xs
xsm
sm
md
lg

สุดอนาถ “ปึ้ง” ป้อง “ฮุนเซน-พ่อแม้ว” ขย้ำแมลงสาบเจรจาลับเขตทับซ้อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คดีเขาพระวิหารยิ่งใกล้งวดเข้ามาเท่าไหร่ ศึกการเมืองภายในระหว่างพรรคเผาไทยกับพรรคแมลงสาบนับวันเข้มข้นขึ้นตามลำดับ และเมื่อสำทับด้วยศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานครที่ขับเคี่ยวกันอย่างถึงพริกถึงขิง ทั้งสองฝ่ายต่างพากันงัดวิชามารมาเอาชนะคะคานกันโดยไม่สนใจถึงผลที่จะเกิดขึ้นแก่ชาติบ้านเมือง

โดยเฉพาะ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่ยอมกระทั่งทำตัวเป็นรัฐมนตรีประเทศกัมพูชา ออกหน้าปกป้องสมเด็จฯ ฮุน เซน และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อย่างน่าอนาถ

เพราะการออกมาเปิดแถลงข่าวเป็นเรื่องใหญ่โตของนายสุรพงษ์ เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2556 โดยหยิบเอาแถลงการณ์ของกัมพูชาออกมาแฉนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ดอดไปเจรจาลับกับฮุน เซนเรื่องเขตทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา เพื่อตอบโต้พรรคประชาธิปัตย์ที่ประณามรัฐบาลพรรคเพื่อไทยว่าไม่สู้คดีพระวิหารให้สมศักดิ์ศรี พร้อมกับกล่าวหา พ.ต.ท.ทักษิณว่ามีผลประโยชน์ด้านพลังงานในกัมพูชา ดูอย่างไรก็ถือว่าเป็นการประพฤติปฏิบัติที่แปลกประหลาดน่าอนาถอย่างยิ่ง

ในคดีเขาพระวิหารนั้น ประชาชนคนไทยต่างกำลังลุ้นกันสุดตัวว่าไทยจะเป็นฝ่ายชนะ เสมอตัว หรือพ่ายแพ้เป็นครั้งที่ 2 สูญเสียดินแดนและอธิปไตยเหนือแผ่นดินที่เคยได้ชื่อว่าเป็นของราชอาณาจักรไทย แต่สองพรรคการเมืองใหญ่กลับทำตัวไม่บรรลุนิติภาวะ เอามาละเลงเล่นเกมการเมือง โดยมีเจ้าเก่าเก๋าเกมที่รู้งานดีอย่างสมเด็จฯ ฮุน เซน เพื่อนรักทักษิณ เข้ามาร่วมผสมโรงและหวังผลทั้งทางการเมืองระหว่างประเทศและผลทางคดีความ

ทั้งสองพรรคใหญ่หามีสำนึกแม้สักนิดว่า เวลานี้ประเทศไทยกำลังขับเคี่ยวกับกัมพูชาในคดีปราสาทพระวิหารอยู่ โดยคดีนี้เข้าสู่โค้งสุดท้ายในช่วงเดือนเมษายน 2556 นี้ จะมีการแถลงปิดคดีด้วยวาจาของฝ่ายไทยกับกัมพูชา ระหว่างวันที่ 15-19 เมษายน 2556 ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ และคาดว่าศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลโลก จะมีคำตัดสินออกมาในช่วงปลายปีนี้ ดังนั้น การฉกฉวยโอกาสสร้างความแตกแยกภายในประเทศไทยของฮุน เซน จึงถือเป็นชัยชนะเบื้องต้นของกัมพูชาที่สามารถยุให้รำตำให้รั่ว ทำให้คู่ต่อสู้อ่อนแอ

นี่ก็เพราะฮุน เซนรู้ว่าหากประชาชนคนไทยนิ่งดูดายไม่อนาทรร้อนใจ ไม่กดดันรัฐบาลเพื่อไทยให้สู้คดีปราสาทพระวิหารอย่างจริงจังเต็มกำลังความสามารถแล้ว กัมพูชาก็เห็นโอกาสชนะใสๆ รออยู่เบื้องหน้า ดังที่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของไทยแต่หัวใจเขมรได้ออกมาบอกกล่าวกับสังคมไทยให้ทำใจไว้ล่วงหน้ากับผลของคดีที่จะเกิดขึ้น จนเกิดแรงกดดันจากสังคม มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติ

ขณะที่ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษมีการขึ้นป้ายที่บริเวณสี่แยกเมืองทอง ศาลหลักเมืองกันทรลักษ์ อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งนายกิติศักดิ์ พ้นภัย หัวหน้ากลุ่มกำลังแผ่นดิน พร้อมสมาชิก นำเอาป้ายขนาดใหญ่มาติดตั้ง มีข้อความระบุว่า “พวกเราชาวไทย คัดค้านไม่ยอมรับขอบเขตอำนาจศาลโลก ICJ We Thai people Object refuse power limits of world court

“คำตัดสินของศาลโลก (ลวงโลก) เมื่อปี 2505 เราเชื่อว่าไม่มีความยุติธรรมในคำตัดสิน ซึ่งขัดต่อหลักภูมิศาสตร์ทั้งสันปันน้ำ ทั้งการปกครองแต่ดั้งเดิม ขอคัดค้านไม่ยอมรับขอบเขตอำนาจศาลโลก กรณีคดีตีความปราสาทพระวิหาร 2505 ตามความต้องการของกัมพูชา โดยขอให้กองทัพ ทหาร และประชาชนชาวไทยผู้ร่วมรักชาติ ร่วมกันผลักดันทหารกัมพูชาและชาวกัมพูชาที่รุกล้ำเข้ามาในดินแดนไทยให้พ้นเขาพระวิหารพื้นที่ 4.6 ตางรางกิโลเมตรโดยเร็ว ขอปกป้องดินแดนไทยเขาพระวิหาร คนไทยเราไม่ยอมให้ตกเป็นของชาติใดอย่างเด็ดขาด..ทุกวิถีทาง” ลงนามโดย กลุ่มกำลังแผ่นดิน

นอกจากนี้ยังระบุข้อความในตอนท้ายอีกว่า “คำถามถึง? ศาลโลก จะตีความยึดถือแผนที่ อัตรา 1 ต่อ 200,000 ของกัมพูชาหรือไม่”

การตื่นตัวเคลื่อนไหวของภาคประชาชนทำให้รัฐบาลต้องเปลี่ยนท่าที โดยเมื่อวันศุกร์ที่ 25 มกราคม 2556 ที่ผ่านมา นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมคณะดำเนินคดีปราสาทพระวิหาร ที่มีนายวีรชัย พลาดิศัย ทูตไทยประจำกรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ เป็นหัวหน้าคณะ พร้อมด้วยรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ผู้บัญชาการทหารทั้ง 3 เหล่าทัพ ผบ.สูงสุด ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เข้าร่วมหารือแนวทางการทำงานในเรื่องคดีปราสาทพระวิหารที่ทำเนียบรัฐบาล และสอบถามความคืบหน้าข้อมูลที่จะนำไปชี้แจงให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในวันที่ 15-19 เมษายนนี้

ขณะที่ฟากนายทหารใหญ่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ก็ออกมาแสดงท่าทีชัดเจนประกาศลั่นพร้อมรบหากไทยเสียดินแดน

“ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการดำเนินการอยู่ เมื่อจบเรื่องคำพิพากษาศาลโลกเราก็ได้คิดและได้วางแผนร่วมกัน ประเด็นสำคัญคือ เราอยากให้มีการพูดคุยกันสองประเทศแบบทวิภาคีมากกว่า ที่มาบอกว่าเราไปยอมรับ ความจริงเราไม่ได้ยอมรับ มาตราส่วนตามแผนที่ต่างคนต่างก็ถือไป สำคัญคือจะอยู่ร่วมกันอย่างไร และถ้าจะอยู่กันก็ต้องไม่ละเมิดกติกา ขณะนี้มีสองส่วนคือ รอคำพิพากษาของศาลโลก และการปฏิบัติตามมาตรการคุ้มครองชั่วคราวที่ออกมาเพราะมีการปะทะกันระหว่างวันที่ 2-4 เม.ย. 2554 ซึ่งรบกันแรงพอสมควร เพราะฉะนั้นถ้าหลีกเลี่ยงการรบกันได้ก็ดี แต่ทหารพร้อมอยู่แล้วทุกเรื่อง แต่ท้ายสุดถ้าจะรบกัน จะบานปลายหรือเปล่า อันนี้เป็นเรื่องที่พวกเราต้องตัดสินใจกัน เพราะเราพร้อมรบทุกอย่าง ถ้าตัดสินใจว่ารบก็คือรบ แต่ผมว่ามีกติกาอยู่ ต้องรอให้ชัดเจนก่อน” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ในการเตรียมพร้อมหากศาลโลกตัดสินว่าพื้นที่พิพาท 4.6 ตารางกิโลเมตรเป็นของกัมพูชานั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวย้ำว่า “พร้อมมาตลอด ทหารเขาพร้อมหมดแล้ว แต่ผมคาดหวังว่าจะไม่ตัดสินออกมาอย่างนั้น เพราะจะเป็นปัญหา …. ท้ายสุดแผ่นดินเป็นส่วนที่เราต้องรักษาไว้ให้ได้ ต้องเริ่มด้วยกฎหมายก่อน เรื่องกำลังใช้เมื่อไหร่ก็ใช้ได้ ไม่ต้องห่วง เราก็พร้อมอยู่แล้ว”

ขณะที่ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยืนยันว่า รัฐบาลก็รับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายและจะทำให้ดีที่สุด เราก็ไม่อยากให้มีปัญหาเรื่องการเสียดินแดน และเชื่อว่าทุกคนมีจุดมุ่งหมายเหมือนกัน

สำหรับการตอบโต้พรรคประชาธิปัตย์ โดยการหยิบเอาแถลงการณ์ของกัมพูชามาใช้เป็นเครื่องมือ โดยที่อีกนัยหนึ่งนายสุรพงษ์ก็ทำตัวเป็นเครื่องมือของกัมพูชาเช่นเดียวกันนั้น หลักใหญ่ใจความสำคัญในการแถลงของนายสุรพงษ์ก็คือ การยืนยันว่าฮุน เซนและทักษิณไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนใดๆ ในการเจรจาผลประโยชน์เขตทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชา

ที่สำคัญ นายสุรพงษ์ได้ตั้งใจแจกแถลงการณ์ของกองการข่าวและตอบโต้เร่งด่วนของสำนักงานคณะรัฐมนตรีกัมพูชา ที่มีเนื้อหาโจมตีกรณีการเจรจาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลกัมพูชา-ไทย และพื้นที่ปราสาทพระวิหาร ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะการเจรจาอย่างลับๆ ระหว่างนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม กับสมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2552 ที่ จ.กันดาล ประเทศกัมพูชา และยังได้พบปะกับนายสก อาน รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่ฮ่องกง เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2552 และต่อมาที่เมืองคุนหมิง เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2553 โดยได้ตั้งข้อสังเกตว่าทำไมจึงต้องเจรจาลับ และกัมพูชาอ้างว่าจำเป็นต้องเผยความลับนี้เพื่อปกป้องกัมพูชาและ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จากการใส่ร้ายของพวกพรรคประชาธิปัตย์

แน่นอน แถลงการณ์ของกัมพูชานอกจากจะใส่ร้ายป้ายสีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แล้ว ยังฟาดงวงฟาดงาใส่กลุ่มคนเสื้อเหลืองที่มีบทบาทในการเคลื่อนไหวเรื่องปราสาทพระวิหารและเปิดโปงเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนด้านพลังงานของฮุน เซน-ทักษิณ ด้วย โดยสมเด็จฯ ฮุน เซนได้กล่าวย้อนหลังเกี่ยวกับการกระทำต่างๆ ของอดีตนายกรัฐมนตรีไทย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งปัจจุบันเป็นหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านว่า ตลอดมาอดีตนายกรัฐมนตรีผู้นี้ได้เชื่อมโยงกัมพูชากับปัญหาการเมืองภายในไทยอย่างไม่หยุดยั้ง และพรรคประชาธิปัตย์กับกลุ่มคนสุดโต่ง (เกินเหตุ) เสื้อเหลืองของไทย มักกล่าวหา และโยนความผิดอื่นๆ ให้แก่อดีตนายกรัฐมนตรีไทย นายทักษิณ ชินวัตร ว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน ซ่อนเร้นกับกัมพูชาในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล

“แต่ในความจริงกลับเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ได้ใช้นโยบายสกปรก โดยสั่งการให้อดีตรองนายกรัฐมนตรี สุเทพ เทือกสุบรรณ และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประวิตร วงษ์สุวรรณ มาเจรจาลับๆ กับสมเด็จฯ ฮุน เซน เกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2552 ที่ จ.กันดาล ประเทศกัมพูชา ขณะที่รัฐบาลไทยชุดที่แล้ว ฃได้เจรจากันในปัญหานี้อย่างเปิดเผย” แถลงการณ์ของกัมพูชาระบุ

กองการข่าวฯ ของกัมพูชายังได้อ้างแถลงการณ์ของการปิโตรเลียมแห่งชาติกัมพูชา ที่เผยแพร่ไปก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2554 เกี่ยวกับการเจรจาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชาว่า “ในปัญหาพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเล รัฐบาลกัมพูชา และรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจเมื่อเดือนมิถุนายน 2544 เกี่ยวกับพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเล ซึ่งบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ได้กำหนดพื้นที่ที่ต้องกำหนดการแบ่งเขตทางทะเล (Area to be Delimited) และพื้นที่ที่ต้องพัฒนาร่วมกัน (Joint Development Area)

“บันทึกความเข้าใจปี 2544 ไม่ใช่เป็นเพียงกระดาษความตกลงเท่านั้น แต่ทั้งสองประเทศได้ใช้งบประมาณ และเอาใจใส่เป็นอย่างมากในการปฏิบัติตามบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ โดยได้ตั้งคณะกรรมาธิการร่วมด้านเทคนิค คณะอนุกรรมการร่วมด้านเทคนิค และคณะทำงานอีก 2 คณะเกี่ยวกับการกำหนดเขตทางทะเล และพื้นที่พัฒนาร่วมกัน การอธิบายดังกล่าวยังไม่รวมถึงการวิจัยเชิงวิชาการ และกฎหมายเกี่ยวกับการเรียกร้องพื้นที่ทับซ้อนในทะเลระหว่างสองประเทศ

การหารือ และการเจรจาระหว่างสองประเทศได้รับผลลัพธ์ที่ดีหลายประการในระหว่างปี 2544-2550 และทั้งสองประเทศได้มีข้อเสนอ 2 ข้อสำหรับพื้นที่พัฒนาร่วมกัน (JDA) คือ ข้อเสนอก้าวข้าม (Break-Through Proposal) ที่เสนอขึ้นโดยฝ่ายกัมพูชา และข้อเสนอแบ่งพื้นที่พัฒนาเป็น 3 ส่วน (Three-Zone Proposal) ที่เสนอขึ้นโดยฝ่ายไทย”

แถลงการณ์ของการปิโตรเลียมกัมพูชาที่ออกมาแก้ต่างข้างต้น ด้านหนึ่งได้บ่งบอกชัดเจนในตัวว่า การเจรจาระหว่างฮุน เซน-ทักษิณ ใกล้บรรลุผลสำเร็จอยู่รอมร่อ หากรัฐบาลทักษิณไม่ถูกยึดอำนาจโดยการรัฐประหารเมื่อ 19 กันยาฯ 2549 เสียก่อน

เรื่องนี้มีการแฉเอกสารลับทางการทูตของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2550 ที่เผยแพร่โดยเว็บไซต์วิกิลีกส์ว่า ในการไปเยือนกรุงพนมเปญของสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน และร่วมประชุมกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงกัมพูชานั้น ผู้แทนของบริษัท โคโนโคฟิลิปส์ ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของสหรัฐฯ ได้เรียกร้องให้รัฐบาลกัมพูชาหาทางคลี่คลายข้อพิพาทพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลในอ่าวไทย โดยระบุว่าบริษัทได้รอสัญญาสัมปทานการสำรวจพื้นที่ดังกล่าวมาเป็นเวลาเกือบสิบปีแล้ว

ในระหว่างการประชุมครั้งนั้น นายเกา คิม ฮอร์น เจ้าหน้าที่ระดับสูงกระทรวงต่างประเทศกัมพูชา แจ้งต่อบริษัทว่า รัฐบาลไทยและกัมพูชาเกือบได้ข้อยุติในเรื่องนี้ไม่นานนักก่อนรัฐบาลทักษิณจะถูกขับพ้นจากการเป็นรัฐบาล เขายังบอกว่าทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันในหลักการแบ่งรายได้ โดยพื้นที่ใกล้ไทยมากที่สุด ไทยได้ 80% กัมพูชา 20% ส่วนพื้นที่ตรงกลางแบ่ง 50-50% และพื้นที่ใกล้ฝั่งกัมพูชา ไทยได้ 20% กัมพูชา 80% ในเวลานั้นเขาคิดว่าถ้ามีเวลาในการเจรจาเพิ่มเติมอีก 6 เดือนก็น่าจะตกลงกันได้

อาการฝันค้างของฮุน เซน-ทักษิณ จึงเป็นปมแค้นเคืองฝ่ายที่ออกมาแฉเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนในการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลในอ่าวไทย โดยเฉพาะการออกมาเปิดโปงของกลุ่มพันธมิตรฯ ก่อนหน้านี้ที่มีการตั้งข้อสังเกตเชื่อมโยงการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ซึ่งกันและกันระหว่างฮุน เซน-ทักษิณ ในเรื่องการขึ้นทะเบียนมรดกโลกปราสาทพระวิหาร โครงการพัฒนาพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารในรูปเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ การได้สิทธิเข้าพัฒนาพื้นที่เกาะกง การเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์เขตทับซ้อนทางทะเล และการโยกฐานการลงทุนของกลุ่มชินคอร์ปจากธุรกิจโทรคมนาคมมาสู่ธุรกิจพลังงาน ที่มีการเตรียมการล่วงหน้าโดยแปรรูป ปตท.และการเข้าถือหุ้น ปตท.ในนามบริษัทตัวแทนหรือนอมินีที่ไม่เปิดเผยตัวตน

แถลงการณ์ของกองการข่าวฯ กัมพูชาเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2556 ฮุน เซนยังเผยไต๋ว่า รัฐบาลชุดใหม่ที่นำโดยนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ฯ ยังไม่ได้พบหารือ หรือมีข้อเสนอใดกับรัฐบาลกัมพูชาในการแก้ไขพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเล ซึ่งรัฐบาลกัมพูชาพร้อมและยินดีต่อการเริ่มต้นเจรจาอย่างเปิดเผย และอย่างเป็นทางการอีกครั้งในปัญหานี้ และสานต่องานนี้ให้แล้วเสร็จโดยเร็วเท่าที่สามารถกระทำได้ เพื่อเป็นประโยชน์ของประชาชน และประเทศทั้งสองต่อไป

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มีปฏิกิริยาต่อการออกมาเกรี้ยวกราดของฮุน เซน และลูกไล่ฮุน เซน-ทักษิณ อย่างนายสุรพงษ์ ว่า ไม่แปลกใจที่สมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาไม่พอใจ และออกมาตอบโต้ ซึ่งรัฐบาลที่ผ่านมาส่งนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นไปพบเพื่อตรวจสอบเรื่องผลประโยชน์ทางทะเล โดยเฉพาะเรื่องพลังงาน และเห็นว่าเอ็มโอยูปี 2544 ทำให้ไทยเสียเปรียบ จึงได้ยกเลิกไป การที่รัฐบาลกัมพูชาไม่พอใจรัฐบาลชุดที่ผ่านมาเป็นการยืนยันรัฐบาลสมัยตนไม่ได้เอาใจรัฐบาลกัมพูชา และไม่ยอมเรื่องพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหาร ไม่ได้มีเรื่องอื่น

“รัฐบาลไทยจะต้องมีความมั่นคงในการรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ โดยเฉพาะที่มีการอ้างว่าไทยไปรุกราน เพราะการเพิกเฉยเท่ากับเป็นการยอมรับ เกรงว่าจะมีผลต่อการต่อสู้คดีในศาลโลก เพราะทุกก้าวย่างของกัมพูชาในขณะนี้ล้วนมีเป้าหมาย”
กำลังโหลดความคิดเห็น