงนี้ควรใช้ให้เป็นประโยชน์ในการสู้คดี และก็เป็นหลักฐานแสดงให้เห็นว่ากัมพูชายอมรับการปฏิบัติของเรามาตลอด แต่เรากลับใช้มาตรา 94 มาบังคับเราเอง



กำลังโหลดความคิดเห็น