xs
xsm
sm
md
lg

บัวแก้วย้ำใช้ประเด็นศาลโลกไม่มีอำนาจพิจารณาสู้คดีเขาพระวิหาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พื้นที่เขาพระวิหาร (แฟ้มภาพ)
อธิบดีกรมสนธิสัญญาฯ ย้ำไทยสู้เขมรฮุบเขาพระวิหารในประเด็นศาลโลกไม่มีอำนาจพิจารณาคดี เหตุกัมพูชาเจ้าเล่ห์ยื่นอุทธรณ์คดีใหม่แฝงในรูปการยื่นตีความ ผิดธรรมนูญศาล ประเมิน 4 แนวทางพิพากษา ยันไทยต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาลโลก ไม่เช่นนั้นจะเข้าข่ายผิดต่อกฎบัตรสหประชาชาติ ข้อ 94 อ้างทุกประเทศบิดพลิ้วไม่ได้ แม้แต่สหรัฐฯ ยังไม่กล้าหือ

ที่รัฐสภา วันนี้ (16 ม.ค.) มีการประชุมคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ มี นพ.เหวง โตจิราการ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณากรณีศาลโลกจะมีคำพิพากษากรณีพื้นที่ทับซ้อนรอบปราสาทพระวิหาร โดยเชิญนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศมาชี้แจง แต่นายสุรพงษ์ติดภารกิจจึงมอบให้นายวรเดช วีระเวคิน อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ และนายดามพ์ บุญธรรม ผอ.กองเขตแดน กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงแทน

ผอ.กองเขตแดน กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ยืนยันว่ากรอบแนวทางการต่อสู้ในการแถลงคดีด้วยวาจาในวันที่ 15-19 เม.ย.นั้น ทีมกฎหมายไทยจะชี้แจงต่อศาลว่าไม่มีอำนาจในการตีความคดีครั้งนี้ โดยประกอบด้วย 3 แนวทาง ได้แก่ 1. การชี้แจงคัดค้านว่าศาลไม่มีอำนาจในการตีความพื้นที่ทับซ้อน เพราะถึงแม้ธรรมนูญศาลจะให้อำนาจศาลตีความใหม่ในคดีเดิมที่เคยมีคำพิพากษาไปแล้วโดยไม่มีอายุความ แต่ทางกัมพูชาดำเนินการไม่ถูกต้อง เพราะทางกัมพูชายื่นให้ศาลตีความคดีเดิมในเรื่องใหม่คือ ให้ตีความพื้นที่ทับซ้อนไม่ใช่ตัวปราสาทเขาพระวิหาร เปรียบเสมือนกัมพูชาซ่อนอุทธรณ์ในการยื่นตีความต่อศาลครั้งนี้

2. ชี้แจงต่อศาลว่าระยะเวลาที่ผ่านมาไม่ได้เกิดข้อพิพาทใดในเรื่องของการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลในปี 2505 โดยมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของไทยได้อนุมัติให้มีการล้อมรั้วครอบคลุมพื้นที่ทับซ้อน และกัมพูชาไม่ได้มีการโต้แย้งใดในรอบ 50 ปีที่ผ่านมาเหมือนเป็นการยอมรับสิทธิในพื้นที่ทับซ้อนของไทย 3. ชี้แจงต่อศาลว่าทางกัมพูชาไม่มีอำนาจในการยื่นตีความ เพราะยื่นตีความโดยไม่ถูกต้อง เป็นในลักษณะการอุทธรณ์ที่ซ่อนรูปในการตีความ ซึ่งแท้จริงแล้วธรรมนูญศาลไม่ได้ให้อำนาจในการอุทธรณ์ในคดีที่มีคำพิพากษาสิ้นสุดไปแล้วตั้งแต่ปี 2505

นายวรเดชชี้แจงว่า ทางกระทรวงการต่างประเทศได้ประเมินแนวทางคำพิพากษาของศาลไว้ 4 แนวทาง ประกอบด้วย 1. ศาลยกฟ้อง เพราะไม่มีอำนาจในการพิจารณาคดีนี้ ซึ่งส่งผลให้ไทยได้สิทธิตามสถานะเดิมหลังคำพิพากษาในปี 2505 2. ศาลระบุว่าศาลเองมีอำนาจในการพิจารณาคดีและพิพากษาให้ยึดอธิปไตยของไทยเหนือพื้นที่ทับซ้อนตามที่มติ ครม.ของไทยเมื่อปี 2505 ที่อนุมัติให้มีการล้อมรั้ว 3. ศาลพิพากษาให้อำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่เป็นของกัมพูชา โดยยึดแผนที่ 1 : 200,000 ที่ทางกัมพูชาใช้กล่าวอ้าง และ 4. คำพิพากษาของศาลออกมาในแนวทางเป็นกลาง ไม่เข้าข้างใดข้างหนึ่ง เนื่องจากมีคณะตุลาการร่วมวินิจฉัยทั้งสิ้นรวม 17 คน โดยศาลอาจออกมาตรการบังคับอื่นแทน ซึ่งไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเป็นแนวทางใด

นายดามพ์กล่าวเพิ่มเติมว่า คาดหวังว่าศาลจะมีคำพิพากษาในแนวทางแรก คือ ยกฟ้องการยื่นตีความของกัมพูชา แต่ที่สุดแล้วไม่สามารถไปสรุปแทนศาลได้ว่าคำพิพากษาจะออกมาแนวทางใด อย่างไรก็ตาม คาดว่าหลังจากมีการแถลงด้วยวาจาแล้ว ศาลจะพิพากษาในราวเดือน ต.ค. โดยยืนยันว่าไทยจะยอมรับคำพิพากษาของศาล และนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.เพื่อกำหนดแนวทางการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล

“หากไม่ยอมรับอำนาจศาลโลกอาจเข้าข่ายผิดต่อกฎบัตรสหประชาชาติข้อ 94 ที่ระบุว่าหากผู้เป็นฝ่ายในคดีฝ่ายใดไม่สามารถปฏิบัติตามข้อผูกพันซึ่งตกอยู่แก่ตนตามคำพิพากษาของศาล ผู้เป็นฝ่ายอีกฝ่ายหนึ่งอาจร้องเรียนไปยังคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้ ซึ่งถ้าเห็นจำเป็นก็อาจทำคำแนะนำหรือวินิจฉัยมาตรการที่จะดำเนินเพื่อให้เกิดผลตามคำพิพากษานั้น”

ทั้งนี้ นายดามพ์ยังกล่าวถึงข้อเรียกร้องของกลุ่มการเมืองบางฝ่ายที่ระบุไม่ให้ไทยรับอำนาจศาลโลก และไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลว่า ต้องทำความเข้าใจว่าการไม่รับอำนาจศาลโลกได้นั้นต้องเกิดขึ้นในกรณีที่เป็นคดีความที่เกิดขึ้นใหม่ แต่คดีนี้เป็นคดีเดียวกับที่ศาลเคยมีคำพิพากษาไปตั้งแต่ปี 2505 ให้ปราสาทพระวิหารตกเป็นของกัมพูชา ดังนั้นถือว่าไทยรับอำนาจศาลโลกไปแล้ว แต่ประเด็นในการต่อสู้ครั้งนี้คือการชี้แจงว่าศาลไม่มีอำนาจในการตีความคดีเดิมที่เสมือนเป็นการอุทธรณ์ตามที่ทางกัมพูชาได้ยื่นคำร้อง เพราะธรรมนูญศาลโลกไม่ได้ให้อำนาจไว้

นายดามพ์ยังย้ำอีกว่า ที่ผ่านมายังไม่พบว่ามีประเทศใดในองค์การสหประชาชาติที่ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลก กรณีที่นายสมปอง สุจริตกุล อดีตทนายความประสานงานคดีปราสาทพระวิหาร ระบุว่าสหรัฐอเมริกาไม่ได้ปฏิบัติตามคำพิพากษานั้นอาจเกิดความเข้าใจผิด ทั้งนี้ยอมรับว่าสหรัฐฯ ได้ประหารชีวิตนักโทษเม็กซิโกจริงทั้งที่คดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลโลก แต่อันเนื่องมาจากการแก้ไขกฎหมายภายในประเทศไม่ทันการณ์ โดยรัฐบาลกลางได้ประกาศเจตนารมณ์ชัดที่จะปฏิบัติตามคำสั่งของศาลโลกแล้ว เพียงแต่แก้กฎหมายภายในประเทศให้สอดคล้องกับศาลไมทันเท่านั้น จึงขอยืนยันว่าสหรัฐฯ ไม่ได้แสดงท่าทีเป็นปฏิปักษ์ต่อศาลแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ในส่วนที่มีการเรียกร้องให้นายสมปองเป็นหนึ่งในคณะทำงานด้านกฎหมายต่อสู้คดีปราสาทพระวิหารนั้น ทางกระทรวงการต่างประเทศยินดีรับฟังและนำไปพิจารณา แต่จะมีการแต่งตั้งหรือไม่ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของ รมว.ต่างประเทศ


กำลังโหลดความคิดเห็น