xs
xsm
sm
md
lg

‘สันปันน้ำ’ นิยามใหม่ของ(ไอ้)สันขวาน !

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

เหมือนกระเหี้ยนกระหือรือที่จะสละแผ่นดินของเราเสียจริง...

นี่คือคำสุภาพที่สุด ณ นาทีที่เห็นเอกสาร “50 ปี 50 ประเด็นถามตอบกรณีปราสาทพระวิหาร” หน้า 10 ที่ล้อมกรอบสีเขียวไว้เป็นนิยามศัพท์ของคำสำคัญที่สุดในกรณีปราสาทพระวิหาร ตลอดระยะเวลากว่า 50 ปีนับแต่เป็นคดีความขึ้นศาลยุติธรรมระหว่างประเทศครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2502 และเป็นประเด็นแหลมคมมากที่สุดในช่วง 5 ปีมานี้

“สันปันน้ำ”

ตลอด 50 ข้อคำถามคำตอบใน 47 หน้า มีอยู่ตอนเดียวที่แทรกบทนิยามศัพท์เข้าไป เป็นบทนิยามศัพท์คำสำคัญนี้คำเดียว คือตอนท้ายข้อ 8 ตอนต้นของหน้า 10

นิยามศัพท์นี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง นอกจากอาจจะมีผลกระทบต่อคดีปราสาทพระวิหารภาค 2 ในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศที่จะมีการแถลงด้วยวาจาครั้งสุดท้าย 15 -19 เมษายน 2556 และคาดว่าจะมีคำพิพากษาภายในปี 2556 นี้แล้ว ยังจะมีผลกระทบอย่างแน่นอนต่อปัญหาเขตแดนไทย-กัมพูชาในอนาคต ไม่เฉพาะแต่บริเวณปราสาทพระวิหารนี้เท่านั้น แต่รวมตลอดแนว 195 กิโลเมตรจากช่องบก จังหวัดอุบลราชธานี ถึงบริเวณหลักเขตที่ 1 ช่องสะงำ จังหวัดศรีษะเกษ อีกด้วย

เป็น 195 กิโลเมตรที่ไม่เคยมีหลักเขตแดนมาตลอดระยะเวลากว่า 100 ปี

นิยามศัพท์ “สันปันน้ำ” โดยกระทรวงการต่างประเทศ ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2556 นี้ระบุไว้ว่า...

“สันปันน้ำ คือ แนวสันต่อเนื่องในภูมิประเทศ เมื่อฝนตกจะแบ่งน้ำเป็นสองส่วน ซึ่งอาจไม่ใช่สันเขาหรือขอบหน้าผาก็ได้ โดยปกติต้องใช้เครื่องมือทางเทคนิคในการพิสูจน์หาสันปันน้ำ ทั้งนี้ ตรงบริเวณปราสาทพระวิหาร จนถึงบัดนี้ยังไม่เคยมีการสำรวจหาสันปันน้ำในภูมิประเทศจริง

เขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาตลอดแนวยาว 798 กิโลเมตร มีเพียง 603 กิโลเมตรเท่านั้นที่มีหลักเขตแดนรวมทั้งสิ้น 73 หลัก อีก 195 กิโลเมตรไม่มีหลักเขตแดน บริเวณปราสาทพระวิหารอยู่ในส่วนหลังนี้ด้วย

คำว่า “ไม่มีหลักเขตแดน” นี้มีมุมมองที่แตกต่างกัน 2 มุม

มุมหนึ่ง – มองว่า “ไม่จำเป็นต้องมีหลักเขตแดน” เพราะสภาพธรรมชาติคือสันปันน้ำที่มีลักษณะเป็นหน้าผานั้นมีความชัดเจนอยู่แล้ว

มุมหนึ่ง – มองว่า “ยังไม่ได้จัดทำหลักเขตแดน” จะต้องเจรจากันต่อไป

มุมมองแรกเป็นมุมมองของรัฐบาลไทย และกระทรวงการต่างประเทศในยุค 50 ปีก่อนขึ้นไป เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่สุดที่ใช้ต่อสู้คดีปราสาทพระวิหารภาคแรกที่รวมศูนย์อยู่ที่แผนที่ระวางดงรัก หรือที่รู้จักกันในนามแผนที่ภาคผนวก 1 หรือแผนที่มาตราส่วน 1 : 200,000 ที่กัมพูชาใช้เป็นหลักฐานเด็ดฟ้องเรียกคืนปราสาทพระวิหารจากประเทศไทย

มุมมองนี้ยืนยันมาตลอดว่าสันปันน้ำอยู่ที่หน้าผา เพื่อต่อสู้กับแผนที่ระวางดงรักที่ระบุเส้นเขตแดนล้ำหน้าผาเข้ามาเป็นพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร

หากย้อนไปศึกษาคดีปราสาทพระวิหารภาคแรก ไม่เฉพาะแต่กับตัวคำพิพากษาหลักและความเห็นแย้งเท่านั้น หากดูบันทึกการต่อสู้คดีที่ประกอบไปด้วย

ฟ้องและฟ้องละเอียดของกัมพูชา - ยื่นเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2502 และ 23 มกราคม 2503

คำให้การของไทย - ยื่นเมื่อ 29 กันยายน 2504

คำค้านของกัมพูชา - ยื่นเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2504

คำติงของไทย - ยื่นเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2505

จะพบความพยายามของบรรพบุรุษไทยเมื่อ 50 ปีก่อนเป็นอย่างยิ่งที่จะอรรถาธิบายด้วยหลักฐานต่างๆ ว่าสันปันน้ำบริเวณปราสาทพระวิหาร ที่เป็นเส้นเขตแดนตามสนธิสัญญา ค.ศ. 1904 และ 1907 อยู่ที่หน้าผา

เฉพาะเท่าที่ผมเห็นเป็นสำคัญก็ได้แก่

คำให้การของไทย – หมวด 5 “ความผิดพลาดในแผนที่ตามเอกสารท้ายฟ้องหมาย 1 และที่ตั้งอันแท้จริงของสันปันน้ำ” ข้อ 76 – 80

คำติงของไทย – หมวด 2 “แผนที่หมาย 1 ของกัมพูชาไม่มีผลผูกพัน” หัวข้อย่อย (ช) “แผนที่หมาย 1 ไม่ได้เขียนขึ้นตามข้อตกลงของกรรมการผสม” ข้อ 42, 43 หัวข้อย่อย (ซ) “ถ้ากรรมการผสมได้ตกลงกันว่าเส้นเขตแดนอยู่ตรงไหน ข้อตกลงนั้นจะต้องเป็นการกำหนดเส้นเขตแดนไว้ที่หน้าผา” ข้อ 45 – 53 และหมวด 5 “ข้อผิดพลาดในแผนที่หมาย 1 และที่ตั้งอันแท้จริงของเส้นเขตแดนสันปันน้ำบนเขาพระวิหาร” ข้อ 102

คุณปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ เคยเขียนถึงมาบ้างแล้วตั้งแต่เมื่อ 2 ปีก่อนคือวันที่ 15 มีนาคม 2554 ขณะชุมนุม 158 วันอยู่ภายใต้ชื่อเรื่อง “เปิดหลักฐานบันทึกสู้คดีหม่อมเจ้าวงษ์มหิป ชยางกูรที่ศาลโลกไม่พูดถึง” กล่าวถึงคำติงของไทยหลายข้อ โปรดศึกษาดู วันนี้ผมคงไม่มีเนื้อที่พอที่จะย้อนกล่าวถึงได้ทั้งหมด จะขอกล่าวถึงเฉพาะบางประเด็นที่ยังไม่ได้มีการพูดถึง แต่น่าสนใจยิ่ง นั่นคือคำติงของไทยในหมวด 2 (ซ) ข้อ 47

ที่น่าสนใจยิ่งเพราะเป็นการอ้างเอกสารหลักฐานของฝ่ายกัมพูชา หมาย 37 ท้ายคำค้าน

เป็นรายงานของศาสตราจารย์กูรู ที่เขียนขึ้นหลังเสร็จสงครามโลกครั้งที่ 2 ใหม่ๆ ตอนที่ไทยกับฝรั่งเศสประนีประนอมกัน วัตถุประสงค์ของรายงานดูเหมือนจะเพื่อกันไม่ให้ไทยแผ่อาณาเขตลงไปในเขมรต่ำ จึงได้ยกย่องหน้าผาและสันปันน้ำที่ภูเขาดงรักว่าเป็นอัศจรรย์ทางธรรมชาติที่อำนวยเส้นเขตแดนไว้ให้เป็นอย่างดีที่สุด

“ที่ตรงนี้ เส้นเขตแดนเผอิญลงรอยกับภูมิศาสตร์อย่างอัศจรรย์และง่ายดาย ภูเขาดงรักเป็นเขาลาดหินทรายลาดลงไปทางเหนือทางเดียวสู่ลำน้ำมูล มีหน้าผาสูงชันกั้นกัมพูชาอยู่เบื้องล่าง...

“ลาดเขาดงรักนี่เองที่ลาดไปสู่สันปันน้ำแบ่งน้ำลงสู่ทะเลสาบทางทิศใต้ทางหนึ่ง กับแม่น้ำมูลทางทิศเหนืออีกทางหนึ่ง ไม่มีอัศจรรย์ทางภูมิศาสตร์ที่ไหนอีกแล้วที่จะนำมาใช้เป็นเส้นเขตแดนได้ดีกว่านี้ เส้นสันเขาอันเห็นได้ง่ายดาย ตัดปัญหาได้หมดทั้งสิ้น เพราะไม่มีทางสงสัยได้เลยว่าเส้นเขตแดนที่นี่ตั้งอยู่ตรงไหน...”


แต่ไม่ว่าจะต่อสู้กันอย่างไร ในที่สุดศาลไม่ได้พิจารณาให้ความสำคัญในประเด็นข้อเท็จจริงนี้เท่าที่ควร

ศาลพิจารณาแต่เพียงให้ความสำคัญแก่แผนที่ระวางดงรักในบทบรรยาย โดยเฉพาะการที่ประเทศไทยไม่ปฏิเสธทั้งที่มีโอกาสจะปฏิเสธได้หลายโอกาส แต่กระนั้นเมื่อถึงคำพิพากษาก็มิได้พิพากษาว่าแผนที่ถูกต้องหรือไม่แต่ประการใด และมิได้พิพากษาให้เขตแดนเป็นไปตามแผนที่ พิพากษาแร่เพียง 3 ประการดังที่ทราบกัน คงไม่ต้องย้อนกล่าว

กัมพูชาจึงได้ไปแต่ตัวปราสาทพระวิหารและบริเวณที่ไทยกำหนดให้เป็นเขตปราสาทพระวิหารตามมติคณะรัฐมนตรี 10 กรกฎาคม 2505

แต่กัมพูชาก็มีเป้าหมายที่แน่วแน่ชัดเจนมาโดยตลอด คือยืนยันว่าเส้นเขตแดนเป็นไปตามแผนที่ระวางดงรัก กี่ร้อยกี่พันหนคนกัมพูชาทุกระดับก็จะพูดเหมือนกัน

ขณะที่ไทยเมื่อปี 2502 - 2505 ยืนยันว่าเส้นเขตแดนอยู่ที่สันปันน้ำ และสันปันน้ำอยู่ที่หน้าผา ตามการสำรวจในภูมิประเทศจริง แต่ไทย ณ วันนี้เดือนกุมภาพันธ์ 2556 โดยเอกสารอย่างเป็นทางการของกระทรวงการต่างประเทศ แม้จะยังยืนยันว่าเส้นเขตแดนอยู่ที่สันปันน้ำ แต่ไม่ได้ยืนยันว่าสันปันน้ำ ณ บริเวณปราสาทพระวิหารอยู่ที่หน้าผา และยืนยันว่าไม่เคยมีการสำรวจสันปันน้ำในภูมิประเทศจริงบริเวณนั้นมาก่อน

คิดในด้านกลับ นิยามศัพท์สันปันน้ำครั้งใหม่นี้ก็คือการยกระดับราคาแผนที่ระวางดงรักของกัมพูชา

โดยเฉพาะเมื่อยังมีเอ็มโอยู 2543 ข้อ 1 (ค) อยู่!

กำลังโหลดความคิดเห็น