xs
xsm
sm
md
lg

50 ปี 50 ประเด็น 50 วิธี‘รักชาติ’แบบเนียน ๆ ของ กต.ไทย !

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

แมวไม่มีวันออกลูกเป็นราชสีห์ !

แม้จะพอคาดการณ์ได้ว่าสุดท้ายต้องเป็นอย่างนี้ แต่เมื่อได้อ่านเอกสาร "50 ปี 50 ประเด็น ถาม-ตอบกรณีปราสาทพระวิหาร" จบแล้ว มันก็ยังเจ็บจี๊ดขึ้นมาในหัวอก ถ้าไม่รู้มาก่อนว่าเป็นผลงงานของกระทรวงการต่างประเทศ ราชอาณาจักรไทย คงนึกว่าเป็นฝีมือฝ่ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ และ/หรือสหประชาชาติ เพราะท่านร้อยเรียง(และละเว้น)เรื่องราวเพื่อนำไปสู่ข้อสรุปที่ไม่ควรด่วนสรุปในข้อ 45 ที่ว่า

"ไทยและกัมพูชา ในฐานะสมาชิกสหประชาชาติ มีพันธกรณีต้องปฏิบัติตามคำตัดสินของศาลโลก ตามข้อ 94 ของกฎบัตรสหประชาชาติ"

ท่านเขียนไว้แค่นี้จริง ๆ โดยไม่มีเงื่อนไขหรือข้อแม้ใด ๆ ต่อท้าย

สรุปว่า ราชอาณาจักรไทยไทยต้องปฏิบัติตามคำตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในคดีปราสาทพระวิหารภาค 2 ปลายปี 2556 นี้อีกครั้ง หลังจากเจ็บปวดมาแล้วเมื่อ 50 ปีก่อน โดยไม่มีเงื่อนไข โดยไม่มีข้อแม้ และโดยไม่ต้องรับฟังเสียงของประชาชน

แม้ว่าจะมีโอกาสเสี่ยงต่อการสูญเสียดินแดนอย่างเป็นทางการเพิ่มถึง 50 % และ 66.66 % !

มิน่า ก่อนแถลงข่าวที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อเย็นวันศุกร์ที่แล้วหลอดไฟโคมถึงบังเอิญแตก !!

จะเพื่อให้สอดคล้องกับข้อสรุปฝ่ายเดียวของกระทรวงการต่างประเทศในประเด็นข้อ 45 ข้างต้นหรือไม่ ไม่ทราบ แต่ผมมีข้อสังเกต 3 ประการถึงรูปแบบการร้อยเรียง(และละเว้น)เรื่องราวก่อนจะถึงข้อสรุป

ข้อสังเกต 1 : ในจำนวน 50 ประเด็น ไม่มีสักประเด็นเดียวที่กระทรวงการต่างประเทศจะให้ข้อมูลถึงเหตุที่ประเทศต่าง ๆ จะรับเขตอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ว่าโดยหลักการแล้วมีอยู่ 3 เหตุ และในกรณีของประเทศไทยอยู่ที่เหตุที่ 3 คือการที่รัฐบาลประกาศปฏิญญาฝ่ายเดียวรับเขตอำนาจศาล เมื่อละเว้นประเด็นที่ท่านอาจจะเห็นว่าไม่สำคัญนี้เสียแล้ว ท่านจึงไม่มีพื้นที่ให้บอกความเป็นจริงพื้นฐานแก่พี่น้องประชาชนไทยทั้งประเทศว่าอายุปฏิญญารับเขตอำนาจศาลของประเทศไทยขาดลงตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2503 รวมเป็นระยะเวลา 50 ปี 11 เดือน 20 วันก่อนกัมพูชาร้องศาลในคดีนี้เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2554

เมื่อประเด็นพื้นฐานเช่นนี้ยังไม่สำคัญในมุมมองของท่านเสียแล้ว คนไทยทั้งประเทศจึงไม่ได้รับข้อมูลจากรัฐบาลของเขาต่อไปว่าไม่ใช่ประเทศสมาชิกสหประชาชาติทุกประเทศ และ/หรือประเทศสมาชิกภาคีธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศทุกประเทศ ที่จะรับเขตอำนาจศาล

ข้อสังเกต 2 : แม้ในประเด็นที่ 6 จะมีการพูดถึงจะอ้างถึงหนังสือลงวันที่ 6 กรกฎาคม 2505 จากพ.อ.ถนัด คอมันตร์ถึงเลขาธิการสหประชาชาติแจ้งมติคณะรัฐมนตรี 3 กรกฎาคม 2505 ถึงการไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารภาคแรก 15 มิถุนายน 2505 และขอตั้งข้อสงวนสิทธิที่ประเทศไทยจะมีหรือพึงมีในอนาคตเพื่อเรียกคืนปราสาทพระวิหาร แต่ก็กลับกล่าวถึงว่าเป็นหนังสือที่ขัดกับธรรมนูญศาลข้อ 60 เป็นไปไม่ได้ และถ้าจะพอเป็นไปได้บ้างตามข้อ 61 ก็ขาดอายุเสียแล้วตั้งแต่ปี 2515

แม้จะยังไม่มีเหตุที่ประเทศไทยจะเรียกคืนปราสาทพระวิหารในวันนี้ หรืออาจจะไม่มีเลยในอนาคต แต่ก็ไร้เหตุผลอย่างยิ่งที่คนไทยรุ่นหลังจะทำลายนวัตกรรมอันงดงามของบรรพบุรุษไปเสียสิ้น

อันที่จริง หนังสือข้อสงวนนี้ยังสามารถจะใช้เสริมพลังในข้อต่อสู้คดีของประเทศไทยในครั้งนี้ได้ตามสมควร แม้จะไม่ใช่ข้อต่อสู้หลัก หรือไม่ใช่ใช้เพื่อเรียกคืนปราสาทพระวิหารก็ตาม

โดยเฉพาะอย่างยิ่งใช้เป็นข้อเสริมเพิ่มน้ำหนักการไม่รับเขตอำนาจศาลตามข้อสังเกต 1

แต่เมื่อลูกไทยหลานไทยวันนี้เห็นภูมิปัญญาบรรพบุรุษไร้ค่าอย่างนี้ จึงไม่แปลกใจที่เราจะไม่พบเห็นการใช้ข้อสงวนนี้ในการต่อสู้คดีแต่ประการใด

ข้อสังเกต 3 : เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปในประเด็นที่ 45 กระทรวงการต่างประเทศจึงไม่ละเลยและไม่ลังเลที่จะฟันธงไปโดยไม่มีข้อแม้เลยว่าคดีปราสาทพระวิหารภาค 2 นี้ไม่ใช่คดีใหม่ แต่เป็นคดีเก่า เป็นการขอตีความตามคดีเก่าตามธรรมนูญศาลข้อ 60 วรรคสอง ตามคำชี้แจงประเด็นที่ 7 และ 28 ทั้ง ๆ ที่แม้แต่ในทฤษฎีกฎหมายระหว่างประเทศที่กระทรวงการต่างประเทศยึดถือว่าประเทศไทยยังคงผูกพันอยู่กับเขตอำนาจศาลแม้จะขาดอายุปฏิญญามาแล้ว 50 ปีเศษก็ตาม โดยผูกพันเฉพาะการตีความคำพิพากษาเดิมตามธรรมนูญศาลข้อ 60 วรรคสอง ที่ผมเรียกว่าทฤษฎีลำแสงเล็ก ๆ เลือน ๆ ส่องไปชั่วกัลปาวสานก็ตาม แต่นั่นก็ยังมีเงื่อนไข

เงื่อนไขที่ว่าคือศาลจะต้องพิจารณาเฉพาะในประเด็นแห่งคดีเดิมเท่านั้น จะขยายความไปนอกเหนือคำพิพากษาเดิมไม่ได้ เป็นต้นว่าถ้าคำพิพากษาเดิมไม่ได้ชี้เรื่องเขตแดน การตีความคำพิพากษาวันนี้ก็จะไปชี้เรื่องเขตแดนไม่ได้

ขอตั้งข้อสังเกตเบาะ ๆ เฉพาะ 3 ประการนี้เท่านั้นก่อน

การที่ประเทศไทยที่เป็นคู่ความไปยอมรับโดยดุษฎีเสียแล้วว่าเป็นคดีเก่า และต้องปฏิบัติตาม โดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ กำกับไว้ หรือสงวนท่าทีไว้บ้าง ก็เท่ากับปิดทางเลือกอื่นของประเทศไทยโดยสิ้นเชิงในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาออกมาพิลึกพิลั่นเกินจะรับ

ทำให้ข้อต่อสู้ที่ดูดีพอใช้ของคณะผู้แทนไทยที่กล่าวไว้ในคำชี้แจงประเด็นที่ 30 ไร้ความหมาย

โดยเฉพาะในวรรคสุดท้ายของประเด็นที่ 30

“ดังนั้น ไทยจึงเห็นว่าศาลไม่มีอำนาจพิจารณาและไม่อาจรับคำขอของกัมพูชาได้ หรือหากศาลเห็นว่ามีอำานาจและรับคำขอ ก็ไม่มีเรื่องที่จะต้องตีความ หรือหากศาลฯเห็นว่ามีอำนาจและรับคำขอให้ตีความ ก็ควรตัดสินว่าคำพิพากษาศาลฯในปี 2505 มิได้ตัดสินว่าเส้นเขตแดนเป็นไปตามแผนที่ภาคผนวก 1”

เพราะกลายเป็นว่าไม่ว่าจะสู้ไปยังไง ก็ขึ้นอยู่กับศาลจะชี้ว่ายังไง

และไทยจะทำตามที่ศาลชี้


การออกเอกสารชี้แจงของกระทรวงการต่างประเทศมาในลักษณะนี้ ทำให้การหาทางออกร่วมกันของสังคมไทยว่าประเทศไทยควรจะดำเนินนโยบายอย่างไรทั้งต่อการชี้แจงด้วยวาจาในวันที่ 15 – 19 เมษายน 2556 และต่อคำพิพากษาที่อาจจะมีผลกระทบอธิปไตยของชาติในช่วงปลายปี 2556 ไร้ความหมายไปโดยพื้นฐาน เพราะท่านในฐานะของรัฐบาลสรุปออกมาเสียแล้วว่าไม่ว่าจะยังไงก็จะปฏิบัติตามโดยไม่มีเงื่อนไข

อันที่จริงภาคประชาชนหลายส่วนก็ไม่ได้ขึงตึงว่าจะไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาเสียเลย แต่พยายามรับฟังกระทรวงการต่างประเทศ แลกเปลี่ยนความเห็น และเสนอแนะอย่างสร้างสรรค์ พอสรุปได้ 3 ประการ

หนึ่ง : การยอมผูกพันกับเขตอำนาจศาลตามธรรมนูญข้อ 60 วรรคสองจะต้องตีความอย่างแคบอย่างยิ่งเท่านั้น

สอง : ไปสู้ในการแถลงด้วยวาจาให้เต็มที่ ยังไม่ต้องพูดว่าจะปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือไม่ในขณะนี้

สาม : ถามประชาชนจากประชามติเมื่อมีคำพิพากษาออกมากระทบต่ออำนาจอธิปไตยไทย

ทั้งหมดแทบจะไร้ความหมายไปโดยสิ้นเชิงเมื่อเจอท่าทีนอนแบะอ้าซ่าไร้ราคาในคำชี้แจงของกระทรวงการต่างประเทศประเด็นที่ 45

เอกสาร "50 ปี 50 ประเด็น ถาม-ตอบกรณีปราสาทพระวิหาร" ฉบับนี้อย่าว่าอย่างโน้นอย่างนี้เลย ผมอยากจะตั้งชื่อเสียใหม่อย่างสุภาพว่า

“50 ปี 50 ประเด็น 50 วิธี‘รักชาติ’แบบเนียน ๆ ของกระทรวงการต่างประเทศไทย”
กำลังโหลดความคิดเห็น