xs
xsm
sm
md
lg

อินเดีย: ‘พรมเช็ดเท้าหน้าประตู’ก่อนเข้าสู่‘เอเชีย’ของสหรัฐฯ?(ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: วีเจย์ ปราสาด

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

India: the US doormat into Asia?
By Vijay Prashad
18/06/2012

เลียน แพเนตตา รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ บอกว่า เขาเชื่อว่าอินเดียนั้นเป็น “ช่องประตูเข้าสู่เอเชีย” ของอเมริกา และเป็น “หมุดตัวสำคัญที่ไม่อาจขาดได้” ในแผนการต่อภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของสหรัฐฯ มันคงจะเป็นความหายนะสำหรับเอเชียทีเดียว ถ้าหากแดนภารตะเกิดยอมรับอย่างเต็มอกเต็มใจในทัศนะมุมมองเช่นนี้ของแดนลุงแซม ตลอดจนในจุดมุ่งหมายของฝ่ายอเมริกันที่จะใช้กำลังทหารมาควบคุมปิดล้อมความทะเยอทะยานทางเศรษฐกิจของจีน โชคยังดีที่ความคิดเห็นของนิวเดลีซึ่งมีต่อปักกิ่ง ยังคงบ่งบอกให้ทราบว่า อินเดียยังไม่ได้เป็น “พรมเช็ดเท้าหน้าประตู” ที่พร้อมสนองความทะเยอทะยานของสหรัฐฯ

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

เจ้าหน้าที่ระดับกลางผู้หนึ่งในกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย เล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า เขารู้สึกสะดุ้งตกใจจากภาษาที่ใช้โดยรัฐมนตรีกลาโหม เลียน แพเนตตา แห่งสหรัฐฯ ในระหว่างที่เขามาเยือนอินเดียเมื่อวันที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยที่ แพเนตตากล่าวว่า อินเดียนั้นเป็น “หมุนตัวสำคัญที่ไม่อาจขาดได้” (lynchpin) ในแผนการของสหรัฐฯที่จะ “ปรับความสมดุลสำหรับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกกันเสียใหม่” เจ้าหน้าที่ผู้นี้กล่าวว่า มีอยู่ตอนหนึ่ง แพเนตตาได้พูดถึงอินเดียว่า เป็น “ช่องประตูเข้าสู่เอเชีย” (doorway into Asia) ของสหรัฐฯ ในเวลาต่อมา มีเจ้าหน้าที่อินเดียที่อยู่ในห้องนั้นด้วยอย่างน้อยที่สุด 2 คน ได้พูดตลกล้อเลียนว่า อันที่จริงแล้วแพเนตตาคงจะต้องการพูดว่า อินเดียคือ พรมเช็ดเท้าหน้าประตูก่อนเข้าเอเชีย (doormat into Asia) ของสหรัฐฯ มากกว่า

แพเนตตาเดินทางมายังนิวเดลีคราวนี้ด้วยบทสรุปที่ไม่ได้สลับซับซ้อนอะไร แต่ก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่จะนำพาไปสู่สันติภาพ จุดประสงค์ของแพเนตตา ตลอดจนจุดประสงค์ของการจัดการสนทนาทางยุทธศาสตร์อินเดีย-สหรัฐฯ (India-US Strategic Dialogue) ครั้งที่ 3 (ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 13 มิถุนายน) ดูเหมือนจะอยู่ที่การตอกย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องโดดเดี่ยวผู้เล่นรายสำคัญๆ ในเอเชีย 3 ราย อันได้แก่ จีน, อิหร่าน, และปากีสถาน “การปรับความสมดุลกันใหม่” ที่รัฐมนตรีกลาโหมอเมริกันพูดถึง ไม่ได้มีเจตจำนงที่จะนำเอาประเทศซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งเหล่านั้นมาสู่โต๊ะเจรจา เพื่อหารือต่อรองกันในเรื่องต่างๆ ที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน เป็นต้นว่า ความยุ่งเหยิงซับซ้อนในอัฟกานิสถาน, คำถามในเรื่องความมั่นคงทางพลังงาน, และข้อพิพาทด้านชายแดนและความมั่นคงที่ยังไม่อาจตกลงกันได้ระหว่างประเทศเหล่านี้

สหรัฐฯนั้นพยายามหาทางที่จะจับมือเป็นพันธมิตรกับอินเดียในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ด้วยความมุ่งหมายที่จะสร้างแรงกดดันจีน ด้วยความมุ่งหมายที่จะถ่วงน้ำหนักให้ได้ดุลสืบเนื่องจากการที่เขาต้องพึ่งพาอาศัยที่ตั้งในทางภูมิศาสตร์ของปากีสถาน, และด้วยความมุ่งหมายที่จะโดดเดี่ยวอิหร่านในเวทีของกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด (ตลอดจนส่งเสริมหาทางทำให้บริษัทอเมริกันสามารถเข้าสู่ตลาดอินเดียได้มากขึ้น) เหล่านี้ไม่ใช่ทางเดินอันมุ่งไปสู่สันติภาพเลย แท้ที่จริงแล้วมันเป็นทางตรงไปสู่สิ่งตรงกันข้าม

**อัฟกานิสถาน**

วัตถุประสงค์ในระยะสั้นของแพเนตตาในการที่เขาเดินทางมาหารือที่นิวเดลี ก็คือการหาทางทำให้อินเดียเข้าไปเกี่ยวข้องพัวพันกับการปฏิบัติการของสหรัฐฯในอัฟกานิสถานเพิ่มมากขึ้น เขามาที่อินเดียเพื่อมองหาความช่วยเหลือทางการเงินและทางการทหารจากอินเดียสำหรับภารกิจในอัฟกานิสถานขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) รถถังของอินเดียยังจะไม่ถูกขนส่งโดยทางอากาศเข้าไปในกรุงคาบูลในเร็ววันนี้หรอก ถึงแม้เรื่องนี้ยังคงบรรจุเอาไว้เป็นวาระของสหรัฐฯ สิ่งที่ฝ่ายอเมริกันใช้มาเป็นตัวนำร่องทาบทามก่อน ก็คือการเรียกร้องขอให้ฝ่ายอินเดียเพิ่มคำมั่นสัญญาและความผูกพันในเรื่องงานฟื้นฟูบูรณะในอัฟกานิสถาน

เป้าหมายของแพเนตตาอยู่ที่การหาทางทำให้อินเดียส่งรถถังไปยังอัฟกานิสถานจริงหรือเปล่ายังดูจะไม่เป็นที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เห็นกันได้อย่างกระจ่างแจ้งก็คือ นี่เป็นวิธีการแบบไม่ได้ปิดบังซ่อนเร้นอะไรเลย ในการสร้างแรงกดดันเพื่อให้ปากีสถานยกเลิกการปฏิเสธไม่อนุญาตให้ลำเลียงขนส่งวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ของนาโต จากท่าเรือในเมืองการาจี ผ่านดินแดนปากีสถานไปจนถึงเมืองตอร์คาม (Torkham) แล้วข้ามชายแดนเข้าสู่อัฟกานิสถาน สหรัฐฯในปัจจุบันกำลังใช้จ่ายสูงขึ้นกว่าเมื่อก่อนถึงขนาด 100 ล้านดอลลาร์ต่อวันทีเดียว จากการที่ต้องลำเลียงสินค้าของตนเข้าสู่อัฟกานิสถานโดยผ่านทางเอเชียกลาง ระหว่างการเยือนนิวเดลีของแพเนตตา สหรัฐฯได้ส่งอากาศยานไร้นักบินของตนออกปฏิบัติการเป็นครั้งที่ 9 นับตั้งแต่การประชุมสุดยอดขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) ที่เมืองชิคาโก ในเดือนพฤษภาคม สังหารผู้คนไป 3 คน การที่สหรัฐฯยังเดินหน้าโปรแกรมใช้อากาศยานไร้นักบินต่อไป คือตัวการที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างอิสลามาบัดกับวอชิงตันเลวร้ายลง โดยที่ประธานาธิบดีอาซิฟ อาลี ซาร์ดารี ของปากีสถานต้องขังตัวเองให้อยู่แต่ภายในบ้านพักรับรองประธานาธิบดีของเขา ด้วยความหวาดกลัวประชาชนของเขาเอง และด้วยความสยดสยองในปฏิกิริยาของประชาชน ถ้าหากเขายินยอมอ่อนข้อให้แก่สหรัฐฯอีกคำรบหนึ่ง

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ประธานาธิบดีซาร์ดารี และฝ่ายทหารของปากีสถาน หวาดกลัวยิ่งกว่าประชาชนของตนเองอีก ก็คือการที่สหรัฐฯจะหันไปเน้นหนักให้ความสำคัญแก่อินเดีย ความรู้สึกที่ว่าอินเดียกำลังใช้ความสัมพันธ์ที่ตนมีอยู่กับคาบูล เพื่อมาปิดล้อมปากีสถานนั้น เป็นความรู้สึกที่แรงกล้ามากๆ ในหมู่แวดวงผู้ปกครองในอิสลามาบัด แพเนตตาจึงอาจจะกำลังเล่นเกมให้เห็นไปว่า สหรัฐฯกำลังขอร้องให้อินเดียเพิ่มการขยับขยายเข้าไปในอัฟกานิสถาน ทั้งนี้ก็ด้วยจุดประสงค์ที่จะบีบคั้นปากีสถานให้ยินยอมเปิดประตูต้อนรับขบวนรถบรรทุกสินค้าของนาโต

กระนั้นก็ตาม เพื่อช่วยให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ระยะสั้นของคณะรัฐบาลโอบามา สิ่งที่แพเนตตากำลังทำอยู่ก็เท่ากับการเติมเชื้อโหมเพลิงความขัดแย้งระหว่างอินเดียกับปากีสถาน แท้ที่จริงแล้วนโยบายตามธรรมชาติของอินเดียนั้น ควรที่จะเป็นการผ่อนคลายความตึงเครียดที่มีอยู่กับปากีสถาน แทนที่จะถูกใส่แอกตกเข้าไปอยู่ในแผนกโลบายร้ายกาจที่มุ่งเพิ่มความวิตกกังวล เพื่อให้บรรลุจุดหมายปลายทางของสหรัฐฯ แต่เราต้องเข้าใจว่า นโยบายนี้ถือเป็นชิ้นส่วนหนึ่งของนโยบายใหญ่ที่สหรัฐฯมุ่งวางแผนให้เกิดความตึงเครียดระหว่างระหว่างอิหร่านกับบรรดาเพื่อนบ้านของอิหร่าน แต่การกระทำทั้งหมดเหล่านี้ย่อมเท่ากับว่า สหรัฐฯมีสมมุติฐานว่าสามารถที่จะสร้างสันติภาพขึ้นในอัฟกานิสถานได้ โดยไม่จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากอิหร่าน, อินเดีย, ปากีสถาน, หรือจีน สมมุติฐานนี้นับว่าน่าทึ่งมากทีเดียว

**อิหร่าน**

ในปี 2004 สหรัฐฯเปิดประตูบานใหม่ออกมาต้อนรับอินเดีย โดยมีเงื่อนไขว่านิวเดลีต้องปิดประตูของตนเองที่กำลังเปิดกว้างต้อนรับอิหร่าน คณะรัฐบาลประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ต้องการให้อินเดียยกเลิกหรือชะลอโครงการสร้างสายท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากอิหร่านมายังอินเดียโดยผ่านปากีสถาน (สายท่อส่งก๊าซสายนี้ได้รับการขนานนามว่า Peace Pipeline สายท่อส่งสันติภาพ ซึ่งก็นับว่าเหมาะสมทีเดียว) เพื่อเป็นการทดแทน สหรัฐฯสัญญาว่าจะทำข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ฉบับใหม่กับอินเดีย โดยที่จะจัดหาเชื้อเพลิงนิวเคลียร์มาให้ด้วย ถ้าหากอินเดียจะยอมออกเสียงหนุนสหรัฐฯ ในการคัดค้านอิหร่านในทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency หรือ IAEA) ในปี 2005

รายงานสรุปลับๆ ที่ เดวิด มัลฟอร์ด (David Mulford) เอกอัครราชทูตอเมริกันประจำอินเดียในตอนนั้น ส่งไปที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ พูดถึงเรื่องนี้ว่าเป็นการยื่นหมูยื่นแมวธรรมดาๆ นี่เอง “[มัลฟอร์ด] เตือนให้ [ปลัดกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย ชะยัม] ซารัน ระลึกไว้ว่า ผู้คนจำนวนมากในรัฐสภาสหรัฐฯและทั่วทั้งวอชิงตัน กำลังเฝ้าจับตาดูการปฏิบัติต่ออิหร่านของอินเดียอยู่ ก่อนที่จะถึงการอภิปรายของรัฐสภาในเรื่องว่าด้วยโครงการริเริ่มเพื่อนิวเคลียร์สำหรับกิจการพลเรือนระหว่างสหรัฐ-อินเดีย”

ทำไมสหรัฐฯจึงถือว่า เสียงโหวตของอินเดียใน IAEA มีความสำคัญมากมายถึงขนาดนี้

คำตอบก็คือ “อินเดียมีเสียงที่สำคัญอย่างยิ่งใน [ขบวนการประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด Non-Aligned Movement] และสามารถที่จะทำให้ความคิดเห็นใน [คณะผู้ว่าการของ IAEA] เหวี่ยงไปด้านใดด้านหนึ่งได้ทีเดียว [มัลฟอร์ด] บอกว่า มันถึงเวลาแล้วที่เราควรต้องทราบว่าอินเดียยืนอยู่ตรงจุดไหน” ปรากฏว่าอินเดียออกเสียงเห็นพ้องกับสหรัฐฯในการคัดค้านอิหร่าน และได้รางวัลในรูปของข้อตกลงด้านนิวเคลียร์ และเริ่มต้นการพบปะแลกเปลี่ยนในรูปแบบ การสนทนาทางยุทธศาสตร์อินเดีย-สหรัฐฯ (การประชุมเช่นนี้ครั้งแรกเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 2010) ระหว่างการสนทนาทางยุทธศาสตร์ครั้งแรกนั้นเองข้อตกลงด้านนิวเคลียร์สหรัฐฯ-อินเดีย ก็นำไปสู่การทำบันทึกช่วยจำ ที่ เวสติงเฮาส์ (ที่ต่อมาถูกเทคโอเวอร์โดยโตชิบา) ตกลงจะสร้างเตาปฏิกรณ์ขนาด 1,000 เมกะวัตต์ ขึ้นในรัฐคุชราต

วีเจย์ ปราสาด เป็นศาสตราจารย์และผู้อำนวยการของโครงการการระหว่างประเทศศึกษา ณ ทรินิตี้ คอลเลจ (Trinity College) เมืองฮาร์ตฟอร์ด, สหรัฐอเมริกา ในฤดูใบไม้ผลินี้จะมีหนังสือใหม่ของเขาออกมา 2 เล่ม ได้แก่ Arab Spring, Libyan Winter (สำนักพิมพ์ AK Press) และ Uncle Swami: South Asians in America Today (สำนักพิมพ์ New Press) เขาเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง Darker Nations: A People's History of the Third World (สำนักพิมพ์ New Press) ซึ่งชนะรางวัล Muzaffar Ahmed Book Prize ปี 2009

(อ่านต่อตอน2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
กำลังโหลดความคิดเห็น