รองนายกฯ-รมว.ต่างประเทศ ร้อนแทน “ฮุน เซน” ยันไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนทางทะเลกับ “ทักษิณ” มาแปลกแจกแถลงการณ์กองการข่าวเขมรฯ ตอบโต้ ปชป. แฉ “สุเทพ-ประวิตร” เจรจาขอแก้พื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลให้เสร็จในรัฐบาลอภิสิทธิ์
วันนี้ (23 ม.ค.) ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ แถลงข่าวโดยยืนยันคำกล่าวของสมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ว่าไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนทางทะเล พร้อมแจกแถลงการณ์ของกองการข่าว และตอบโต้เร่งด่วน ที่ 001/13 สถก. ปบห. ของสำนักงานคณะรัฐมนตรี ราชอาณาจักรกัมพูชาแก่สื่อมวลชน
โดยแถลงการณ์ดังกล่าวมีเนื้อหาโจมตีกรณีการเจรจาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลกัมพูชา-ไทย และพื้นที่ปราสาทพระวิหาร ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะการเจรจาอย่างลับๆ ระหว่างนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม กับสมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2552 ที่ จ.กันดาล ประเทศกัมพูชา และยังได้พบปะกับนายซก อาน รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่ฮ่องกง เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2552 และต่อมาที่เมืองคุณหมิง เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2553 โดยได้ตั้งจข้อสังเกตว่าทำไมจึงต้องเจรจาลับ และกัมพูชาอ้างว่าจำเป็นต้องเผยความลับนี้เพื่อปกป้องกัมพูชาและ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จากการใส่ร้ายของพวกพรรคประชาธิปัตย์
สำหรับคำแปลอย่างไม่เป็นทางการ ระบุว่า เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2556 นี้ ในพิธีมอบเอกสารสิทธิที่ดินให้แก่ประชาชนที่ อ.โอฤเส็ย อ.เซียมโบก จ.สตึงเตรง สมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้กล่าวชี้แจงเกี่ยวกับพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเล (OCA) กัมพูชา-ไทย ทั้งนี้ เพื่อปกป้องเกียรติยศของประเทศชาติ และชี้แจงนโยบายการต่างประเทศของกัมพูชาที่มีต่อประเทศเพื่อนบ้าน
สมเด็จฯ ฮุน เซน ได้กล่าวย้อนหลังเกี่ยวกับการกระทำต่างๆ ของอดีตนายกรัฐมนตรีไทย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งปัจจุบันเป็นหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านว่า ตลอดมา อดีตนายกรัฐมนตรีผู้นี้ได้เชื่อมโยงกัมพูชา กับปัญหาการเมืองภายในไทยอย่างไม่หยุดยั้ง และพรรคประชาธิปัตย์ กับกลุ่มคนสุดโต่ง (เกินเหตุ) เสื้อเหลืองของไทยมักกล่าวหา และโยนความผิดอื่นๆ ให้แก่อดีตนายกรัฐมนตรีไทย นายทักษิณ ชินวัตร ว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน ซ่อนเร้นกับกัมพูชา ในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล แต่ในความจริง กลับเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ได้ใช้นโยบายสกปรก โดยสั่งการให้อดีตรองนายกรัฐมนตรี สุเทพ เทือกสุบรรณ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประวิตร วงษ์สุวรรณ มาเจรจาลับๆ กับสมเด็จฯ ฮุน เซน เกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2552 ที่ จ.กันดาล ประเทศกัมพูชา ขณะที่รัฐบาลไทยชุดที่แล้ว ได้เจรจากันในปัญหานี้อย่างเปิดเผย
เกี่ยวกับปัญหาที่มีความสำคัญเช่นนี้ กองการข่าว และตอบโต้เร่งด่วน มีหน้าที่ ความจำเป็นในการเผยแพร่แถลงการณ์ของการปิโตรเลียมแห่งชาติกัมพูชา ที่ได้เคยเผยแพร่เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2554 อีกครั้ง ทั้งนี้ เพื่อให้สาธารณชนทั้งในประเทศและต่างชาติ ได้รับทราบอุบายอันเลวร้าย และนโยบายสกปรกอย่างที่สุดของอดีตนายกรัฐมนตรีไทย ซึ่งปัจจุบันเป็นหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในการโฆษณาหลอกลวงประชาชนชาวไทย และชาวกัมพูชา รวมทั้งสาธารณชนต่างชาติ เกี่ยวกับการเจรจาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลกัมพูชา-ไทย และพื้นที่ปราสาทพระวิหาร ที่มีเนื้อหาดังนี้
การปิโตรเลียมแห่งชาติกัมพูชา ภายใต้ตำสั่งและการกำกับดูแลของรัฐบาลกัมพูชา มุ่งมั่นและตั้งใจอย่างยิ่งในการหาทางออก ด้วยความเสมอภาค และโปร่งใส ในปัญหาพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเล รัฐบาลกัมพูชา และรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจเมื่อเดือนมิถุนายน 2544 เกี่ยวกับพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเล ซึ่งบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ได้กำหนดพื้นที่ที่ต้องกำหนดการแบ่งเขตทางทะเล (Area to be Delimited) และพื้นที่ที่ต้องพัฒนาร่วมกัน (Joint Development Area)
บันทึกความเข้าใจปี 2544 ไม่ใช่เป็นเพียงกระดาษความตกลงเท่านั้น แต่ทั้งสองประเทศได้ใช้งบประมารณ และเอาใจใส่เป็นอย่างมากในการปฏิบัติตามบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ โดยได้ตั้งคณะกรรมาธิการร่วมด้านเทคนิค คณะอนุกรรมการร่วมด้านเทคนิค และคณะทำงานอีก 2 คณะ เกี่ยวกับการกำหนดเขตทางทะเล และพื้นที่พัฒนาร่วมกัน การอธิบายดังกล่าวยังไม่รวมถึงการวิจัยเชิงวิชาการ และกฎหมายเกี่ยวกับการเรียกร้องพื้นที่ทับซ้อนในทะเลระหว่างสองประเทศ
การหารือ และการเจรจาระหว่างสองประเทศได้รับผลลัพธ์ที่ดีหลายประการในระหว่างปี 2544-2550 และทั้งสองประเทศได้มีข้อเสนอ 2 ข้อสำหรับพื้นที่พัฒนาร่วมกัน (JDA) คือ ข้อเสนอก้าวข้าม (Break-Through Proposal) ที่เสนอขึ้นโดยฝ่ายกัมพูชา และข้อเสนอแบ่งพื้นที่พัฒนาเป็น 3 ส่วน (Three-Zone Proposal) ที่เสนอขึ้นโดยฝ่ายไทย
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ถึงแม้ไม่มีการประชุมของคณะกรรมาธิการร่วมด้านเทคนิค (JTC) อย่างเป็นทางการ แต่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ฯ ได้ประสานมายังรัฐบาลกัมพูชา เพื่อทำการเจรจาปัญหาพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลหลายครั้ง ได้แก่ การพบปะระหว่างสมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา กับอดีตรองนายกรัฐมนตรีไทย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมไทย นายประวิตร วงษ์สุวรรณ เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2552 ที่ จ.กันดาล ประเทศกัมพูชา และการพบปะลับระหว่างนายสุเทพฯ กับ ฯพณฯ รองนายกรัฐมนตรี สุข อาน ที่ฮ่องกง เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2552 และต่อมาที่เมืองคุณหมิง เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2553 ซึ่งระหว่างการพบปะกันนั้น นายสุเทพฯ ได้แสดงความจำนงอยากแก้ไขปัญหานี้ให้เสร็จสิ้นภายในวาระสมัยของรัฐบาลอภิสิทธิ์ฯ โดยการพบปะเจรจาลับทำขึ้นตามการร้องขอของอดีตรองนายกรัฐมนตรี สุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ได้ยืนยันว่า เป็นคำสั่งการและได้รับการมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ฯ ซึ่งกัมพูชาก็ไม่เข้าใจว่า ทำไมจึงต้องเจรจาลับ และประชาชนไทย หรือ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ได้ทราบเรื่องการเจรจาลับนี้หรือไม่ ขณะที่อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งปัจจุบัน คือ นายอภิสิทธิ์ฯ ได้ประกาศเกี่ยวกับความโปร่งใส ตลอดจนข้อกล่าวหา ฯพณฯ ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นผู้ที่ได้ทำงานอย่างเปิดเผยกับกัมพูชาว่า มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับกัมพูชา และกีดขวางดำเนินการเจรจาระหว่างรัฐบาลชุดใหม่ของไทยกับรัฐบาลกัมพูชา ดังนั้น กัมพูชาจึงมีความจำเป็นต้องเผยความลับนี้เพื่อปกป้องกัมพูชาและ ฯพณฯ ทักษิณ ชินวัตร จากการใส่ร้ายของพวกพรรคประชาธิปัตย์
ทั้งนี้ รัฐบาลชุดใหม่ที่นำโดยนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ฯ ยังไม่ได้พบหารือ หรือมีข้อเสนอใดกับรัฐบาลกัมพูชา ในการแก้ไขพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเล ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนออย่างใดอย่างหนึ่งในการแก้ไขข้อพิพาทเพื่อแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ส่วนตัวตามการกล่าวหาของนางอานิก อัมระนันทน์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ มีขึ้นระหว่างการอภิปรายในในสภาเมื่อวันที่ 23-24-25 ส.ค. 2554
รัฐบาลกัมพูชาพร้อมและยินดีกับต่อการเริ่มต้นเจรจาอย่างเปิดเผย และอย่างเป็นทางการอีกครั้งในปัญหานี้ และสานต่องานนี้ให้แล้วเสร็จโดยเร็วเท่าที่สามารถกระทำได้ เพื่อเป็นประโยชน์ของประชาชน และประเทศทั้งสองต่อไป
ราชธานีพนมเปญ วันที่ 21 มกราคม 2556 กองการข่าว และปฏิกิริยาเฉียบพลัน สำนักคณะรัฐมนตรี