xs
xsm
sm
md
lg

‘นโรดมสีหนุ’เสด็จสวรรคต (ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: เซบาสเตียน สตรันจิโอ

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Norodom Sihanouk dies
By Sebastian Strangio
15/10/2012

สมเด็จพระนโรดมสีหนุ อดีตกษัตริย์กัมพูชา ซึ่งเพิ่งเสด็จสวรรคตด้วยพระชนมายุ 89 พรรษานั้น ทรงมีความหมายไม่แตกต่างอะไรจากประเทศกัมพูชาของพระองค์เลย ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ประเทศชาติของพระองค์พัฒนาคลี่คลายจากการเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ก้าวขึ้นสู่ฐานะการเป็นรัฐสมัยใหม่ โดยต้องข้ามผ่านทั้งสงครามกลางเมืองอันโหดเหี้ยมและระบอบเผด็จการอันขึ้นชื่อเหม็นโฉ่ของเขมรแดง พระองค์ก็ได้ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจตั้งแต่การเป็นกษัตริย์, นายกรัฐมนตรี, ประมุขแห่งรัฐของระบอบปกครองคอมมิวนิสต์, ผู้นำที่ลี้ภัยในต่างแดน, และจากนั้นก็เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์อีกคำรบหนึ่งจวบจนกระทั่งทรงประกาศสละราชบัลลังก์ในปี 2004

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

พนมเปญ – สมเด็จพระนโรดมสีหนุ อดีตกษัตริย์แห่งกัมพูชา พระราชาธิบดีผู้มีอิทธิพลบารมีล้นพ้นซึ่งพระนามของพระองค์มีความหมายไม่แตกต่างอะไรจากการดิ้นรนต่อสู้และความปั่นป่วนผันผวนของประเทศชาติของพระองค์เองในตลอดห้วงระยะเวลากว่า 6 ทศวรรษที่ผ่านมา ได้เสด็จสวรรคตแล้วในกรุงปักกิ่งเมื่อวันจันทร์ที่ 15 ตุลาคม สิริพระชนมายุ 89 พรรษา สมเด็จสีหนุผู้ซึ่งทรงประกาศสละราชสมบัติไปตั้งแต่ปี 2004 นั้น ทรงมีพระพลานามัยที่อ่อนแอย่ำแย่มาหลายปีแล้ว โดยที่ทรงพระประชวรด้วยโรคร้ายหลายอย่างหลายโรค เป็นต้นว่า มะเร็ง, เบาหวาน และความดันพระโลหิตสูง

เจ้าสีสวัสดิ์โทมิโก (Prince Sisowath Thomico) สมาชิกองค์หนึ่งแห่งพระราชวงศ์เขมร อีกทั้งทรงเป็นที่ปรึกษาของกษัตริย์กัมพูชาองค์ปัจจุบัน แถลงว่า สมเด็จพระนโรดมสีหนุเสด็จสวรรคตด้วยอาการพระหทัยวายในตอนเช้ามืดวันจันทร์ และระบุว่า “พระองค์ทรงมีพระพลานามัยที่อ่อนแอเอามากๆ ตั้งแต่ตอนเริ่มต้นปีนี้มา” ทางด้านสมเด็จพระนโรดมสีหมุนี กษัตริย์กัมพูชาองค์ปัจจุบันซึ่งเป็นพระราชโอรสของสมเด็จสีหนุ ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยเครื่องบินพระที่นั่งไปยังกรุงปักกิ่งเพื่ออัญเชิญพระบรมศพเสด็จนิวัตประเทศแล้ว โดยที่ทั้งนายกรัฐมนตรีฮุนเซน และข้าราชการระดับสูงคนอื่นๆ ได้ตามเสด็จด้วย เจ้าสีสวัสดิ์โทมิโก คาดหมายว่า น่าที่จะอัญเชิญพระบรมศพกลับมาถึงกัมพูชาได้ในอีกวันสองวันข้างหน้า จากนั้นก็จะมีการพระราชพิธีพระบรมศพตามอย่างโบราณราชประเพณี

ในช่วงแห่งพระชนม์ชีพอันอุดมด้วยเรื่องราวสีสัน โดยเฉพาะระยะเวลากว่า 60 ปีที่พระองค์ทรงเข้ามีบทบาทเกี่ยวข้องพัวพันกับบริหารปกครองประเทศชาตินั้น สมเด็จพระนโรดมสีหนุได้ทรงเห็นกัมพูชาแปรเปลี่ยนจากการเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ก้าวขึ้นเป็นความเป็นรัฐสมัยใหม่ที่เพิ่งหัดเดินเตาะแตะ ก่อนที่จะจ่อมจมลงไปในกองเพลิงแห่งสงครามกลางเมืองและระบอบปกครองเผด็จการคอมมิวนิสต์อันโหดเหี้ยมทารุณของเขมรแดง โดยที่ในระหว่างเวลาเหล่านั้น พระองค์ก็ได้ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจต่างๆ ในฐานะของกษัตริย์, นายกรัฐมนตรี, ประมุขแห่งรัฐของระบอบปกครองคอมมิวนิสต์, ผู้นำที่ลี้ภัยในต่างแดน, แล้วจากนั้นก็ในฐานะของ “กษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ” จวบจนกระทั่งทรงสละราชบัลลลังก์ในปี 2004

“ประชาชนกัมพูชาทั้งมวลจะโศกสลดอาลัยต่อการเสด็จสวรรคตของพระองค์” เจ้าสีสวัสดิ์โทมิโก กล่าวยืนยันอย่างมั่นใจ “สำหรับพสกนิกรส่วนใหญ่แล้ว จะจดจำพระองค์ในฐานะที่เป็นพระบิดาแห่งความเป็นเอกราชของกัมพูชา”

ตลอดช่วงเวลาที่ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจด้วยฐานะและตำแหน่งต่างๆ ความเปลี่ยนแปลงอย่างชนิดพลิกไปพลิกมาครั้งแล้วครั้งเล่าของสมเด็จพระนโรดมสีหนุ ซึ่งมีบางคนเปรียบเปรยว่าช่างเหมือนกับการเปลี่ยนสีร่างกายของกิ้งก่านั้น กลายเป็นเครื่องกำบังอำพรางความเชื่อมั่นอย่างเด็ดเดี่ยวแรงกล้าของพระองค์ที่ว่า พระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถอันโดดเด่นซึ่งจะทรงดูแลค้ำชูความปรองดองแห่งชาติเอาไว้ได้ในระหว่างยุคสมัยแห่งความปั่นป่วนผันผวนอย่างใหญ่หลวงของกัมพูชา ในหนังสือพระราชประวัติของพระองค์ที่เขียนโดย มิลตัน ออสบอร์น (Milton Osborne) นักเขียนผู้นี้บรรยายภาพลักษณ์ของสมเด็จพระนโรดมสีหนุให้เห็นว่า ทรงเป็น “นักการเมืองที่ให้ความสนใจมากกว่านักหนากับเรื่องการทำให้บรรลุพวกเป้าหมายในทางปฏิบัติจำนวนจำกัดจำนวนหนึ่ง แทนที่จะให้ความใส่ใจกับการพัฒนาแนวคิดปรัชญาทางการเมืองที่มีความเสมอต้นเสมอปลายชุดหนึ่งขึ้นมา” –และนี่ก็เป็นอะไรบางอย่างซึ่งทำให้พวกผู้สังเกตการณ์ชาวตะวันตกรู้สึกสับสนและรู้สึกหงุดหงิดผิดหวัง

สมเด็จพระนโรดมสีหนุ ประสูติในกรุงพนมเปญเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 1922 และทรงเจริญพระชนม์เติบใหญ่ขึ้นมาในท่ามกลางสภาพแวดล้อมอันวิจิตรหรูหราในอาณานิคมอินโดจีนของฝรั่งเศส ในปี 1941 ภายหลังที่สมเด็จพระสีสวัสดิ์มุนีวงศ์ (Sisowath Monivong) กษัตริย์กัมพูชาพระองค์ก่อนเสด็จสวรรคตไป พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของฝรั่งเศสก็ผลักดันเชิญเสด็จสมเด็จสีหนุขึ้นครองราชบัลลังก์ ด้วยความคาดหวังว่าเจ้าชายผู้ทรงมีพระวรกายอวบท้วมพระชนมายุ 19 พรรษาพระองค์นี้ น่าจะเป็นคนหัวอ่อนว่านอนสอนง่าย

อย่างไรก็ตาม ภายหลังผ่านพ้นช่วงระยะปีแรกๆ แห่งการเสด็จขึ้นครองราชย์ที่ยังคงอุดมด้วยความไม่แน่นอนไปแล้ว สมเด็จพระนโรดมสีหนุก็กลับทรงเติบใหญ่กลายเป็นบุคคลผู้ทรงอำนาจบารมีทางการเมือง ซึ่งสามารถเดินเกมวางอุบายเอาชนะพวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบชาวฝรั่งเศส และช่วยให้กัมพูชาได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสในที่สุดเมื่อปี 1953 แต่พอถึงปี 1955 ด้วยข้อจำกัดของสิ่งที่พระองค์ทรงอธิบายเรียบขานในเวลาต่อมาว่า ฐานะแห่งความเป็นกษัตริย์ซึ่งมีแต่เป็น “ภาระอันหนักหน่วงอย่างน่าสยดสยองและความรับผิดชอบอันมากมายซึ่งคอยแต่จะบดบี้กดทับ” สมเด็จพระนโรดมสีหนุจึงทรงประกาศสละราชสมบัติ โดยยกให้พระราชบิดาของพระองค์ขึ้นครองราชย์แทน เพื่อทำให้พระองค์เองสามารถที่จะแสดงบทบาททางการเมืองได้อย่างคึกคักเต็มที่ยิ่งขึ้น

ขบวนการทางการเมืองในช่วงเวลานั้นของพระองค์ ซึ่งใช้ชื่อว่า “สังคมราษฎร์นิยม” (Sangkum Reastr Niyum) มีบทบาทสำคัญมากในการยกระดับเพิ่มพูนความนิยมในตัวพระองค์ในหมู่ชาวกัมพูชาที่ส่วนใหญ่ที่สุดยังเป็นประชากรในชนบท อีกทั้งแผ้วถางทางตระเตรียมให้กัมพูชาพรักพร้อมอยู่ที่ก้าวแรกๆ แห่งการขึ้นเป็นประเทศชาติสมัยใหม่ โดยที่มีการจัดสร้างระบบการศึกษา ตลอดจนการขยายเศรษฐกิจภาคการเกษตรของประเทศ

ขณะที่ทั่วโลกในเวลานั้นกำลังเกิดสงครามเย็นที่ดุเดือดเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ส่วนประเทศเวียดนามซึ่งเป็นเพื่อนบ้านใกล้เคียงก็หล่นลงสู่หล่มลึกมหาภัยแห่งสงครามกลางเมือง สมเด็จพระนโรดมสีหนุทรงพยายามที่จะประคับประคองประเทศชาติของพระองค์เอาไว้ ด้วยการประกาศวางตัวเป็นกลาง และคอยพยุงเลี้ยงตัวให้ดำรงคงอยู่ระหว่างสหรัฐฯทางด้านหนึ่งและค่ายคอมมิวนิสต์ทางอีกด้านหนึ่ง โดยที่ต้องอาศัยลูกล่อลูกชนอย่างประณีตละเอียดอ่อน สมเด็จสีหนุทรงเป็นหนึ่งในสมาชิกรุ่นบุกเบิกก่อตั้งขบวนการไม่ฝักฝ่ายฝ่ายใด (Non-Aligned Movement) (จากขบวนการนี้เองที่ทำให้พระองค์ผูกพันสร้างมิตรภาพอันถาวรยืนยาวอยู่ตลอดชีวิตกับ คิม อิลซุง ผู้นำที่นิยมการปลีกตัวโดดเดี่ยวแห่งเกาหลีเหนือ) แต่ในเวลาเดียวกัน พระองค์ก็พร้อมรับความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ และทะนุถนอมรักษาความสัมพันธ์ที่มีอยู่กับจีนคอมมิวนิสต์ โจว เอินไหล นายกรัฐมนตรีจีนเวลานั้นเข้าขั้นเป็นเพื่อนสนิทส่วนตัวของพระองค์ทีเดียว

ช่วงทศวรรษ 1950 และทศวรรษ 1960 ซึ่งในภายหลังชาวกัมพูชาจำนวนมากจะจดจำเอาไว้ในฐานะที่เป็น “ยุคทอง” ของประเทศชาตินี้ ยังมีความโดดเด่นเต็มไปด้วยสีสันจากบุคลิกภาพส่วนพระองค์ของสมเด็จพระนโรดมสีหนุ พระองค์ทรงผสมผสานคุณสมบัติความเป็นรัฐบุรุษอันเก่งกล้าเชี่ยวชาญ เข้ากับการหาเวลาเสาะแสวงความสำราญในเรื่องต่างๆ ตั้งแต่การเป็นนักสร้างภาพยนตร์, นักดนตรีแจ๊ส, ดาวเด่นในวงสังคม และเพลย์บอย (ทำนองเดียวกับกษัตริย์องค์อื่นๆ ในกัมพูชาก่อนหน้าพระองค์ สมเด็จพระนโรดมสีหนุทรงมีพระสนมเจ้าจอมรวมแล้วหลายสิบองค์ และทรงเป็นพระราชบิดาของพระราชโอรสและพระราชธิดารวมแล้วไม่น้อยกว่า 14 พระองค์)

สำหรับผู้สังเกตการณ์จากภายนอกแล้ว การพลิกผันเปลี่ยนขั้วทางการเมืองอย่างรวดเร็วของสมเด็จพระนโรดมสีหนุ เมื่อบวกเข้ากับคุณลักษณะที่พระองค์ทรงมีความรู้ในเรื่องต่างๆ มากมายเป็นอันดีในระดับของมือสมัครเล่น ก็มักกลายเป็นส่วนผสมที่ชวนให้เกิดความพิศวงน่างุนงงอยู่บ่อยๆ จนกระทั่งในรายงานข่าวของนักหนังสือพิมพ์ทั้งหลาย การใช้ถ้อยคำวลีบรรยายบุคลิกภาพของพระองค์ในทำนอง “หลายใจ, เปลี่ยนใจง่าย, วูบวาบ, เหลาะแหละ” กลายเป็นมาตรฐานที่ไม่อาจขาดหายได้ ถึงแม้องค์สมเด็จสีหนุเองจะทรงยืนยันเรื่อยมาว่า สิ่งที่เป็นแรงจูงใจกระตุ้นพระองค์มาตลอดนั้น แท้ที่จริงแล้วยังคงเป็นความมุ่งหมายเพียงหนึ่งเดียวอยู่อย่างเสมอต้นเสมอปลาย นั่นก็คือ “การพิทักษ์ปกป้องความเป็นเอกราช, บูรณภาพแห่งดินแดน, และเกียรติศักดิ์ศรีของประเทศชาติของข้าพเจ้าและของประชาชนของข้าพเจ้า”

ถึงแม้มักถูกบรรยายเอาไว้ในรายงานข่าวต่างประเทศอยู่บ่อยครั้งว่า ราชอาณาจักรของพระองค์เป็นเสมือนราชอาณาจักรในเทพนิยายที่เอิบอาบซาบซ่านไปด้วยธรรมเนียมประเพณีอันไร้กาลเวลา ทว่าการปกครองภายใต้ระบอบศักดินาในรูปแบบที่มีการปรับปรุงให้ทันสมัยขึ้นแล้วของสมเด็จพระนโรดมสีหนุในยุคทศวรรษ 1950 และทศวรรษ 1960 นั้น แทบไม่ให้ที่ว่างแก่พวกผู้ที่ไม่เห็นด้วยไม่ยอมเดินตามพระประสงค์ของพระองค์เลย พระองค์ทรงใช้อุบายเหลี่ยมเล่ห์เอาชนะบรรดาฝ่ายค้านในรัฐสภา เกลี้ยกล่อมโน้มน้าว (หรือใช้กำลังบังคับ) ให้พวกเขาเหล่านี้จำนวนมากต้องยอมทิ้งพรรคของพวกเขา และหันมาเข้าร่วมอยู่ในพรรคการเมืองของพระองค์

สำหรับพวกที่ยังไม่ยอมอ่อนข้อก็ถูกติดตามไล่ล่าอย่างไร้ความปรานีจากกองกำลังความมั่นคงของพระองค์ กลุ่มที่เด่นๆ ในประดาฝ่ายค้านที่ดื้อรั้นเหล่านี้ ได้แก่ขบวนการคอมมิวนิสต์ของกัมพูชาที่เวลานั้นยังอยู่ในช่วงเยาว์วัย สมเด็จสีหนุนี่เองที่ทรงเป็นผู้ตั้งฉายาให้ขบวนการคอมมิวนิสต์กัมพูชาปีกขนเพิ่งจะงอกเหล่านี้ว่า “เขมรแดง” (Khmers Rouges) และต่อมาคำๆ นี้ได้ถูกนำไปใช้กันอย่างแพร่หลายกว้างขวาง กลุ่มนี้นำโดย ซาลอต ซาร์ (Saloth Sar) ซึ่งในตอนหลังจะกลายเป็นที่รู้จักกันทั่วไปภายใต้ชื่อจัดตั้งว่า โปล โป้ต (Pol Pot)

เซบาสเตียน สตรันจิโอ เป็นนักหนังสือพิมพ์ซึ่งพำนักอยู่ในกรุงพนมเปญ่ เขาสันทัดในการทำข่าวเกี่ยวกับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการเขียนหนังสือซึ่งเนื้อหากล่าวถึงกัมพูชาในยุคใหม่ ทั้งนี้สามารถติดต่อเขาทางอีเมลได้ที่ sebastian.strangio@gmail.com

(อ่านต่อตอน 2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
กำลังโหลดความคิดเห็น