xs
xsm
sm
md
lg

มหัศจรรย์ผ้าไทย ที่ “พิพิธภัณฑ์ผ้า พระราชินี”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย : หนุ่มลูกทุ่ง
หอรัษฎากรพิพัฒน์ สถานที่ตั้งพิพิธภัณฑ์
เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอันเป็นประโยชน์แก่ปวงชนชาวไทย โดยเฉพาะในด้านความเป็นอยู่ โดยการส่งเสริมให้ประชาชนมีอาชีพ มีรายได้ที่เพียงพอ และที่สำคัญคือการทำกินอยู่ในถิ่นเกิด ได้อยู่กับครอบครัวพร้อมหน้าพร้อมตา ไม่ต้องออกมาหางานในเมืองใหญ่ๆ ซึ่งเป็นที่มาของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

หนึ่งในงานของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ก็คือการพลิกฟื้นชีวิตของผ้าทอมือไทยที่กำลังจะสูญหายไป และเมื่อชาวบ้านหันมาทอผ้าไทยมากขึ้น ก็มีการนำมาวางจำหน่ายให้แก่คนทั่วไป และส่วนหนึ่ง สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ก็ทรงรับมาตัดเป็นฉลองพระองค์ของพระองค์เอง สร้างความประทับใจแก่ผู้ที่ได้พบเห็นเป็นอย่างมาก
ห้องโถงทางเข้าพิพิธภัณฑ์
และเป็นที่มาของ “พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” ที่จัดสร้างขึ้นตามพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เพื่อให้เป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เครื่องแต่งกายของคนไทยและผ้าไทย รวมถึงเป็นสถานที่รวบรวมจัดเก็บรักษาผ้าไทยและเอกสารที่เกี่ยวข้อง

ในฐานะที่เป็นคนไทยคนหนึ่ง ฉันก็มีความชื่นชมกับความสวยงามของผ้าไทยที่ยังคงเอกลักษณ์เฉพาะของตัวเอง ทั้งลวดลาย สีสัน หรือลักษณะการทอ ซึ่งนั้นก็ทำให้ฉันตั้งใจที่จะมาร่วมดื่มด่ำความงามนี้ที่ “พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” ณ หอรัษฎากรพิพัฒน์ ซึ่งตั้งอยู่ในพระบรมมหาราชวัง

เมื่อแรกก้าวเข้าไปในพิพิธภัณฑ์ ก็ได้เห็นถึงความงดงามตั้งแต่การตกแต่ง บันไดพื้นหินอ่อนที่ขึ้นไปสู่ห้องจัดแสดงต่างๆ ซึ่งในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะแบ่งการจัดแสดงออกเป็น 4 ห้อง และแต่ละห้องก็จะมีเจ้าหน้าที่คอยให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งที่จัดแสดงอยู่
นิทรรศการ “ราชพัสตราจากผ้าไทย” (ภาพ : พพ.ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าฯ)
สำหรับห้องจัดแสดงแรกนั้นมีชื่อว่า นิทรรศการ “ราชพัสตราจากผ้าไทย” จัดแสดงฉลองพระองค์ชุดสากล ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้นักออกแบบไทยและต่างชาตินำผ้าไหมไทยมาใช้ในการตัดเย็บ โดยผสมผสานกับวัตถุดิบอื่นๆ และมีเทคนิคการตัดเย็บที่แตกต่างกันไป

ดังเช่นฉลองพระองค์องค์แรกที่เห็นทางซ้ายมือ เป็นการนำผ้าไหมไทยมาประดับด้วยการปักปีกแมลงทับลงไปในฉลองพระองค์ ทำให้เกิดเลื่อมลายที่งดงาม หรือฉลองพระองค์ที่ถือว่าเป็นไฮไลท์ของห้องแรกนี้ ก็คือ ฉลองพระองค์ที่ใช้ผ้าไหมมัดหมี่ปักประดับด้วยคริสตัล และยังใช้ผ้าชนิดเดียวกันนี้มาตัดเป็นฉลองพระบาทอีกด้วย

ฉันได้เดินอ่านข้อมูลของฉลองพระองค์ที่จัดแสดง ก็เห็นว่าในห้องแรกนี้ส่วนใหญ่จะเป็นช่างออกแบบชาวต่างชาติ ก็ลองสอบถามเจ้าหน้าที่ว่าเหตุใดจึงไม่ใช้ช่างชาวไทย ได้รับคำตอบกลับมาว่า ในช่วงแรกๆ นั้น สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปเยือนประเทศทางตะวันตก และต้องมีการเข้าพบประมุขของชาติต่างๆ ซึ่งจะมีชุดตามธรรมเนียม แต่ยังไม่มีช่างชาวไทยที่มีความรู้ในด้านนี้ จึงต้องใช้ช่างชาวต่างชาติมาออกแบบ แต่ก็ยังคงใช้ผ้าไทยในการตัดเย็บ ส่วนในภายหลังนั้นก็มีช่างชาวไทยมาออกแบบฉลองพระองค์ด้วยเช่นกัน
ฉลองพระองค์ผ้าไหมมัดหมี่ประดับคริสตัล (ภาพ : พพ.ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าฯ)
สิ่งที่ฉันสังเกตเห็นอีกอย่างก็คือ กระจกที่ใช้เป็นตู้จัดแสดงนั้น มองบางมุมก็จะขุ่น บางมุมจะใส ซึ่งนี่ก็คือกระจกที่สั่งทำด้วยฟิล์มพิเศษ ที่จะสามารถโฟกัสได้เฉพาะจุดที่ยืนดูอยู่ ส่วนในจุดอื่นๆ จะดูขุ่น เมื่อเดินขยับไปเรื่อยๆ ก็จะสามารถมองได้ชัดเจนตามไปด้วย

เกร็ดความรู้อีกอย่างที่ฉันได้จากเจ้าหน้าที่ก็คือ ผ้าไทย และฉลองพระองค์ที่นำมาจัดแสดงนั้นมีการเก็บรักษาเป็นอย่างดี เมื่อได้รับผ้ามาแล้วก็ต้องผ่านการทำความสะอาดและกำจัดแมลงภายใต้อุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียส นาน 10-20 วัน จากนั้นจึงทำการซ่อมแซมหากมีการเสื่อมสภาพ จัดทำเลขทะเบียนวัตถุ บันทึกภาพ และเมื่อนำมาจัดแสดงก็ต้องมีการควบคุมอุณหภูมิและความชื้นให้มีสภาพคงที่ รวมถึงควบคุมความสว่างของแสงไฟภายในห้อง เพื่อไม่ให้ผ้าเสื่อมสภาพ จึงเป็นที่มาว่าทำไมจึงไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพภายในห้องจัดแสดงได้
การซ่อมแซมฉลองพระองค์ให้คงสภาพสวยงาม (ภาพ : พพ.ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าฯ)
มายังห้องจัดแสดงที่ 2 นิทรรศการ “ไทยพระราชนิยม” ที่ห้องนี้จะแนะนำให้รู้จักกับชุดไทยพระราชนิยม ซึ่งเกิดขึ้นจากพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ต้องการให้คนไทยมีชุดประจำชาติไว้สวมใส่ในโอกาสต่างๆ โดยพระองค์จะทรงฉลองพระองค์ชุดไทยแบบต่างๆ นี้ในการเสด็จพระราชดำเนิน และโดยเสด็จพระราชดำเนินไปยังนานาประเทศ

ในจุดแรกนั้นมาทำความรู้จักกับชุดไทยพระราชนิยมจากการชมวิดีทัศน์ ก่อนจะมาเรียนรู้การแต่งกายของคนไทยในสมัยก่อน จนพัฒนามาถึงชุดไทยพระราชนิยมในยุคปัจจุบัน มีการจัดแสดงผ้าไทย และชุดไทยที่ออกแบบผสมผสานระหว่างลวดลายแบบโบราณ การปรับประยุกต์ และการตัดเย็บแบบสมัยใหม่ ส่วนในจุดสุดท้ายก็มีการจัดแสดงชุดไทยพระราชนิยมทั้ง 8 แบบให้เห็นถึงความสวยงาม ความแตกต่างๆ และวาระโอกาสในการสวมใส่ที่เหมาะกับแต่ละชุด
แสดงชุดไทยพะราชนิยมแบบต่างๆ (ภาพ : พพ.ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าฯ)
เมื่อทำความรู้จักกับผ้าไทยกันไปบ้างแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะมาเรียนรู้การก่อกำเนิดของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ที่ทำให้คนไทยสามารถเลี้ยวตนเองได้อย่างยั่งยืนมากว่า 40 ปีแล้ว ภายในห้องจัดแสดงที่ 3 และ 4 นิทรรศการ “ศิลปาชีพ : พระหัตถ์ที่ทรงงานเพื่อแผ่นดิน”

มุมแรกที่ฉันเห็นจะเป็นการแสดงเส้นแบ่งเวลาเริ่มตั้งแต่การเสด็จเยี่ยมราษฎรครั้งแรกในปี พ.ศ.2498 จนกระทั่งการเสด็จเยี่ยมประชาชนที่ อ.นาหว้า จ.นครพนม ภายหลังเหตุการณ์ภัยพิบัติ แล้วทรงทอดพระเนตรเห็นชุดที่ชาวบ้านใส่มารับเสด็จว่าเป็นผ้าทอลายโบราณ ต่อมาได้มีพระราชเสาวนีย์ให้ตามหาผ้าทอไทย และผ้าลายโบราณมาเพื่อเป็นแบบในการทอผืนใหม่ และทรงกำชับว่า “แม้ผ้าถูเรือนก็อย่าละเลย”

นอกจากนี้ยังมีการจำลองการทำงานของ “คณะราตรี” ซึ่งเป็นคณะทำงานของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในการสำรวจความเป็นอยู่และพระราชทานความช่วยเหลือแก่ราษฎร และยังมีการจำลองโต๊ะทรงพระอักษรที่เต็มไปด้วยตัวอย่างลายผ้า และด้านสีต่างๆ ที่จะพระราชทานให้ชาวบ้านเป็นตัวอย่างในการทอ ซึ่งจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ทรงเอาใจใส่ราษฎรของพระองค์เป็นอย่างมาก
ลองสัมผัสผ้าทอแบบไทย (ภาพ : พพ.ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าฯ)
ที่อีกมุมหนึ่งของห้องจัดแสดง ก็มีวีดิทัศน์ “กว่าจะเป็น…ผ้าไหม” ที่ให้ความรู้ตั้งแต่การเริ่มต้นปลูกหม่อนเลี้ยงไหม จนเส้นไหมกลายมาเป็นผ้าทอแต่ละผืน และยังมีการแสดงผ้าทอแบบต่างๆ ของแต่ละภาคให้ได้สัมผัสถึงความแตกต่างทั้งสีสันและลวดลาย คราวนี้ฉันก็ได้รู้สักทีว่า เส้นไหมแท้ๆ นั้นนุ่มมือขนาดไหน

ผ้าทอของแต่ละภาค แต่ละจังหวัดนั้นมีวิธีการทอที่แตกต่างกันไป มีสีสัน ลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ นอกจากนั้น ผ้าทอและผ้าปักของชาวไทยภูเขาเผ่าต่างๆ ก็ยังมีความแตกต่างกันอีกด้วย โดยจะเห็นได้จากการจัดแสดงที่รวบรวมมาให้ดู และแม้จะเป็นผ้าของชาวไทยภูเขา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ก็ยังทรงนำมาประยุกต์ใช้ในการตัดเย็บฉลองพระองค์เช่นเดียวกับผ้าไทยแบบอื่นๆ

มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ นี้ ทำให้ชาวบ้านในชนบทมีรายได้ มีงานทำ ตามหัวใจหลักของโครงการคือ ให้คนทำในสิ่งที่ตัวเองทำอยู่แล้ว โดยไม่ต้องไปทำอย่างอื่น และยังเป็นการรักษาสืบต่อความงามของผ้าไทยไว้ให้อยู่ชั่วลูกสืบหลาน เหล่าสมาชิกศิลปาชีพจึงมีความในใจมากมายที่แสดงออกให้เห็นในวิดีทัศน์ต่างๆ
สำรวจสินค้ามูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ
หลังจากชมนิทรรศการทั้งหมดแล้ว ฉันก็กลับลงมาที่ชั้นล่าง เพื่อชมผลผลิตของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ในปัจจุบัน ที่ร้านของที่ระลึกของพิพิธภัณฑ์ นอกจากจะมีผ้าทอไทยขายแล้ว ก็ยังมีผลิตภัณฑ์อีกมากมายที่ได้มาจากผ้าไทย ล้วนแต่สวยงาม น่าซื้อหากลับไปฝากพ่อแม่พี่น้อง

ใกล้ๆ วันแม่แบบนี้ ใครยังไม่รู้ว่าจะจูงมือแม่ไปเที่ยวที่ไหน ฉันขอแนะนำให้มาเยือนยัง “พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” มากระชับความสัมพันธ์ระหว่างแม่ๆ ลูกๆ และยังมาซาบซึ้งกับสิ่งที่แม่ของแผ่นดินทรงทำเพื่อพวกเราชาวไทยอีกด้วย

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

“พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” ตั้งอยู่ ณ หอรัษฎากรพิพัฒน์ ในพระบรมมหาราชวัง (ระหว่างประตูวิมานเทเวศน์กับประตูวิเศษไชยศรี) เปิดทำการทุกวัน เวลา 09.00-16.30 น. (ปิดจำหน่ายบัตรเข้าชมเวลา 15.30 น.) ค่าเข้าชม ผู้ใหญ่ 150 บาท ผู้สูงอายุ(65 ปีขึ้นไป) 80 บาท นักเรียน-นักศึกษา,เด็กอายุ 12-18 ปี 50 บาท เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี เข้าชมฟรี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0-2225-8420, 0-2225-9430
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของผู้จัดการท่องเที่ยว Travel @ Manager on Facebook รับข่าวสารทั้งเรื่องกินเรื่องเที่ยวแบบรวดเร็วทันใจ และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!!

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น