xs
xsm
sm
md
lg

อินเดีย: ‘พรมเช็ดเท้าหน้าประตู’ก่อนเข้าสู่‘เอเชีย’ของสหรัฐฯ?(ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: วีเจย์ ปราสาด

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

India: the US doormat into Asia?
By Vijay Prashad
18/06/2012

เลียน แพเนตตา รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ บอกว่า เขาเชื่อว่าอินเดียนั้นเป็น “ช่องประตูเข้าสู่เอเชีย” ของอเมริกา และเป็น “หมุดตัวสำคัญที่ไม่อาจขาดได้” ในแผนการต่อภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของสหรัฐฯ มันคงจะเป็นความหายนะสำหรับเอเชียทีเดียว ถ้าหากแดนภารตะเกิดยอมรับอย่างเต็มอกเต็มใจในทัศนะมุมมองเช่นนี้ของแดนลุงแซม ตลอดจนในจุดมุ่งหมายของฝ่ายอเมริกันที่จะใช้กำลังทหารมาควบคุมปิดล้อมความทะเยอทะยานทางเศรษฐกิจของจีน โชคยังดีที่ความคิดเห็นของนิวเดลีซึ่งมีต่อปักกิ่ง ยังคงบ่งบอกให้ทราบว่า อินเดียยังไม่ได้เป็น “พรมเช็ดเท้าหน้าประตู” ที่พร้อมสนองความทะเยอทะยานของสหรัฐฯ

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

ระหว่างสมัยที่บารัค โอบามาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ การสนทนาทางยุทธศาสตร์อินเดีย-สหรัฐฯ ได้หยิบยกปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับอิหร่านขึ้นมาอภิปราย และก็กลายเป็นสร้างแรงกดดันต่อนิวเดลีไปด้วยในตัว อินเดียนั้นเป็นผู้นำเข้าน้ำมันอิหร่านรายใหญ่ ขณะที่มาตรการลงโทษที่สหรัฐฯใช้กับอิหร่าน มีขอบเขตเกินเลยไปจากมติลงโทษคว่ำบาตรของสหประชาชาติด้วยซ้ำ อินเดียยอมรับข้อมติของยูเอ็น แต่ไม่ยอมรับของสหรัฐฯ กระนั้นก็ตามที การบีบคั้นอย่างไม่หยุดหย่อนจากสหรัฐฯก็ได้ผลักดันอินเดียให้ต้องลดการนำเข้าน้ำมันจากอิหร่าน กล่าวคือน้ำมันจากอิหร่านเคยมีปริมาณเท่ากับ 20% ของความต้องการเชื้อเพลิงทั้งหมดของอินเดีย แต่เวลานี้อัตราส่วนนี้ลดลงมาอยู่ต่ำกว่า 10% เล็กน้อย ส่วนที่ขาดหายไปของอินเดียนี้ ได้รับการเติมเต็มจากน้ำมันซาอุดีอาระเบียที่ส่งออกให้แก่อินเดีย (ข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนกันระหว่างอินเดียกับซาอุดีอาระบีย ได้รับการลงนามในปี 2010) ถึงแม้ยังมีปัญหาว่าพวกโรงกลั่นน้ำมันและโรงงานแปรรูปต่างๆ ของอินเดีย ต่างซื้อหาและตั้งค่าเครื่องจักรไว้สำหรับรับน้ำมันอิหร่าน ไม่ใช่น้ำมันซาอุดีอาระเบีย

ก่อนจะถึงการสนทนาทางยุทธศาสตร์ระหว่างอินเดียกับสหรัฐฯครั้งปัจจุบัน 2 วัน รัฐบาลสหรัฐฯก็ได้ออกหนังสือผ่อนผันให้ประเทศต่างๆ 6 ประเทศ ซึ่งได้แสดงให้เห็นว่ามีความพยายามอย่างจริงจังอยู่แล้วที่จะลดการมีปฏิสัมพันธ์เชิงพาณิชย์กับอิหร่าน 1 ใน 6 ประเทศเหล่านี้ก็คืออินเดีย ทำให้สมาชิกผู้หนึ่งในกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย ออกมาพูดระบายอารมณ์ว่า “ช่างเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนที่ยิ่งใหญ่เหลือเกิน” ถึงแม้ก่อนหน้านั้นอินเดียเคยแถลงว่าจะไม่แยแสใยดีการออกมาตรการลงโทษคว่ำบาตรของสหรัฐฯ แต่มันก็เป็นที่ชัดเจนกระจ่างแจ้งว่า วอชิงตันจะไม่ยอมอดทนอดกลั้นต่อการล่วงละเมิดเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม หนังสือผ่อนผันเปิดทางให้สหรัฐฯกับอินเดียยังสามารถเดินหน้าในเรื่องการปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ ให้สอดคล้องกันมากยิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องระยะยาวไกลกว่า

อันที่จริงแล้ว โครงการระยะยาวไกลของสหรัฐฯมุ่งเน้นวนเวียนอยู่ที่เรื่องเกี่ยวกับจีน ใครๆ ต่างก็สังเกตเห็นกันทั้งนั้นว่า ประเทศเอเชียรายหนึ่งที่ยังคงซื้อหาน้ำมันอิหร่านต่อไป และไม่ได้รับการผ่อนผันการลงโทษคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ ก็คือ จีน นั่นเอง

**จีน**

ภาษาที่ใช้ในการสนทนาทางยุทธศาสตร์อินเดีย-สหรัฐฯครั้งล่าสุด เต็มไปด้วยถ้อยคำแบบทางการมาตรฐาน แทบจะเรียกได้ว่าเป็นคำที่ผลิตขึ้นโดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ทีเดียว เป็นต้นว่า “ค่านิยมทางประชาธิปไตยที่มีร่วมกัน”, “ลำดับความสำคัญทางการทูต”, “พื้นฐานทางยุทธศาสตร์”, และ “ความสอดคล้องเข้ากันของค่านิยม” นี่ถือเป็นส่วนที่ได้ข้อมูลข่าวสารน้อยที่สุดของการสนทนาคราวนี้ ส่วนที่เปิดเผยให้เห็นอะไรต่ออะไรมากกว่านั้น มาจากคำแถลงของแพเนตตาในกรุงนิวเดลีเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน “เราจะขยายความเป็นหุ้นส่วนทางการทหารของเรา และการปรากฏตัวของเรา ภายในอาณาบริเวณรูปโค้ง (arc) ที่ขยายจากแปซิฟิกตะวันตกมายังเอเชียตะวันออก เข้าสู่ภูมิภาคมหาสมุทรอินเดียและเอเชียใต้” สำหรับเรื่องที่จะอ้างกันว่าจะจัดการแก้ไขกันในพื้นที่ดังกล่าวนี้ ก็คือ โจรสลัด และการก่อการร้าย

อาณาบริเวณ “รูปโค้ง” ของ แพเนตตา ขยายจากฐานทัพสหรัฐฯแห่งต่างๆ ในญี่ปุ่น ไปยังภาคตะวันตกของออสเตรเลีย ซึ่งเป็นที่ปรากฏตัวแห่งใหม่ของนาวิกโยธินอเมริกัน แล้วเข้าสู่มหาสมุทรอินเดีย โดยที่กองเรือรบอเมริกันกำลังปฏิบัติภารกิจตรวจการณ์ในมหาสมุทรแห่งนี้ จากนั้นก็เป็นเอเชียกลางซึ่งสหรัฐฯมีฐานทัพหลายแห่ง นอกจากนี้แล้ว ยังมีโครงการของนาโต ที่ใช้ชื่อว่า “หุ้นส่วนทั่วทั้งโลก” (Partners Across the Globe) ก็ประกอบไปด้วย มองโกเลีย, ญี่ปุ่น,เกาหลีใต้, นิวซีแลนด์, ออสเตรเลีย, ปากีสถาน, อัฟกานิสถาน, และอิรัก รายชื่อนี้ไล่จากตะวันออกไปจรดตะวันตกเหมือนๆ กับ “รูปโค้ง” ของแพเนตตา โดยที่จีนอยู่ภายในวงแหวน ถูกปิดถูกล้อมรอบเอาไว้

เครือข่ายนี้ก่อให้เกิดความกังวลใจขึ้นในปักกิ่ง เมื่อตอนที่แพเนตตาอยู่ในกรุงนิวเดลีนั้น รัฐมนตรีต่างประเทศ เอส เอ็ม กฤษณะ (S M Krishna) ของอินเดียอยู่ในจีน เพื่อเข้าร่วมการประชุมขององค์การความร่วมมือแห่งเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organization) รองนายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง ของจีน ได้พา กฤษณะ ออกไปด้านข้าง แล้วบอกกับเขาว่า ความสัมพันธ์ที่แท้จริงของศตวรรษที่ 21 ไม่ใช่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับอินเดียหรอก แต่ระหว่างอินเดียกับจีนต่างหาก กฤษณะถูกบังคับให้ต้องออกปากบอกเห็นด้วย พร้อมกับชี้ว่าอินเดียและจีนมีส่วนร่วมอยู่ใน “หนึ่งในความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีที่มีความสำคัญที่สุดในโลก”

สหรัฐฯกำลังขายอาวุธให้แก่อินเดียเพิ่มมากขึ้นนับตั้งแต่ปี 2002 เป็นต้นว่า เครื่องบินที่เป็นการเพิ่มสมรรถนะในการยกตัวเชิงยุทธศาสตร์ (strategic lift capability) ของอินเดีย ตลอดจนในการตรวจจับเรดาร์ และการตรวจการณ์ภาคพื้นทะเล เรือรบของอินเดียเวลานี้กำลังตรวจการณ์อยู่ในช่องแคบมะละกา อันเป็นช่องทางผ่านเข้าออกของเรือสินค้าจีน (รวมทั้งเรือบรรทุกน้ำมันด้วย) ที่ทรงความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา สหรัฐฯกับอินเดียยังดำเนินการฝึกซ้อมทางทหารร่วมกันมากกว่า 50 ครั้ง เพื่อเพิ่ม “ความสามารถในการติดต่อประสานงานการปฏิบัติงานร่วมกัน” ระหว่างกองทัพของแต่ละฝ่าย การสนทนาทางยุทธศาสตร์คราวนี้ให้คำมั่นที่จะเพิ่มการซ้อมรบเหล่านี้มากขึ้นอีก

แพเนตตาบอกกับ สถาบันเพื่อการศึกษาและการวิเคราะห์การป้องกันประเทศ (Institute for Defense Studies and Analyses) ว่า สหรัฐฯจะขายอาวุธให้อินเดียมากขึ้น ถึงแม้แดนภารตะไม่ได้ร่วมลงนามในข้อตกลงว่าด้วยการสนับสนุนทางโลจิสติกส์ และการถ่ายโอนระบบสื่อสารแบบรักษาความปลอดภัยและเข้ารหัส เขาบอกด้วยว่าสหรัฐฯกำลังตระเตรียมที่จะเริ่มเดินหน้ากิจการร่วมการผลิตอาวุธขึ้นในอินเดียอีกด้วย

มันจะต้องเป็นความหายนะสำหรับเอเชียทีเดียว ถ้าอินเดียยอมรับทัศนะมุมมองของสหรัฐฯเช่นนี้อย่างเต็มตัว ซึ่งจะไม่ก่อให้เกิดสันติภาพขึ้นในภูมิภาคแถบนี้ แต่กลายเป็นการใช้ตัวคูณเข้าไปเพิ่มกำลังทหารของสหรัฐฯในการปิดล้อมจำกัดวงความทะเยอทะยานทางเศรษฐกิจของจีน นโยบายแบบสายตาสั้นที่ใช้ต่ออิหร่าน หมายความว่าสหรัฐฯกำลังโหมกระพือความตึงเครียดขึ้นในเอเชียตะวันตก ด้วยการอนุญาตให้บรรดาชาติอาหรับริมอ่าวเปอร์เซีย ป้ายสี “อาหรับ สปริง” ว่าเป็นการต่อสู้ช่วงชิงกันระหว่างชิอะห์กับสุหนี่ แทนที่จะเป็นการลุกฮือของประชาชนต่อต้านคัดค้านระบอบเผด็จการ ตราบใดที่สหรัฐฯยังเชื่อว่าการจับเอาซีเรียมาใส่ไว้ในหม้อความดันจะส่งผลกระทบต่อความทะเยอทะยานของอิหร่านในภูมิภาคแถบนี้ได้ สามัญชนชาวซีเรียก็จะต้องสูญเสียชีวิตอันมีค่าของพวกเขากันต่อไป

ความล้มเหลวไม่ยอมมีปฏิสัมพันธ์กับอิหร่านในฐานะที่เป็นผู้เล่นรายหนึ่งในภูมิภาคแถบนี้ หมายความว่าสหรัฐฯสูญเสียหุ้นส่วนสำคัญรายหนึ่งสำหรับการสร้างเสถียรภาพขึ้นในอัฟกานิสถานและอิรัก หนทางแก้ปัญหาอย่างสันติสำหรับอัฟกานิสถานจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ถ้าหากปราศจากการทำความเข้าใจกับประเทศเพื่อนบ้านของอัฟกานิสถาน ซึ่งรวมถึงอิหร่าน และจีนด้วย

จากสิ่งบ่งชี้จำนวนมากแสดงให้เห็นว่า อินเดียยอมรับและเห็นชอบกับนโยบายโดยกว้างๆ ของสหรัฐฯในเรื่องเกี่ยวกับอิหร่าน แต่เห็นด้วยในขอบเขตที่น้อยลงในเรื่องเกี่ยวกับอัฟกานิสถาน ส่วนเรื่องเกี่ยวกับจีนยิ่งมีความเห็นพ้องกันน้อยลงไปอีก รัฐมนตรีกลาโหม เอ เค แอนโธนี (A K Anthony) ของอินเดีย แถลงต่อผู้สื่อข่าวไม่นานนักหลังการเยือนของแพเนตตาว่า มีความจำเป็นที่จะต้อง “เพิ่มความเข้มแข็งให้แก่โครงสร้างด้านความมั่นคงระดับพหุภาคี” และ “การเดินหน้าไปด้วยฝีก้าวที่ทำให้ทุกประเทศที่เกี่ยวข้องรู้สึกสบายใจ”

ลำแสงเล็กๆ ที่ทำให้เห็นการสนทนาระหว่างอินเดียกับสหรัฐในเรื่องจีนอย่างรางๆ เช่นนี้ ทำให้เกิดความหวังขึ้นมาว่า อินเดียยังไม่ได้ยกเลิกความผูกพันยึดมั่นในแนวความคิดแก้ไขปัญหาแบบพหุภาคีนิยม (multilateralism) และแบบภูมิภาคนิยม (regionalism) ไปเสียทั้งหมด อินเดียยังไม่ได้ถึงกับทำตัวเป็นพรมเช็ดเท้าวางตรงหน้าประตู เพื่อสนองความทะเยอทะยานของสหรัฐฯ

วีเจย์ ปราสาด เป็นศาสตราจารย์และผู้อำนวยการของโครงการการระหว่างประเทศศึกษา ณ ทรินิตี้ คอลเลจ (Trinity College) เมืองฮาร์ตฟอร์ด, สหรัฐอเมริกา ในฤดูใบไม้ผลินี้จะมีหนังสือใหม่ของเขาออกมา 2 เล่ม ได้แก่ Arab Spring, Libyan Winter (สำนักพิมพ์ AK Press) และ Uncle Swami: South Asians in America Today (สำนักพิมพ์ New Press) เขาเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง Darker Nations: A People's History of the Third World (สำนักพิมพ์ New Press) ซึ่งชนะรางวัล Muzaffar Ahmed Book Prize ปี 2009
กำลังโหลดความคิดเห็น