xs
xsm
sm
md
lg

จำเป็นหรือไม่? เยียวยาสังคมไทยด้วย “โทษประหารชีวิต”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานในเรื่องของ “โทษประหารชีวิต” บ้างก็ว่าการกระทำความผิดร้ายแรงอย่างเช่น ฆ่าคน ค้ายา ก็เห็นสมควรแล้วที่จะต้องตัดสินให้ประหารชีวิต มิเช่นนั้นอาจสร้างอันตรายให้กับสังคมได้ ส่วนอีกฝ่ายก็ว่าควรยกเลิกโทษประหารชีวิตเพราะไม่ต่างจาก “การก่ออาชญากรรม ซ้อนอาชญากรรม”


ทำผิดต้องตายสถานเดียว
คนกระทำผิดย่อมโดนลงโทษ เหตุและผลที่ผูกสัมพันธ์กันมายาวนาน ที่ไม่ว่าใครก็หลีกเลี่ยงไม่พ้น โดยโทษที่ได้รับก็หนักเบาตามแต่ความผิดและโทษขั้นสูงสุดก็คือการประหารชีวิต ในสมัยโบราณจะมีบทลงโทษวิธีการประหารชีวิตตามพระไอยการกระบถศึก เป็นโทษประหารชีวิต 21 สถาน จากหนังสือตรากฎหมาย 3 ดวง เป็นวิธีการโหดร้ายทารุณที่นำมาลงโทษกับพวกที่คิดกบฏในยุคนั้นเช่น สถาน 1 คือ ให้ต่อยกระบานศีศะ (กบาลศีรษะ) เลิกออก (เปิดออก) เสียแล้ว เอาคีมคีบก้อนเหล็กแดงใหญ่ใส่ลงไปในมันสะหมอง (มันสมอง) ศีศะพลุ่งฟู่ขึ้นดั่งม่อ (หม้อ) เคี่ยวน้ำส้มพะอูม
 

อีกวิธีการหนึ่งคือการประหารชีวิตด้วยวิธีบั่นคอโดยเพชฌฆาต โดยก่อนจะโดนบั่นคอนั้นนักโทษจะถูกเฆี่ยน 3 ยกๆละ 30 ที ก่อนจะจับนั่งมัดกับหลักไม้ จากนั้นเพชฌฆาตดาบสองจะร่ายรำไปมา เพื่อรอจังหวะก่อนลงดาบฟันคอทันที เมื่อประหารแล้ว เจ้าหน้าที่จะตัดส้นเท้า เพื่อถอดตรวนออกแล้วสับร่างกายหรือแล่เนื้อให้ทานแก่แร้งกา ส่วนหัวนำไปเสียบประจาน
  

มาถึงในสมัยปัจจุบันได้เปลี่ยนไปการประหารชีวิตโดยการยิงเป้า โดยนับตั้งแต่การเปลี่ยนการประหารจากการตัดคอมาเป็นการยิงเป้าในปี พ.ศ. 2478 จนถึง พ.ศ. 2552 มีนักโทษถูกประหารชีวิตทั้งสิ้น 319 คน กระทั่งวันที่ 18 กันยายน พ.ศ.2546 การประหารชีวิตด้วยปืนถูกยกเลิก แต่ให้ดำเนินการด้วยวิธีฉีดยาหรือสารพิษให้ตาย มีผลบังคับใช้ในวันที่ 19 กันยายน 2546 นักโทษชาย 4 คน ถูกประหารชีวิตด้วยการฉีดยาเป็นครั้งแรก ต่อมาได้ยุติการประหารชีวิตไป
ระหว่างปี 2546-2551 (ยังมีโทษอยู่แต่ไม่มีการนำนักโทษไปประหาร) แต่ในวันที่ 24 ส.ค. 2552 มีการฉีดยาเพื่อประหารชีวิตนักโทษชาย 2 คนที่เรือนจำบางขวาง คือ นายบัณฑิต เจริญวานิช อายุ 45 ปี และนายจิรวัฒน์ พุ่มพฤกษ์ อายุ 52 ปี ที่ถูกจับกุมข้อหาค้ายาเสพติดเมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2544 และศาลตัดสินลงโทษประหารชีวิต ถึงวันนี้มีผู้ถูกประหารชีวิตด้วยวิธีฉีดยาให้ตายทั้งสิ้น 6 คน




โทษประหารชีวิต ละเมิดสิทธิความเป็นคน
โทษประหารชีวิตหลากหลายวิธีต่างก็เป็นการสร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้กระทำผิดและครอบครัวได้ไม่น้อย ดังนั้นจึงมีบางเสียงที่มองเห็นว่าโทษประหารชีวิตนั้นควรยุติลงเสียที ซึ่งหากมองในภาพกว้างจากคนที่ไม่เห็นด้วยต่อโทษการประหารชีวิต อาจพบใจความหลักๆ อยู่ 3 ข้อ คือหนึ่งเป็นการละเมิดสิทธิในการมีชีวิตอยู่ สองเป็นการสร้างความทรมานต่อร่างกายและจิตใจ และสามโทษประหารชีวิตนั้นไม่ได้ช่วยให้อาชญากรรมลดลง นอกจากนั้นแล้วโทษประหารชีวิตขัดต่อหลักปฏิญญาสากลข้อที่ 3 ที่ว่า ประชาชนทุกคนมีสิทธิที่จะมีชีวิตและดำเนินชีวิตอย่างมีอิสระและปลอดภัย และข้อที่ 5 ที่ว่า ไม่มีใครมีสิทธิข่มเหงทารุณเรา
 

ความตั้งใจในการต่อต้านโทษประหารชีวิตนี้ถูกถ่ายทอดออกมาในงานเสวนา “ความรุนแรงในสังคมไทย : กรณีศึกษาโทษประหารชีวิต” เนื่องในโอกาสครบรอบ 10 ปี วันยุติโทษประหารชีวิตสากล เมื่อวันที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา โดย ปริญญา บุญฤทธิ์หทัยกุล ผู้อำนวยการองค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรอาสาสมัครระหว่างประเทศที่ทำงานเพื่อสิทธิมนุษยชน มีความเป็นกลาง ไม่ขึ้นอยู่กับรัฐบาล กล่าวว่าความคิดนี้ไม่ได้เป็นการยอมอภัยให้ผู้กระทำความผิด เพียงแต่ให้ทุกขั้นตอนและวิธีการนั้นไม่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน
  
"เราไม่ได้อ่อนข้อหรือยกโทษให้กับผู้กระทำความผิด ผู้กระทำความผิดต้องเขาสู่กระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรม แต่เราเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบและวิธีการ การลงโทษผู้กระทำความผิด ให้สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศและหลักสิทธิมนุษยชน อีกทั้งกระบวนการยุติธรรมยังคงมีความเสี่ยงในการตัดสินที่ผิดพลาดส่งผลให้ผู้บริสุทธิ์จำนวนมากถูกจองจำ นอกจากนั้นโทษประหารชีวิตยังถูกนำมาใช้กับคนยากจน กลุ่มคนที่ด้อยโอกาส ชนกลุ่มน้อย และผู้ที่ไม่อำนาจต่อรองในสังคมกว่าร้อยละ 80"




โทษประหาร ไม่ใช่ทางแก้ปัญหาอาชญากรรม
การมองแก้ปัญหาต้องมองให้รอบทิศ โทษประหารชีวิตก็เช่นกันที่ต้องมองตั้งแต่แง่ความคิดจากคนทั่วไปที่ถกเถียงกันว่า โทษดังกล่าวควรจะมีหรือไม่ โดยฝ่ายที่เห็นด้วย มักมองว่า มาตรการนี้เป็นวิธีการที่สร้างความปลอดภัยและสันติภาพในสังคม แต่ในฝั่งที่ไม่เห็นด้วย มองว่า โทษประหารชีวิตมีลักษณะที่โหดร้าย ขัดกับหลักการพื้นฐานของศาสนา ซึ่งเป็นการมองเชิงศีลธรรม รวมไปถึงมุมมมองเชิงวิชาการ อ. ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ กล่าวเน้นย้ำว่า โทษนี้เป็นเรื่องที่ต้องใช้อย่างระมัดระวังมาก เพราะหากตัดสินผิดพลาดเราก็ไม่สามารถนำชีวิตกลับคืนมาได้
 

“การสนับสนุนโทษประหารชีวิต ผมมองว่ามันเกิดจาก 2 ส่วน คือ หนึ่งความกลัวของคน กลัวโดนทำร้าย โดนขโมยทรัพย์สิน และอย่างที่สองคือการล้างแค้น ซึ่งความคิดแบบนี้ผมมองว่ามันเหมือนมนุษย์ถ้ำนะ มันดีแค่ตรงที่สร้างความรู้สึกปลอดภัย แต่ไม่ได้แปลว่าจะทำให้สังคมดีขึ้น
ในสมัยก่อนเราจะบอกว่ากษัตริย์คือเจ้าชีวิต ชี้นิ้วสั่งให้ตายก็ต้องตาย มาตอนนี้เปลี่ยนเป็นประชาธิปไตย แต่ความคิดเหล่านี้ยังมีอยู่ แต่เปลี่ยนมาเป็นให้อำนาจรับมาตัดสินแทน เป็นการเชื่อมความรุนแรงกับกฎหมายด้วยกัน โทษประหารชีวิตนั้นเป็นการฆ่าที่ถูกต้องโดยกฎหมาย”
  

ความคิดนี้สอดคล้องกันกับงานวิจัยของ พ.ต.ท.หญิงธัญญรัตน์ ทิวถนอม เรื่อง "กระแสโลกาภิวัตน์และการลงโทษประหารชีวิตในรัฐไทย" ที่แสดงให้เห็นว่า ความเชื่อเรื่องทำผิดต้องโดนลงโทษมีมาแต่ครั้งโบราณกาล และงานวิจัยยังชี้ชัดด้วยอีกว่า โทษประหารชีวิตไม่สามารถลดปัญหาการเกิดอาชญากรรมได้ โดยงานวิจัยชิ้นนี้ระบุว่า ปัจจัยที่จะทำให้อาชญากรรมลดน้อยลงนั้นคือเรื่องของความรวดเร็วในการจับกุมและความชัดเจน
 

“เรื่องการลงโทษ มันเป็นเรื่องผูกพันกับเรามาตั้งแต่โบราณ ตั้งแต่เรื่องฟ้าดินลงโทษ ไตรภูมิพระร่วงที่มีนรกภูมิขุมต่างๆ ไปจนถึงพระไอยการกระบถศึก ตัวบทกฎหมายในสมัยโบราณ ที่มีการกำหนดบทลงโทษที่รุนแรงต่อประชาชน ทำให้เป็นสิ่งที่สร้างความชอบธรรมให้รัฐ และปลูกฝังทางความเชื่อของประชาชนด้วยว่า โทษประหารชีวิตเป็นสิ่งที่จำเป็น

จากงานวิจัยจะเห็นเลยว่า โทษประหารชีวิตนั้นไม่ได้ทำให้ตัวเลขจำนวนของการเกิดอาชญากรรมลดน้อยลง จากปัจจัย 3 อย่าง คือ ความรวดเร็ว ความชัดเจน และความรุนแรง ปัจจัยความรวดเร็วและความชัดเจนนั้นเป็นตัวแปรที่ได้ผลมากกว่าความรุนแรง”




หนทางแก้ไขต้องแก้ที่ใจคน
ความอยุติธรรมต่อคดีความและการตัดสินคดีเป็นเรื่องน่าวิตก อ.ศิโรตม์ กล่าวว่าหลายครั้งคดีที่เป็นไปในรูปแบบเดียวกัน คล้ายคลึงกัน แต่โทษที่ได้รับกลับไม่เท่าเทียมกันจึงมองไม่เห็นว่ามีความยุติธรรมจริงหรือไม่ หรือเป็นการใช้อำนาจแบบตามอำเภอใจ โดยเฉพาะกับคนยากจนและด้อยโอกาสในสังคมที่ไม่สามารถหาเงินจ้างทนายเพื่อต่อสู้ได้ สุดท้ายสำหรับทางออก อ.ศิโรตม์ กล่าวว่าควรแทนที่โทษประหารชีวิตด้วยการขังคุก
 

“โทษประหารชีวิตคือกระบวนการที่ทำให้ไม่เห็นคุณค่าของคนที่ถูกประหารเลย เรามองข้ามเขาไป ทั้งที่พอเขาตาย ครอบครัวของเขากลายเป็นเหยื่อหรือไม่ เสียงของพวกเขาหายไปไหนจากสังคม ซึ่งสิทธิขั้นพื้นบานของมนุษย์ทุกคนที่เกิดมาคือสิทธิในการมีชีวิต ใครจะไปสั่งให้อยู่หรือตายไม่ได้ ตรงนี้ผมเชื่อในเรื่องของความเท่าเทียม”
 

ด้านสื่อเองที่ส่งอิทธิพลต่อประชาชนได้ไม่น้อย โดยเฉพาะเรื่องความรุนแรง แม้แต่ในละครไทยเอง ตัวร้ายที่ต้องตายตอนจบก็คือการกระตุ้นให้คนดูเฉยชาต่อการตายของคนหนึ่งคน สำหรับทางออกนั้น ดร.วิทย์ กล่าวว่า บางครั้งสื่อในที่นี้ไม่ได้หมายถึงละคร ภาพยนตร์เพียงอย่างเดียวที่มีความรุนแรงแฝงอยู่ แต่สื่อที่ป้อนถึงเยาวชนอย่างเกม วิดีโอในยูทิวบ์ก็ส่งอิทธิพลเช่นกันกับความคิดที่ว่า การพรากชีวิตผู้อื่นเป็นเรื่องง่าย การฆ่าคนเพื่อพิทักษ์ความยุติธรรมนั้นถูกต้อง กลายเป็นการปลูกฝังโทสะจริตให้กับผู้ชม ทางออกที่ทำได้ในขณะนี้คือสื่อต้องมีความรับผิดชอบ ประชาชนต้องรู้เท่าทันสื่อ และทุกฝ่ายช่วยกันกำกับดูแลรวมถึงกลั่นกรองเนื้อหาความรุนแรง
 

การต่อต้านโทษประหารชีวิตของประเทศไทยในวันนี้อาจยังไม่สำเร็จ ในปัจจุบันโทษประหารด้วยการฉีดยาอาจดูรุนแรงน้อยลงกว่าการยิงเป้า แต่ถึงกระนั้นก็ยังจะมีการผลักดันต่อไปด้วยความคิดที่ว่า “ใครก็ไม่สามารถละเมิดสิทธิในการมีชีวิตอยู่ของเราได้”
ส่วนการที่จะให้สังคมยอมรับยกเลิกโทษประหารชีวิตนั้นคงต้องใช้เวลาอีกสักพัก ขึ้นอยู่กับว่าเราจะมีความพร้อมมากแค่ไหนและจะสามารถเปลี่ยนความคิดที่ว่า ตาต่อตา ฟันต่อฟัน ได้หรือไม่

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE



ญวนฉีดสารพิษแทนยิงเป้านักโทษ

งานเสวนา
กำลังโหลดความคิดเห็น