xs
xsm
sm
md
lg

รายงานพิเศษ : ขอพระองค์ ทรงพระเกษมสำราญ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไม่ว่าวันที่ 5 ธันวาคม จะเวียนผ่านมาสักกี่รอบ เรายังสามารถพบศิลปินหน้าใหม่ๆ ที่มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นแรงบันดาลใจในการเขียนภาพได้เสมอ

สมพงษ์ จันท้วม ช่างเขียนอิสระ ซึ่งเปิดร้านเขียนรูปขาย อยู่ที่ชั้น 1 ห้างเจเจมอลล์ จตุจักร ก็เป็นคนหนึ่งที่เขียนภาพพระบรมสาทิสลักษณ์มาหลายสิบปี และวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม 2555 เขาก็เขียนภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ขึ้นมาใหม่อีกภาพ เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนการถวายความจงรักภักดี และถวายพระพร ดังเช่นที่เคยทำ

“5 ธันวาคม ปีนี้ ผมจะต้องเขียนอีกหนึ่งภาพ แนวคิดคือ ทรงถือดินสอ สะพายกล้อง ประครองแผนที่ มีวิทยุสื่อสาร อันเป็นอุปกรณ์คู่พระวรกายขณะทรงงาน และจะเขียนตัวเลขรหัสจริงๆ ซึ่งติดอยู่บนวิทยุสื่อสารของพระองค์ลงไปในภาพด้วย

ทดลองวางท่าทาง วางสีที่จะใช้เขียนเอาไว้แล้ว อยากให้คนที่ได้ชมภาพนี้รู้สึกว่า แม้พระองค์จะทรงเหน็ดเหนื่อยมากแค่ไหน แต่เป็นการเหน็ดเหนื่อยที่มีความสุขที่สุด เพราะได้ทรงงานเพื่อประชาชน”

• ภาพในหลวงประทับอยู่ในใจ

ศิลปินหนุ่มใหญ่วัย 48 ปีคนนี้เป็นชาวสุโขทัย เข้าสู่วงการช่างเขียนภาพสีน้ำมัน ตั้งแต่อายุได้ 18 ปี โดยเริ่มเรียนกับช่างเขียนมืออาชีพแถวๆ ท่าพระ ฝั่งธนบุรี ขณะที่ยังช่วยงานที่ร้านของญาติ จากนั้นก็ได้ฝึกฝนและพัฒนาทักษะในการเขียนรูปเพิ่มเติมจากอาจารย์ท่านอื่นๆ อีกหลายท่าน

“จบ มศ.3 เข้ามากรุงเทพ มาพักอยู่ที่ร้านซ่อมโทรทัศน์ แถวบางยี่ขัน ย่านฝั่งธน และฝึกเขียนภาพ เวลามีงานวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม ผมจะเดินข้ามสะพานมาฝั่งพระนคร เห็นภาพในหลวงแล้วมีความประทับใจ จึงทำให้อยากเขียนภาพของพระองค์ท่านมาตั้งแต่ตอนนั้น

พระองค์ท่านทรงอยู่ในใจของทุกคน เมื่อก่อนผมเขียนภาพที่ทรงมีหยดเหงื่อที่พระนาสิก เขียนบ่อยจนเป็นที่จดจำ เพราะผมประทับใจในเรื่องที่ทรงงานหนักเพื่อประชาชน ขณะที่กษัตริย์ประเทศอื่นใช้ชีวิตอย่างสุขสบาย”

• ขอพระองค์ ทรงพระเกษมสำราญ


แต่ในระยะหลังภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ที่สมพงษ์เขียน มีบางอย่างที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากเขาต้องการให้พระองค์ท่านที่ปรากฏอยู่บนภาพเขียนของเขา อยู่ในพระอิริยาบถที่ดูมีความสุขมากกว่า

“งานศิลปะ เราจะเสนออย่างไรก็ได้อยู่แล้ว ใช่หรือเปล่า ดังนั้น ไม่ว่าปัจจุบันพระองค์ท่านจะทรงเหน็ดเหนื่อยพระวรกายมากเท่าใด แต่ภาพเขียนของผม ต้องสื่อว่าพระองค์ท่านทรงพระเกษมสำราญ และเขียนด้วยสีสันที่ดูสดใส

เช่นภาพหยดเหงื่อที่ผมเคยเขียนมาหลายครั้งมาก แต่ครั้งนี้เขียนขนาดไม่ใหญ่มาก เขียนเพราะนึกถึงภาพของพระองค์ท่านที่ปรากฏตามสื่อ ขณะประชวรอยู่ที่โรงพยาบาล หรือในเวลาที่เสด็จพระราชดำเนินลงมาทอดพระเนตรแม่น้ำเจ้าพระยา

ขณะที่ในใจผมคิดว่า พระองค์คงจะทรงเหน็ดเหนื่อยและทุกข์พระทัยมาก แต่ผมก็เลือกที่จะไม่เขียนภาพนี้ด้วยบรรยากาศที่เศร้าหมอง ต้องการเขียนพระพักตร์ให้ดูสดใส มีแสงสีเหลืองมากระทบที่พระพักตร์

และในส่วนของหยดเหงื่อที่พระนาสิก แทนที่จะเขียนเป็นสีขาว ผมกลับเลือกที่จะเขียนด้วยสีเหลือง ซึ่งเป็นสีประจำวันพระราชสมภพ สีแห่งความเหน็ดเหนื่อยเพื่อปวงประชา”

หรือตัวอย่างภาพที่มีสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ อยู่ในภาพด้วย ผมได้ภาพต้นแบบมาจากเว็บไซต์ประมูลภาพเก่า ตอนแรกที่เห็นตกใจว่า พระบรมฉายาลักษณ์(ภาพถ่าย)ของพระองค์ท่าน ภาพนี้มีด้วยหรือ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ ก็ทรงดูสดใส เหมือนกำลังเสด็จพระราชดำเนินเข้าไปในห้องจัดเลี้ยง มีคนปรบมือให้ ผมรู้สึกและจินตนาการไปถึงขนาดนั้น ก่อนจะเขียนภาพนี้ขึ้นมา

นานๆจะได้เห็นพระองค์ท่านทรงพระเกษมสำราญอย่างนี้สักที แถมยังมีพระราชินีเสด็จพระราชดำเนินตามมาอย่างสดชื่น ดูแล้วมีความสุขมาก พอผมเจอภาพต้นแบบตอนกลางคืน ตื่นเช้าออกจากบ้านไปที่ร้าน ก็ลงมือเขียนทันทีเลย”

• ภาพเทิดพระเกียรติทรงครองราชย์ 65 ปี

ส่วนอีกภาพ สมพงษ์เพิ่งเขียนขึ้นเมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นปีแห่งการครองราชย์ ครบ 65 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นภาพที่เขาต้องการเขียน เพื่อร่วมเทิดพระเกียรติ

“ผมมีโอกาสที่จะร่วมเทิดพระเกียรติพระองค์ได้เพียงเท่านี้ เพราะผมไม่สามารถที่จะมีเวลาไปไหนต่อไหนได้ ผมเอาเฟรมขนาด 60 x 80 เซนติเมตร มานั่งสเก็ตช์ ตามข้อมูลที่ได้มาจากหนังสือเก่า เปิดดูฉลองพระองค์ ชุดเครื่องราชย์ และพวกเหรียญตราอะไรต่างๆ เพื่อป้องกันความผิดพลาด แล้วเขียนรูปนี้เป็นภาพพระองค์ท่านขนาดครึ่งพระองค์ มีพระพักตร์ตรง ทรงยศเต็ม และทรงมงกุฎ

แต่ผมไม่ได้เขียนรายละเอียดต่างๆให้ดูละเอียดมากนัก เพราะถ้าละเอียด ภาพอาจจะดูแข็งไป แต่เขียนตามแบบของพระพักตร์ในช่วงขึ้นครองราชย์จริงๆ สเก็ตช์มาเลย ทรงแว่นอันนี้ และฉลองพระองค์ชุดนี้ สีขาวขลิบทอง แล้วพวกเหรียญตราต่างๆก็ทรงเหรียญเหล่านี้จริงๆ กระทั่งเขียนเสร็จตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม พอดีเลย”

• ดำเนินชีวิตตามคำ “พ่อ” สอน

ในฐานะช่างเขียนที่ประกอบอาชีพด้วยการเขียนภาพขาย ซึ่งในบรรดาภาพเหล่านั้นมีภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ด้วย สมพงษ์ยังกล่าวให้ฟังว่า นอกจากพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดไม่ได้แล้ว พระองค์ท่านยังทรงมีอิทธิพลต่อเขาในด้านการดำเนินชีวิตด้วย

“ผมเชื่อว่าหากพ่อทุกคนพยายามสอนลูกตัวเองอย่างไร พระองค์ท่านก็เช่นนั้น ทรงเปรียบเหมือนพ่อของประเทศ ผมเชื่อว่าทรงต้องการให้เราเป็นคนดี ทำมาหากินโดยสุจริต ไม่เบียดเบียนคนอื่น ตั้งหน้าตั้งตาพัฒนาทักษะ และความสามารถของตัวเองให้ดีที่สุด เท่าที่จะดีได้

ผมจึงตั้งหน้าตั้งตาทำงานของตัวเอง ไม่หยุดที่จะศึกษา เพื่อพัฒนาทักษะการเขียนรูป เพราะว่าศิลปะมันไม่มีจบสิ้น คนทำงานศิลปะต้องไม่หยุดที่จะศึกษา”

• ทำงานด้วยแรงบันดาลใจ

นอกจากภาพพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมพงษ์ยังถูกว่าจ้างให้เขียนภาพพระเกจิชื่อดังหลายรูป ขณะที่บางภาพเขาเขียนขึ้นจากความศรัทธาที่มีต่อพระรูปนั้นๆโดยตรง

“ภาพพระภาพแรกที่เขียนคือ ท่านพุทธทาส เพราะมองว่าท่านเป็นสุดยอดของพระที่มุ่งเน้นสอนธรรมะอย่างเดียว ไม่คิดเอาปัจจัยอะไรเลย และยังเขียนสองพระเกจิชื่อดังอย่าง สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) หรือสมเด็จโต กับ หลวงปู่ทวด ส่วนภาพพระภาพอื่นๆ เขียนเพราะมีลูกค้ามาจ้าง ส่วนพระสามรูปแรกที่กล่าวมา เขียนเพราะใจปรารถนา เขียนด้วยแรงบันดาลใจ

ผมเขียนภาพท่านพุทธทาสภาพหนึ่ง ขณะมองดอกบัว และเขียนด้วยความรู้สึกที่อยากจะเขียน พอเขียนจบเซ็นชื่อปุ๊บ ลูกค้ามาขอซื้อเลย ทั้งที่สีก็ยังไม่แห้ง ลูกค้าพูดว่า “ผมยืนมองพี่เขียนรูปนี้ ผมประทับใจมาก ผมขอซื้อได้ไหม พี่คิดผมเท่าไหร่” ผมตกใจมาก เพิ่งวางพู่กันเองนะ ราคาสองหมื่นห้า เขาไม่ต่อสักคำ ผมอยากบอกว่า นี่แหละคือความสุขที่ตามมาจากการทำงานด้วยแรงบันดาลใจ ทำด้วยความชอบ

ศิลปินรุ่นพี่ (หงษ์จร เสน่ห์งามเจริญ) เขาบอกผมมานานว่า ถ้าอยากเขียนภาพอะไรสักภาพหนึ่ง ก่อนจะเขียนให้ไปหาหนังสือมาอ่าน อยากจะเขียนพุทธทาส ไปอ่านหนังสือท่าน เพื่อให้ทุกอย่างในภาพมันมีที่มาที่ไป ซึ่งอันนี้ผมก็รู้มาว่า ศิลปินหรือช่างเขียนฝรั่ง เขาก็ทำอยู่แล้ว และผมก็ทำอย่างนั้นตลอดมา

ตอนเขียนสมเด็จโตผมก็ไปศึกษา เมื่อยิ่งศึกษาก็ยิ่งรู้ใหญ่ ท่านเป็นพระที่ใครๆก็รู้สึกปลอดภัยเมื่อมีท่านอยู่ใกล้ๆ ขณะที่บางคนจะรู้สึกอบอุ่น มั่นใจ เวลามีหลวงปู่ทวดอยู่ด้วย

ผมจึงเอาอารมณ์แบบนี้มาเขียนภาพ ดังนั้น ภาพทุกภาพของผมจะมีความรู้สึกอย่างนี้ให้ผู้ชมได้รู้สึกตาม ถ้าพวกเขาสามารถสัมผัสสิ่งที่ผมถ่ายทอดลงไปในภาพได้ ผมจะภูมิใจมาก”

• ทุกอย่างให้เดินสายกลาง

หากว่า พุทธศาสนิกชนถูกแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ดีที่สุด ดีปานกลาง และไม่ดีเลย สมพงษ์กล่าวว่า ช่างเขียนรูปเช่นเขา น่าจะจัดอยู่ในระดับที่ 2

“ผมเป็นแบบกลางๆ ไม่ใช่พุทธศาสนิกชนที่ดีที่สุด ยังเป็นปัจเจกชนอยู่ เป็นบุคคลธรรมดา มีรัก โลภ โกรธ หลง มีต้องการ ยังไม่หลุด แต่ผมศรัทธาในศาสนาพุทธ เพราะผมคิดว่าเป็นศาสนาที่ธรรมชาติที่สุด

ไม่มีศาสนาไหนเลยที่สอนได้ธรรมชาติเท่าศาสนาพุทธ เพราะเป็นศาสนาที่เกิดมาจากการศึกษาธรรมชาติของเจ้าชายสิทธัตถะ มันถึงมีคำว่า “ธรรมะ” เกิดขึ้น และทุกวันนี้ที่ธรรมชาติมันเปลี่ยนไป เพราะว่าการกระทำของคนที่อยู่ในธรรมชาติ

มีคำหนึ่งที่ผมชอบที่สุด ที่เป็นแก่นแท้ของศาสนาพุทธ ในความรู้สึกผมคือ ทุกอย่างให้เดินสายกลาง ไม่รู้ว่าพระพุทธเจ้าทรงคิดได้อย่างไร คนเขาปฏิบัติกันมาเป็นพันๆปี และพระพุทธเจ้าสอนมาสองพันห้าร้อยกว่าปีแล้ว สุดยอดมาก”

(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 144 ธันวาคม 2555 โดย เกสรา)








สมพงษ์ จันท้วม (ช่างเขียนอิสระ)
กำลังโหลดความคิดเห็น