“ปานเทพ” ชี้กรณีศาลโลกขอพิกัดบริเวณปราสาทพระวิหาร หากไทยยังใช้เอ็มโอยู 43 ที่ไม่ระบุเส้นเขตแดนและไม่พูดถึงการล้อมรั้วตามมติ ครม.ปี 2505 แต่เขมรอ้างแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน จะส่งผลให้ไทยต้องถอยแต่ฝ่ายเดียว ขณะทหารกัมพูชายังอยู่บริเวณปราสาทพร้อมชุมชนกัมพูชายึดครอง 4.6 ตร.กม. แนะประเด็นสู้ ยกเหตุไทยทำตามคำพิพากษาปี 05 ครบถ้วนแล้ว ศาลไม่มีอำนาจตีความเกินขอบเขต พร้อมยืนยันไม่รับอำนาจศาลโลก
วันนี้ (19 เม.ย.) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกและแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รุ่นที่ 2 ได้โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ในหัวข้อ “สัญญาณศาลโลกขอพิกัด และ MOU 2543!?” แสดงความคิดเห็นกรณีที่ศาลโลกได้ขอให้ไทยและกัมพูชาได้แสดงพิกัดอาณาบริเวณรอบปราสาทพระวิหาร หลังจากการให้การโดยวาจาของทั้งสองฝ่ายต่อศาลโลกในคดีการตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร ซึ่งการที่ไทยใช้เอ็มโอยู 2543 ที่ยังไม่สารถระบุเส้นเขตแดนได้ และไม่ได้ระบุถึงการล้อมรั้วตามมติ ครม.ปี 2505 เป็นเครื่องมือหลักในการต่อสู้ ส่วนกัมพูชาอ้างแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 ที่ศาลใช้เป็นมูลฐานในการตัดสินคดีเมื่อปี 2505 อาจส่งผลให้ไทยต้องเสียเปรียบกัมพูชา ตามรายละเอียดดังนี้
“หากสัญญาณของผู้พิพากษาศาลโลกท่านหนึ่งได้ขอให้ไทย-และกัมพูชาได้ยื่นพื้นที่พร้อมพิกัดพื้นที่อาณาบริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหารนั้น เป็นความต้องการของผู้พิพากษาศาลโลกส่วนใหญ่ ตรงนี้ถือมีความสำคัญอยู่ไม่น้อย
เพราะเท่ากับว่าผู้พิพากษาท่านนั้นกำลังขอพิกัดจากทั้ง 2 ประเทศ เพื่อเอาไปใช้กำหนดคำสั่งหรือมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา
อย่างน้อยแสดงว่าผู้พิพากษาท่านนี้กำลังส่งสัญญาณว่า ศาลโลกมีอำนาจในการวินิจฉัยคดีนี้!? ซึ่งไม่เป็นไปตามคำร้องขอของฝ่ายไทย
ผมคิดและประเมินจากการออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราวครั้งที่แล้วดังนี้
1. ผมยังหวังว่าการต่อสู้ของไทยที่ผ่านมา ถ้าด้วย “เหตุและผล” อย่างน้อยศาลโลกไม่น่าจะกล้าหรือบ้าบิ่นพอที่จะตีความว่าให้ทหารไทยถอยออกจากพื้นที่ตามที่กัมพูชาร้องขอ คือถอยออกไปจากแผนที่ภาคผนวก 1 (ซึ่งแม้จะเป็นมูลฐานในการตัดสินให้ปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา แต่ศาลโลกไม่ได้พิพากษาให้เป็นบทปฏิบัติการ)
ในอีกฝั่งหนึ่ง ศาลโลกก็ไม่น่าจะกล้าตีความใช้การล้อมรั้วโดยมติคณะรัฐมนตรีไทยปี 2505 เป็นพื้นที่อาณาบริเวณใกล้คียงปราสาทพระวิหาร (ซึ่งไม่มีอยู่ในความหมายในคำพิพากษาของศาลโลกและไม่มีในสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส)
สำหรับน้ำหนักการใช้แผนที่ 1 : 200,000 หรือแผนที่ภาคผนวก 1 ของกัมพูชานั้น เน้นย้ำหลายครั้งกรณีตัวอย่างระหว่าง คาเมรูนและไนจีเรียว่า สามารถนำเหตุผลของการตัดสินมาตีความบทปฏิบัติการได้ เพื่อเชื่อมโยงว่าเหตุผลในการตัดสินตัวปราสาทพระวิหารคือ แผนที่ภาคผนวก 1 ดังนั้นจึงต้องนำแผนที่ภาคผนวก 1 มาตีความพื้นที่สำหรับให้ทหารออกจากบริเวณปราสาทพระวิหารด้วยว่าทหารไทยต้องถอนกำลังออกจากแผนที่ภาคผนวก 1 ด้วย
ฝ่ายไทยใช้มติคณะรัฐมนตรีเพื่อล้อมรั้วปราสาทพระวิหาร โดยเน้นพฤติกรรมการนิ่งเฉยของกัมพูชา ว่าไม่ได้มีการทักท้วงในการล้อมรั้ว จึงเท่ากับโดนกฎหมายปิดปาก
2. เรื่อง MOU 2543
2.1 ฝั่งภาคประชาชนยึดเอาแนวทางของ ศ.ดร.สมปอง สุจริตกุล คือ 1. ยึดข้อสงวนที่ไทยปี 2505 ที่จะทวงคืนปราสาทฯ ในอนาคต
2. เมื่อศาลโลกไม่ตัดสินเส้นเขตแดนเป็นบทปฏิบัติการ ไทยจึงยึดขอบหน้าผาเป็นสันปันน้ำและเส้นเขตแดนเหมือนเดิม และเขตแดนบริเวณปราสาทพระวิหารชัดเจนแล้วไม่ต้องทำหลักเขตแดนอีก
3. หากกัมพูชานำขึ้นตีความที่ศาลโลกไทยก็จะยึดเอาการที่ประเทศไทยปฏิบัติตามศาลโลกครบถ้วนแล้วเพื่อประกาศว่าศาลโลกไม่มีอำนาจตีความ อีกทั้งนำเหตุผลที่ประเทศไทยไม่ต่ออายุปฏิญญาการรับอำนาจศาลโลกโดยบังคับมา 50 กว่าปีแล้ว+ ข้อสงวนของไทยเมื่อปี 2505 มาเป็นเครื่องมือว่าไทยไม่รับอำนาจศาลโลกได้
4. หากกัมพูชายื่นขอให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งองค์การสหประชาชาติ หรืออาเซียนเข้าแทรกแซงไทย เมื่อไทยมีเส้นเขตแเดนของตัวเองชัดเจนแล้วก็สามารถหยิบยกกฎบัตรสหประชาติมาตรา 2 วรรค 7 ห้ามมิให้สมาชิกมาแทรกแซงกิจการภายในอาณาเขตไทย
5. ไม่จำเป็นต้องก่อสงคราม และไม่จำเป็นต้องยึด MOU 2543 (ที่มีความสุ่มเสี่ยงเรื่องแผนที่ 1 : 200,000) เพราะไทยมีกลไกของคณะกรรมาธิการร่วมเขตแดนไทย-กัมพูชา (JBC) ก่อนที่จะมี MOU 2543 เสียอีก
2.2 เนื่องจากไทยลงนามใน MOU 2543 ไปแล้ว และยังคงเลือกเดินหน้าต่อในการต่อสู้ครั้งนี้ว่า ไทยและกัมพูชามีกลไกในการเจรจาตาม MOU 2543 (มากกว่าจะเลือกแนวทางของ ศ.ดร.สมปอง สุจริตกุล ตามแนวทาง 2.1 ) แต่เมื่อศาลขอพิกัดจากทั้ง 2 แล้วย่อมแสดงว่าศาลโลกอาจจะกำลังพิจารณากำหนดมาตรการนอกเหนือจากที่ปรากฏใน MOU 2543
จุดแข็งของ MOU 2543 คือทำให้ศาลโลกเชื่อว่าศาลไม่ต้องตัดสิน เพราะทั้ง 2 ประเทศต้องตกลงกันเองตามกลไก MOU 2543
แต่จุดอ่อนก็มีที่ต้องหาทางแก้ไขก็มีเหมือนกันจากการขอพิกัดของศาลโลกในครั้งนี้ เพราะเมื่อฝั่งกัมพูชายื่นพิกัดตามแผนที่ภาคผนวก 1 เราก็จะพบว่า แผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000 ซึ่งจัดทำโดยฝรั่งเศสฝ่ายเดียว และเป็นมูลฐานหรือเหตุผลในการตัดสินตัวปราสาทพระวิหาร ปรากฏอยู่ใน MOU 2543 ด้วยเหมือนกัน แต่การล้อมรั้วโดยมติคณะรัฐมนตรีไทยเมื่อปี 2505 ไม่มีอยู่ใน MOU 2543 และไม่มีอยู่ในการกำหนดอาณาเขตในคำพิพากษาของศาลโลก
และการเลือกยุทธวิธีจาก MOU 2543 เป็นเครื่องมือหลัก ทำให้ไทยไม่สามารถกำหนดเส้นเขตแดนของตัวเองได้ (เพราะต้องอ้างว่าอยู่ระหว่างการเจรจา) ผลคือทำให้ไทยไม่สามารถอ้างเส้นขอบหน้าผาในสันปันน้ำด้วยเช่นกัน ซึ่งทำให้ไทยไม่สามารถใช้กฎบัตรสหประชาชาติมาตรา 2 วรรค 7 ที่ห้ามชาติสมาชิกหรือแม้แต่ศาลโลกเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในอาณาเขตของไทยได้หากไทยไม่ยินยอม
ผมกำลังเป็นห่วงและสังหรณ์ใจว่าการขอพิกัดของศาลโลกครั้งนี้ กำลังจะหมายถึง นอกจากจะให้ทหารไทย “ถอยฝ่ายเดียว” จากการล้อมรั้วตามมติ ครม. ของฝ่ายไทยเมื่อปี 2505 และให้ทหารกัมพูชาอยู่ได้ในรั้วแล้ว อาจจะให้บริเวณระหว่างนอกรั้วไปจนถึงแผนที่ภาคผนวก 1 ให้เป็นพื้นที่ปลอดทหารทั้งไทยและกัมพูชาในระหว่างการเจรจาตามกลไกของทั้ง 2 ประเทศ (ตามแนวทางที่ศาลโลกได้ออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราว) ผลก็คือ 1. ทหารกัมพูชาอยู่บริเวณปราสาท 2. ชุมชนกัมพูชาขยายเติบโตต่อไปบริเวณ 4.6 ตร.กม.จนถึงแผนที่ 1 : 200,000 ของฝรั่งเศส 3. ไม่มีทหารไทยและกัมพูชาเข้าไปได้ในบริเวณที่ศาลขอพิกัดระหว่างไทย-กัมพูชา 4. ประชาชนชาวไทยเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าวไม่ได้เพราะเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ ผลคือการเจรจาเสียดินแดนทางนิตินัยจะยาวออกไปอย่างไม่มีสิ้นสุด(ซึ่งไทยอาจเอามาอ้างกับคนไทยได้ว่าปกป้องดินแดนเอาไว้ได้) แต่การเสียดินแดนในทางพฤตินัยจะยาวออกไปไม่สิ้นสุดเช่นกัน
ด้วยเหตุผลดังกล่าผมยังคงเห็นเหมือนเดิมว่าผมเห็นด้วยกับแนวทางของ ศ.ดร.สมปอง สุจริตกุล มากกว่าการใช้ MOU 2543 และแม้จะมีความเห็นแตกต่างกัน แต่ผมก็ปรารถนาจะเห็นฝ่ายไทยอาศัยการตั้งข้อสงวนสิทธิ์ในรอบสุดท้ายนี้ว่า
“ประเทศไทยได้ปฏิบัติครบถ้วนตามคำพิพากษาของศาลโลก 2505 ครบถ้วนแล้ว ศาลโลกจึงไม่มีอำนาจในการตีความเกินขอบเขตจากคำพิพากษาของศาลโลกเมื่อปี พ.ศ. 2505 และไม่มีอำนาจสั่งการให้ทหารไทยออกจากพื้นที่อธิปไตยของไทย ประกอบกับประเทศไทยได้ตั้งข้อสงวนเอาไว้ว่าจะทวงคืนปราสาทพระวิหารในอนาคตโดยปราศจากการคัดค้านจากชาติสมาชิกในองค์การสหประชาชาติ อีกทั้งประเทศไทย “ไม่ได้ต่ออายุปฏิญญาการรับอำนาจศาลโลกโดยบังคับ” มา 50 กว่าปี นับตั้งแต่คดีปราสาทพระวิหารสิ้นสุดลงเมื่อปี พ.ศ. 2505 ไทยจึงขอสงวนสิทธิ์ที่จะไม่รับอำนาจศาลโลกในการตีความครั้งนี้”