xs
xsm
sm
md
lg

ไทยโวมีแผนสู้คดีพระวิหาร ครูบำนาญขอรัฐรักษาอธิปไตย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-"ปึ้ง"ยันเขมรปล่อยตัว "ราตรี" 1 ก.พ.นี้ ส่วน "วีระ" ได้ลดโทษ 6 เดือน ปัดไม่มีเรื่องโอนตัวนักโทษ ส่วนการต่อสู้เขมรฮุบพื้นที่ทับซ้อนเขาพระวิหารในศาลโลก ไทยเตรียม 3 แนวทางไว้สู้ คาดคำตัดสิน ดีสุดยกฟ้อง แย่สุดเขมรชนะ หรือออกมากลางๆ แต่หากตัดสินแล้ว ไทยต้องปฏิบัติตาม บิดพลิ้วไม่ได้ ด้านครูบำนาญ ผู้เขียนตำนานพระวิหาร วอนรัฐบาลทุ่มเทรักษาอธิปไตย

นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวยืนยันว่า รัฐบาลกัมพูชาเตรียมจะปล่อยตัวนายวีระ สมความคิด และน.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ ซึ่งถูกทางการกัมพูชาจับกุมตัวเมื่อวันที่ 29 ธ.ค.2553 โดยน.ส.ราตรี จะได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 1 ก.พ.นี้ อย่างแน่นอน และสถานทูตไทยประจำประเทศกัมพูชาจะเดินทางไปรับตัวด้วยตนเอง ขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานกับทางญาติที่จะไปรับตัวด้วยกัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ ส่วนนายวีระ จะลดหย่อนโทษให้เป็นเวลา 6 เดือน แต่ไม่ใช่การอภัยโทษ

"ไม่เคยมีการหยิบยกหรือเจรจาเรื่องการโอนตัวนักโทษมาพูดคุยระหว่างสองประเทศ เพราะถือเป็นคนละคดีกัน เนื่องจากคดีทางการเมืองรัฐบาลจะเป็นคนพิจารณา"นายสุรพงษ์ยืนยัน

***ไทยมี3แนวทางสู้คดีศาลโลก

ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ สภาผู้แทนราษฎร พิจารณากรณีศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) จะมีการพิจารณาคำร้องของกัมพูชาเกี่ยวกับข้อพิพาทบริเวณปราสาทพระวิหารในเดือน เม.ย.นี้ โดยเชิญนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศเข้าชี้แจง ทั้งนี้ รมว.ต่างประเทศ ติดภารกิจ จึงมอบหมายให้อธิบดีที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจงต่อ กมธ.แทน

นายดามพ์ บุญธรรม ผู้อำนวยการกองเขตแดน กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวยืนยันว่ากรอบแนวทางการต่อสู้ในการแถลงคดีด้วยวาจาในวันที่ 15-19 เม.ย.นั้น ทีมกฎหมายไทยจะชี้แจงต่อศาลว่าไม่มีอำนาจในการตีความคดีครั้งนี้ โดยประกอบด้วย 3 แนวทาง ได้แก่ 1.การชี้แจงคัดค้านว่าศาลไม่มีอำนาจในการตีความพื้นที่ทับซ้อน เพราะถึงแม้ธรรมนูญศาลจะให้อำนาจศาลตีความใหม่ในคดีเดิมที่เคยมีคำพิพากษาไปแล้วโดยไม่มีอายุความ แต่ทางกัมพูชาดำเนินการไม่ถูกต้อง เพราะทางกัมพูชายื่นให้ศาลตีความคดีเดิมในเรื่องใหม่ คือ ให้ตีความพื้นที่ทับซ้อนไม่ใช่ตัวปราสาทเขาพระวิหาร เปรียบเสมือนกัมพูชาซ่อนอุทธรณ์ในการยื่นตีความต่อศาลครั้งนี้

2.ชี้แจงต่อศาลว่าระยะเวลาที่ผ่านมา ไม่ได้เกิดข้อพิพาทใดในเรื่องของการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลในปี 2505 โดยมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของไทยได้อนุมัติให้มีการล้อมรั้วครอบคลุมพื้นที่ทับซ้อน และกัมพูชาไม่ได้มีการโต้แย้งใดในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา เหมือนเป็นการยอมรับสิทธิในพื้นที่ทับซ้อนของไทย

3.ชี้แจงต่อศาลว่าทางกัมพูชาไม่มีอำนาจในการยื่นตีความ เพราะยื่นตีความโดยไม่ถูกต้อง เป็นในลักษณะการอุทธรณ์ที่ซ่อนรูปในการตีความ ซึ่งแท้จริงแล้วธรรมนูญศาลไม่ได้ให้อำนาจในการอุทธรณ์ในคดีที่มีคำพิพากษาสิ้นสุดไปแล้วตั้งแต่ปี 2505

***แย้มศาลอาจยกฟ้องหรือยกพื้นที่ให้เขมร

นายวรเดช วีระเวคิน อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ได้ประเมินแนวทางคำพิพากษาของศาลไว้ 4 แนวทาง ประกอบด้วย 1.ศาลยกฟ้อง เพราะไม่มีอำนาจในการพิจารณาคดีนี้ ซึ่งส่งผลให้ไทยได้สิทธิตามสถานะเดิมหลังคำพิพากษาในปี 2505 2.ศาลระบุว่าศาลเองมีอำนาจในการพิจารณาคดีและพิพากษาให้ยึดอธิปไตยของไทยเหนือพื้นที่ทับซ้อนตามที่มติ ครม. ของไทยเมื่อปี 2505 ที่อนุมัติให้มีการล้อมรั้ว 3.ศาลพิพากษาให้อำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่เป็นของกัมพูชา โดยยึดแผนที่ 1:200,000 ที่ทางกัมพูชาใช้กล่าวอ้าง และ4.คำพิพากษาของศาลออกมาในแนวทางเป็นกลาง ไม่เข้าข้างใดข้างหนึ่ง เนื่องจากมีคณะตุลาการร่วมวินิจฉัยทั้งสิ้นรวม 17 คน โดยศาลอาจออกมาตรการบังคับอื่นแทน ซึ่งไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเป็นแนวทางใด

ด้านนายดามพ์กล่าวเพิ่มเติมว่า คาดหวังว่าศาลจะมีคำพิพากษาในแนวทางแรก คือ ยกฟ้องการยื่นตีความของกัมพูชา แต่ที่สุดแล้วไม่สามารถไปสรุปแทนศาลได้ว่าคำพิพากษาจะออกมาแนวทางใด โดยคาดว่าหลังจากมีการแถลงด้วยวาจาแล้ว ศาลจะพิพากษาในราวเดือนต.ค. โดยยืนยันว่าไทยจะยอมรับคำพิพากษาของศาล และนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. เพื่อกำหนดแนวทางการปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล

“หากไม่ยอมรับอำนาจศาลโลกอาจเข้าข่ายผิดต่อกฎบัตรสหประชาชาติข้อ 94 ที่ระบุว่าหากผู้เป็นฝ่ายในคดีฝ่ายใดไม่สามารถปฏิบัติตามข้อผูกพันซึ่งตกอยู่แก่ตนตามคำพิพากษาของศาล ผู้เป็นฝ่าย อีกฝ่ายหนึ่งอาจร้องเรียนไปยังคณะมนตรีความมั่นคงได้ ซึ่งถ้าเห็นจำเป็นก็อาจทำคำแนะนำหรือวินิจฉัยมาตรการที่จะดำเนินเพื่อให้เกิดผลตามคำพิพากษานั้น” นายดามพ์กล่าว

**ปลัดบัวแก้วรับไม่สามารถเจรจาถอนคดีได้

ด้านคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายสุนัย จุลพงศธร เป็นประธาน ได้นำกรณีปัญหาปราสาทพระวิหาร ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของศาลโลก โดยเชิญนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจง

ทั้งนี้ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้มาชี้แจงแทน โดยกรรมาธิการได้สอบถามรายละเอียดการนัดสืบพยานของศาลโลก ตลอดจนเจตนารมณ์ของไทย ซึ่งนายสีหศักดิ์ ชี้แจงว่า การสืบพยานของศาลโลกครั้งนี้ ศาลนัดสืบพยานครั้งแรก วันที่ 15-19 เม.ย.2556 โดยจะเปิดให้ชี้แจงฝ่ายละ 2 รอบ ซึ่งกัมพูชาเป็นฝ่ายชี้แจงก่อน ฝ่ายไทยมีเอกอัครราชฑูตไทยประจำกรุงเฮก เป็นตัวแทน ใช้เวลาฝ่ายละ 270 นาที ตั้งเวลา 10.00-13.00น.และ 15.00-16.30น. ไทยจะชี้แจงรอบแรก วันที่ 17 เม.ย. สำหรับการชี้แจงรอบสอง กัมพูชาชี้แจงวันที่ 18 เม.ย. และไทยชี้แจงวันที่ 19 เม.ย. โดยไทยหวังว่า ศาลจะไม่รับพิจารณาคดีนี้ เพราะไม่ใช่เป็นการตีความ แต่เป็นคดีใหม่ แต่หากศาลโลกรับไว้พิจารณา ไทยเตรียมทางออกไว้แล้ว และจำเป็นต้องชี้แจง ไม่เช่นนั้นจะเท่ากับสละสิทธิ์ในการปกป้องอธิปไตยของประเทศ โดยจะยืนยันว่า ไม่มีอะไรต้องตีความในประเด็นนี้อีก เพราะที่ผ่านมาไทยปฏิบัติครบถ้วนตามกระบวนการ ซึ่งกัมพูชายอมรับว่าไทยปฏิบัติครบถ้วนแล้ว

"ยอมรับว่า ไม่สามารถที่จะเจรจากับกัมพูชา นำเรื่องออกจากการพิจารณาของศาลโลกได้ แม้จะมีความพยายามตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้ว ดังนั้น แนวทางที่ดีที่สุด คือ เตรียมพร้อมสู้คดี และใช้แนวทางการฑูตสร้างสันติวิธี ซึ่งที่ผ่านมา ได้ปรับกำลังบริเวณแนวชายแดนบ้างแล้ว หลังจากนายกรัฐมนตรีไทยพบกับนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่เมืองเสียมเรียบ เป็นการปรับกำลังด้วยความสมัครใจทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่การปรับกำลังตามข้อเสนอของศาลโลก อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าไทยจำเป็นต้องยอมรับคำตัดสินของศาลโลก ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไรเพราะไทยเป็นภาคีสมาชิกของคณะกรรมการมรดกโลก"

**ครูบำนาญขอรัฐบาลทุ่มเทรักษาพื้นที่

นายคณิต แสนสา อายุ 83 ปี ข้าราชการครูบำนาญ และผู้เขียนหนังสือตำนานเขาพระวิหารในปีที่เกษียณอายุราชการครู (2535) กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยต่อสู้เรื่องพื้นที่เขาพระวิหารให้ถึงที่สุด เนื่องจากแผ่นดินโดยรอบนั้นเป็นของไทย ตามคำพิพากษาของศาลโลก เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.2505 กัมพูชาจะมีอธิปไตยเหนือปราสาทเขาพระวิหารเท่านั้น หมายถึงตั้งแต่บันไดนาคราชขั้นที่ 162 ขึ้นไป แม้ต่อมามีการนำชาวกัมพูชา มาสร้างชุมชนขึ้นที่บริเวณเชิงเขาพระวิหารในลักษณะเป็นการยึดครองดินแดนอย่างเปิดเผย มีการสร้างสะพานเหล็กและประตูเหล็กกั้นไม่ให้ชาวไทยเข้าในเขตเขาพระวิหาร แล้วยึดครองมาเรื่อยๆ ก็ตาม ขอให้ต่อสู้เรื่องนี้ให้ถึงที่สุด อย่าให้ไทยต้องเสียดินแดน

นายวินัย ไชยเดชะ อายุ 80 ปี ภูมิลำเนา ต.เสาธงชัย อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า อยากให้ทางการไทยต่อสู้เรื่องนี้ให้ถึงที่สุด เพราะเป็นดินแดนของไทยที่เสียอีกไม่ได้แล้ว ที่ผ่านมาสูญเสียเขาพระวิหารตามคำตัดสินศาลโลกไปแล้ว ในปี 2505 แต่ดินแดนโดยรอบเป็นของไทย อยากให้ทางการไทยติดต่อผู้ที่จะมีส่วนตัดสินให้มาดูพื้นที่จริงจากฝั่งประเทศไทยเพื่อจะได้ทราบว่า นี่คือดินแดนของไทยอย่างชัดเจน
กำลังโหลดความคิดเห็น