xs
xsm
sm
md
lg

โอกาสแพ้กว่า 60 % คดีปราสาทพระวิหารภาค 2 !

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

วันนี้ขอลัดคิวมาทำความเข้าใจเพิ่มเติมในสาระสำคัญของคดีปราสาทพระวิหารภาค 2 ในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือ ICJ เสียหน่อย จากข้อเขียนชิ้นล่าสุดของผมเมื่อวันจันทร์ที่ 21 มกราคม 2556 ที่ระบุไว้ตอนหนึ่งว่า

“แม้วันนี้ไม่มีใครพูดชัดเหมือนม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมชเมื่อ 50 ปีก่อนว่าชนะคดีแน่ 300 เปอร์เซนต์ แต่ผมก็แอบได้ยินแว่ว ๆ ว่าคนสำคัญวงในบอกรัฐบาลว่าคดีที่จะตัดสินภายในสิ้นปี 2556 นี้...

“โอกาสที่ไทยจะแพ้มีแค่ 0.0001 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น...”


ได้รับการชี้แจงผ่านมาจากคนสำคัญวงในคนนั้นว่าที่เขียนไปน่ะไม่ถึงกับผิด แต่อาจจะไม่ถูกทั้งหมด เพราะมันจะขึ้นอยู่กับการนิยามคำว่าแพ้ ชนะ และเสมอตัว อยากให้ผมช่วยอรรถาธิบายขยายความให้ชัด

จึงขอลำดับความดังนี้ครับ

ที่ว่าโอกาสแพ้มี 0.0001 เปอร์เซนต์นั้น หมายถึงศาล ICJ พิพากษาล่วงล้ำเข้าในเรื่องเขตแดนไทย-กัมพูชาโดยตรง โดยชี้ว่าเส้นตามแผนที่ระวางดงรักเป็นเส้นเขตแดน – ประเด็นนี้ยังยืนยัน

แต่เชื่อว่าโอกาสที่ศาลจะชี้ว่ามีอำนาจพิจารณาคดีมีสูง หรือถ้าจะพูดอย่างมีความหวังไว้บ้างก็คือ 50 : 50 โดยศาลจะถือตามธรรมนูญศาลมาตรา 60 ว่าเป็นการตีความคำพิพากษาคดีเก่าสมัยที่ไทยยังรับเขตอำนาจศาลอยู่ ไม่ใช่คดีใหม่ที่ไทยไม่ได้รับเขตอำนาจศาลมากว่า 50 ปีแล้ว ประเด็นนี้ศาลจะตีความ "อาณาบริเวณของปราสาทฯ" หรือ Vicinity of the temple ที่ไทยต้องปฏิบัติตามคำพิพากษา 15 มิถุนายน 2505 ตามที่กัมพูชาร้องขอ ซึ่งคำพิพากษามีความเป็นไปได้เพียง 3 ทาง

ทางที่ 1 : พิพากษาว่า Vicinity คือเขตปฏิบัติการตามมติครม. 10 กรกฎาคม 2505 ที่ไทยส่งมอบให้กัมพูชา และกัมพูชาไม่ได้คัดค้านมาก่อน

ทางที่ 2 : พิพากษาว่า Vicinity คือพื้นที่ 4.6 ตร.กม. ตามแผนที่ระวางดงรัก คือไม่ได้พิพากษาเรื่องเขตแดน ไม่ได้พิพากษาว่าเส้นเขตแดนตามแผนที่ระวางดงรักเป็นเส้นเขตแดนไทย-กัมพูชา แต่พิพากษาว่าพื้นที่ 4.6 ตร.กม.เป็น Vicinity ที่ไทยมีภาระต้องส่งมอบให้กัมพูชาพร้อมตัวปราสาทตามคำพิพากษา 15 มิถุนายน 2505

ทางที่ 3 : พิพากษาว่า Vicinity คือส่วนหนึ่งของพื้นที่ 4.6 ตร.กม. คือเกินเขตปฏิบัติการตามมติครม.เมื่อ 50 ปีก่อน แต่ก็ไม่ถึงกับกินพื้นที่ 4.6 ตร.กม.ทั้งหมด

ทั้ง 3 ทางโอกาสเป็นไปได้เท่า ๆ กันทางละ 1 ใน 3 หรือ 33.3 เปอร์เซ็นต์กว่า ๆ

ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะนิยามคำว่า "แพ้" (และ/หรือ "ชนะ") กันอย่างไร

ถ้าจะนิยามว่า "แพ้" คือศาลต้องพิพากษาเส้นเขตแดนตามแผนที่ระวางดงรักเลยเท่านั้น โอกาสแพ้ก็ยังเป็น 0.0001 เปอร์เซ็นต์ ไม่ผิด

การตีความอย่างนี้ผมไม่เห็นด้วยแน่นอน และเชื่อว่าพี่น้องก็ไม่เห็นด้วย

ดังนั้นเราจะต้องนิยามว่า แพ้" คืออะไรก็ตามที่เราต้องส่งมอบพื้นที่ให้กัมพูชาเพิ่ม ไม่ว่าจะในนามของแผ่นดินกัมพูชาโดยตรง หรือในนามของอาณาบริเวณหรือ Vicinity เกินไปจากที่ส่งมอบล้อมรั้วลวดหนามตามเขตปฏิบัติการในมติครม. 10 กรกฎาคม 2505 ไม่ว่าจะเป็น 4.6 ตร.กม.หรือน้อยกว่าก็ตาม ไม่ว่าจะยึดหลักแผนที่ระวางดงรักหรือหลักอะไรก็ตาม

ถ้านิยามอย่างผม ซึ่งเชื่อว่าพี่น้องเห็นด้วย ก็ต้องลุ้นกัน 2 ขั้นตอน

ขั้นตอนแรก : ลุ้นว่าศาลจะรับพิจารณาตีความหรือไม่ โอกาสแพ้ 50 เปอร์เซ็นต์

ขั้นตอนต่อมาในกรณีที่ศาลรับพิจารณาตีความ : โอกาสแพ้ 66.6 (33.3 +33.3) เปอร์เซ็นต์ คือคำพิพากษาออกมาตามทางที่ 2 หรือทางที่ 3 ข้างต้น แม้ทางที่ 3 บางคนอาจจะบอกว่าเสมอตัว เพราะกัมพูชาไม่ได้ทั้งหมดตามที่ขอ แต่ผมว่าไม่ใช่ เพราะเราเสียแผ่นดิน

ก็ไม่รู้ว่าตามหลักคณิตศาสตร์ผมคิดถูกหรือไม่ที่นำเอาเปอร์เซ็นต์ทางที่ 2 กับ 3 ที่ถือว่าเราแพ้ทั้งคู่มาบวกกัน วานผู้รู้ช่วยชี้แนะ

เพราะฉะนั้นบนพื้นฐานที่เราจะนิยามคำว่า "แพ้" ร่วมกันว่า คือการใดก็ตามที่ทำให้เราต้องส่งมอบแผ่นดินเกินไปกว่ามติครม. 10 กรกฎาคม 2505 ไม่ว่าจะในนามว่าเพราะเป็นแผ่นดินกัมพูชา หรือเป็น Vicinity ของตัวปราสาทฯตามคำพิพากษา 15 มิถุนายน 2505 ที่ศาลรับตีความให้ตามคำขอของกัมพูชา โอกาสแพ้จึงไม่ใช่ 0.0001 เปอร์เซ็นต์แน่นอน

โอกาสแพ้คือ 50 เปอร์เซ็นต์ และ 66.6 เปอร์เซ็นต์ !

50 เปอร์เซ็นต์แรกคือศาลรับตีความ 66.6 เปอร์เซ็นต์หลังคือคำพิพากษาออกมาตามทางที่ 2 หรือทางที่ 3 !!


หรือถ้าจะพูดดังที่ผมจั่วหัวไว้ข้างต้นว่า “โอกาสแพ้กว่า 60 เปอร์เซ็นต์ : คดีปราสาทพระวิหารภาค 2” ก็คงไม่ผิด ไม่เว่อร์ เพราะโอกาสที่ศาลชุดนี้จะไม่รับตีความตามมาตรา 60 มีน้อย ก็ถึงขนาดออกคำสั่งมาตรการชั่วคราวเกินพื้นที่พิพาทยังทำได้มาแล้ว จะมาพลิกไม่รับตีความเลยนี่คงต้องเป็นมากกว่าปาฏิหาริย์ และไทยเราก็เสมือนรับเขตอำนาจศาลเฉพาะกรณีตามมาตรา 60 นี้ไปแล้วตามความเชื่อในทฤษฎีลำแสงเล็ก ๆ เลือน ๆ ส่องไปชั่วกัลปาวสานตามที่ผมเคยเขียนเล่าไว้เมื่อเกือบ 2 สัปดาห์ก่อน

โอกาสเสมอตัวมีเพียง 33 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

เราคนไทยจะต้องมีส่วนร่วมในการตัดสินใจว่าถ้าโอกาสของคดีเป็นอย่างนี้ ประเทศไทยควรจะต้องทำอย่างไร จะแถลงปิดคดีอย่างไร จะทำตามคำพิพากษาหรือไม่ในกรณีที่ออกมาในทางที่ 2 หรือทางที่ 3

รัฐบาลจะตัดสินใจฝ่ายเดียวไม่ได้ !

แต่จะทำอย่างไรก็ตาม ก่อนอื่นต้องเข้าใจให้ตรงกันว่าอะไรคือ "แพ้" ไม่อย่างนั้นจะถูกเขาหลอกเอาอีกได้ว่า "ไม่แพ้" หรือ "ไม่ได้เสียดินแดน" คือต้องเข้าใจว่าศาลกำลังจะตีความเรื่อง "Vicinity" ตามคำพิพากษาคดีเดิม ไม่ได้พิจารณาเรื่องเขตแดน และคดีนี้กัมพูชาก็ไม่ได้ขอเรื่องเขตแดนโดยตรง

ตอนมรดกโลกว่าแย่แล้ว ที่คณะกรรมการมรดกโลกกำหนดให้อาณาบริเวณปราสาทฯอยู่ในความดูแลของ 7 ชาติ ไทยยังเป็น 1 ใน 7 แต่กรณี Vicinity ตามคดีนี้นี่จัดหนักเลยครับ เพราะจะตกเป็นของกัมพูชาทันทีที่ส่งมอบ แม้จะไม่ใช่ในนามของแผ่นดินกัมพูชาโดยตรงก็ตาม

ที่จริงมุมมองของคน ๆ นี้ก็ไม่ต่างจากการคาดการณ์ความเป็นไปได้ 4 ทางที่กระทรวงต่างประเทศแถลง แต่ไม่ได้จำแนกเป็นเปอร์เซ็นต์ไว้ ทางที่ 1 ตามคาดการณ์ของกระทรวงต่างประเทศคือศาลไม่รับพิจารณา ทางที่ 2, 3, 4 ก็เหมือนกับทางที่ 1-3 ที่ผมเขียนมานี้

พอเข้าใจแล้วใช่ไหมครับ 4 ทางความเป็นไปได้ของคำพิพากษาที่กระทรวงการต่างประเทศคาดการณ์ และแถลงตั้งแต่ปลายปี 2555 ทั้งระดับรัฐมนตรี ระดับข้าราชการประจำ และระดับคณะต่อสู้คดีในศาล เมื่อแตกออกมาเป็นขั้นตอนเป็นเปอร์เซ็นต์ โดยเทียบเคียงกับมุมมองของท่านผู้นี้ที่กรุณาให้แลกเปลี่ยนกับผม จะพบว่ามีโอาสแพ้ถึง 66.6 เปอร์เซ็นต์ จึงไม่น่าแปลกใจที่เมื่อเริ่มแรกรัฐมนตรีแถลงออกแนวขอให้คนไทยเตรียมทำไว้ด้วย และกระทรวงการต่างประเทศพูดในแผ่นพับในทำนองว่าอย่าคิดว่าใครชนะใครแพ้ ให้ถือว่าเป็นชัยชนะของสันติภาพ พอโดนโจมตีแบบจัดหนัก ถึงปรับเปลี่ยนท่าที

แต่ลึก ๆ รัฐบาลยังค่อนข้างกังวลเอาการอยู่ เกรงว่าจะเอาไม่อยู่กระมัง

นายกรัฐมนตรีถึงได้เรียกท่านทูตวีรชัย พลาศรัยกลับมาชี้แจงในวันศุกร์ที่ 25 มกราคม 2556 และจะมีการแถลงข่าวตามมา

กำลังโหลดความคิดเห็น