ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -กรณีข้อพิพาทระหว่างราชอาณาจักรไทยและราชอาณาจักรกัมพูชาอันมีผลพวงมาจากปัญหาปราสาทพระวิหารนั้น ได้ทำให้สังคมไทยเกิดความเศร้าใจขึ้นอย่างน้อย 2 ประการ
ประการแรก เกิดจากปัญหาข้อมูลข่าวสารที่ได้รับอย่างไม่ถูกต้องกระทั่งทำให้คนไทยต้องทะเลาะกันเอง ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วสมควรที่จะ “รวมใจเป็นหนึ่งเดียว” เพื่อปกป้องแผ่นดินเกิดของตนเอง
ตัวอย่างชัดเจนก็คือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากการที่ชาวบ้านโศกขามป้อม ต.ภูผาหมอก อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ประมาณ 200 คนนำโดยนายทอง จันทร์หอมเดินทางมารวมตัวเพื่อขับไล่ “กลุ่มธรรมยาตราและกลุ่มพลังมวลชนจากทั่วประเทศ” ที่ตั้งเวทีปราศรัยอยู่ในพื้นที่บ้านโศกขามป้อม กระทั่งในที่สุดกลุ่มธรรมยาตราและคณะต้องยกเลิกการตั้งเวทีปราศรัย
ซ้ำร้ายยังมีกลุ่มวัยรุ่นและชาวบ้านโศกขามป้อมส่วนหนึ่งพากันมาก่อก่อนและขับไล่กลุ่มธรรมยาตราฯ ให้ออกไปจากพื้นที่บ้านโศกขามป้อม จนเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องจัดกำลังรักษาความปลอดภัยตลอดคืน
ประการที่สองคือ ความเศร้าใจที่เกิดจาก “นายนพดล ปัทมะ” ที่ปรึกษากฎหมายนักโทษชายทักษิณ ชินวัตร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลหุ่นเชิดสมัคร สุนทรเวชที่ลงทุนหอบเอาเงินสดๆ จำนวน 2 ล้านบาทมาท้าพนันเพื่อฟอกตัวเองโดยยืนกรานว่า “แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา หรือ Joint Communique ที่เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2551 นั้นมิได้ทำให้ไทยเสียเปรียบกัมพูชา
กล่าวสำหรับเรื่องเศร้าที่บ้านโศกขามป้อม ซึ่งเกิดจากกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่บ้านโศกขามป้อมรวมตัวกันขับไล่กลุ่มธรรมยาตรา ซึ่งนำโดยนายสมาน ศรีงามนั้น เห็นได้ชัดเจนว่าเกิดจากชุดข้อมูลที่ชาวบ้านได้รับเป็นชุดข้อมูลที่ไม่ตรงกับกลุ่มธรรมยาตรา เพราะโดยหลักพื้นฐานแล้ว สิ่งที่ถูกต้องและสมควรที่จะเกิดขึ้นก็คือ การที่คนไทยทุกหมู่ทุกเหล่ารวมตัวกันปกป้องแผ่นดิน
แต่นี่กลับกลายเป็นว่า คนไทยกลับทะเลาะกันเอง
เหตุผลที่นายทอง จันทร์หอมซึ่งเป็นแกนนำชาวบ้านโศกขามป้อมชี้แจงก็คือ “ขณะนี้ชาวบ้านโศกขามป้อมทุกคนหวั่นเกรงภัยสงครามระหว่างไทยกับกัมพูชาอย่างมาก เพราะเคยได้รับความเดือดร้อนจากการสู้รบเมื่อปี 2554 มาแล้ว จึงไม่ต้องการให้กลุ่มธรรมยาตรามาใช้พื้นที่หมู่บ้านชุมนุมกรณีเขาพระวิหาร เพราะเกรงจะทำให้เกิดการสู้รบตามแนวชายแดนขึ้นอีก ชาวบ้านต้องการอยู่อย่างสงบ แต่ก็พร้อมร่วมต่อสู้เพื่อปกป้องดินไทยไทยที่เขาพระวิหาร”
ไม่ใช่ความผิดของชาวบ้านที่รู้สึกเช่นนั้น เพราะพวกเขาคือผู้ได้รับความเดือดร้อนจากการภัยสงครามที่เกิดขึ้นจริง
แต่ที่ผิดก็คือรัฐบาลและกระทรวง ทบวง กรมที่รับผิดชอบและเกี่ยวข้องกับข้อพิพาทดังกล่าวที่ไม่เคยทำความเข้าใจที่ถูกต้องให้ชาวบ้าน เพราะโดยข้อเท็จจริงแล้วศาลโลกมีคำพิพากษาให้แค่เพียงตัวปราสาทพระวิหารเท่านั้นที่ตกเป็นของกัมพูชา ส่วนพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมักใช้คำว่าพื้นที่ทับซ้อนนั้น แท้ที่จริงแล้วคือแผ่นดินไทยร้อยเปอร์เซ็นต์
มิหนำซ้ำยังปล่อยให้มีการรุกล้ำดินแดนไทยเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่าง ที่เห็นได้ชัดคือวัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ ซึ่งจนป่านนี้ก็ยังตั้งโดดเด่นเป็นสง่าบนแผ่นดินไทย โดยที่รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยไม่มีความเด็ดขาดในการผลักดันให้พ้นไปจากผืนแผ่นดินไทย
แทนที่จะผนึกกำลังร่วมมือกันต่อสู้ แทนที่จะผนึกกำลังความคิด กำลังกายและกำลังใจเพื่อปกป้องผืนแผ่นดินเกิด คนไทยกลับต้องมาทะเลาะกันเอง
ส่วนบรรดานักการเมืองทั้งหลาย นอกจากจะไม่รู้เรื่องแล้ว ยังหมกหมุ่นและมัวเมาแต่ผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องเป็นสำคัญ ไม่เช่นนั้นแล้ว คงไม่เกิดเหตุการณ์ปลุกปั่นยุยงให้เกิดความแตกแยกที่บ้านโศกขามป้อม เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยเกิดเหตุในทำนองนี้มาแล้ว
ในหัวสมองของนักการเมืองคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนตนที่เกิดขึ้นจากการค้าชายแดนไทยกัมพูชาเพียงเรื่องเดียวเท่านั้น
ขณะที่กรณีเงินเดิมพัน 2 ล้านบาทของนายนพดลได้ตอกย้ำให้เห็นถึงตัวตนของอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอีกครั้งว่า มิได้มีจิตสำนึกต่อความผิดพลาดที่ตนเองได้ก่อขึ้นเลยแม้แต่น้อย แถมการขนเงินเดิมพัน 2 ล้านบาทโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ของตนเองก็เป็นวิธีการล่อซื้อที่สะท้อนถึงก้นบึ้งของจิตใจของนายนพดลว่า เป็นคนเช่นไร
การใช้เงินเดิมพันจำนวน 2 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่า เงินคือพระเจ้าของนายนพดลใช่หรือไม่ จึงใช้เงินเป็นตัวตั้งในการปฏิบัติการทางการเมืองครั้งนี้
แต่นั่นไม่ใช่สำหรับคนไทยทุกคน
นอกจากนี้ นายนภดลพูดออกมาได้อย่างไรว่า “แถลงการณ์ร่วมเป็นประโยชน์ ทำให้กัมพูชายอมรับเป็นครั้งแรกว่ามีพื้นที่ทับซ้อนอยู่ และไม่นำไปขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก แต่น่าเสียดายศาลตัดสินให้คำแถลงการณ์ร่วมเป็นโมฆะ แต่หากปฏิบัติตามแถลงการณ์ร่วม เหตุการณ์จะไม่บานปลายจนมีการสู้รบตามแนวชายแดน และเรื่องไม่ถูกนำขึ้นศาลโลก จึงขอให้ประชาธิปัตย์ระวังท่าทีการแสดงออกมา เพราะศาลโลกยังไม่ตัดสินคดี อาจส่งผลเสียต่อรูปคดีได้”
ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว มีหลักฐานชัดเจนว่า แถลงการณ์ร่วมทำให้ไทยเสียเปรียบกัมพูชา
หลักฐานที่ชัดเจนก็คือ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่มีคำพิพากษาให้แถลงการณ์ร่วมที่ลงนามโดยนายนพดลเป็นโมฆะ
“สำหรับแถลงการณ์ร่วมฯ ลงวันที่ 18 มิ.ย. แม้จะไม่ได้ปรากฏสาระสำคัญชัดเจนว่าเป็นหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่อันเป็นอาณาเขตของประเทศไทยก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาข้อบททั้งหมดในคำแถลงการณ์ร่วมฯ ประกอบแผนที่หรือแผนผังแนบท้ายซึ่งจัดทำโดยประเทศกัมพูชาเพียงฝ่ายเดียว จะเห็นได้ชัดเจนว่าแผนที่ดังกล่าวได้กล่าวอ้างถึงพื้นที่ เอ็น1 เอ็น 2 และเอ็น 3 โดยไม่ได้กำหนดเขตของพื้นที่ดังกล่าวให้ชัดเจนว่าครอบคลุมส่วนใดของประเทศใด เป็นจำนวนเท่าใด ซึ่งเป็นการสุ่มเสี่ยงต่อผลกระทบในเรื่องอาณาเขตของประเทศไทย อันเป็นปัญหาละเอียดอ่อนและอาจก่อให้เกิดข้อพิพาทระหว่างประเทศต่อไปในภายหน้าได้” คำวินิจฉัยกลางระบุ
นี่คือสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า นักการเมือง
อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 ความเศร้าข้างต้นดูเหมือนจะเป็นเพียงแค่ “ดรามาการเมือง” ที่มิได้ก่อให้เกิดประโยชน์กับการรักษาอธิปไตยเหนือปราสาทพระวิหารสักกี่มากน้อย เพราะสุดท้ายแล้ว คำถามที่จะยังคงเป็นคำถามใหญ่ที่ดังก้องอยู่ในมโนสำนึกของคนไทยที่รักชาติรักแผ่นดินก็คือ แล้วราชอาณาจักรไทยจะรอดพ้นจากความพ่ายแพ้ที่รออยู่เบื้องหน้าได้อย่างไร
อย่างไรก็ตาม ต้องบอกว่าอีกหนึ่งทางเลือกหรือทางออกที่น่าสนใจก็คือผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการศึกษา(กมธ.) ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา นำโดย “คำนูณ สิทธิสมาน” ส.ว.สรรหา ซึ่งเสนอแนวคิดให้คณะผู้แทนไทยแถลงต่อศาลโลกในวันที่ 17 เมษายน 2556 และวันที่ 19 เมษายน 2556 เอาไว้ 4 ประเด็นด้วยกันคือ
หนึ่ง-กัมพูชาใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เพราะกรณีนี้ไม่ใช่การตีความตามธรรมนูญมาตรา 60 แต่เป็นการอุทธรณ์คดีเก่าหรือขอแก้คำพิพากษาคดีเก่า
สอง-อาศัยหลักกฎหมายปิดปากมาต่อสู้กับกัมพูชา เพราะไทยปฏิบัติครบถ้วนตามคำพิพากษาเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ.2505 โดยมิตคณะรัฐมนตรียุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ.2505 ซึ่งกัมพูชาไม่ได้คัดค้าน
สาม-ศาลจะพิพากษาใหม่ได้ ต่อให้เป็นมาตรา 60 ก็เฉพาะในประเด็นแห่งคดี ไม่ใช่เรื่องเรื่องเขตแดนหรือแผนที่
และสี่-ผู้แทนไทยจะต้องสงวนสิทธิไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาในกรณีที่กระทบต่ออธิปไตยของชาติในระยะเฉพาะหน้าต่อจากนี้ไปจนมีคำพิพากษาและหลังมีคำพิพากษา
แต่ก็ดูเหมือนว่า ข้อเสนอแนะดังกล่าวจะเป็นเพียงข้อเสนอที่ผ่านทะลุจากหูซ้ายและออกไปทางหูขวาเท่านั้น เพราะกระทรวงการต่างประเทศยังคงยึดมั่นถือมั่นกับแนวทางเดิมๆ อย่างไม่เสื่อมคลาย
ดังจะเห็นได้จากถ้อยแถลงของ นายวรเดช วีระเวคิน อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงต่างประเทศ ซึ่งกล่าวชี้แจงกับคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐเอาไว้ว่า กระทรวงการต่างประเทศได้ประเมินแนวทางคำพิพากษาของศาลไว้ 4 แนวทาง ประกอบด้วย 1.ศาลยกฟ้อง เพราะไม่มีอำนาจในการพิจารณาคดีนี้ ซึ่งส่งผลให้ไทยได้สิทธิตามสถานะเดิมหลังคำพิพากษาในปี 2505 2.ศาลระบุว่าศาลเองมีอำนาจในการพิจารณาคดีและพิพากษาให้ยึดอธิปไตยของไทยเหนือพื้นที่ทับซ้อนตามที่มติ ครม.ของไทยเมื่อปี 2505 ที่อนุมัติให้มีการล้อมรั้ว 3.ศาลพิพากษาให้อำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่เป็นของกัมพูชา โดยยึดแผนที่ 1:200,000 ที่ทางกัมพูชาใช้กล่าวอ้าง และ4.คำพิพากษาของศาลออกมาในแนวทางเป็นกลาง ไม่เข้าข้างใดข้างหนึ่ง เนื่องจากมีคณะตุลาการร่วมวินิจฉัยทั้งสิ้นรวม 17 คน โดยศาลอาจออกมาตรการบังคับอื่นแทน ซึ่งไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเป็นแนวทางใด
ขณะที่ นายดามพ์ บุญธรรม ผู้อำนวยการกองเขตแดน กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงว่า กรอบแนวทางการต่อสู้ในการแถลงคดีด้วยวาจาในวันที่ 15-19 เม.ย.นั้นทีมกฎหมายไทยจะชี้แจงต่อศาลว่าไม่มีอำนาจในการตีความคดีครั้งนี้ โดยประกอบด้วย 3 แนวทาง ได้แก่
หนึ่ง-การชี้แจงคัดค้านว่าศาลไม่มีอำนาจในการตีความพื้นที่ทับซ้อน เพราะถึงแม้ธรรมนูญศาลจะให้อำนาจศาลตีความใหม่ในคดีเดิมที่เคยมีคำพิพากษาไปแล้วโดยไม่มีอายุความ แต่ทางกัมพูชาดำเนินการไม่ถูกต้อง เพราะทางกัมพูชายื่นให้ศาลตีความคดีเดิมในเรื่องใหม่คือ ให้ตีความพื้นที่ทับซ้อนไม่ใช่ตัวปราสาทเขาพระวิหาร เปรียบเสมือนกัมพูชาซ่อนอุทธรณ์ในการยื่นตีความต่อศาลครั้งนี้
สอง-ชี้แจงต่อศาลว่าระยะเวลาที่ผ่านมาไม่ได้เกิดข้อพิพาทใดในเรื่องของการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลในปี 2505 โดยมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของไทยได้อนุมัติให้มีการล้อมรั้วครอบคลุมพื้นที่ทับซ้อน และกัมพูชาไม่ได้มีการโต้แย้งใดในรอบ 50 ปีที่ผ่านมาเหมือนเป็นการยอมรับสิทธิในพื้นที่ทับซ้อนของไทย
สาม-ชี้แจงต่อศาลว่าทางกัมพูชาไม่มีอำนาจในการยื่นตีความ เพราะยื่นตีความโดยไม่ถูกต้อง เป็นในลักษณะการอุทธรณ์ที่ซ่อนรูปในการตีความ ซึ่งแท้จริงแล้วธรรมนูญศาลไม่ได้ให้อำนาจในการอุทธรณ์ในคดีที่มีคำพิพากษาสิ้นสุดไปแล้วตั้งแต่ปี 2505
ข่าวดีก็คือ กระทรวงการต่างประเทศชัดเจนว่า ศาลโลกไม่มีอำนาจในการตีความคดีเดิมในเรื่องใหม่
ข่าวร้ายก็คือ กระทรวงการต่างประเทศโดยนายดามพ์ระบุชัดเจนว่า “หากไม่ยอมรับอำนาจศาลโลกอาจเข้าข่ายผิดต่อกฎบัตรสหประชาชาติข้อ 94 ที่ระบุว่าหากผู้เป็นฝ่ายในคดีฝ่ายใดไม่สามารถปฏิบัติตามข้อผูกพันซึ่งตกอยู่แก่ตนตามคำพิพากษาของศาล ผู้เป็นฝ่าย อีกฝ่ายหนึ่งอาจร้องเรียนไปยังคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้ ซึ่งถ้าเห็นจำเป็นก็อาจทำคำแนะนำหรือวินิจฉัยมาตรการที่จะดำเนินเพื่อให้เกิดผลตามคำพิพากษานั้น”
ด้วยเหตุดังกล่าว จึงความเป็นสุ่มเสี่ยงของไทยหากศาลโลกมีคำพิพากษาให้พื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรเป็นของกัมพูชา เพราะกระทรวงการต่างประเทศไทยแสดงเจตจำนงตั้งแต่เริ่มต้นแล้วจะยอมรับด้วยความยินยอมพร้อมใจ