(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)
Norodom Sihanouk dies
By Sebastian Strangio
15/10/2012
สมเด็จพระนโรดมสีหนุ อดีตกษัตริย์กัมพูชา ซึ่งเพิ่งเสด็จสวรรคตด้วยพระชนมายุ 89 พรรษานั้น ทรงมีความหมายไม่แตกต่างอะไรจากประเทศกัมพูชาของพระองค์เลย ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ประเทศชาติของพระองค์พัฒนาคลี่คลายจากการเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ก้าวขึ้นสู่ฐานะการเป็นรัฐสมัยใหม่ โดยต้องข้ามผ่านทั้งสงครามกลางเมืองอันโหดเหี้ยมและระบอบเผด็จการอันขึ้นชื่อเหม็นโฉ่ของเขมรแดง พระองค์ก็ได้ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจตั้งแต่การเป็นกษัตริย์, นายกรัฐมนตรี, ประมุขแห่งรัฐของระบอบปกครองคอมมิวนิสต์, ผู้นำที่ลี้ภัยในต่างแดน, และจากนั้นก็เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์อีกคำรบหนึ่งจวบจนกระทั่งทรงประกาศสละราชบัลลังก์ในปี 2004
*ข้อเขียนนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*
(ต่อจากตอนแรก)
**ประคองตัวอยู่หว่างกลางอเมริกาและคอมมิวนิสต์**
ถึงช่วงกลางทศวรรษ 1960 ความพยายามของสมเด็จพระนโรดมสีหนุที่จะเดินหมากทางการทูตแบบประคับประคองตัวอย่างเต็มที่ ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะรักษากัมพูชาไม่ให้ต้องถลำเข้าไปพัวพันกับสงครามเวียดนาม กลับเริ่มต้นบังเกิดผลในทางตรงกันข้าม เสียงคัดค้านภายในกัมพูชาเองดังขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่สมเด็จสีหนุทรงเชื่อมั่นว่าในท้ายที่สุดแล้วพวกคอมมิวนิสต์เวียดนามจะเป็นฝ่ายมีชัยเหนือระบอบปกครองเวียดนามใต้ที่สหรัฐฯหนุนหลังอยู่ พระองค์จึงทรงยินยอมแม้อย่างไม่เต็มพระทัยเลย ให้พวกคอมมิวนิสต์เวียดนามทำการลำเลียงขนส่งอาวุธยุทธสัมภาระต่างๆ ผ่านไปตามเส้นทางที่เรียกขานกันว่า “เส้นทางโฮจิมินห์” (Ho Chi Minh trail) ซึ่งส่วนหนึ่งตัดผ่านพื้นที่ภาคตะวันออกของกัมพูชา และขึ้นมาจากท่าเรือเมืองสีหนุวิลล์ของแดนเขมร
เรื่องนี้สร้างความโกรธกริ้วให้แก่พวกฝ่ายค้านกัมพูชาที่มีแนวความคิดต่อต้านคอมมิวนิสต์และต่อต้านเวียดนาม กลายเป็นการเพิ่มเติมความไม่พอใจของคนเหล่านี้ขึ้นไปอีก นอกเหนือจากความขุ่นข้องต่อระบอบปกครองของสมเด็จสีหนุอยู่แล้วทั้งในประเด็นเรื่องที่มีการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างกว้างขวางและการบริหารจัดการเศรษฐกิจอย่างผิดพลาดบกพร่อง ในปี 1969 สหรัฐฯเริ่มเปิดฉากการรณรงค์ทิ้งระเบิดใส่เส้นทางขนส่งสัมภาระของคอมมิวนิสต์ในเขตกัมพูชา ซึ่งเมื่อถึงปี 1973 ก็ได้สร้างความหายนะร้ายแรงให้แก่พื้นที่ผืนใหญ่ๆ หลายๆ ผืนในภาคตะวันออกของกัมพูชา รวมทั้งได้สังหารประชาชนชาวกัมพูชาในชนบทตายไปเป็นหมื่นๆ คน
ในที่สุดเมื่อถึงเดือนมีนาคม 1970 นายทหารกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง นำโดยนายพลลอนนอล (General Lon Nol) และ เจ้าชาย สีสวัสด์ ศิริมาตัค (Prince Sisowath Sirikmatak) เจ้าชายในราชวงศ์ที่เป็นคู่แข่งของสมเด็จสีหนุ ก็ได้เข้ายึดอำนาจโค่นล้มการปกครองของสมเด็จพระนโรดมสีหนุขณะที่พระองค์ยังทรงประทับอยู่ในต่างแดน พวกเขาประกาศตนเข้าร่วมหัวจมท้ายกับสหรัฐฯ และเปลี่ยนระบอบปกครองของประเทศเป็นสาธารณรัฐ ทางฝ่ายสมเด็จสีหนุซึ่งเสด็จไปลี้ภัยในกรุงปักกิ่ง โดยที่ฝ่ายจีนจัดถวายให้ทั้งที่พักหลังงามและเงินค่าใช้จ่ายซึ่งทำให้ทรงครองชีพได้อย่างสะดวกสบาย ได้แสดงความโกรธกริ้วพวกวางแผนก่อรัฐประหารกลุ่มนี้ และตัดสินพระทัยในสิ่งที่ในเวลาต่อมาจะเกิดเสียงวิจารณ์โต้แย้งดังอึงคะนึง กล่าวคือ การเข้าสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อประดาอดีตศัตรูของพระองค์ในขบวนการคอมมิวนิสต์กัมพูชา
จากการได้สมเด็จพระนโรดมสีหนุมาเป็นประมุขในนามของพวกเขา เขมรแดงก็สามารถดึงดูดกระแสความสนับสนุนของประชาชนกัมพูชาในพื้นที่ชนบท และด้วยการหนุนหลังของกองกำลังคอมมิวนิสต์เวียดนาม ในที่สุดพวกเขาก็สามารถโค่นล้มรัฐบาลที่ทั้งทุจริตคอร์รัปชั่นและทั้งไร้ความสามารถของ ลอน นอล ลงไปได้ กองกำลังอาวุธเขมรแดงที่นำโดย โปล โป้ต เคลื่อนพลเข้าไปในกรุงพนมเปญเมื่อวันที่ 17 เมษายน 1975 ปรากฏว่าพวกเขาดำเนินการกวาดต้อนผู้คนออกจากเขตเมืองใหญ่ๆ จนทำให้กลายสภาพเป็นเมืองร้างไปในทันที จากนั้นก็ดำเนินการทดลองวิธีการบริหารปกครองแบบคอมมิวนิสต์สุดขั้ว ซึ่งนำไปสู่การสิ้นชีวิตของประชาชนประมาณ 1.7 ล้านคน ทั้งจากการประหารชีวิต, การอดตาย, และการทำงานหนักเกินกำลัง สำหรับสมเด็จพระนโรดมสีหนุเอง แม้จะทรงได้ชื่อว่าเป็นประมุขแห่งรัฐอย่างเป็นทางการของประเทศกัมพูชาใหม่ ซึ่งพวกเขมรแดงขนานนามว่า “กัมพูชาประชาธิปไตย” (Democratic Kampuchea) จวบจนกระทั่งถึงปี 1976 แต่สภาพการณ์ของพระองค์กลับเป็นไปดังที่ได้เคยทรงหวาดวิตก ถ้าจะใช้ถ้อยคำที่พระองค์ตรัสเองก็คือ พระองค์ถูกพวกเขมรแดง “ถ่มปลิวออกมาเหมือนกับเป็นเม็ดในของผลเชอร์รี” ("was spat out like a cherry pit" ทั้งนี้การแข่งขันกันถ่มเม็ดในของผลเชอร์รีให้ได้ระยะทางไกลที่สุด Cherry pit spitting เป็นกีฬาสนุกๆ ซึ่งได้รับความนิยมกันอยู่ในหลายๆ ประเทศถึงขั้นมีการจัดรายการแข่งขันกัน -ผู้แปล) พระองค์ทรงกลายเป็นนักโทษซึ่งถูกกักกันให้อยู่แต่ภายในพระราชวังที่ว่างเปล่าภายในนครที่ว่างเปล่า และต้องทรงจ่อมจมอยู่ในความรู้สึกสุดแสนหดหู่ซึมเศร้า
อย่างไรก็ตาม เมื่อระบอบปกครองเขมรแดงถูกกองทัพเวียดนามโค่นล้มลงในตอนต้นปี 1979 แทนที่พระองค์จะทรงหันมาต่อต้านคัดค้าน โปล โป้ต สมเด็จสีหนุกลับทรงบินไปยังที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชนในนครนิวยอร์ก เพื่อประณามการเข้ามาแทรกแซงรุกรานกัมพูชาของฮานอย ถึงปี 1982 พระองค์กลายเป็นผู้นำของกลุ่มแนวร่วมที่แสนจะอึดอัดและเคอะเขิน โดยพวกที่เข้าร่วมมีทั้งพวกชาตินิยม, พวกต้องการให้ประเทศกลายเป็นสาธารณรัฐ, และบุคลากรของเขมรแดงส่วนที่ต่อต้านระบอบปกครองใหม่ในพนมเปญซึ่งได้รับการหนุนหลังค้ำชูจากเวียดนาม ตลอดทศวรรษ 1980 สมเด็จสีหนุเสด็จพระราชดำเนินไปตามที่ต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งจัดงานราตรีสโมสรสุดหรูหราหลายต่อหลายครั้งที่โรงแรมวอลดอร์ฟ-เอสโทเรีย (Waldorf-Astoria Hotel) ในนิวยอร์ก เพื่อรณรงค์ขอเสียงสนับสนุนทางการทูตให้แก่ฝ่ายต่อต้านระบอบปกครองพนมเปญของพระองค์
แต่ในที่สุดแล้วสมเด็จสีหนุก็ต้องทรงแสดงบทบาทอันสำคัญในการหาหนทางแก้ไขให้แก่ความขัดแย้งในกัมพูชา ด้วยการพยายามต่อรองกับฝ่ายต่างๆ จนกระทั่งบรรลุข้อตกลงสันติภาพกรุงปารีส (Paris Peace Agreements) ซึ่งมีการลงนามกันอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม 1991 หลังพิธีลงนามข้อตกลงฉบับนี้ผ่านไปได้ 1 เดือน พระองค์ก็เสด็จนิวัตกรุงพนมเปญอย่างผู้มีชัย ในฐานะที่ทรงเป็นประมุขของคณะผู้กุมอำนาจชั่วคราวซึ่งสหประชาชาติหนุนหลัง เพื่อทำหน้าที่เป็นประธานในการเลือกตั้งต่างๆ ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 1993 สมเด็จสีหนุทรงแทบไม่ให้ความยกย่องนับถือกองกำลังของสหประชาชาติ ซึ่งถูกส่งเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในกัมพูชาในช่วงปี 1992-93 เพื่อดำเนินการต่างๆ ให้เป็นไปตามข้อตกลงสันติภาพ และเตรียมการสำหรับการเลือกตั้งปี 1993 ในแฟกซ์ที่เต็มไปด้วยข้อความแสดงความหงุดหงิดฉุนเฉียวฉบับต่างๆ ซึ่งส่งจากที่พำนักของพระองค์ทั้งในกรุงปักกิ่งและในกรุงเปียงยางนั้น พระองค์เดี๋ยวก็ทรงประกาศขันอาสาช่วยทำงานให้ และเดี๋ยวก็ทรงประกาศถอนการสนับสนุนซึ่งให้แก่กองกำลังยูเอ็นเหล่านี้
ผลการเลือกตั้งในปี 1993 ที่จัดขึ้นตามเงื่อนไขของข้อตกลงสันติภาพกรุงปารีส ปรากฏว่า พรรคการเมืองของเจ้านโรดมรณฤทธิ์ (Prince Norodom Ranariddh) พระราชโอรสของสมเด็จสีหนุ เป็นผู้ได้ชัยชนะอย่างเด็ดขาด โดยที่อาวุธซึ่งเป็นหมัดเด็ดสำคัญยิ่งของพรรคก็คือความสนับสนุนอันล้ำลึกที่ประชาชนกัมพูชายังคงสงวนเอาไว้ให้แด่สมเด็จพระนโรดมสีหนุ ตลอดจนความทรงจำอันสวยงามเกี่ยวกับภาวะแห่งสันติภาพและเสถียรภาพในยุคการปกครองของสมเด็จสีหนุกก่อนหน้าเกิดการปฏิวัติในกัมพูชา อย่างไรก็ดี สมเด็จสีหนุทรงบังคับให้พระราชโอรสของพระองค์ยินยอมสร้างความสัมพันธ์แบบแบ่งปันอำนาจกันปกครองประเทศกับฮุนเซน ซึ่งเวลานั้นยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกันมากนัก แต่พรรคประชาชนกัมพูชา (Cambodian People's Party หรือ CPP) ของเขายังคงมีอำนาจอิทธิพลอย่างกว้างขวาง จากนั้นสมเด็จพระนโรดมสีหนุได้เสด็จขึ้นครองราชย์ในฐานะกษัตริย์อีกคำรบหนึ่ง และภายหลังที่ได้ทรงใช้ความพยายามอย่างมากมายเพื่อหาทางจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่จะอยู่ภายใต้การเป็นประธานของพระองค์เอง ทว่าไม่ประสบความสำเร็จแล้ว พระองค์ก็ทรงยินยอมอย่างไม่เต็มพระทัยที่จะเข้ารับบทบาทเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญซึ่งออกมาบังคับใช้ในปี 1993 โดยที่รัฐธรรมนูญดังกล่าวกำหนดเอาไว้ชัดเจนว่า พระมหากษัตริย์นั้นทรงครองราชย์แต่ไม่ได้เป็นผู้ปกครองประเทศ
ตั้งแต่ตอนกลางทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา สมเด็จพระนโรดมสีหนุทรงวางพระองค์เหินห่างออกมาจากการเมืองของกัมพูชา โดยที่ทรงใช้เวลาส่วนใหญ่ของพระองค์อยู่ในกรุงปักกิ่งหรือไม่ก็กรุงเปียงยาง แต่ถึงแม้ทรงตัดขาดจากการเมืองแบบวันต่อวัน พระองค์ก็ยังทรงพยายามรักษาฐานะความเป็นผู้ตัดสินชี้ขาดทางจริยธรรมของวงการเมือง โดยที่ได้ทรงเปิดวิวาทะกับฮุนเซน (ผู้ซึ่งได้ก่อรัฐประหารนองเลือดขึ้นในเดือนกรกฎาคม 1997 และขับไล่โค่นล้มเจ้านโรดมรณฤทธิ์ ผู้เป็นนายกรัฐมนตรีร่วมและปรปักษ์คนสำคัญของเขา) อีกทั้งยังทรงแสดงบทบาทอันสำคัญต่างๆ ในวิถีชีวิตภาคสาธารณะของชาวกัมพูชา ถีงแม้บ่อยครั้งทีเดียวที่เป็นการแสดงบทบาทในขณะที่ทรงประทับอยู่ในต่างแดนอันห่างไกล
ในฐานะบทบาทของการเป็นคนกลางทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยประนีประนอม สมเด็จสีหนุได้ทรงช่วยให้สามารถจัดทำข้อตกลงแบ่งปันอำนาจระหว่างกลุ่มต่างๆ ทั้งในช่วงภายหลังการเลือกตั้งปี 1998 และการเลือกตั้งปี 2003 ซึ่งบังเกิดผลในทางลดทอนฐานะของเจ้านโรดมรณฤทธิ์ พระราชโอรสของพระองค์ ขณะที่เป็นการเพิ่มพูนความแข็งแกร่งให้แก่ฐานะของฮุนเซน สมเด็จพระนโรดมสีหนุยังทรงเป็นบล็อกเกอร์ (blogger) ผู้กระตือรือร้น ตั้งแต่ก่อนคำๆ นี้จะถูกบัญญัติขึ้นมาเสียด้วยซ้ำ ทั้งในช่วงก่อนที่จะทรงประกาศสละราชบัลลังก์และกระทั่งในเวลาหลังจากนั้น พระองค์ทรงโพสต์ข้อเขียนต่างๆ ขึ้นบนเว็บไซต์ของพระองค์อยู่เป็นประจำ ข้อเขียนเหล่านี้ใช้ภาษาฝรั่งเศสอันสละสลวยงดงาม มุ่งที่จะสื่อสารแสดงออกซึ่งแนวความคิดและทัศนะความเห็นอันทั้งเปรี้ยว, เผ็ด, และฝาด ของพระองค์ เกี่ยวกับการเมืองและตัวบุคคลในวงการเมืองของกัมพูชา ไม่เพียงเท่านั้น พระองค์ยังทรงแสดงความสนพระทัยกระตือรือร้นในเรื่องอื่นๆ อีกมากมายหลายหลากที่อยู่นอกการเมืองอีกด้วย เป็นต้น ภาพยนตร์ และดนตรี
ในเดือนตุลาคม 2004 ด้วยความที่ทรงหงุดหงิดผิดหวังต่อภาวะความชะงักงันทางการเมืองที่ดำเนินต่อเนื่องมาถึง 1 ปีและทำให้รัฐบาลกัมพูชาอยู่ในสภาพเป็นอัมพาต สมเด็จพระนโรดมสีหนุก็ได้ทรงประกาศสละราชสมบัติอีกครั้งหนึ่ง โดยคราวนี้ทรงสนับสนุนให้พระราชโอรส เจ้านโรดมสีหมุนี เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์สืบแทน ในช่วงเวลาแห่ง “การเกษียณอายุ” หลังจากนั้น สมเด็จสีหนุทรงแทบไม่ได้อยู่ภายในประเทศของพระองค์เลย หากแต่ส่วนใหญ่ทรงพำนักอยู่ในกรุงปักกิ่งเพื่อเข้ารับการบำบัดรักษาพระอาการประชวรด้วยโรคภัยต่างๆ กระนั้นพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ยังคงได้รับการประดับอยู่ในอาคารสถานที่ทางราชการ เคียงข้างกับพระบรมฉายาลักษณ์ของกษัตริย์นโรดมสีหมุนี และของสมเด็จพระราชินีโมนิก ผู้ทรงเป็นพระอัครมเหสีของสมเด็จสีหนุ และเป็นพระราชมารดาของสมเด็จสีหมุนี
สมเด็จพระนโรดมสีหนุยังทรงหันมาให้ความสนับสนุนมากขึ้นเรื่อยๆ แก่ผู้ที่เป็นศัตรูเก่าของพระองค์อย่างฮุนเซน พระองค์ตรัสถึงคณะรัฐบาลกัมพูชาที่ครอบงำโดยพรรค CPP ของฮุนเซนในปี 2009 อย่างให้เกียรติยกย่องว่า เป็นประดุจ “รัฐบาลผู้น้อง” ของระบอบปกครองก่อนการปฏิวัติของพระองค์เอง เรื่องจึงดูเหมือนว่า ฮุนเซนผู้มากเล่ห์ซึ่งสามารถครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกัมพูชามาได้อย่างยาวนานถึงเกือบๆ 3 ทศวรรษแล้ว น่าที่จะถูกจับตามองในเวลาต่อไปในอนาคตว่า เขานี่แหละคือทายาทตัวจริงของสมเด็จพระนโรดมสีหนุ
เซบาสเตียน สตรันจิโอ เป็นนักหนังสือพิมพ์ซึ่งพำนักอยู่ในกรุงพนมเปญ่ เขาสันทัดในการทำข่าวเกี่ยวกับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการเขียนหนังสือซึ่งเนื้อหากล่าวถึงกัมพูชาในยุคใหม่ ทั้งนี้สามารถติดต่อเขาทางอีเมลได้ที่ sebastian.strangio@gmail.com
Norodom Sihanouk dies
By Sebastian Strangio
15/10/2012
สมเด็จพระนโรดมสีหนุ อดีตกษัตริย์กัมพูชา ซึ่งเพิ่งเสด็จสวรรคตด้วยพระชนมายุ 89 พรรษานั้น ทรงมีความหมายไม่แตกต่างอะไรจากประเทศกัมพูชาของพระองค์เลย ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ประเทศชาติของพระองค์พัฒนาคลี่คลายจากการเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ก้าวขึ้นสู่ฐานะการเป็นรัฐสมัยใหม่ โดยต้องข้ามผ่านทั้งสงครามกลางเมืองอันโหดเหี้ยมและระบอบเผด็จการอันขึ้นชื่อเหม็นโฉ่ของเขมรแดง พระองค์ก็ได้ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจตั้งแต่การเป็นกษัตริย์, นายกรัฐมนตรี, ประมุขแห่งรัฐของระบอบปกครองคอมมิวนิสต์, ผู้นำที่ลี้ภัยในต่างแดน, และจากนั้นก็เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์อีกคำรบหนึ่งจวบจนกระทั่งทรงประกาศสละราชบัลลังก์ในปี 2004
*ข้อเขียนนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*
(ต่อจากตอนแรก)
**ประคองตัวอยู่หว่างกลางอเมริกาและคอมมิวนิสต์**
ถึงช่วงกลางทศวรรษ 1960 ความพยายามของสมเด็จพระนโรดมสีหนุที่จะเดินหมากทางการทูตแบบประคับประคองตัวอย่างเต็มที่ ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะรักษากัมพูชาไม่ให้ต้องถลำเข้าไปพัวพันกับสงครามเวียดนาม กลับเริ่มต้นบังเกิดผลในทางตรงกันข้าม เสียงคัดค้านภายในกัมพูชาเองดังขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่สมเด็จสีหนุทรงเชื่อมั่นว่าในท้ายที่สุดแล้วพวกคอมมิวนิสต์เวียดนามจะเป็นฝ่ายมีชัยเหนือระบอบปกครองเวียดนามใต้ที่สหรัฐฯหนุนหลังอยู่ พระองค์จึงทรงยินยอมแม้อย่างไม่เต็มพระทัยเลย ให้พวกคอมมิวนิสต์เวียดนามทำการลำเลียงขนส่งอาวุธยุทธสัมภาระต่างๆ ผ่านไปตามเส้นทางที่เรียกขานกันว่า “เส้นทางโฮจิมินห์” (Ho Chi Minh trail) ซึ่งส่วนหนึ่งตัดผ่านพื้นที่ภาคตะวันออกของกัมพูชา และขึ้นมาจากท่าเรือเมืองสีหนุวิลล์ของแดนเขมร
เรื่องนี้สร้างความโกรธกริ้วให้แก่พวกฝ่ายค้านกัมพูชาที่มีแนวความคิดต่อต้านคอมมิวนิสต์และต่อต้านเวียดนาม กลายเป็นการเพิ่มเติมความไม่พอใจของคนเหล่านี้ขึ้นไปอีก นอกเหนือจากความขุ่นข้องต่อระบอบปกครองของสมเด็จสีหนุอยู่แล้วทั้งในประเด็นเรื่องที่มีการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างกว้างขวางและการบริหารจัดการเศรษฐกิจอย่างผิดพลาดบกพร่อง ในปี 1969 สหรัฐฯเริ่มเปิดฉากการรณรงค์ทิ้งระเบิดใส่เส้นทางขนส่งสัมภาระของคอมมิวนิสต์ในเขตกัมพูชา ซึ่งเมื่อถึงปี 1973 ก็ได้สร้างความหายนะร้ายแรงให้แก่พื้นที่ผืนใหญ่ๆ หลายๆ ผืนในภาคตะวันออกของกัมพูชา รวมทั้งได้สังหารประชาชนชาวกัมพูชาในชนบทตายไปเป็นหมื่นๆ คน
ในที่สุดเมื่อถึงเดือนมีนาคม 1970 นายทหารกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง นำโดยนายพลลอนนอล (General Lon Nol) และ เจ้าชาย สีสวัสด์ ศิริมาตัค (Prince Sisowath Sirikmatak) เจ้าชายในราชวงศ์ที่เป็นคู่แข่งของสมเด็จสีหนุ ก็ได้เข้ายึดอำนาจโค่นล้มการปกครองของสมเด็จพระนโรดมสีหนุขณะที่พระองค์ยังทรงประทับอยู่ในต่างแดน พวกเขาประกาศตนเข้าร่วมหัวจมท้ายกับสหรัฐฯ และเปลี่ยนระบอบปกครองของประเทศเป็นสาธารณรัฐ ทางฝ่ายสมเด็จสีหนุซึ่งเสด็จไปลี้ภัยในกรุงปักกิ่ง โดยที่ฝ่ายจีนจัดถวายให้ทั้งที่พักหลังงามและเงินค่าใช้จ่ายซึ่งทำให้ทรงครองชีพได้อย่างสะดวกสบาย ได้แสดงความโกรธกริ้วพวกวางแผนก่อรัฐประหารกลุ่มนี้ และตัดสินพระทัยในสิ่งที่ในเวลาต่อมาจะเกิดเสียงวิจารณ์โต้แย้งดังอึงคะนึง กล่าวคือ การเข้าสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อประดาอดีตศัตรูของพระองค์ในขบวนการคอมมิวนิสต์กัมพูชา
จากการได้สมเด็จพระนโรดมสีหนุมาเป็นประมุขในนามของพวกเขา เขมรแดงก็สามารถดึงดูดกระแสความสนับสนุนของประชาชนกัมพูชาในพื้นที่ชนบท และด้วยการหนุนหลังของกองกำลังคอมมิวนิสต์เวียดนาม ในที่สุดพวกเขาก็สามารถโค่นล้มรัฐบาลที่ทั้งทุจริตคอร์รัปชั่นและทั้งไร้ความสามารถของ ลอน นอล ลงไปได้ กองกำลังอาวุธเขมรแดงที่นำโดย โปล โป้ต เคลื่อนพลเข้าไปในกรุงพนมเปญเมื่อวันที่ 17 เมษายน 1975 ปรากฏว่าพวกเขาดำเนินการกวาดต้อนผู้คนออกจากเขตเมืองใหญ่ๆ จนทำให้กลายสภาพเป็นเมืองร้างไปในทันที จากนั้นก็ดำเนินการทดลองวิธีการบริหารปกครองแบบคอมมิวนิสต์สุดขั้ว ซึ่งนำไปสู่การสิ้นชีวิตของประชาชนประมาณ 1.7 ล้านคน ทั้งจากการประหารชีวิต, การอดตาย, และการทำงานหนักเกินกำลัง สำหรับสมเด็จพระนโรดมสีหนุเอง แม้จะทรงได้ชื่อว่าเป็นประมุขแห่งรัฐอย่างเป็นทางการของประเทศกัมพูชาใหม่ ซึ่งพวกเขมรแดงขนานนามว่า “กัมพูชาประชาธิปไตย” (Democratic Kampuchea) จวบจนกระทั่งถึงปี 1976 แต่สภาพการณ์ของพระองค์กลับเป็นไปดังที่ได้เคยทรงหวาดวิตก ถ้าจะใช้ถ้อยคำที่พระองค์ตรัสเองก็คือ พระองค์ถูกพวกเขมรแดง “ถ่มปลิวออกมาเหมือนกับเป็นเม็ดในของผลเชอร์รี” ("was spat out like a cherry pit" ทั้งนี้การแข่งขันกันถ่มเม็ดในของผลเชอร์รีให้ได้ระยะทางไกลที่สุด Cherry pit spitting เป็นกีฬาสนุกๆ ซึ่งได้รับความนิยมกันอยู่ในหลายๆ ประเทศถึงขั้นมีการจัดรายการแข่งขันกัน -ผู้แปล) พระองค์ทรงกลายเป็นนักโทษซึ่งถูกกักกันให้อยู่แต่ภายในพระราชวังที่ว่างเปล่าภายในนครที่ว่างเปล่า และต้องทรงจ่อมจมอยู่ในความรู้สึกสุดแสนหดหู่ซึมเศร้า
อย่างไรก็ตาม เมื่อระบอบปกครองเขมรแดงถูกกองทัพเวียดนามโค่นล้มลงในตอนต้นปี 1979 แทนที่พระองค์จะทรงหันมาต่อต้านคัดค้าน โปล โป้ต สมเด็จสีหนุกลับทรงบินไปยังที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชนในนครนิวยอร์ก เพื่อประณามการเข้ามาแทรกแซงรุกรานกัมพูชาของฮานอย ถึงปี 1982 พระองค์กลายเป็นผู้นำของกลุ่มแนวร่วมที่แสนจะอึดอัดและเคอะเขิน โดยพวกที่เข้าร่วมมีทั้งพวกชาตินิยม, พวกต้องการให้ประเทศกลายเป็นสาธารณรัฐ, และบุคลากรของเขมรแดงส่วนที่ต่อต้านระบอบปกครองใหม่ในพนมเปญซึ่งได้รับการหนุนหลังค้ำชูจากเวียดนาม ตลอดทศวรรษ 1980 สมเด็จสีหนุเสด็จพระราชดำเนินไปตามที่ต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งจัดงานราตรีสโมสรสุดหรูหราหลายต่อหลายครั้งที่โรงแรมวอลดอร์ฟ-เอสโทเรีย (Waldorf-Astoria Hotel) ในนิวยอร์ก เพื่อรณรงค์ขอเสียงสนับสนุนทางการทูตให้แก่ฝ่ายต่อต้านระบอบปกครองพนมเปญของพระองค์
แต่ในที่สุดแล้วสมเด็จสีหนุก็ต้องทรงแสดงบทบาทอันสำคัญในการหาหนทางแก้ไขให้แก่ความขัดแย้งในกัมพูชา ด้วยการพยายามต่อรองกับฝ่ายต่างๆ จนกระทั่งบรรลุข้อตกลงสันติภาพกรุงปารีส (Paris Peace Agreements) ซึ่งมีการลงนามกันอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม 1991 หลังพิธีลงนามข้อตกลงฉบับนี้ผ่านไปได้ 1 เดือน พระองค์ก็เสด็จนิวัตกรุงพนมเปญอย่างผู้มีชัย ในฐานะที่ทรงเป็นประมุขของคณะผู้กุมอำนาจชั่วคราวซึ่งสหประชาชาติหนุนหลัง เพื่อทำหน้าที่เป็นประธานในการเลือกตั้งต่างๆ ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 1993 สมเด็จสีหนุทรงแทบไม่ให้ความยกย่องนับถือกองกำลังของสหประชาชาติ ซึ่งถูกส่งเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในกัมพูชาในช่วงปี 1992-93 เพื่อดำเนินการต่างๆ ให้เป็นไปตามข้อตกลงสันติภาพ และเตรียมการสำหรับการเลือกตั้งปี 1993 ในแฟกซ์ที่เต็มไปด้วยข้อความแสดงความหงุดหงิดฉุนเฉียวฉบับต่างๆ ซึ่งส่งจากที่พำนักของพระองค์ทั้งในกรุงปักกิ่งและในกรุงเปียงยางนั้น พระองค์เดี๋ยวก็ทรงประกาศขันอาสาช่วยทำงานให้ และเดี๋ยวก็ทรงประกาศถอนการสนับสนุนซึ่งให้แก่กองกำลังยูเอ็นเหล่านี้
ผลการเลือกตั้งในปี 1993 ที่จัดขึ้นตามเงื่อนไขของข้อตกลงสันติภาพกรุงปารีส ปรากฏว่า พรรคการเมืองของเจ้านโรดมรณฤทธิ์ (Prince Norodom Ranariddh) พระราชโอรสของสมเด็จสีหนุ เป็นผู้ได้ชัยชนะอย่างเด็ดขาด โดยที่อาวุธซึ่งเป็นหมัดเด็ดสำคัญยิ่งของพรรคก็คือความสนับสนุนอันล้ำลึกที่ประชาชนกัมพูชายังคงสงวนเอาไว้ให้แด่สมเด็จพระนโรดมสีหนุ ตลอดจนความทรงจำอันสวยงามเกี่ยวกับภาวะแห่งสันติภาพและเสถียรภาพในยุคการปกครองของสมเด็จสีหนุกก่อนหน้าเกิดการปฏิวัติในกัมพูชา อย่างไรก็ดี สมเด็จสีหนุทรงบังคับให้พระราชโอรสของพระองค์ยินยอมสร้างความสัมพันธ์แบบแบ่งปันอำนาจกันปกครองประเทศกับฮุนเซน ซึ่งเวลานั้นยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักกันมากนัก แต่พรรคประชาชนกัมพูชา (Cambodian People's Party หรือ CPP) ของเขายังคงมีอำนาจอิทธิพลอย่างกว้างขวาง จากนั้นสมเด็จพระนโรดมสีหนุได้เสด็จขึ้นครองราชย์ในฐานะกษัตริย์อีกคำรบหนึ่ง และภายหลังที่ได้ทรงใช้ความพยายามอย่างมากมายเพื่อหาทางจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ที่จะอยู่ภายใต้การเป็นประธานของพระองค์เอง ทว่าไม่ประสบความสำเร็จแล้ว พระองค์ก็ทรงยินยอมอย่างไม่เต็มพระทัยที่จะเข้ารับบทบาทเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญซึ่งออกมาบังคับใช้ในปี 1993 โดยที่รัฐธรรมนูญดังกล่าวกำหนดเอาไว้ชัดเจนว่า พระมหากษัตริย์นั้นทรงครองราชย์แต่ไม่ได้เป็นผู้ปกครองประเทศ
ตั้งแต่ตอนกลางทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา สมเด็จพระนโรดมสีหนุทรงวางพระองค์เหินห่างออกมาจากการเมืองของกัมพูชา โดยที่ทรงใช้เวลาส่วนใหญ่ของพระองค์อยู่ในกรุงปักกิ่งหรือไม่ก็กรุงเปียงยาง แต่ถึงแม้ทรงตัดขาดจากการเมืองแบบวันต่อวัน พระองค์ก็ยังทรงพยายามรักษาฐานะความเป็นผู้ตัดสินชี้ขาดทางจริยธรรมของวงการเมือง โดยที่ได้ทรงเปิดวิวาทะกับฮุนเซน (ผู้ซึ่งได้ก่อรัฐประหารนองเลือดขึ้นในเดือนกรกฎาคม 1997 และขับไล่โค่นล้มเจ้านโรดมรณฤทธิ์ ผู้เป็นนายกรัฐมนตรีร่วมและปรปักษ์คนสำคัญของเขา) อีกทั้งยังทรงแสดงบทบาทอันสำคัญต่างๆ ในวิถีชีวิตภาคสาธารณะของชาวกัมพูชา ถีงแม้บ่อยครั้งทีเดียวที่เป็นการแสดงบทบาทในขณะที่ทรงประทับอยู่ในต่างแดนอันห่างไกล
ในฐานะบทบาทของการเป็นคนกลางทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยประนีประนอม สมเด็จสีหนุได้ทรงช่วยให้สามารถจัดทำข้อตกลงแบ่งปันอำนาจระหว่างกลุ่มต่างๆ ทั้งในช่วงภายหลังการเลือกตั้งปี 1998 และการเลือกตั้งปี 2003 ซึ่งบังเกิดผลในทางลดทอนฐานะของเจ้านโรดมรณฤทธิ์ พระราชโอรสของพระองค์ ขณะที่เป็นการเพิ่มพูนความแข็งแกร่งให้แก่ฐานะของฮุนเซน สมเด็จพระนโรดมสีหนุยังทรงเป็นบล็อกเกอร์ (blogger) ผู้กระตือรือร้น ตั้งแต่ก่อนคำๆ นี้จะถูกบัญญัติขึ้นมาเสียด้วยซ้ำ ทั้งในช่วงก่อนที่จะทรงประกาศสละราชบัลลังก์และกระทั่งในเวลาหลังจากนั้น พระองค์ทรงโพสต์ข้อเขียนต่างๆ ขึ้นบนเว็บไซต์ของพระองค์อยู่เป็นประจำ ข้อเขียนเหล่านี้ใช้ภาษาฝรั่งเศสอันสละสลวยงดงาม มุ่งที่จะสื่อสารแสดงออกซึ่งแนวความคิดและทัศนะความเห็นอันทั้งเปรี้ยว, เผ็ด, และฝาด ของพระองค์ เกี่ยวกับการเมืองและตัวบุคคลในวงการเมืองของกัมพูชา ไม่เพียงเท่านั้น พระองค์ยังทรงแสดงความสนพระทัยกระตือรือร้นในเรื่องอื่นๆ อีกมากมายหลายหลากที่อยู่นอกการเมืองอีกด้วย เป็นต้น ภาพยนตร์ และดนตรี
ในเดือนตุลาคม 2004 ด้วยความที่ทรงหงุดหงิดผิดหวังต่อภาวะความชะงักงันทางการเมืองที่ดำเนินต่อเนื่องมาถึง 1 ปีและทำให้รัฐบาลกัมพูชาอยู่ในสภาพเป็นอัมพาต สมเด็จพระนโรดมสีหนุก็ได้ทรงประกาศสละราชสมบัติอีกครั้งหนึ่ง โดยคราวนี้ทรงสนับสนุนให้พระราชโอรส เจ้านโรดมสีหมุนี เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์สืบแทน ในช่วงเวลาแห่ง “การเกษียณอายุ” หลังจากนั้น สมเด็จสีหนุทรงแทบไม่ได้อยู่ภายในประเทศของพระองค์เลย หากแต่ส่วนใหญ่ทรงพำนักอยู่ในกรุงปักกิ่งเพื่อเข้ารับการบำบัดรักษาพระอาการประชวรด้วยโรคภัยต่างๆ กระนั้นพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ยังคงได้รับการประดับอยู่ในอาคารสถานที่ทางราชการ เคียงข้างกับพระบรมฉายาลักษณ์ของกษัตริย์นโรดมสีหมุนี และของสมเด็จพระราชินีโมนิก ผู้ทรงเป็นพระอัครมเหสีของสมเด็จสีหนุ และเป็นพระราชมารดาของสมเด็จสีหมุนี
สมเด็จพระนโรดมสีหนุยังทรงหันมาให้ความสนับสนุนมากขึ้นเรื่อยๆ แก่ผู้ที่เป็นศัตรูเก่าของพระองค์อย่างฮุนเซน พระองค์ตรัสถึงคณะรัฐบาลกัมพูชาที่ครอบงำโดยพรรค CPP ของฮุนเซนในปี 2009 อย่างให้เกียรติยกย่องว่า เป็นประดุจ “รัฐบาลผู้น้อง” ของระบอบปกครองก่อนการปฏิวัติของพระองค์เอง เรื่องจึงดูเหมือนว่า ฮุนเซนผู้มากเล่ห์ซึ่งสามารถครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกัมพูชามาได้อย่างยาวนานถึงเกือบๆ 3 ทศวรรษแล้ว น่าที่จะถูกจับตามองในเวลาต่อไปในอนาคตว่า เขานี่แหละคือทายาทตัวจริงของสมเด็จพระนโรดมสีหนุ
เซบาสเตียน สตรันจิโอ เป็นนักหนังสือพิมพ์ซึ่งพำนักอยู่ในกรุงพนมเปญ่ เขาสันทัดในการทำข่าวเกี่ยวกับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการเขียนหนังสือซึ่งเนื้อหากล่าวถึงกัมพูชาในยุคใหม่ ทั้งนี้สามารถติดต่อเขาทางอีเมลได้ที่ sebastian.strangio@gmail.com