นักวิชาการไทยวิเคราะห์ศาลโลกขอพิกัดเขตปราสาทพระวิหาร เชื่อเตรียมหาข้ออ้างใช้อำนาจกำหนดพิกัดขึ้นมาเอง เฉกเช่นกำหนดเขตในคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว เกมอาจจบวิน-วิน ขีดเส้นเกินพื้นที่เลยแนวล้อมรั้วลวดหนาม แต่ไม่ถึงเส้นตามที่เขมรร้องขอ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 17 เม.ย. ต่อกรณีนายอับดุลคาวิ อะห์เม็ด ยูซูฟ หนึ่งในคณะผู้พิพากษาศาลโลก ขอให้ไทยและกัมพูชากำหนดพิกัดทางภูมิศาสตร์ หรือชี้แผนที่บริเวณที่เป็นดินแดนที่แต่ละฝ่ายคิดว่าเป็นบริเวณของปราสาทพระวิหารนั้น บรรดานักวิชาการได้ให้ความเห็นทางรายการเกาะติดคดีประวัติศาสตร์ “เขาพระวิหาร” ผ่านทางสถานี ASTV ดังนี้
นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า เนื่องจากเราโต้แย้งคำให้การของกัมพูชา จนสามารถฉีกแผนที่ภาคผนวก 1 (Annex I) ซึ่งกัมพูชาใช้เป็นข้ออ้างได้เป็นชิ้นๆ ทำให้โอกาสที่ศาลจะตัดสินให้เป็นไปตามความต้องการของกัมพูชามีน้อย ประกอบกับศาลไม่น่าที่จะกล้าเสี่ยงวินิจฉัยเกินเลยขอบเขตคำพิพากษาเดิม ย่อมมีความเป็นไปได้ที่ศาลจะกำหนดพิกัดขึ้นมาเอง เพื่อให้เป็นเขตของตัวปราสาท เหมือนที่ศาลเคยกำหนดเขตในคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว
นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า คำถามนี้ทำให้คิดไปได้ว่าศาลกำลังจะพิพากษาพื้นที่รอบปราสาทเขาวิหารด้วยตัวเอง มากกว่าการปล่อยให้ทั้งสองประเทศไปตกลงด้วยกันเองตามหลักเอ็มโอยู 2543 หรือไม่ หากทำตามที่ศาลเรียกร้อง เมื่อไทยยึดถือพิกัดเส้นเขตแดนตามแนวล้อมลวดหนาม ขณะที่กัมพูชายึดเส้นเขตแดนตามแผนที่ภาคผนวก 1 หากศาลจะกำหนดไม่ให้ฝ่ายใดชนะเด็ดขาด เป็นไปได้ว่าน่าจะตัดสินให้ไทยเสียเปรียบเพิ่มขึ้น ขีดเส้นเกินพื้นที่เลยแนวล้อมรั้วลวดหนาม แต่ไม่ถึงเส้นเขตแดนตามที่เขมรร้องขอ
พล.ร.ท.ประทีป ชื่นอารมณ์ แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รุ่น 2 กล่าวว่าศาลเองก็คงลำบากใจว่า เส้นเขตแดนอยู่ตรงไหน เลยให้คู่ความทั้งคู่กำหนดพิกัดเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจ ที่สำคัญมีปัญหาอยู่ว่าพิกัดในแผนที่ จะเป็นแผนที่อะไร แผนที่ 1 : 200,000 ตามเขมร หรือแผนที่ 1 : 50,000 ที่ฝ่ายไทยใช้อยู่ เรื่องนี้เข้าทางกัมพูชา เพราะอยู่ในเนื้อหาสาระของการให้ตีความให้เป็นไปตามเส้นเขตแดนที่กำหนดไว้ในแผนที่มาตรา 1 : 200,000 ขณะที่ไทยไม่มีเส้นเขตแดน เพราะไม่เคยยืนยันพื้นที่ของตัวเองอย่างเด่นชัดต่อคู่กรณีเลย
นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า หากผู้พิพากษาทั้งหมดคิดเหมือนกัน ถือเป็นคำถามที่อันตรายมาก ในฐานะที่ตนเองเป็นทนาย หากให้อ่านใจผู้พิพากษาที่ถาม คำวินิจฉัยต้องออกมาแน่ว่าเขามีอำนาจตีความได้ ทั้งนี้หากเรากำหนดพิกัดเส้นเขตแดนไป ศาลก็จะเอาไปอ้างว่าตัดสินให้ตามที่เรากำหนดเส้นเขตแดนไป อย่างไรก็ดี ปกติพิกัดที่ไทยยึดถือก็เสียเปรียบกัมพูชาอยู่แล้ว หากศาลตัดสินให้ตามพิกัดที่กัมพูชาร้องขอ เราจะเสียพื้นที่ 4.6 ตร.กม.แน่นอน
นายสุรพงษ์ ชัยนาม อดีตทูต 5 ประเทศ กล่าวว่า ตนเชื่อว่าผู้พิพากษาที่ตั้งคำถามต้องการทดสอบความหนักแน่นในจุดยืนของแต่ละฝ่าย ถึงแม้ผู้พิพากษาทั้งหมดเห็นด้วยและคิดไปกำหนดเส้นเขตแดนเอง แต่อย่าลืมว่าจุดยืนในการต่อสู้ของเรา คือ ศาลไม่มีอำนาจในการตีความพื้นที่เขาวิหาร ดังนั้นเราต้องยืนหยัดในจุดยืน ศาลไม่มีอำนาจ
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในวันเดียวกันนี้เมื่อเวลาประมาณ 23.00 น. นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว คำนูณ สิทธิสมาน ระบุว่า ยก 2 จบไม่สวยเท่าที่ควร!
“แม้จะเริ่มครึ่งวันได้สวยงามมาตลอดเมื่อ The big map (หรือ map 85 d) ฉีก The annex 1 map เสียกระจุย โดยเฉพาะจากฝีมือมิสอลินา มีรอง ที่เป็นขวัญใจคนไทยแค่ข้ามชั่วโมง แต่พอตอนจบผู้พิพากษาท่านหนึ่งขอพิกัด Vicinity ที่ทั้ง 2 ฝ่ายพอใจภายใน 24 พฤษภา ก็ทำให้คาดการณ์ได้ว่าศาลอาจจะกำหนด Vicinity ของปราสาทขึ้นมาเอง แม้ไม่ใช่จากเส้นตาม annex 1 map แต่ก็น่าจะไม่ใช่เส้นตามมติ ครม. 10 กรกฎา 2505
ถ้าศาลออกอย่างนี้ แล้วไทยปฏิบัติตาม ก็ไม่ใช่เสมอตัว แต่แพ้ เพียงแต่ไม่แพ้หมดรูปตามที่กัมพูชาขอศาลมาแบบหวังกินรวบ
ไทยจะปฏิบัติตามหรือไม่?
หรือคำถามที่ถูกที่ควรจะเป็น คือ คนไทยส่วนใหญ่จะยอมให้รัฐบาลปฏิบัติตามหรือไม่??
และที่รบกวนจิตใจผมมากแต่ไม่ค่อยอยากพูดในยามหน้าศึกก็คือ วันนี้เราเห็นแล้วว่าเราฉีก annex 1 map เป็นชิ้นๆ ได้อย่างนี้ ไม่ใช่ด้วยข้อต่อสู้ที่เพิ่งค้นพบนะ แต่เป็นหลักฐานเก่าตั้งแต่ปี 2505 แล้วทำไมเมื่อปี 2543 เราไปทำเอ็มโอยูกับกัมพูชายอมรับมันไว้ในข้อ 1 (c) และวันนี้เราก็ยังเอาเอ็มโอยู 2543 มาใช้ประโยชน์ในการต่อสู้คดีแบบแปลกๆ ตรรกะนี้ผมรับไม่ได้จริงๆ
เอาละ แม้ศาลน่าจะไม่กำหนดเขตแดนตาม annex 1 map แต่เราก็จะต้องกลับไปเจรจาเขตแดนภายใต้กรอบเอ็มโอยูที่ต้องเอา annex 1 map ขึ้นมาร่วมพิจารณาอยู่ดี
ในที่สุด annex 1 map ก็จะเป็น “ตัวหาร” ให้เราเสียดินแดนในอนาคตอยู่ดี แม้จะไม่มากเท่่าที่ annex 1 map ขีดไว้ก็ตาม”