xs
xsm
sm
md
lg

มาตรการลงโทษคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันของ‘อิหร่าน’บังเกิดผล

เผยแพร่:   โดย: โรเบิร์ต เอ็ม คัตเลอร์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Iran sanctions bite
By Robert M Cutler
10/01/2012

มาตรการลงโทษคว่ำบาตรระลอกล่าสุดที่สหรัฐฯใช้เล่นงานอิหร่าน กำลังก่อให้เกิดผลลัพธ์ในทันทีขึ้นมาประการหนึ่ง นั่นคือเร่งรัดให้ชาวอิหร่านรีบนำเอาเงินตราของประเทศตนเองออกมาเทขายแลกเปลี่ยนเป็นดอลลาร์อเมริกัน นอกจากนั้นแล้วในขณะที่การลงโทษคว่ำบาตรเหล่านี้กำลังแสดงฤทธิ์เดชกว้างไกลออกไปเรื่อยๆ ความเชื่อของเตหะรานที่ว่า ถึงแม้ที่อื่นๆ อาจเบือนหน้าหนี แต่จีนกำลังจะเข้ามาซื้อน้ำมันของตนเพิ่มขึ้นอย่างเป็นล่ำเป็นสันนั้น ก็ดูจะเป็นการมองโลกในแง่ดีเกินไป

มอนทรีออล, แคนาดา – กฎหมายมาตรการลงโทษคว่ำบาตรทางการเงินต่ออิหร่าน ซึ่งประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯลงนามประกาศบังคับใช้เมื่อ 10 วันก่อน กำลังบังเกิดผลลัพธ์ทางการเงินอย่างลึกซึ้งยิ่งกว่ามาตรการอื่นๆ ที่เคยใช้มาในอดีต นอกจากนั้น จากสภาพการณ์ที่บังเกิดขึ้น ยังเป็นเครื่องตอกย้ำให้เห็นว่าระบอบปกครองอิหร่านมีความอ่อนแอทางการเมืองภายในประเทศอย่างล้ำลึกอีกด้วย

พวกเจ้าหน้าที่อาวุโสของสหรัฐฯกำลังพยายามหาทางบังคับใช้มาตรการลงโทษคว่ำบาตรดัวกล่าวโดยไม่ไปสร้างความเสียหายให้แก่เศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ถ้าหากมันส่งผลกระทบทำให้เกิดการเก็งกำไรดันราคาน้ำมันให้พุ่งลิ่วแล้ว ก็ไม่เพียงแต่จะสร้างความเสียหายให้แก่การฟื้นตัวที่ยังเป็นไปอย่างอืดๆ ของเศรษฐกิจโลกเท่านั้น แต่ยังจะเอื้อประโยชน์เพิ่มพูนรายรับของกรุงเตหะรานในระยะสั้นอีกด้วย

ชุดมาตรการลงโทษคว่ำบาตรล่าสุดนี้ มีผลในทางปฏิบัติเป็นการทำให้พวกบริษัทหรือกิจการที่มิใช่ของสหรัฐฯ จำเป็นต้องเลือกเอาว่า จะทำธุรกิจกับภาคการเงินของอิหร่าน หรือจะทำกับภาคการเงินของสหรัฐฯ ทั้งนี้ถ้าหากมีการปฏิบัติตามบทมาตราต่างๆ ของมาตรการอย่างครบถ้วนแล้ว สถาบันการเงินต่างชาติไม่ว่าแห่งใดก็ตามที (แม้กระทั่งพวกธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ด้วย) ซึ่งทำธุรกรรมหรือมีส่วนอำนวยความสะดวกให้แก่การขายน้ำมันของอิหร่าน ก็ล้วนตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกอเมริกาลงโทษ

ทางฝ่ายอิหร่านได้ตอบโต้ด้วยการประกาศยอมรับสิ่งที่ฝ่ายนี้บอกว่าเป็นข้อเสนอของทางรัสเซีย นั่นคือจะใช้สกุลเงินรูเบิลหมีขาวแทนที่ดอลลาร์อเมริกัน ทั้งนี้ตามรายงานของสำนักข่าวฟาร์ส (Fars news agency) ของทางการอิหร่านเมื่อวันจันทร์(9) โดยที่ระบุว่าเป็นคำกล่าวของเอกอัครราชทูตอิหร่านประจำกรุงมอสโก เซย์เอด อี เรซา ซัจจาดี (Seyed e Reza Sajjadi) ท่านเอกอัครราชทูตผู้นี้บอกว่า ประธานาธิบดีดมิตริ เมดเวเดฟ (Dmitry Medvedev) แห่งรัสเซีย ได้เสนอแนะเรื่องนี้ต่อประธานาธิบดีมะห์มูด อาห์มาดิเนจัด (Mahmud Ahmadinejad) ของอิหร่าน ระหว่างเข้าร่วมการประชุมหารือขององค์การความร่วมมือแห่งเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organization) ที่กรุงอัสตานา ประเทศคาซัคสถาน

สำนักข่าวฟาร์ส รายงานว่า ในการซื้อขายน้ำมันกับจีน, อินเดีย, และญี่ปุ่นนั้น อิหร่านได้หันไปใช้สกุลเงินตราอื่นแทนดอลลาร์ไปเรียบร้อยแล้ว ขณะที่รายงานของสื่อบางแห่งระบุด้วยซ้ำว่า นี่คือ “การตอบโต้” ต่อมาตรการลงโทษคว่ำบาตรใหม่ล่าสุดของสหรัฐฯนั่นเอง อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติดังกล่าวในทางเป็นจริงแล้วน่าจะมีไม่ค่อยมากนัก ถึงแม้อิหร่านจะได้ทำความตกลงในเรื่องการชำระหนี้แบบทวิภาคีกับจีน, อินเดีย, และรัสเซีย มาระยะหนึ่งแล้ว ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะทำการค้าขายโดยอาศัยสกุลเงินตราท้องถิ่นให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัสเซียนั้นยังมักพยายามชักนำให้อารมณ์ความรู้สึกต่อต้านฝ่ายตะวันตกของอิหร่าน ได้ระเบิดตูมตามออกมาอย่างเต็มเหนี่ยว ขณะเดียวกันตนเองก็จะแสดงบทบาทเป็นตัวกลางคอยไกล่เกลี่ยและเป็นผู้คอยบรรเทาผ่อนปรนปัญหา จากแนวทางของยุทธศาสตร์เช่นนี้ รัสเซียจึงได้เสนอตนเองมานานแล้ว ที่จะเป็นผู้ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากนานาชาติให้เป็นผู้เพิ่มความเข้มข้นของเชื้อเพลิงปรมาณูแก่อุตสาหกรรมนิวเคลียร์ของอิหร่าน แทนการปล่อยให้เตหะรานพัฒนาศักยภาพทางด้านนี้ด้วยตนเอง อันที่จริงแดนหมีขาวถึงกับแสดงตนพรักพร้อมที่จะทำหน้าที่เช่นนี้ให้แก่ทุกๆ ประเทศซึ่งมีความจำเป็นต้องการได้คนกลางผู้ยุติธรรมและอยู่ใต้การกำกับตรวจสอบของนานาชาติ อย่างไรก็ดี กรุงเตหะรานปฏิเสธไม่ยอมรับแนวความคิดเรื่องนี้เสมอมา และมาถึงขณะนี้ก็ได้ดำเนินการไปไกลแล้วในการพัฒนาศักยภาพของตนเอง

การที่มอสโกเวลานี้ยังกำลังมุ่งแสวงหาความได้เปรียบทางการเงินจากสถานการณ์ปัจจุบันอีกด้วย ย่อมไม่ใช่เรื่องชวนเซอร์ไพรซ์อะไรเลย ถ้าหากพิจารณาถึงการตกลงอย่างฮวบฮาบของค่าเงินเรียลอิหร่าน (Iranian rial) กล่าวคือ หลังจากที่ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ราคาซื้อขายแลกเปลี่ยนอย่างเป็นทางการยังอยู่ในระดับราวๆ 10,700 เรียลต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ พอย่างเข้าเดือนมกราคมนี้ สกุลเงินตราอิหร่านกลับเปิดขึ้นมาโดยอยู่ในอาการไหลรูดอย่างแรงในเวลา 2 วันของการซื้อขายที่ตลาดเปิด จนกระทั่งอยู่ที่ 17,000 เรียลต่อดอลลาร์

ในอิหร่านนั้น อัตราแลกเปลี่ยนมีอยู่หลายอัตราทีเดียว ถ้าหากดูเฉพาะที่ในตลาดเปิด มูลค่าของเงินเรียลได้ลดต่ำลงมาจากช่วงเดือนธันวาคม 27% แล้ว โดยมีการดิ่งแรงมากถึง 10% ในช่วงเวลาแค่ 2 วันดังกล่าว ครั้นมาถึงตอนนี้สกุลเงินตราอิหร่านอ่อนตัวลงอีกจนยืนอยู่แถวๆ มากกว่า 18,000 เรียลแลกได้ 1 ดอลลาร์ ขณะที่อัตราแลกปลี่ยนของทางการในเวลานี้ก็ยืดหยุ่นขึ้นลงในแถบช่วง 11,000 – 12,000 เรียลต่อ 1 ดอลลาร์ การที่มูลค่าของสกุลเงินตราอิหร่านไหลรูดลงอย่างน่ากลัวในตลาดเปิดนั้น เนื่องมาจากสาธารณชนอันกว้างขวางพากันเร่งรีบเทเงินเรียลออกมาแลกดอลลาร์นั่นเอง

สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นนี้ต้องถือเป็นพัฒนการที่มีความสำคัญทีเดียว เพราะหนึ่งในข้อโต้แย้งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาอ้างเพื่อคัดค้านการใช้กำลังเข้าเล่นงานโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน ก็คือถ้าเปิดการโจมตีใดๆ ขึ้นมาแล้วก็มีแต่จะทำให้ความสนับสนุนของประชาชนต่อระบอบปกครองซึ่งไม่เป็นที่นิยมนี้ กลับพุ่งสูงขึ้นมาอีกโดยอัตโนมัติ แต่จากการที่ผู้คนพากันเร่งรีบไปหาแลกเงินดอลลาร์เพื่อเป็นการรับมือกับมาตรการลงโทษคว่ำบาตรระลอกใหม่ของสหรัฐฯเช่นนี้ ได้บีบบังคับให้ระบอบเตหะรานต้องระงับบริการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศให้แก่สาธารณชนชาวอิหร่านเป็นเวลา 2 วันในช่วงย่างเข้าปีใหม่ โดยที่ไม่ได้มีการแจ้งเตือนล่วงหน้าเลย

เมื่อนำเอาเรื่องนี้มารวมเข้ากับเรื่องที่ไม่ได้มีการชุมนุมประท้วงของมวลชนในเตหะรานเพื่อต่อต้านคัดค้านความเคลื่อนไหวของฝ่ายอเมริกันด้วยแล้ว การที่สาธารณชนชาวอิหร่านเอาแต่เร่งรีบหันไปถือครองเงินดอลลาร์ ย่อมสามารถพิจารณาตีความได้ว่าคือการออกเสียงลงมติไม่ให้ความไว้วางใจในทางเศรษฐกิจต่อรัฐบาลปัจจุบันนั่นเอง สภาพการณ์เช่นนี้ยังทำให้ข้อโต้แย้งที่ว่าการทำการโจมตีทางการทหารต่อสิ่งปลูกสร้างทางด้านนิวเคลียร์ของอิหร่านรังแต่จะทำให้สาธารณชนนิยมเชิดชูระบอบปกครองนี้มากขึ้นไปอีกนั้น กลายเป็นเหตุผลที่อ่อนปวกเปียก เพราะจากหลักฐานที่ปรากฏออกมาแล้วกลับบ่งบอกไปในทางตรงกันข้าม

มาตรการลงโทษคว่ำบาตรระลอกล่าสุดของสหรัฐฯ หมายความว่าการหาต่างชาติมาซื้อน้ำมันอิหร่าน กำลังจะเป็นสิ่งที่กระทำได้อย่างลำบากยากเย็นยิ่งขึ้นเรื่อยๆ สหภาพยุโรปซึ่งเวลานี้เป็นผู้ซื้อน้ำมันประมาณ 18% ที่อิหร่านส่งออกนั้น ไม่เพียงแต่ได้ตกลงเห็นพ้องกันในหลักการแล้วที่จะกระทำตามมาตรการลงโทษคว่ำบาตรเหล่านี้ของสหรัฐฯเท่านั้น แท้ที่จริงแล้วจากการที่เตหะรานไม่แยแสที่จะกระทำตามมติฉบับแล้วฉบับเล่าของคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นในเรื่องโครงการนิวเคลียร์ของตนเอง ก็ได้มีความเคลื่อนไหวเรียกร้องกันในยุโรปให้ทำการลงโทษคว่ำบาตรในลักษณะนี้อยู่ก่อนแล้วด้วยซ้ำ

ในอีกด้านหนึ่ง จีนซึ่งเป็นผู้ซื้อหาน้ำมันราว 22% ของที่เตหะรานส่งออก (เท่ากับประมาณ 9% ของน้ำมันทั้งหมดที่แดนมังกรนำเข้า) ก็ไม่น่าที่จะช่วยเหลืออิหร่านให้หลุดออกจากมุมอับ โดยเข้าซื้อน้ำมันจากเตหะรานเพิ่มมากขึ้น ถึงแม้ว่า เอส เอ็ม กอมซอรี (S M Qamsari) ผู้อำนวยการฝ่ายระหว่างประเทศของบริษัทน้ำมันอิหร่านแห่งชาติ (National Iranian Oil Company) ได้ไปพูดกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า อิหร่านสามารถที่จะหาลูกค้ามาแทนที่ลูกค้าชาวยุโรปและลูกค้าในที่อื่นๆ ได้ย่างง่ายดายมาก ทั้งนี้ด้วยการเพิ่มปริมาณการขายให้แก่จีนและประเทศอื่นๆ ในแอฟริกา ตลอดจนในเอเชีย

ในทางเป็นจริง จีนได้ตัดลดปริมาณการซื้อน้ำมันอิหร่านในเดือนมกราคมลงแล้ว เพื่อสร้างแรงกดดันต่อเตหะรานสืบเนื่องจากทั้งสองฝ่ายตกลงเรื่องราคากันไม่ได้ โดยที่แดนมังกรนั้นกำลังพยายามที่จะให้อิหร่านยอมเปิดเจรจากันใหม่เกี่ยวกับสัญญาซื้อขายประจำปี 2012 นี้ ฝ่ายเตหะรานยังคงยืนกรานที่จะคิดราคาที่สูงขึ้นพร้อมกับเรียกร้องให้ชำระเงินเร็วขึ้น ตรงกันข้าม ปักกิ่งกำลังกดราคาเสนอซื้อของตนให้ต่ำลง เนื่องจากเล็งเห็นแล้วว่าอิหร่านกำลังประสบความยากลำบากในการหาผู้ซื้อ

สำหรับการที่อิหร่านจะขายน้ำมันให้แก่ประเทศเอเชียอื่นๆได้เพิ่มมากขึ้นนั้น เวลานี้ยังมองไม่เห็นจริงๆ ว่าจะเป็นเช่นนั้นไปได้ มาตรการลงโทษคว่ำบาตรของสหรัฐฯคราวนี้ ได้ให้อำนาจแก่ประธานาธิบดีโอบามาที่จะพิจารณาว่า ในกรณีที่เป็นผลประโยชน์ทางด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯแล้ว สามารถยืดเวลาในการบังคับใช้มาตรการเหล่านี้ออกไปก่อนแต่ไม่เกิน 120 วัน มีความเป็นไปได้อย่างมากที่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้จะขอยืดเวลาออกไปในลักษณะนี้ แต่พร้อมกันนั้นประเทศทั้งสองก็กำลังพยายามแสวงหาหนทางเพื่อจะได้ลดการพึ่งพาน้ำมันนำเข้าจากอิหร่าน

นอกจากนั้น ธนาคารตุรกีหลายๆ แห่ง ซึ่งถูกใช้เป็นช่องทางในการชำระเงินค่าน้ำมันให้แก่อิหร่านนั้น เวลานี้ได้แจ้งให้ลูกค้าที่เป็นพวกบริษัทอินเดียทราบแล้วว่า ในอนาคตข้างหน้า พวกเขาคงจะไม่สามารถทำเรื่องนี้ได้อีกแล้ว

มีความเป็นไปได้อย่างยิ่งยวด อีกทั้งสมเหตุสมผลเป็นที่สุดว่า พวกชาติผู้ผลิตน้ำมันชาวอาหรับนั่นแหละ จะพากันเพิ่มการส่งออกไปยังเอเชียตลอดจนไปยังโลกตะวันตก เพื่อเป็นการชดเชยการขาดหายไปใดๆ ที่เป็นผลลัพธ์จากการบังคับใช้มาตรการลงโทษคว่ำบาตรระลอกใหม่ล่าสุดนี้ต่ออิหร่าน

ดร.โรเบิร์ต เอ็ม คัตเลอร์ (www.robertcutler.org) สำเร็จการศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) และมหาวิทยาลัยมิชิแกน และได้ทำงานวิจัยตลอดจนสอนอยู่ตามมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ทั้งในสหรัฐฯ, แคนาดา, ฝรั่งเศส, สวิตเซอร์แลนด์, และรัสเซีย เวลานี้เขาเป็นนักวิจัยอาวุโสอยู่ที่ สถาบันเพื่อยุโรป, รัสเซีย, และยูเรเชียศึกษา (Institute of European, Russian and Eurasian Studies) มหาวิทยาลัยคาร์ลตัน (Carleton University) ประเทศแคนาดา เขายังรับเป็นที่ปรึกษาส่วนตัวในกิจการต่างๆ หลายหลาก
กำลังโหลดความคิดเห็น