xs
xsm
sm
md
lg

“ปานเทพ” หวั่นศาลโลกไม่แตะชุมชนกัมพูชา ทำเสียดินแดนทางพฤตินัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ปานเทพ” หวั่นศาลโลกตัดสินห้ามทหารสองฝ่ายอยู่ในพื้นที่พิพาทจนกว่าจะตกลงเขตแดนเสร็จ แต่ไม่แตะชุมชนกัมพูชา ปล่อยให้ขยายเพิ่มขึ้นอย่างไร้ขีดจำกัด ชี้เป็นการเสียดินแดนในทางปฏิบัติ “สุวันชัย” ย้ำเอ็มโอยู 43 มีประโยชน์แค่ให้ศาลเห็นว่าสองประเทศตกลงกันเองได้ แต่ข้อเสียเพียบ


 คลิกที่นี่ เพื่อฟัง รายการคนเคาะข่าว วันที่ 22 เมษายน 2556  

วันที่ 22 เม.ย. ดร.สุวันชัย แสงสุขเอี่ยม อดีตสมาชิกภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวในรายการ “คนเคาะข่าว” ทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี ถึงประเด็นคดีปราสาทพระวิหาร

โดยนายปานเทพกล่าวถึงการให้การชี้แจงทางวาจาต่อศาลโลกว่า ทีมทนายทำดีที่สุดแล้วภายใต้กรอบและบริบทที่การเมืองหลายยุคหลายสมัยพาไป ทนายชุดนี้ไม่สามารถใช้ข้อสงวนปี 2505 ได้ เพราะอ้างต่อศาลโลกว่าเราอยู่ระหว่างการเจรจาตกลงกันตามเอ็มโอยู 2543 แม้ท่านทูตวีรชัยจะมาพูดวันสุดท้ายหลังศาลขอพิกัดว่าไทยไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาปี 2505 ไทยยังยึดหลักสันปันน้ำ แต่เสียดายที่ไม่ได้ยกข้อสงวนปี 2505 ขึ้นมายืนยัน

การที่ประชาธิปัตย์ชื่นชมเอ็มโอยู 2543 ไม่ได้ฟังหรือว่าทางกัมพูชาพูดว่าอย่างไร เขาบอกว่าเอ็มโอยูเขียนชัดเจนว่าไม่ใช่การจัดทำเส้นเขตแดนใหม่ (delimitation) แต่เป็นการจัดทำหลักเขตแดน (demarcation) คือการจัดทำหลักเขตแดนให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลโลกปี 2505 แล้วประชาธิปัตย์ไม่ได้ดูหรือว่าฝ่ายไทยยกเอ็มโอยู 43 ขึ้นมาสู้ แต่แล้วก็กลับมายืนยันสันปันน้ำเพราะอะไร

นายศิริโชคบอกว่า นี่ไม่ใช่ผลงานของคณะกรรมการปักปัน แต่ดูที่มาที่ไปของเอ็มโอยู 43 นี้ การที่ยอมใส่แผนที่ซึ่งแต่เดิมกระทรวงต่างประเทศไม่ยอม ก็เพราะกัมพูชาขู่ว่าถ้าไม่ทำเสร็จใน 6 เดือนจะนำเรื่องขึ้นศาลโลก ฉะนั้นคนที่อยากใส่แผนที่นี้คือกัมพูชา วันนี้เอ็มโอยู 43 ก็มีแผนที่ฉบับนี้ การอ้างว่าไม่รวมระวางดงรัก แต่ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา ค้นพบว่าในเวทีสำคัญๆ ที่ไทยเจอกับกัมพูชาพร้อมด้วยประเทศที่ 3 ไทยไม่เคยอ้างสักคำว่าแผนที่ฉบับนี้ไม่รวมระวางดงรัก เหตุผลที่นายศิริโชคพูดใช้ได้เฉพาะกับคนไทยเท่านั้น

นายปานเทพกล่าวต่อว่า เราหลงดีใจว่าเราสู้ได้ดี แต่เราหลงประเด็นว่าเราสู้สุดฝีมือ กับไม่ยอมรับอำนาจศาลโลก อันไหนสำคัญกว่ากัน นายฮอร์ นัมฮง ใช้วิธีการต่อสู้โดยเน้นว่าถ้าศาลไม่ตัดสินสันติภาพพื้นที่นี้ไม่เกิด แต่ไทยไม่มีน้ำหนักเรื่องนี้ว่ากัมพูชาเป็นฝ่ายรุกรานไทยก่อน ส่วนตัวตนเชื่อแนวทางของ ศ.ดร.สมปอง สุจริตกุล มากกว่า คือต้องไม่รับอำนาจศาลโลก ศ.ดร.สมปองฝากไว้ก่อนไทยไปศาลโลกว่าควรกล่าวต่อศาลว่าไทยขอสงวนสิทธิไม่รับอำนาจศาลโลกหากตีความเกินคำตัดสินปี 2505 แต่ฝ่ายไทยไม่ได้กล่าวตามที่แนะนำ

นายปานเทพกล่าวด้วยว่า ถ้าศาลไม่รับตีความถือเป็นชัยชนะที่ต้องให้ทุกฝ่าย รวมถึงเอ็มโอยู 43 ด้วย แต่ถ้าศาลขอตีความ ก็จะเป็นไปได้ 3 แนวทาง คือ 1. เข้าทางฝ่ายไทยเป็นตามแนวล้อมรั้ว 2. ตีความตามแผนที่มาตรา 1 ต่อ 200,000 โดยอ้างกฎหมายปิดปากอีก อันนี้ไทยจะรับหรือไม่ หรือ 3. ตีความกลางๆ ซึ่งตนสังหรณ์ใจว่าจะหมายความถึงให้นับจากแนวรั้วถึงแผนที่ 1 ต่อ 200,000 ห้ามมีทหารทั้งสองฝ่ายอยู่ เพราะอยู่ในระหว่างหาหลักเขตแดนใหม่ แต่เขาจะไม่กล่าวถึงชุมชนกัมพูชา ผลคือทหารกัมพูชาอยู่บริเวณปราสาทพระวิหารได้ แต่ชุมชนไม่มีใครผลักดัน มีการขยายเพิ่มพื้นที่ขึ้นเรื่อยๆอย่างไร้ขีดจำกัด จวบจนกว่าตกลงเส้นเขตแดนได้ ทางนิตินัยพูดได้ว่าไม่เสียดินแดน แต่ทางปฏิบัติได้เสียแล้ว

ด้านนายสุวันชัยกล่าวแนะนำรัฐบาลว่า ต้องแสดงจุดยืนชัดเจนให้ประชาชนเห็นว่าเราไม่รับอำนาจศาลโลกหากตีความนอกเหนือจากคดีเดิม แต่ที่รัฐบาลพูดให้กลัวว่าถ้าไม่ทำตาม กัมพูชาจะไปร้องต่อคณะมนตรีความมั่นคงฯ อันนี้สามารถทำได้ก็จริง แต่ดูประวัติแล้วคณะมนตรีความมั่นคงฯไม่เคยใช้อำนาจนี้เลย ฉะนั้นมันไม่ใช่คำตอบสุดท้าย อีกทั้งคณะมนตรีความมั่นคงฯ เวลามีมติทำอะไรต้องได้เสียงอย่างน้อย 9 เสียง และต้องมี 5 เสียงจากสมาชิกถาวรทั้ง 5 ประเทศ มันไม่ได้เกิดง่ายๆ ใน 5 ประเทศเราจะไม่มีเพื่อนสักคนเลยหรือ

นายสุวันชัยกล่าวต่อว่า เราไม่ตอบโต้ประเด็นกัมพูชารุกรานไทยก่อน ตนเคยยกประเด็นว่ากัมพูชายื่นคำร้องขอตีความเมื่อ 28 เมษายน 2554 แต่คำขอของกัมพูชา นายฮอร์ นัมฮง เซ็นเมื่อ 20 เมษายน 2554 ขณะที่รายละเอียดการขอตีความกล่าวถึงการสู้รบในวันที่ 23-24 เมษายน 2554 แสดงว่ามีการเตรียมการสร้างสถานการณ์ แต่ไทยไม่พูดว่ากัมสร้างสถานการณ์ให้เกิดความขัดแย้ง ตนเข้าใจว่าทีมงานเป็นข้าราชการคงไม่สามารถก้าวล่วงขนาดนั้น แต่จริงๆ แล้วมันเป็นน้ำหนักมาก เพื่อให้ศาลเห็นว่ามันไม่มีข้อพิพาท แต่กัมพูชาจัดทำมันขึ้น

ส่วนเอ็มโอยู 43 พรรคประชาธิปัตย์พยายามยกว่าเป็นคุณประโยชน์มาก แต่ตนมองว่าเป็นการจัดทำหลักเขตแดน (demarcation) การที่จะทำหลักเขตแดนได้ ก็ต้องมีการปักปันเขตแดนหรือแบ่งเขตก่อน ฉะนั้นมันไม่ได้เป็นประเด็นมากเลย ข้อดีคือแสดงให้เห็นว่าสองประเทศมีการร่วมมือกัน สามารถคุยกันได้ แต่จริงๆแล้วเอ็มโอยู 43 มีข้อเสียเยอะแต่ตนยังไม่พูดตอนนี้ เพราะอาจจะเป็นการเปิดช่องให้กัมพูชาได้ เพราะคดียังไม่จบกัมพูชายังสามารถยื่นพิกัดพร้อมเหตุผลประกอบได้




กำลังโหลดความคิดเห็น