xs
xsm
sm
md
lg

สิ้น‘กษัตริย์สีหนุ’สิ้นพลังชีวิตของ‘สถาบัน’ในกัมพูชา (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: เซบาสเตียน สตรังจิโอ

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Departure of a king, death of an institution
By Sebastian Strangio
06/02/2013

พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพอันแสนอลังการและทุ่มเทอย่างเต็มที่ ซึ่งกัมพูชาจัดขึ้นเพื่อถวายแด่กษัตริย์นโรดมสีหนุ เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ ยังควรที่จะถือเป็นหลักหมายของการขึ้นสู่จุดสูงสุดแห่งความสำเร็จของพรรคประชาชนกัมพูชาที่เป็นรัฐบาลปกครองประเทศในปัจจุบัน หลังจากที่ได้ใช้ความพยายามมาเป็นเวลาหลายสิบปี เพื่อผูกพันธนาการสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่แต่กับพิธีกรรม และจองจำสถาบันนี้ด้วยคำสรรเสริญอันว่างเปล่า พร้อมๆ กันนั้นก็ถือสิทธิ์อ้างตนเองเป็นผู้พิทักษ์คุ้มครองมรดกของสมเด็จสีหนุแต่เพียงผู้เดียว ทั้งนี้หลังจากอำนวยการจัดการงานต่างๆ ในพระราชพิธีจนเสร็จสิ้นผ่านพ้นไปแล้ว เวลานี้นายกรัฐมนตรีฮุนเซน ก็สามารถที่จะจัดส่งสถาบันพระมหากษัตริย์ของกัมพูชาให้เข้าไปอยู่ในซอกหลืบที่ถูกลืมเลือนได้แล้ว

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

สมเด็จนโรดมสีหนุเมื่อเสด็จนิวัติกลับกัมพูชาและขึ้นครองราชย์เป็นครั้งที่สอง ในปี 2003 ก็ทรงประสบกับสภาพการณ์ของการถูกรัฐบาลฮุนเซนเฝ้าจับตาสอดส่องอย่างใกล้ชิดดังกล่าวนี้เช่นกัน ในตอนต้นๆ พระองค์ยังทรงพยายามหลบหลีกไม่ยอมตามข้อจำกัดต่างๆ เหล่านี้ ด้วยทรงหวังว่าจะทรงสามารถดำเนินแผนการที่จะทำให้พระองค์เองกลับคืนเข้าสู่กลเกมทางการเมืองได้ แต่หลังจากที่พระองค์ประสบความล้มเหลวหลายต่อหลายครั้งในความพยายามที่จะจัดตั้งคณะรัฐบาลของพระองค์เองขึ้นมาภายหลังการเลือกตั้งที่สหประชาชาติเข้ามาจัดการดูแลในปี 1993 แล้ว สมเด็จนโรดมสีหนุก็ทรงพบว่าพระองค์ถูกลดทอนพระราชอำนาจมากขึ้นทุกทีๆ เจ้านโรดมรณฤทธิ์ (Prince Norodom Ranariddh) พระราชโอรสของพระองค์ แม้จะเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งและได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเคียงคู่กับฮุนเซน แต่ก็กลับพยศและทอดทิ้งละเลยพระราชประสงค์ของสมเด็จพระราชบิดายิ่งขึ้นเรื่อยๆ ครั้นแล้วในเดือนกรกฎาคม 1997 ฮุนเซนก็ได้จัดการโค่นล้มเจ้านโรดมรณฤทธิ์ ด้วยการก่อรัฐประหารยึดอำนาจอย่างนองเลือด อันเป็นเหตุการณ์ซึ่งเป็นหลักหมายแสดงถึงความตกต่ำลดถอยลงไปอีกในพระราชอำนาจของสมเด็จนโรดมสีหนุ

ตั้งแต่นั้นมา กษัตริย์พระองค์นี้ก็ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปประทับนอกประเทศมากขึ้นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงปักกิ่ง ที่ซึ่งพระองค์ทรงใช้เป็นสถานที่พระราชนิพนธ์บทวิจารณ์อันสร้อยเศร้าและเผ็ดร้อนต่างๆ เพื่อคร่ำครวญถึงการทุจริตคอร์รัปชั่นและความอยุติธรรมแห่งการปกครองของฮุนเซน ในเวลาเดียวกันนั้น ตัวฮุนเซนเองก็พยายามที่จะเข้าสวมบทบาทหน้าที่ของสมเด็จนโรดมสีหนุ ทั้งด้วยการเลียนแบบการพระราชทานสุนทรพจน์ที่ยาวเหยียดเป็นชั่วโมงของพระองค์, ความใส่พระทัยเป็นพิเศษในการก่อสร้างโรงเรียน, และการที่ทรงวางพระองค์ให้ใกล้ชิดสนิทสนมกับ “ประชาชนสามัญตัวเล็กๆ” ของกัมพูชา

“ฮุนเซนมีความต้องการเสมอมาที่จะกลายเป็นสมเด็จสีหนุในยุคสมัยของเขา และโดยวิธีการอะไรก็แล้วแต่เขาก็ประสบความสำเร็จนะ” นี่เป็นคำกล่าวของเจ้าสีโสวัฒน์ โธมิโก (Prince Sisowath Thomico) หนึ่งในอดีตที่ปรึกษาของสมเด็จนโรดมสีหนุ

หลังจากทรงตระหนักยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ว่าเกมจบลงแล้ว ในที่สุดสมเด็จนโรดมสีหนุก็ทรงสละราชสมบัติในปี 2004 โดยทรงส่งมอบราชบัลลังก์แด่เจ้านโรดมสีหมุนี ผู้พระราชโอรส และทรงส่งมอบเวทีการเมืองให้แก่ฮุนเซน ผู้ซึ่งพระองค์ตรัสอยู่บ่อยครั้งว่า เป็น “โอรส” ที่พระองค์ไม่เคยมี “สมเด็จนโรดมสีหนุทรงมีพระราชประสงค์อันใหญ่อยู่ประการหนึ่งที่ยังคงมิได้รับการเติมเต็ม นั่นก็คือการได้ปกครองประเทศกัมพูชาที่มีความรุ่งเรืองมั่งคั่งและมีสันติภาพ” เบนนี วิดโยโน (Benny Widyono) ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Dancing in Shadows: Sihanouk, the Khmer Rouge, and the United Nations in Cambodia (เริงระบำในเงามืด: สีหนุ, เขมรแดง, และสหประชาชาติในกัมพูชา) กล่าวแจกแจง “พระองค์ทรงตระหนักแล้วว่าพระองค์ไม่สามารถเอาชนะฮุนเซนได้ พระราชประสงค์ที่ดำรงมายาวนานตลอดพระชนม์ชีพยังคงไม่ได้รับการเติมเต็ม”

สำหรับกษัตริย์พระองค์ใหม่ สมเด็จนโรดมสีหมุนี อดีตนักบัลเลต์ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำองค์การยูเนสโก (UNESCO องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม แห่งสหประชาชาติ) ในกรุงปารีส อยู่หลายปี ทรงแสดงให้เห็นเรื่อยมาว่าแทบไม่ทรงมีรสนิยมในเรื่องเกมการเมืองเอาเลย และทรงปล่อยการเมืองเอาไว้ให้อยู่ในมือของฮุนเซนและคณะรัฐบาลที่ครอบงำโดยพรรคประชาชนกัมพูชาของเขา ลงท้ายแล้ว เมื่อฮุนเซนทำการรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ และลดทอนบทบาทของพวกคู่แข่งฝ่ายนิยมกษัตริย์เฉกเช่นเจ้านโรดมรณฤทธิ์จนแทบไม่เหลือความสำคัญอะไรแล้ว สมเด็จนโรดมสีหนุจึงทรงเลือกที่จะสละราชสมบัติ ในการวางเดิมพันด้วยความหวังว่าจะทำให้สถาบันกษัตริย์ยังยืนยงคงอยู่ต่อไปได้ภายหลังการเสด็จสวรรคตของพระองค์เอง

“พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะทำให้เป็นที่แน่ใจได้ว่าสถาบันกษัตริย์จะยังคงอยู่ต่อไป ทางเลือกที่มีอยู่เพียงประการเดียวของพระองค์คือการสละราชสมบัติ และให้มีสภาองคมนตรีขึ้นมาทำหน้าที่เลือกกษัตริย์พระองค์ใหม่” เจ้าโธมิโก อธิบาย แต่หากว่าการเสด็จขึ้นครองราชย์ของสมเด็จนโรดมสีหมุนี สามารถรักษาสถาบันกษัตริย์เอาไว้ให้ปลอดภัยจากการโจมตีของฮุนเซนแล้ว เรื่องนี้ก็ยังทำให้พรรคประชาชนกัมพูชาได้รับในสิ่งที่พวกเขาต้องการเรื่อยมาอีกด้วย นั่นก็คือกษัตริย์ที่จะทรงอยู่นอกการเมือง “ถ้าผมจะต้องเขียนหนังสือสักเล่มหนึ่งเกี่ยวกับสมเด็จนโรดมสีหมุนีแล้ว ผมก็อยากจะตั้งชื่อให้มันว่า The Reluctant King (กษัตริย์ผู้ไม่เต็มพระทัย)” นักเขียนวิดโยโน กล่าว “พระองค์ช่างเหมาะสมกับความต้องการของฮุนเซนเป็นอย่างดีเยี่ยมเหลือเกิน”

ผลลัพธ์ก็คือ การเสด็จสวรรคตของสมเด็จนโรดมสีหนุมีความหมายเท่ากับเป็นการนิ่งเงียบในทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์ และพระราชพิธีพระบรมศพอันแสนอลังการก็เสมือนเป็นตราประทับสุดท้ายที่รับรองการถอนตัวออกไปจากชีวิตทางการเมืองของกัมพูชาของสถาบันนี้ พรรคประชาชนกัมพูชาจึงมิได้อิดออดอดออมงบประมาณรายจ่ายเลยในการประกาศอ้างตนเองขึ้นเป็นผู้พิทักษ์คุ้มครองมรดกของสมเด็จนโรดมสีหนุแต่เพียงผู้เดียวในคราวนี้ มีรายงานว่ารัฐบาลกัมพูชาใช้จ่ายเงิน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในการสร้างพระเมรุมาศซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางสำหรับพระราชพิธีพระบรมศพที่มีหมายกำหนดการรายละเอียดไปทุกขั้นตอน ในวันศุกร์ (1กุมภาพันธ์) ก่อนหน้าวันถวายพระเพลิงพระบรมศพ รัฐบาลก็ใช้จ่ายอย่างทุ่มเทในการจัดพระราชพิธีอัญเชิญพระบรมศพของสมเด็จนโรดมสีหนุผ่านไปตามถนนสายต่างๆ ในกรุงพนมเปญเป็นครั้งสุดท้าย ขณะที่เสียงจากลำโพงต่างๆ ดังกึกก้องไปทั่วทั้งเมืองถ่ายทอดถ้อยคำยกย่องสรรเสริญนานาแด่องค์อดีตกษัตริย์ ตลอดจนพระราชกรณียกิจและความสำเร็จอันยาวเหยียดของพระองค์

ยิ่งกว่านั้น รัฐบาลยังคิดค้นให้มีการถวายพระพระนามาภิไธยใหม่แด่องค์อดีตกษัตริย์ผู้ทรงเสด็จสู่สวรรคาลัย โดยที่นับแต่นี้พระองค์ทรงมีพระนามหลังเสด็จสวรรคตว่า “พระบรมรัตนโกศ” (Preah Borom Ratanak Koad) ตลอดจนให้มีการออกธนบัตรใหม่ที่มีมูลค่าฉบับละ 1,000 เรียล (ประมาณ 7.50 บาท) โดยภาพในธนบัตรใช้เป็นภาพพระมหาราชรถทองคำอัญเชิญพระบรมศพที่นิวัติกลับสู่พระนครจากกรุงปักกิ่งเมื่อเดือนตุลาคม 2012 (หลังจากที่กัมพูชาเป็นเพียงประเทศเดียวในโลกที่นำเอาโบราณสถานแห่งหนึ่งของตนมาประดับไว้ในธงชาติ เวลานี้ก็ดูเหมือนประเทศนี้ยังจะกลายเป็นชาติเดียวในโลกที่นำเอาภาพเกี่ยวกับงานศพประดับไว้ในเงินตราของตน) ครั้นแล้วจึงมาถึงพระราชพิธีถวายพระเพลิงอันงดงามอลังการในวันจันทร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ เป็นการโอ่อวดขนบธรรมเนียมประเพณีครั้งสุดท้าย ซึ่งลากเส้นแบ่งอันชัดเจนหนักแน่นระหว่างยุคที่กำลังเลือนหายไปของสมเด็จนโรดมสีหนุ และยุคที่กำลังผงาดขึ้นมาของฮุนเซน

“ฮุนเซนคงต้องพูดว่า จัดพิธีครั้งสุดท้ายให้พวกเขาอย่างเต็มที่เลย” อดีตนักการทูตชาวเอเชียผู้หนึ่ง แสดงความเห็น “หลังจากนั้นแล้ว สถาบันกษัตริย์ก็จะลับหายไปในซอกหลืบที่ถูกลืมเลือน”

พาย สีพัน (Phay Siphan) โฆษกรัฐบาลกัมพูชาออกมาอธิบายแก้ต่างว่า ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ถึงแม้กษัตริย์ไม่ได้ทรงมีอำนาจทางการเมือง แต่ก็ยังคงทรงมี “อำนาจแห่งมโนธรรม” (power of conscience) พวกเจ้าหน้าที่รัฐบาลยังคงเข้าเฝ้าสมเด็จนโรดมสีหมุนีอยู่เป็นประจำ เพื่อถวายรายงานและน้อมรับพระราชดำริเกี่ยวกับกิจการต่างๆ ของประเทศ เขาปฏิเสธรายงานข่าวที่ว่ารัฐบาลเฝ้าติดตามสอดส่องพระราชวังอย่างใกล้ชิด “ไม่มีมูลความจริงเลย ทำไมเราจะต้องคอยติดตามสอดส่องพระราชวังด้วยล่ะ” สีพันกล่าว “เราไม่ได้มีอำนาจใดๆ เลยที่จะไปตัดสินใจแทนพระมหากษัตริย์”

สำหรับในเวลานี้ ชาวกัมพูชาจำนวนมากยังคงเกาะแน่นอยู่กับอดีต เฝ้าถวิลโหยหาถึงพระชนม์ชีพและความสำเร็จต่างๆ ของสมเด็จนโรดมสีหนุ เป็นต้นว่า มาว โสวัน (Mao Sovann) แม่ค้าเร่วัย 54 ปี สามารถขายภาพบรมฉายาลักษณ์ขององค์อดีตกษัตริย์ที่ชาวกัมพูชานิยมเก็บไว้บูชาและระลึกถึง ได้เป็นจำนวนหลายร้อยภาพทีเดียว ภาพเหล่านี้ซึ่งเธอนำออกมาวางตรงเบื้องหน้าเธอภายในสวนสาธารณะใกล้พระบรมมหาราชวัง มีทั้งพระบรมฉายาลักษณ์ของสมเด็จนโรดมสีหนุในวัยหนุ่มท่าทางไว้ตัว และภาพของสมเด็จนโรดมสีหนุทรงฉลองพระองค์ชุดสูทและเนคไท ในช่วงเวลาสูงสุดแห่งอำนาจของพระองค์ยุคต้นเมื่อกลางทศวรรษ 1960 ภาพอื่นๆ ยังมีภาพของพระองค์กับพระราชินีในฉลองพระองค์แบบเขมรแดงในปี 1973 ตลอดจนพระบรมฉายาลักษณ์แบบทางการที่ทรงฉายเคียงข้างพระราชโอรส นโรดมสีหมุนี

“ทุกๆ คนรักพระองค์ และต้องการเก็บรูปไว้ให้ลูกให้หลานได้ดู” โสวัน บอก “คนรุ่นต่อไปไม่เคยรู้จักพระองค์ เราจะเอารูปพวกนี้มาให้พวกเขาได้ดูกัน” ครั้นเมื่อถามไถ่ไปถึงอนาคต “ฉันไม่รู้หรอกว่าจะเป็นยังไงต่อไป” เธอกล่าว “ตอนนี้มีอย่างเดียวที่ฉันรู้แน่ๆ นายกฯฮุนเซนน่ะ เขามีอำนาจควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างหมดเลย”

เซบาสเตียน สตรังจิโอ เป็นนักหนังสือพิมพ์ซึ่งพำนักอยู่ในพนมเปญ โดยทำหน้าที่รายงานข่าวเกี่ยวกับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ปัจจุบันเขากำลังเขียนหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งจะพูดถึงกัมพูชายุคใหม่ ทั้งนี้สามารถติดต่อเขาได้ทางอีเมลที่ sebastian.strangio@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น