ส.ว.สรรหา ชี้กระทรวงการต่างประเทศระบุนิยาม “สันปันน้ำ” ในเอกสารชี้แจงคดีพระวิหารคลาดเคลื่อน ชี้เขตแดนจากช่องบกถึงช่องสะงำไม่จำเป็นต้องทำหลักเขตแดน กังขานำเรื่องนี้มาพูดเหมือนไม่ยืนยันในเส้นเขตแดนเดิมของไทย พยายามยกระดับแผนที่เขมร หวั่นกระทบเส้นเขตแดนทั้งหมด 195 กม.
วันนี้ (31 ม.ค.) นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก “คำนูณ สิทธิสมาน” ระบุว่า เหมือนกระเหี้ยนกระหือรือที่จะสละแผ่นดินของเราเสียจริงๆ ถ้าไม่พูดแบบนี้ก็ไม่รู้จะพูดอะไรที่สุภาพกว่านี้ได้ เพราะในเอกสาร "50 ปี 50 ประเด็นถามตอบกรณีปราสาทพระวิหาร" ตลอด 50 ข้อ 47 หน้า มีอยู่ตอนเดียวที่แทรกบทนิยามศัพท์เข้าไป คือตอนท้ายข้อ 8 ตอนต้นของหน้า 10 แต่เป็นนิยามศัพท์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง จะมีผลกระทบต่อปัญหาเขตแดนไทย-กัมพูชาในอนาคต ไม่เฉพาะแต่บริเวณปราสาทพระวิหารเท่านั้น แต่รวมตลอดแนว 195 กิโลเมตรจากช่องบก อุบลราชธานี ถึงหลักเขตที่ 1 ช่องสะงำ ศรีษะเกษ ที่ไม่เคยมีหลักเขตแดนมาตลอดกว่า 100 ปี
เป็นนิยามศัพท์ของคำ "สันปันน้ำ" ที่ระบุไว้ว่า... "สันปันน้ำ คือ แนวสันต่อเนื่องในภูมิประเทศ เมื่อฝนตกจะแบ่งน้ำเป็นสองส่วน ซึ่งอาจไม่ใช่สันเขาหรือขอบหน้าผาก็ได้ โดยปกติต้องใช้เครื่องมือทางเทคนิคในการพิสูจน์หาสันปันน้ำ ทั้งนี้ ตรงบริเวณปราสาทพระวิหาร จนถึงบัดนี้ยังไม่เคยมีการสำรวจหาสันปันน้ำในภูมิประเทศจริง"
นิยามศัพท์นี้ และคำตอบต่อปัญหาที่ว่าทำไมเขตแดน 195 กิโลเมตรนี้ไม่มีหลักเขตแดน เพราะกรรมการผสมสยาม-ฝรั่งเศสเห็นว่าไม่จำเป็นต้องมี เพราะสันปันน้ำเป็นหน้าผาชัดเจน "ไม่ต้องทำ" หลักเขตแดน (มุมมอง ศ.สมปอง สุจริตกุล และภาคประชาชน) หรือว่า "ยังไม่ได้ทำ" หลักเขตแดน (มุมมองกระทรวงการต่างประเทศ) ไม่มีความจำเป็นจะต้องบรรจุเข้ามาในเอกสารฉบับนี้เลย บรรจุเข้ามาทำไม เพื่อวัตถุประสงค์ใด จิตใจของคนบรรจุข้อความนี้เข้ามาคิดอะไรอยู่ เพราะเท่ากับเป็นการไม่ยืนยันในเส้นเขตแดนเดิมของประเทศไทยในส่วน 195 กิโลเมตรจากช่องบกถึงช่องสะงำ เท่ากับยอมเจรจาใหม่หมดในส่วนนี้ ต่างกับกัมพูชาที่เขายืนยันเส้นเขตแดนตามแผนที่ระวางดงรักมาตลอด
“การบอกว่า "ยังไม่เคยมีการสำรวจหาสันปันน้ำในภูมิประเทศจริง" คิดในด้านกลับก็คือการยกระดับราคาแผนที่ระวางดงรักของกัมพูชา” นายคำนูณ ระบุ
ก่อนหน้านี้ นายคำนูณได้เขียนบทความ “50 ปี 50 ประเด็น 50 วิธี‘รักชาติ’แบบเนียน ๆ ของ กต.ไทย !” ลงในเว็บไซต์เอเอสทีวีผู้จัดการออนไลน์ และจะตีพิมพ์ใน นสพ.ASTVผู้จัดการรายวัน กล่าวโดยสรุปว่า ราชอาณาจักรไทยไทยต้องปฏิบัติตามคำตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในคดีปราสาทพระวิหารภาค 2 ปลายปี 2556 นี้อีกครั้ง หลังจากเจ็บปวดมาแล้วเมื่อ 50 ปีก่อน โดยไม่มีเงื่อนไข โดยไม่มีข้อแม้ และโดยไม่ต้องรับฟังเสียงของประชาชน แม้ว่าจะมีโอกาสเสี่ยงต่อการสูญเสียดินแดนอย่างเป็นทางการเพิ่มถึง 50 % และ 66.66 %
ทั้งนี้ นายคำนูณได้ตั้งข้อสังเกต 3 ประการ ได้แก่ ในจำนวน 50 ประเด็น ไม่มีสักประเด็นเดียวที่กระทรวงการต่างประเทศจะให้ข้อมูลถึงเหตุที่ประเทศต่าง ๆ จะรับเขตอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ประการต่อมา แม้มีการพูดถึงจะอ้างถึงหนังสือลงวันที่ 6 กรกฎาคม 2505 จากพ.อ.ถนัด คอมันตร์ถึงเลขาธิการสหประชาชาติแจ้งมติคณะรัฐมนตรี 3 กรกฎาคม 2505 ถึงการไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารภาคแรก 15 มิถุนายน 2505 และขอตั้งข้อสงวนสิทธิที่ประเทศไทยจะมีหรือพึงมีในอนาคตเพื่อเรียกคืนปราสาทพระวิหาร แต่ก็กลับกล่าวถึงว่าเป็นหนังสือที่ขัดกับธรรมนูญศาลข้อ 60 เป็นไปไม่ได้ และถ้าจะพอเป็นไปได้บ้างตามข้อ 61 ก็ขาดอายุเสียแล้วตั้งแต่ปี 2515
นอกจากนี้ การที่กระทรวงการต่างประเทศเปิดเผยว่า คดีปราสาทพระวิหารภาค 2 นี้ไม่ใช่คดีใหม่ แต่เป็นคดีเก่า เป็นการขอตีความตามคดีเก่าตามธรรมนูญศาลข้อ 60 วรรคสอง ทั้งๆ ที่แม้แต่ในทฤษฎีกฎหมายระหว่างประเทศ ที่กระทรวงการต่างประเทศยึดถือว่าประเทศไทยยังคงผูกพันอยู่กับเขตอำนาจศาลแม้จะขาดอายุปฏิญญามาแล้ว 50 ปีเศษก็ตาม โดยผูกพันเฉพาะการตีความคำพิพากษาเดิมตามธรรมนูญศาลข้อ 60 วรรคสอง แต่ยังมีเงื่อนไข คือ จะต้องพิจารณาเฉพาะในประเด็นแห่งคดีเดิมเท่านั้น จะขยายความไปนอกเหนือคำพิพากษาเดิมไม่ได้