xs
xsm
sm
md
lg

ย้ำปมเหตุน้ำมันแพงนักการเมือง-นายทุนสุมหัวโกงคนไทย แนะออก กม.ปิโตรเลียมใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา
อุดรธานี - กมธ.ศึกษาตรวจสอบเรื่องทุจริต วุฒิสภา บุกอุดรฯ เปิดเสวนาพลังงาน ผลประโยชน์กับการพัฒนาประเทศไทย เผย 3 ปมเหตุน้ำมันแพงเพราะรัฐบาลให้สัมปทานถูก ผลประโยชน์จึงตกแก่บริษัทพลังงานอย่างมหาศาล แต่คนไทยต้องใช้น้ำมันแพงกว่าสหรัฐฯ และประเทศเพื่อนบ้าน ซ้ำส่งออกน้ำมันดิบทั้งที่ขาดแคลนทำให้ต้องนำเข้า ทั้งน้ำมันดิบ และก๊าซหุงต้มมากว่าควรจะเป็น นอกจากนี้ ยังเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเพื่ออุ้มราคาก๊าซหุงต้มในธุรกิจปิโตรเลียม แนะทางออกระยะยาวต้องรณรงค์ให้มีการจัดทำกฎหมายแร่ กฎหมายปิโตรเลียมฉบับใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อบ่ายวันที่ 26 ม.ค.56 ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมอาคาร 17 ชั้น 2 มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี คณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องทุจริต และเสริมสร้างธรรมภิบาล วุฒิสภา และคณะอนุกรรมาธิการเสริมสร้างเครือข่ายภาคประชาชน ได้จัดการเสวนา ในหัวข้อเรื่อง “พลังงาน ผลประโยชน์กับการพัฒนาประเทศไทย” โดยมี น.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรี และประธานคณะอนุกรรมาธิการเสริมสร้างเครือข่ายภาคประชาชน เป็นประธานเปิดการสัมมนา มีนิสิต นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี และประชาชนที่สนใจเข้าร่วมงานจำนวนมาก

น.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการเสริมสร้างเครือข่ายภาคประชาชน วุฒิสภา กล่าวว่า ในเรื่องพลังงานในประเทศไทยขณะนี้ และอีกหลายเรื่องในประเทศกำลังเข้าสู่วิกฤต ซึ่งประชาชนไม่ได้รับข้อมูลที่แท้จริง นี่คือเหตุผลที่เราได้มีแนวคิดการจัดสัมมนานี้ขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลที่ทางราชการ และนักการเมืองปิดบังซ่อนเร้นไม่ให้ประชาชนคนไทยได้รับรู้ โดยเฉพาะคนภาคอีสาน ซึ่งมีแหล่งพลังงานเยอะมากในภูมิภาคประเทศไทย การสัมมนาในครั้งนี้ เราจะได้รับรู้ว่าใครที่มาเอาสมบัติ และทรัพยากรของเราไปบ้าง เอาไปอย่างไร โดยประชาชนไม่รู้เรื่องเลย

จากนั้นเป็นการอภิปรายในหัวข้อต่างๆ โดยเริ่มจาก ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี อนุกรรมาธิการภิบาล ด้านพลังงาน อภิปรายในเรื่อง “พลังงานกับผลประโยชน์ของชาติ” ต่อด้วย นายเดชา คำเป้าเมือง ผู้ประสานงานกลุ่มอนุรักษ์อุดรธานีอภิปรายเรื่อง “เหมืองแร่โปแตสกับผลกระทบที่คนอุดรควรรู้ก่อนตัดสินใจ” และปิดท้ายด้วยเรื่อง “ผลประโยชน์กับการพัฒนาการเมืองไทย” โดยนายคำนูณ สิทธิสมาน รองประธานคณะกรรมาธิการฯ คนที่หนึ่ง

ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี อนุกรรมาธิการภิบาล ด้านพลังงาน กล่าวว่า ขณะนี้พลังงานในประเทศกำลังเกิดปัญหาเป็นอย่างมาก เริ่มจากน้ำมันดิบจริงๆ ใช้คำว่าน้ำมันดิบมันไม่ตรง เพราะสิ่งที่กลั่นเป็นน้ำมันได้ไม่ใช่แค่น้ำมันดิบเท่านั้น แต่มีสิ่งที่เรียกว่า ก๊าซโซลีนธรรมชาติ ซึ่งอันนั้นคือหัวกะทิ เป็นของแพง และไม่มีใครอยากให้เรารู้ ซึ่งปัจจุบัน กระทรวงพลังงานไม่เถียงแล้วว่ามันไม่จริง แต่คำตอบคือใช้ไม่พอ

เมื่อเรามีทรัพยากรแบบนี้ สิ่งที่จะเสนอให้ประชาชนต้องตระหนัก ก็คือว่า แล้วเราได้ส่วนแบ่งที่เป็นธรรมไหมจากทรัพยากรที่เรามี ประเทศอื่นที่อันดับ 30-40 กว่า เขาได้ส่วนแบ่ง 100 บาท เขาเอามา 80 หรือ 90 แต่ประเทศเราบอกไม่เอา ขุดเจาะยาก เอามา 30 พอ

ส่วนการขุดเจาะน้ำมัน มีจำนวนผลิตหลุมปิโตรเลียม จำนวน 2,846 หลุม มีปริมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือ 160 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งสาเหตุที่ทำให้น้ำมันแพง มี 3 สาเหตุคือ 1.การให้สัมปทานไปถูกๆ ผลประโยชน์จึงตกแก่บริษัทพลังงานอย่างมหาศาล แต่คนไทยต้องใช้น้ำมันแพงกว่าประเทศสหรัฐฯ และประเทศเพื่อนบ้าน 2.การส่งออกน้ำมันดิบทั้งที่ขาดแคลนทำให้ต้องนำเข้า ทั้งน้ำมันดิบ และก๊าซหุงต้ม มากว่าควรจะเป็น และ 3.เก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเพื่ออุ้มราคาก๊าซหุงต้มในธุรกิจปิโตรเลียม

นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ปัญหาพลังงานต่างๆ หากต่อสู่กันเป็นประเด็นๆ ไปแล้วคงไม่ได้ประโยชน์เท่าไรนัก เพราะบ้านเมืองมีการปกครองด้วยกฎหมาย สิ่งสำคัญคือ กฎหมายแม่บท เรื่องปิโตรเลียมก็ไปดูที่ พ.ร.บ.2514 ส่วนเรื่องแร่ ก็ไปดูที พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 ซึ่ง พ.ร.บ.ได้กำหนดชัดเจนว่า ปิโตรเลียม และแร่ เป็นของรัฐไม่ใช่เป็นของประชาชน นอกจากการต่อสู่ในประเด็นต่างๆ แล้วนั้น เราต้องต่อสู้เรื่องโครงสร้างอีกทางหนึ่ง ด้วยการรณรงค์ให้มีการจัดทำกฎหมายแร่ กฎหมายปิโตรเลียมฉบับใหม่ ซึ่งหากเราสามารถเปลี่ยนโครงสร้างได้ เราควรจะกำหนดให้แร่ และปิโตรเลียมเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และการจัดการในเรื่องแร่ และปิโตรเลียมนั้นจะต้องไม่ใช้เรื่องของรัฐบาลโดยตรง แต่ประชาชนจะต้องมีส่วนร่วมด้วย

นายคำนูณ ได้พูดถึงกรณีการต่อสู้คดีปราสาทพระวิหารของรัฐบาลไทยในศาลโลกว่า โอกาสแพ้มี 0.0001 เปอร์เซ็นต์นั้น หมายถึงศาล ICJ พิพากษาล่วงล้ำเข้าในเรื่องเขตแดน โดยชี้ว่า เส้นตามแผนที่ระวางดงรักเป็นเส้นเขตแดน ประเด็นนี้ยังยืนยัน แต่เชื่อว่าโอกาสที่ศาลจะชี้ว่ามีอำนาจพิจารณาคดีมีสูง หรือถ้าจะพูดอย่างมีความหวังไว้บ้างก็คือ 50:50 โดยศาลจะถือตามธรรมนูญศาลมาตรา 60 ว่าเป็นการตีความคำพิพากษาคดีเก่าสมัยที่ไทยยังรับเขตอำนาจศาลอยู่ ไม่ใช่คดีใหม่ที่ไทยไม่ได้รับเขตอำนาจศาลมากว่า 50 ปีแล้ว ประเด็นนี้ศาลจะตีความอาณาบริเวณของปราสาทฯ หรือ Vicinity of the temple ที่ไทยต้องปฏิบัติตามคำพิพากษา 15 มิ.ย.2505 ตามที่กัมพูชาร้องขอ

ซึ่งคำพิพากษามีความเป็นไปได้เพียง 3 ทาง คือ ทางที่ 1 พิพากษาว่า Vicinity คือ เขตปฏิบัติการตามมติ ครม.10 ก.ค.2505 ที่ไทยส่งมอบให้กัมพูชา และกัมพูชาไม่ได้คัดค้านมาก่อน ทางที่ 2 พิพากษาว่า Vicinity คือ พื้นที่ 4.6 ตร.กม. ตามแผนที่ระวางดงรัก คือ ไม่ได้พิพากษาเรื่องเขตแดน ไม่ได้พิพากษาว่าเส้นเขตแดนตามแผนที่ระวางดงรักเป็นเส้นเขตแดนไทย-กัมพูชา แต่พิพากษาว่าพื้นที่ 4.6 ตร.กม.เป็น Vicinity ที่ไทยมีภาระต้องส่งมอบให้กัมพูชาพร้อมตัวปราสาทตามคำพิพากษา 15 มิ.ย.2505

และทางที่ 3 พิพากษาว่า Vicinity คือส่วนหนึ่งของพื้นที่ 4.6 ตร.กม. คือ เกินเขตปฏิบัติการตามมติ ครม.เมื่อ 50 ปีก่อน แต่ก็ไม่ถึงกับกินพื้นที่ 4.6 ตร.กม.ทั้งหมด ซึ่งทั้ง 3 ทางโอกาสเป็นไปได้เท่าๆ กัน คือ 1 ใน 3 หรือ 33.3 เปอร์เซ็นต์

“ถ้าจะว่าไทยแพ้ คือ ศาลต้องพิพากษาเส้นเขตแดนตามแผนที่ระวางดงรักเลยเท่านั้น โอกาสแพ้ก็ยังเป็น 0.0001 เปอร์เซ็นต์ ไม่ผิด ซึ่งผมไม่เห็นด้วยแน่นอน และเชื่อว่าพี่น้องก็ไม่เห็นด้วย เราจะต้องนิยามว่า แพ้ คืออะไรก็ตามที่เราต้องส่งมอบพื้นที่ให้กัมพูชาเพิ่ม ไม่ว่าจะในนามของแผ่นดินกัมพูชา หรือในนามของอาณาบริเวณ หรือ Vicinity เกินไปจากที่ส่งมอบล้อมรั้วลวดหนามตามเขตปฏิบัติการในมติ ครม.10 ก.ค.2505 ไม่ว่าจะ 4.6 ตร.กม.หรือน้อยกว่าก็ตาม แต่ก็ต้องลุ้นกัน 2 ขั้นตอน ขั้นตอนแรก ต้องลุ้นว่าศาลจะรับพิจารณาตีความหรือไม่ ซึ่งโอกาสแพ้ก็ 50 เปอร์เซ็นต์ ขั้นตอนต่อมา ในกรณีที่ศาลรับพิจารณาตีความ โอกาสแพ้ 66.6 (33.3+33.3) เปอร์เซ็นต์ คือ คำพิพากษาออกมาตามทางที่ 2 หรือทางที่ 3

คำว่า แพ้ คือ การที่ทำให้เราต้องส่งมอบแผ่นดินเกินไปกว่ามติ ครม.10 ก.ค.2505 ไม่ว่าจะในนามว่าเพราะเป็นแผ่นดินกัมพูชา หรือเป็น Vicinity ของตัวปราสาทฯ ตามคำพิพากษา 15 มิ.ย.2505 ที่ศาลรับตีความให้ตามคำขอของกัมพูชา โอกาสแพ้จึงไม่ใช่ 0.0001 เปอร์เซ็นต์แน่นอน โอกาสแพ้คือ 50 เปอร์เซ็นต์ และ 66.6 เปอร์เซ็นต์ 50 เปอร์เซ็นต์แรก คือ ศาลรับตีความ 66.6 เปอร์เซ็นต์หลัง คือ คำพิพากษาออกมาตามทางที่ 2 หรือทางที่ 3 เพราะโอกาสที่ศาลจะไม่รับตีความตามมาตรา 60 มีน้อยมาก ถึงขนาดออกคำสั่งมาตรการชั่วคราวเกินพื้นที่พิพาทยังทำมาแล้ว จะมาพลิกไม่รับตีความเลยนี่คงต้องเป็นมากกว่าปาฏิหาริย์ และโอกาสเสมอตัวมีเพียง 33 เปอร์เซ็นต์”




กำลังโหลดความคิดเห็น