ASTVผู้จัดการรายวัน-สว.คำนูณ ประเมินไทยมีโอกาสแพ้คดี "เขาพระวิหาร" เกิน60% เสมอตัวแค่ 33% “ปึ้ง”รับลูก “ฮุนเซน” แก้ต่างแทน "แม้ว" ยันไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนทางทะเล แฉกลับ ปชป. ส่ง "สุเทพ-ประวิทย์" ดอดเจรจาลับกัมพูชาสมัยมีอำนาจ จนมีมติ ครม. ให้ยกเลิกเอ็มโอยูปี 44 "มาร์ค"เสียงอ่อย รับส่งคนไปจริง จวนตัวหันไล่บี้รัฐบาลตอบจะทำตามเอ็มโอยูหรือไม่
วานนี้ (23 ม.ค.) นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ค "คำนูณ สิทธิสมาน" ถึงกรณีการต่อสู้คดีปราสาทพระวิหารของรัฐบาลไทยในศาลโลก มีใจความว่า ขอแก้ข่าวสักนิด ในประเด็นที่เคยโพสต์ ณ ที่นี้ และที่เขียนบทความลง นสพ.ผู้จัดการรายวันว่านักกฎหมายระหว่างประเทศทั้งไทยและเทศส่วนหนึ่งที่น่าจะเข้าใจแนวคิดของคณะต่อสู้คดีบอกกับผมว่า เขาเชื่อว่า "โอกาสที่ไทยจะแพ้คดีในคดีปราสาทพระวิหารภาค 2 มีเพียง 0.0001 เปอร์เซนต์" ผู้ให้ความเห็นได้ติดต่อมา ชี้แจงเพิ่มเติมว่า แม้จะไม่ผิด แต่ไม่ถูกเสียทีเดียว อยากให้ผมช่วยอรรถาธิบายขยายความให้ชัด จึงขอลำดับความดังนี้ครับ
ที่ว่าโอกาสแพ้มี 0.0001 เปอร์เซนต์นั้น หมายถึงศาล ICJ พิพากษาล่วงล้ำเข้าในเรื่องเขตแดน โดยชี้ว่าเส้นตามแผนที่ระวางดงรักเป็นเส้นเขตแดน ประเด็นนี้ยังยืนยัน แต่เชื่อว่าโอกาสที่ศาลจะชี้ว่ามีอำนาจพิจารณาคดีมีสูง หรือถ้าจะพูดอย่างมีความหวังไว้บ้างก็คือ 50:50 โดยศาลจะถือตามธรรมนูญศาลมาตรา 60 ว่าเป็นการตีความคำพิพากษาคดีเก่าสมัยที่ไทยยังรับเขตอำนาจศาลอยู่ ไม่ใช่คดีใหม่ที่ไทยไม่ได้รับเขตอำนาจศาลมากว่า 50 ปีแล้ว ประเด็นนี้ศาลจะตีความ "อาณาบริเวณของปราสาทฯ" หรือ Vicinity of the temple ที่ไทยต้องปฏิบัติตามคำพิพากษา 15 มิ.ย.2505 ตามที่กัมพูชาร้องขอ ซึ่งคำพิพากษามีความเป็นไปได้เพียง 3 ทาง
ทางที่ 1 พิพากษาว่า Vicinity คือ เขตปฏิบัติการตามมติครม. 10 ก.ค.2505 ที่ไทยส่งมอบให้กัมพูชา และกัมพูชาไม่ได้คัดค้านมาก่อน
ทางที่ 2 พิพากษาว่า Vicinity คือพื้นที่ 4.6 ตร.กม. ตามแผนที่ระวางดงรัก คือ ไม่ได้พิพากษาเรื่องเขตแดน ไม่ได้พิพากษาว่าเส้นเขตแดนตามแผนที่ระวางดงรักเป็นเส้นเขตแดนไทย-กัมพูชา แต่พิพากษาว่่าพื้นที่ 4.6 ตร.กม.เป็น Vicinity ที่ไทยมีภาระต้องส่งมอบให้กัมพูชาพร้อมตัวปราสาทตามคำพิพากษา 15 มิ.ย.2505
ทางที่ 3 พิพากษาว่า Vicinity คือส่วนหนึ่งของพื้นที่ 4.6 ตร.กม. คือ เกินเขตปฏิบัติการตามมติครม.เมื่อ 50 ปีก่อน แต่ก็ไม่ถึงกับกินพื้นที่ 4.6 ตร.กม.ทั้งหมด ทางนี้บางคนอาจจะบอกว่าเสมอตัว เพราะกัมพูชาไม่ได้ทั้งหมดตามที่ขอ แต่ผมว่าไม่ใช่ เพราะเราเสียแผ่นดิน
ทั้ง 3 ทางโอกาสเป็นไปได้เท่าๆ กันทางละ 1 ใน 3 หรือ 33.3 เปอร์เซ็นต์กว่าๆ
ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะนิยามคำว่า "แพ้" (และ/หรือ "ชนะ") กันอย่างไร
ถ้าจะนิยามว่า "แพ้" คือ ศาลต้องพิพากษาเส้นเขตแดนตามแผนที่ระวางดงรักเลยเท่านั้น โอกาสแพ้ก็ยังเป็น 0.0001 เปอร์เซนต์ ไม่ผิด ซึ่งผมไม่เห็นด้วยแน่นอน และเชื่อว่าพี่น้องก็ไม่เห็นด้วย
เราจะต้องนิยามว่า แพ้" คืออะไรก็ตามที่เราต้องส่งมอบพื้นที่ให้กัมพูชาเพิ่ม ไม่ว่าจะในนามของแผ่นดินกัมพูชา หรือในนามของอาณาบริเวณหรือ Vicinity เกินไปจากที่ส่งมอบล้อมรั้วลวดหนามตามเขตปฏิบัติการในมติครม. 10 ก.ค.2505 ไม่ว่าจะ 4.6 ตร.กม.หรือน้อยกว่าก็ตาม
ถ้านิยามอย่างผม ก็ต้องลุ้นกัน 2 ขั้นตอน
ขั้นตอนแรก ลุ้นว่าศาลจะรับพิจารณาตีความหรือไม่ โอกาสแพ้ 50 เปอร์เซนต์
ขั้นตอนต่อมาในกรณีที่ศาลรับพิจารณาตีความ โอกาสแพ้ 66.6 (33.3+33.3) เปอร์เซนต์ คือคำพิพากษาออกมาตามทางที่ 2 หรือทางที่ 3 ข้างต้น ซึ่งไม่รู้ว่าผมคิดถูกหรือเปล่าที่เอาเปอร์เซนต์มาบวกกัน ผู้รู้ช่วยชี้แนะ
เพราะฉะนั้นบนพื้นฐานที่เราจะนิยามคำว่า "แพ้" ร่วมกันว่า คือ การใดก็ตามที่ทำให้เราต้องส่งมอบแผ่นดินเกินไปกว่ามติครม. 10 ก.ค.2505 ไม่ว่าจะในนามว่าเพราะเป็นแผ่นดินกัมพูชา หรือเป็น Vicinity ของตัวปราสาทฯ ตามคำพิพากษา 15 มิ.ย.2505 ที่ศาลรับตีความให้ตามคำขอของกัมพูชา โอกาสแพ้จึงไม่ใช่ 0.0001 เปอร์เซนต์แน่นอน โอกาสแพ้คือ 50 เปอร์เซ็นต์ และ 66.6 เปอร์เซนต์ 50 เปอร์เซนต์แรก คือ ศาลรับตีความ 66.6 เปอร์เซนต์หลัง คือ คำพิพากษาออกมาตามทางที่ 2 หรือทางที่ 3 หรือถ้าจะพูดดังที่ผมจั่วหัวไว้ข้างต้นก็คงไม่ผิด เพราะโอกาสที่ศาลจะไม่รับตีความตามมาตรา 60 มีน้อยมาก ถึงขนาดออกคำสั่งมาตรการชั่วคราวเกินพื้นที่พิพาทยังทำมาแล้ว จะมาพลิกไม่รับตีความเลยนี่คงต้องเป็นมากกว่าปาฏิหาริย์ โอกาสเสมอตัวมีเพียง 33 เปอร์เซ็นต์
**ปึ้งแฉ"สุเทพ-ประวิตร"เจรจาลับเขมร
นายสุรพงษ์ โตวิจักษ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศ นำเอกสารแถลงของสมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา มาเปิดเผยกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พยายามที่จะพูดถึงประเด็นพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล และหลายคนออกมากล่าวหารัฐบาลชุดนี้ ตนเอง และพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนทางทะเล โดยได้ระบุชัดเจนว่าระหว่างวันที่ 27 มิ.ย.2552 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เดินทางไปจังหวัดกันดาล ประเทศกัมพูชา เพื่อหารือกับทางกัมพูชา เรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล จากนั้นรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ได้มีมติคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 10 พ.ย. 2552 เห็นชอบในหลักการ ให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการยกเลิกบันทึกความเข้าใจว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิ์ในไหล่ทวีปทับซ้อน ฉบับวันที่ 18 มิ.ย.2544 หรือเอ็มโอยู ปี 44
ทั้งนี้ หลังจากมีการยกเลิก สถานภาพความก็ยังคงเหมือนเดิมจนถึงปัจจุบัน รัฐบาลชุดนี้ ยังไม่ได้มีการดำเนินการแต่อย่างใด จึงขอเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ นำหลักฐานที่กล่าวหาว่ารัฐบาลนี้ หรือพ.ต.ท.ทักษิณ มีผลประโยชน์มาเปิดเผย
ขณะเดียวกัน ในวันจันทร์ที่ 28 ม.ค.นี้ ตนเองจะให้ทนายความไปยื่นฟ้องนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ที่กล่าวหาตนเองมีผลประโยชน์ทับซ้อน ไปยอมแพ้คดีปราสาทพระวิหาร เพื่อแลกเปลี่ยนกับผลประโยชน์ทับซ้อนทางทะเล ต่อศาล
ส่วนการต่อสู้คดีปราสาทพระวิหารนั้น ทางทีมกฎหมาย กระทรวงต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม จะเข้ารายงานให้นายกรัฐมนตรี รับทราบในวันที่ 25 ม.ค. และให้หัวหน้าทีมทนาย เข้าชี้แจงด้วย จากนั้นจะนำข้อเสนอแนะทั้งหมด ไปหารือกับทีมทนายที่เป็นชาวต่างชาติ ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในวันที่ 5-6 ก.พ. โดยจะมีนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นำทีมไปพูดคุย และในช่วงต้นเดือนมี.ค. หรือปลายเดือนมี.ค. จะนำท่าทีทั้งหมดเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อขอมติจากคณะรัฐมนตรี จากนั้นจะนำมติคณะรัฐมนตรี ไปสู้ในชั้นศาล โดยตนเองจะนำทีมไปด้วยตัวเอง
ก่อนหน้านั้น สำนักข่าวซินหัว ของทางการจีน รายงานว่า สมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา ได้โจมตี นายอภิสิทธิ์ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านของไทย ว่า พยายามที่จะเชื่อมโยงปัญหาเกี่ยวกับความขัดแย้งชายแดนไทย-กัมพูชา ไปเชื่อมโยงกับความขัดแย้งทางการเมืองของไทย ที่จะร้อนแรงขึ้นในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพราะนายอภิสิทธิ์ มีแนวคิดเหมือนกับเสื้อเหลือง ซึ่งพยายามกล่าวอ้างใส่ร้าย พ.ต.ท.ทักษิณ มีผลประโยชน์ทับซ้อนจากพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลเกี่ยวกับก๊าซธรรมชาติ รวมถึงกล่าวหารัฐบาลปัจจุบัน พร้อมกับระบุว่า นายอภิสิทธิ์ กำลังฉวยโอกาส พูดปดโกหก คนไทย 60 ล้านคน และคนกัมพูชาอีก 14 ล้านคน พร้อมท้าให้หาหลักฐานออกมาแสดง
**ปู-คนเพื่อไทยรับลูก “ฮุนเซน”
ที่รัฐสภา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามข้อเท็จจริงแล้ว รัฐบาลไทยก็อยากเห็นปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นเรื่องที่ต้องแยกออกจากการเมือง ส่วนปัญหาในเรื่องข้อพิพาทต่างๆ ที่เกิดขึ้น ก็อยากให้มาร่วมมือช่วยเหลือและพูดคุยกันมากกว่า อยากให้เป็นทิศทางที่ไม่ใช่เป็นเรื่องของการเมือง และขอให้เห็นใจผู้ที่ทำงานด้วย
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ใครทำอะไรไว้ก็ต้องได้รับผลของการกระทำ สมัยก่อนตนก็ทราบว่ามีใครบางคนไปเจรจาลับ แต่ไม่สำเร็จ พอถึงรัฐบาลชุดนี้ ก็คิดว่าจะทำเหมือนที่ตนเองเคยทำ ก็ดีแล้ว สังคมไทยจะได้ทราบ เชื่อว่าไม่ส่งผลกระทบอะไร เพราะรัฐบาลนี้มีความสัมพันธ์อันดียิ่งกับมิตรประเทศ โดยเฉพาะกัมพูชา
พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ตนก็รับทราบ แต่เชื่อนายฮุนเซนหรือไม่ หากเชื่อก็เป็นแบบนั้น ตนคงตอบแทนหรือวิเคราะห์ไม่ได้ในเรื่องนี้ หากถามว่าตนเชื่อหรือไม่ แล้วสื่อเชื่อเรื่องนี้หรือไม่
** "อภิสิทธิ์" ซัด"ฮุนเซน"ตี 2 หน้า
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวตอบโต้สมเด็จฮุนเซน โดยยืนยันว่าตัวเองเป็นคนที่พูดความจริงเสมอไม่เคยพูดต่อหน้าอย่าง ลับหลังอย่าง
"ผมไม่แปลกใจการพูดจาของผู้นำกัมพูชา ผมนั้นพูดความจริงเสมอ ที่สำคัญ ผมพูดกับคนไทย รวมทั้งพูดกับนายกฯ ฮุนเซน ผมไม่เคยพูดต่อหน้าอย่าง ลับหลังอย่าง ผมขี้เกียจจะนั่งพูดว่าเวลานายกฯ ฮุนเซน คุยกับผมเวลาอารมณ์ดี คุยกับผมดีๆ พูดว่าอะไร ด่าใครบ้าง แต่เวลาออกไปพูดข้างนอก แล้วก็มีผลประโยชน์ที่จะต้องมาตอบโต้กับผมก็คนละเรื่องกัน เพราะฉะนั้นไอ้ความน่าเชื่อถือของตัวนายกฯ ฮุนเซนนี่ผมว่าคนจำนวนมากก็ทราบดี”
ทั้งนี้ นายกฯ ฮุนเซน คงสับสนเรื่องของกรอบเวลาและข้อเท็จจริง หรือแกล้งสับสนก็ไม่ทราบ เพราะกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องพ.ต.ท.ทักษิณ มีผลประโยชน์ทรัพยากรในทะเล เรื่องแก๊สและน้ำมัน เนื่องจากพ.ต.ท.ทักษิณ เคยสนใจทำธุรกิจนี้ ซึ่งหลักฐานในวิกิลีกส์มีการเขียนถึงความสนใจของพ.ต.ท.ทักษิณจะเข้ามาทำตรงนี้ และในแถลงการณ์ของทางกัมพูชาวันนี้ ยอมรับว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ และรัฐบาล ไปเจรจาเรื่องนี้ ทั้งที่ เอ็มโอยูเรื่องดังกล่าวยังถูกแขวนอยู่
***รับส่งคนไปถกผลประโยชน์ทางทะเลจริง
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ในสมัยรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ เคยมีการไปพูดคุยเรื่องผลประโยชน์ทางทะเล แต่เป็นการพูดอย่างโปร่งใส ซึ่งตอนที่เริ่มต้น รัฐบาลก็พยายามเรื่องพระวิหารและเรื่องเขตแดนที่ยืนยันมาตลอดจะต่อสู้ทุกเวที แต่ไม่เคยมีการยกเลิกการพัฒนากรอบความร่วมมือ โดยมอบหมายให้นายสุเทพ ในฐานะอดีตรองนายกฯ ไปเจรจา แต่เมื่อกัมพูชากับไทยมีปัญหามากขึ้น ก็มีการนำเอ็มโอยูปี 2544 เรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลมาดู รวมทั้งมีคณะกรรมาธิการ วุฒิสภาและหลายฝ่ายก็ทำการศึกษาเรื่องนี้เห็นว่าเอ็มโอยูดังกล่าวนำไปสู่ความเสียเปรียบหรือไม่ถูกต้อง จึงเสนอให้ยกเลิก แต่ว่ากระบวนการยกเลิกยังไม่เสร็จ เพราะต้องไปเข้าสภา และก่อนเข้าสภา กระทรวงการต่างประเทศก็เห็นว่าถ้ายกเลิกตัวเก่า ควรมีกรอบเริ่มต้นตัวใหม่อย่างไร แต่ก็ยังไม่เสร็จเท่านั้น ไม่มีอะไรลึกลับซับซ้อน และไม่ได้โกหกประชาชน เรื่องนี้ไม่รู้ว่าจะมีใครเชื่อสมเด็จฮุนเซนบ้าง แต่คิดว่ารัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยคงจะเชื่อ
“ผมอยากจะให้คนไทยฉุกคิดว่าในภาวะกำลังมีข้อพิพาทเรื่องเขตแดนอยู่ การที่รัฐบาลที่เป็นคู่กรณีกับเรา พยายามกล่าวหาฝ่ายค้าน เพื่อให้สอดคล้องกับสิ่งที่รัฐบาลไทยกำลังพยายามหยิบมาเป็นเงื่อนไขตอบโต้ฝ่ายค้าน มันบ่งบอกอะไร ผมว่าสิ่งที่มันบ่งบอกได้ คือ นายกฯ ฮุนเซน ไม่พอใจรัฐบาลที่แล้ว เพราะเขาไม่ได้อย่างที่เขาต้องการ แต่การที่เขาไม่ได้อย่างที่เขาต้องการ ไม่ใช่เพราะรัฐบาลที่แล้วไม่รักษาความสัมพันธ์ เราไม่ให้ดินแดน สู้เต็มที่ เขาไม่พอใจ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลควรแสดงความชัดเจนว่าจะเดินไปตามกรอบเอ็มโอยูเดิมหรือไม่ หรือจะตั้งต้นหาเอ็มโอยูใหม่ ผมอยากย้อนถามนายกฯ ฮุนเซน ว่าการที่ว่าผมมีผลประโยชน์อะไรเกี่ยวข้องกับบริษัทพลังงาน แล้วคุณทักษิณมีหรือไม่ ความจริงนายกฯ ฮุนเซนควรตอบคนกัมพูชา ตัวนายกฯ ฮุนเซน มีหรือไม่” นายอภิสิทธิ์กล่าว