“อภิสิทธิ์-เทพเทือก” เปิดที่ทำการ ปชป. รับหนังสือแจ้งข้อกล่าวหา “ร่วมกันให้ผู้อื่นฆ่าคนตาย” ในเหตุการณ์ขอคืนพื้นที่แก๊งแดงปี 53 จากดีเอสไอ พร้อมเตรียมเข้ารับทราบข้อกล่าวหา 13 ธ.ค. ยันทำทุกอย่างตามศาลสั่ง เชื่อตั้งธงล่วงหน้า จากคำแถลงของ “ธาริต” ล้อคำพูด “เฉลิม” ชัดเจน ลั่นขอสู้ดดีจนถึงที่สุด แม้แพ้คดีก็พร้อมติดคุก ไม่ยอมให้ใช้เป็นข้อต่อรองเพื่อนิรโทษกรรมคนโกงชาติตามเป้าหมายของรัฐบาลที่วางไว้
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง "นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" แถลง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เช้าวันนี้ (7 ธ.ค.) ร.ต.ท.ปิยะ รักสกุล พนักงานสอบสวนคดีพิเศษชำนาญการ จากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เดินทางมายังที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อส่งมอบหนังสือแจ้งข้อกล่าวหา “ร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59, 83, 84 และ 288 ในเหตุการณ์ขอคืนพื้นที่จากกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 ต่อกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร อดีตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) จากนั้นเจ้าหน้าที่พรรคได้เชิญขึ้นไปยังห้องประชุมชั้นสอง ซึ่งมีนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพรออยู่ หลังจากหารือ 10 นาที นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพได้ร่วมแถลงข่าวที่ลานพระแม่ธรณี
นายสุเทพกล่าวว่า เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.ที่ผ่านมา นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แถลงข่าวกับสื่อเรื่องตั้งข้อกล่าวหานายอภิสิทธิ์กับตน หลังจากที่ปิดสมัยประชุมไม่กี่วันมาดำเนินคดีต่อพวกเราทั้ง 2 คน เป็นเรื่องที่ประชาชนคนไทยทั้งประเทศคาดหวังได้ว่าเขาต้องทำอย่างนี้แน่ๆ เพราะก่อนหน้านี้มีการแถลงมาเป็นระยะ โดย ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี แถลงก่อนว่าจะดำเนินคดีพวกตน 2 คน และนายธาริต เองก็กล่าวมาหลายหน และเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนกับประชาชน เพราะฝ่ายรัฐบาลและดีเอสไอจะไปแอบอ้างว่าตนกับนายอภิสิทธิ์หลบหนีหมายไม่ยอมรับหมาย ตนเลยตัดสินใจโทรศัพท์ไปหานายธาริต คนที่เคยทำงานเป็นกรรมการอยู่ใน ศอฉ.ร่วมกับตนมาก่อน ทำให้มีเบอร์โทรศัพท์ แม้ไม่เคยติดต่อกับนายธาริตมาก่อนหลังจากที่พ้นจากตำแหน่งรองนายกฯ
นายสุเทพกล่าวว่า ตนได้โทร.ไปคุยกับนายธาริตว่า คุณได้ออกแถลงข่าวว่าจะออกหมายเรียกนายอภิสิทธิ์กับตนและให้เจ้าหน้าที่หรือลูกน้องไล่ถามหาว่าจะไปยื่นหมายที่ไหน ซึ่งตนยินดีให้ความร่วมมือกับนายธาริต และดีเอสไอ เพราะตนเป็นคนดี ต้องการปฏิบัติตามกฎหมาย เลยให้มายื่นหมายที่พรรคประชาธิปัตย์ในวันนี้ (7 ธ.ค.) ในเวลา 08.30 น. แต่ปรากฏว่านายธาริตไม่มา ให้พนักงานชั้นผู้น้อย คือ ร.ต.อ.ปิยะมาคนเดียวน่าสงสาร เอาหมายมาให้นายอภิสิทธิ์กับตน ที่เวลาแถลงข่าวใหญ่โตแถลงได้ วันนี้คิดว่านายธาริตจะมาส่งหมายเองกลับไม่มา
“ผมขอบคุณนายธาริตที่ไม่ได้ออกข่าวว่าพวกผมหลบหนี ไม่รับหมาย และส่งเจ้าหน้าที่มายื่นหมายกับผม ขอบคุณนายธาริต ผมเห็นว่าทำถูกต้องเป็นครั้งแรกที่ได้แถลงเรื่องคดีนี้ คือ นายธาริตแถลงว่าจะไม่ดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ที่มาปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย จะเอาเจ้าหน้าที่เหล่านั้นกันไปไว้เป็นพยาน มุ่งที่จะดำเนินคดีกับผมและนายอภิสิทธิ์ ในฐานะที่เป็นผู้สั่งการ นายธาริตและเจ้าหน้าที่ดีเอสไอได้สร้างความทุกข์ยากทุกข์ใจให้แก่ครอบครัวเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ที่มาปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยในช่วงปี 2552-2553 เพราะได้แสดงอาการเหมือนข่มขู่บังคับเรียกไปเขาสอบ แล้วบอกว่าหากไม่ปรักปรำผม 2 คนก็จะดำเนินคดีทุกคนทั้งหมด”
นายสุเทพกล่าวว่า การที่นายธาริตแถลงเมื่อวานชัดเจนว่าจะไม่ดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่เหล่านั้น ตนจึงรู้สึกขอบคุณ และขอร้องว่าอย่าได้สร้างความทุกข์ยากลำบากใจให้เจ้าหน้าที่เหล่านั้น เรื่องนี้ตั้งใจจะทำให้เป็นเรื่องการเมือง ก็มุ่งเป้ามาที่นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพเลย ตน 2 คนก็จะไปมอบตัวรับทราบข้อหาและจะต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรมเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป เจตนาที่ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างนี้จึงทำให้ตนโทรศัพท์ไปหานายธาริตและนัดให้มาที่พรรค
ด้านนายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ช่วงที่นายธาริตแถลงข่าวนั้นตนปฏิบัติภารกิจอยู่ที่แม่สอด ทราบเรื่องจากสื่อและได้ประสานไปยังนายสุเทพเพื่อประสานไปยังนายธาริต เพราะทราบว่านายธาริตแถลงข่าวได้ลงลึกไปในข้อกล่าวหา ระบุถึงเหตุการณ์ปี 2553 ซึ่งไม่มีการแถลงรายละเอียด เกรงว่าประชาชนจะสับสน ขอชี้แจงว่า เรื่องดังกล่าวตนและนายสุเทพปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายกรัฐมนตรีและรองนายกฯ ในขณะนั้นที่เกิดการชุมนุม ซึ่งรัฐบาลก็ได้ดำเนินการทางกฎหมายโดยการขออำนาจศาลเช่นเดียวกับผู้ชุมนุมที่ขอให้ศาลให้ความคุ้มครอง ซึ่งทุกกรณีที่ไปถึงศาล ศาลก็ได้วินิจฉัยว่าเป็นการชุมนุมที่เกินเลยขอบเขตของรัฐธรรมนูญและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งตนและนายสุเทพจึงมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง แต่เมื่อสถานการณ์การชุมนุมลุกลามจึงมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทำให้การบังคับบัญชาเป็นไปตามโครงสร้างของกฎหมาย ซึ่งนโยบายที่มอบก็มีความชัดเจน คือไม่มีการเข้าไปสลายการชุมนุม และให้ปฏิบัติงานโดยหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่อการเกิดความสูญเสีย ซึ่งนายธาริตน่าจะทราบดีเพราะเป็นกรรมการ ศอฉ.ด้วย
“ส่วนการเสียชีวิตของนายพัน คำกอง ซึ่งเป็นที่มาของคดีนี้ เกิดขึ้นเมื่อ ศอฉ.มีคำสั่งปิดล้อมการชุมนุม จึงมีการตั้งด่านสกัด ซึ่งในคืนที่เกิดเหตุมีรถตู้ฝ่าด่านเจ้าหน้าที่เข้าไปในพื้นที่การชุมนุม และมีการยิงกันขึ้น ซึ่งนายพันก็วิ่งออกมาดูเหตุการณ์และเสียชีวิตจากกระสุน ซึ่งศาลมีคำสั่งในเบื้องต้นว่าเป็นกระสุนที่ใช้ในราชการ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงของคดี หากประชาชนทราบข้อเท็จจริงก็พอมองออกว่าเป็นการฆาตกรรมโดยเจตนาหรือไม่อย่างไร ตนและนายสุเทพตั้งแต่วันที่เป็นนายกฯ และรองนายกฯ ยืนยันว่าไม่มีใครในประเทศอยู่เหนือกฎหมาย เปิดโอกาสให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม และมีการตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) เพื่อสอบสวนเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งก็มีข้อสรุปแล้วว่ามีกลุ่มติดอาวุธแฝงตัวอยู่ในการชุมนุมด้วย และเป็นผู้ที่ถูกดำเนินการในข้อหาก่อการร้าย ซึ่งหลายคดีดีเอสไอดำเนินการไปแล้ว”
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เมื่อดีเอสไอเดินในแนวทางนี้ และมีการออกหมายเรียก ซึ่งตนและนายสุเทพก็ให้ความร่วมมือและพร้อมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่หนีไปไหนและยอมรับกระบวนการยุติธรรม แต่เนื่องจากวันที่ 12 ธ.ค.ตนจะเดินทางกลับจากต่างประเทศ ดังนั้นในวันที่ 13 ธ.ค. เวลา 13.30 น.ดีเอสไอจะเชิญตนไปให้ปากคำในคดีการรับบริจาคเงินช่วยน้ำท่วม และทราบว่ามีอีกหลายคดี ซึ่งก็ขอให้ดีเอสไอรวบทุกคดีเพื่อที่ตนจะได้ไปในครั้งเดียว ทั้งนี้ขอให้ประชาชนรับทราบข่าวสารนี้ และไม่มีประเด็นใดและเราจะไม่หลบหนี
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า ไม่แปลกใจกับเรื่องที่เกิดขึ้นเพราะต้นปี 2555 มีการส่งสัญญาณทั้งทางตรงและทางอ้อมกับตนและนายสุเทพ ผ่านกระบวนการและคนต่างๆ โดยมีการสอบถามว่าคิดอย่างไรกับการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งตนยืนยันว่าจุดยืนยังเป็นจุดยืนเดิมที่ต้องการให้ระบบนิติรัฐและกฎหมายบ้านเมืองยังคงอยู่ และขอตั้งข้อสังเกตว่าคำแถลงของนายธาริตล้อกับถ้อยคำของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง คำต่อคำ ทั้งในแง่ข้อกฎหมายตามความรู้ความเข้าใจของ ร.ต.อ.เฉลิม และการสรุปข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ ซึ่งพูดได้ว่ามีการตั้งธงล่วงหน้าไว้แล้วตั้งแต่คำพูดของ ร.ต.อ.เฉลิม คนเสื้อแดงและลูกคู่สื่อที่เขียนอย่างนี้มาโดยตลอด
“ผมยืนยันว่าไม่มีอะไรต้องต่อรองผลประโยชน์ใดๆ ยืนยันว่าคนผิดต้องรับผิด และต่อสู้ตามข้อเท็จจริง แต่จะไม่ร่วมกระบวนการล้างผิดให้คนโกงชาติ โกงแผ่นดิน แม้ในที่สุดกระบวนการยุติธรรมจะตัดสินว่ามีความผิด มีโทษจำคุกหรือประหารชีวิตก็ยอม แต่จะไม่ยอมล้างผิดให้คนโกงโดยเด็ดขาด”
นายสุเทพกล่าวเสริมว่า ตนและนายอภิสิทธิ์เคยถูกสอบสวนมาแล้วหลายครั้งทั้งตำรวจและดีเอสไอ ซึ่งตนได้ให้ปากคำ และทำบันทึกคำให้การ พร้อมทั้งส่งสำเนาคำสั่งของ ศอฉ.ทุกคำสั่งให้ดีเอสไอแล้ว ซึ่งตนยืนยันกับพนักงานสอบสวนดีเอสไอว่าตนเป็นผู้ลงนามในทุกคำสั่งของ ศอฉ. โดยที่นายอภิสิทธิ์ไม่เกี่ยวข้องไม่ควรดึงนายอภิสิทธ์มาเกี่ยวข้อง แต่ตนคิดว่าลำพังตนคนเดียวไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะไปข่มขู่ ต่อรองกับประชาชนที่ไม่ยอมรับกฎหมายล้างผิด จึงต้องลากนายอภิสิทธิ์มาเป็นผู้ต้องหาร่วมกับตนด้วย อย่างไรก็ตามตนยอมติดคุกดีกว่าที่จะเห็นการออกกฎหมายล้างผิดและใช้เสียงข้างมากทำลายระบบนิติรัฐนิติธรรม ถึงแม้คดีนี้โทษสูงสุดคือการประหารชีวิต หากพวกตนแพ้คดีก็ยินดีที่จะรับโทษ
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากขั้นตอนการแจ้งข้อกล่าวหาเป็นไปอย่างผิดกฎหมายจะมีการดำเนินการอย่างไร นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนต้องรอว่าจะมีการแจ้งข้อกล่าวหาอย่างไร เพราะในหนังสือแจ้งไม่ได้ระบุว่าผิดอะไร ผิดอย่างไร ซึ่งหากได้รับทารบก็จะให้คำตอบได้ว่าในเชิงข้อกฎหมายเป็นอย่างไร
ผู้สื่อข่าวถามว่า ความพยายามที่รักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองแต่กลับต้องตกเป็นจำเลย นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เมื่อเรามีตำแหน่งก็ต้องทำหน้าที่ และรู้ตลอดเวลาว่ามีความเสี่ยง แต่ก็มั่นใจในเจตนาบริสุทธิ์ที่ต้องการให้บ้านเมืองเป็นปกติโดยไม่มีการสลายการชุมนุม ส่วนสิ่งที่เกิดขึ้นนี้คนที่ติดตามการเมืองจะรู้ดีว่ามีที่มาที่ไปหวังผลหลายด้าน เหมือนกับที่ รมว.กลาโหมดำเนินการถอดยศตน เพราะการเมืองไทยปัจจุบันคนที่ครองอำนาจมีนิสัยอย่างนี้
ต่อข้อถามว่ากลัวหรือไม่ที่เรื่องนี้จะกลายเป็นมลทิน นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ประชาชนที่ยังจำเหตุการณ์ได้ทราบดีว่าอะไรเป็นอะไร และใครเป็นอย่างไร ในที่สุดกระบวนการยุติธรรมก็ต้องพิสูจน์ออกมา
ผู้สื่อข่าวถามว่าตลอด 20 ปีของการทำงานการเมืองจะไม่มีอะไรมาทำลายการทำงานต่อใช่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนยืนยันว่าทำหน้าที่ตรงไปตรงมา และยึดผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก แต่ถ้ากระบวนการยุติธรรมไทยบอกว่าพวกตนผิด ถึงขั้นที่ตนต้องถูกประหารชีวิตก็ยอมเพราะตนถือว่าทำหน้าที่ตรงไปตรงมา และรับผิดชอบสิ่งที่ทำซึ่งมั่นใจว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ซึ่งใครจะเอาชีวิตตนไปต่อรองก็ไม่สนใจและยืนยันว่าจะสู้ตามกฎหมาย