xs
xsm
sm
md
lg

สิ้น‘กษัตริย์สีหนุ’สิ้นพลังชีวิตของ‘สถาบัน’ในกัมพูชา (ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: เซบาสเตียน สตรังจิโอ

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Departure of a king, death of an institution
By Sebastian Strangio
06/02/2013

พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพอันแสนอลังการและทุ่มเทอย่างเต็มที่ ซึ่งกัมพูชาจัดขึ้นเพื่อถวายแด่กษัตริย์นโรดมสีหนุ เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ ยังควรที่จะถือเป็นหลักหมายของการขึ้นสู่จุดสูงสุดแห่งความสำเร็จของพรรคประชาชนกัมพูชาที่เป็นรัฐบาลปกครองประเทศในปัจจุบัน หลังจากที่ได้ใช้ความพยายามมาเป็นเวลาหลายสิบปี เพื่อผูกพันธนาการสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่แต่กับพิธีกรรม และจองจำสถาบันนี้ด้วยคำสรรเสริญอันว่างเปล่า พร้อมๆ กันนั้นก็ถือสิทธิ์อ้างตนเองเป็นผู้พิทักษ์คุ้มครองมรดกของสมเด็จสีหนุแต่เพียงผู้เดียว ทั้งนี้หลังจากอำนวยการจัดการงานต่างๆ ในพระราชพิธีจนเสร็จสิ้นผ่านพ้นไปแล้ว เวลานี้นายกรัฐมนตรีฮุนเซน ก็สามารถที่จะจัดส่งสถาบันพระมหากษัตริย์ของกัมพูชาให้เข้าไปอยู่ในซอกหลืบที่ถูกลืมเลือนได้แล้ว

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

พนมเปญ – ด้วยเสียงคำรามยิงสลุตของปืนใหญ่ และด้วยเสียงเปรี้ยงป้างของพลุไฟ ชาวกัมพูชาพากันถวายบังคมลาเป็นครั้งสุดท้ายแด่พระบาทสมเด็จพระนโรดมสีหนุ พระวรราชบิดา และอดีตกษัตริย์ผู้เป็นที่รักยิ่งแห่งกัมพูชา เมื่อตอนช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ตลอดทั่วทั้งประเทศ ประชาชนต่างพากันหยุดนิ่งเงียบอยู่ในความสงบ ขณะที่พระบรมศพของสมเด็จนโรดมสีหนุได้รับการถวายพระเพลิงภายในพระเมรุมาศอันวิจิตรซึ่งสร้างขึ้นบนผืนดินว่างเปล่าที่อยู่ถัดจากกำแพงพระบรมมหาราชวัง พระราชอาคันตุกะต่างประเทศหลายสิบพระองค์และท่าน เป็นต้นว่า นายกรัฐมนตรี ฌอง-มาร์ก แอโรลต์ (Jean-Marc Ayrault) แห่งฝรั่งเศส และ เจ้าชายอาคิชิโนะ (Prince Akishino) แห่งญี่ปุ่น ได้เสด็จและเดินทางมาเป็นประจักษ์พยานการเสด็จสู่สวรรคาลัยของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงมีพระบารมีล้นพ้นองค์สุดท้ายของกัมพูชา ซึ่งได้เสด็จสวรรคตในกรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2012 ในขณะที่เหลืออีก 2 สัปดาห์ก็จะทรงมีพระชนมายุครบ 90 พรรษาพอดี

เมื่อถึงยามเย็นของวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พระเมรุมาศสูงตระหง่าน 47 เมตร และยอดแหลมประดับทองคำก็เปล่งประกายระยิบระยับกลางแสงไฟดวงน้อยนับพันนับหมื่นดวง ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระนโรดมสีหมุนี กษัตริย์องค์ปัจจุบัน พร้อมด้วย พระราชินีนโรดมมุนีนาถ สีหนุ พระวรราชมารดา ซึ่งต่างทรงฉลองพระองค์ชุดขาว ได้เสด็จพระราชดำเนินเข้าไปยังห้องด้านในของพระเมรุมาศ อีกครึ่งชั่วโมงต่อมา กษัตริย์สีโรดมสีหมุนีทรงจุดไฟพระราชทานเพลิงเป็นสัญลักษณ์แด่พระบรมศพที่อาบชุ่มด้วยน้ำมันจันทน์ของพระวรราชบิดา แล้วจากนั้นพระบรมศพของอดีตกษัตริย์ก็อยู่ท่ามกลางเปลวเพลิง กลุ่มควันโขมงลอยขึ้นสู่ท้องฟ้าพร้อมๆ กับเสียงโหยหวนจากดนตรีประโคมงานศพตามประเพณีของกัมพูชา หลังจากนั้นในวันรุ่งขึ้นจึงมีพระราชพิธีเก็บพระบรมอัฐิ โดยที่พระบรมราชสรีรางคารส่วนหนึ่งถูกอัญเชิญไปลอยในจุดบรรจบของทางน้ำสำคัญต่างๆ ของกรุงพนมเปญ ส่วนพระบรมราชสรีรางคารที่เหลือถูกอัญเชิญไปบรรจุไว้ในพระบรมโกศประดับเพชรภายในพระบรมมหาราชวัง

นี่คือการเสด็จล่วงลับแล้วของบุคคลผู้มีบุคลิกภาพอันโดดเด่นยิ่งใหญ่ที่สุดบุคคลหนึ่งในประวัติศาสตร์ และก็เป็นนักทำลายภาพลักษณ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดบุคคลหนึ่งในประวัติศาสตร์เช่นเดียวกัน เป็นการเสด็จล่วงลับแล้วของพระมหากษัตริย์ผู้ดูเหมือนไม่ทรงเต็มพระทัยที่จะขึ้นครองราชย์ ซึ่งตลอดพระชนม์ชีพได้ทรงพยายามนำพาประเทศชาติของพระองค์เดินทางฝ่าฟันไปในท่ามกลางความรุนแรงและความสับสนวุ่นวายของช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 กษัตริย์นโรดมสีหนุ ประสูติในกรุงพนมเปญเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 1922 ได้ทรงกำกับนำทางกัมพูชาตั้งแต่ช่วงการเปลี่ยนผ่านจากความเป็นอาณานิคมภายใต้จักรวรรดินิยมฝรั่งเศสมาเป็นประเทศเอกราช กระทั่งในระหว่างการเคลื่อนลงไปในกระแสห้วงน้ำวนอันปั่นป่วนแห่งสงครามกลางเมืองและระบอบเผด็จการอันโหดเหี้ยมของพวกคอมมิวนิสต์เขมรแดงในเวลาต่อมา ตลอดเส้นทางดังกล่าวนี้ พระองค์ทรงเข้ารับบทบาทต่างๆ อันชวนสับสนน่าสนเท่ห์ โดยตอนแรกทรงขึ้นเป็นกษัตริย์ และจากนั้นก็ทรงมีฐานะเป็นนายกรัฐมนตรี, ประมุขแห่งรัฐ, ผู้นำที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด, ประมุขในนามของระบอบคอมมิวนิสต์, ผู้นำที่อยู่ระหว่างการลี้ภัย, และท้ายที่สุดทรงเป็นพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ จวบจนถึงวาระที่พระองค์สละราชบัลลังก์ในปี 2004

ในวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ชาวกัมพูชาแต่งกายชุดขาวหลายแสนคนไปรวมตัวกันอยู่ในสวนสาธารณะแห่งหนึ่งที่อยู่ห่างออกมาไม่กี่ช่วงตึกจากพระบรมมหาราชวัง เพื่อเฝ้ารอคอยโอกาสที่จะได้เข้าถวายบังคมเป็นครั้งสุดท้ายแด่ “สมเด็จเอิว” (Samdech Eav เอิวเป็นภาษาเขมรแปลว่าพ่อ) ผู้เป็นที่รักยิ่งของพวกเขา “ฉันคิดถึงพระองค์มากเหลือเกิน” เป็นคำบอกกล่าวแสดงความรู้สึกของ เซม เยียม (Saem Yeam) หญิงชราวัย 77 ผู้ซึ่งเติบโตเป็นสาวในช่วงที่กัมพูชาอยู่ใต้การปกครองของกษัตริย์นโรดมสีหนุในทศวรรษ 1950 และทศวรรษ 1960 คุณยายเยียมพนมมือขณะหวนระลึกถึงระยะหลายๆ ปีในตอนนั้นซึ่งประเทศอยู่ในสภาพเสมือนเป็นเกาะแห่งสันติภาพก่อนที่จะจมถลำลงสู่ความปั่นป่วนวุ่นวายแห่งสงครามและการพลิกผันสับสน “ตอนนั้น ลูกๆ ของพระองค์ท่านทุกๆ คนต่างมีความสุขมากและได้เล่าเรียนอย่างดี ทุกๆ อย่างกำลังพัฒนาก้าวหน้าไป ทุกๆ อย่างสมบูรณ์เหมาะเจาะไปหมด” คุณยายบอก

แต่ในขณะที่ความอาลัยหวนคิดถึงอดีตกำลังหลั่งไหลออกมาอย่างทะลักทลายเช่นนี้ สถาบันพระมหากษัตริย์อันเก่าแก่หลายศตวรรษของกัมพูชาก็กำลังเผชิญอนาคตอันไร้ความแน่นอน นับแต่ปี 2004 เมื่อสมเด็จนโรดมสีหนุทรงสละราชบัลลังก์ แล้วสมเด็จนโรดมสีหมุนี พระราชโอรสเสด็จขึ้นครองราชย์แทน สถาบันกษัตริย์ของกัมพูชาก็ถูกผลักไสออกไปอยู่ข้างๆ โดยนายกรัฐมนตรีฮุนเซน อดีตคอมมิวนิสต์ที่ขึ้นปกครองกัมพูชาด้วยกำมืออันมั่นคงเหนียวแน่นตลอดระยะเวลา 28 ปีที่ผ่านมา พระราชพิธีพระบรมศพเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ นอกเหนือจากเป็นการส่งเสด็จพระวรราชบิดาผู้ทรงเป็นอดีตกษัตริย์ ให้เสด็จสู่สวรรคาลัยแล้ว สำหรับฮุนเซนและพรรคประชาชนกัมพูชา (Cambodian People's Party ใช้อักษรย่อว่า CPP)) ของเขาที่เป็นผู้ปกครองประเทศอยู่ในปัจจุบัน มันยังเป็นคล้ายๆ กับการวิ่งประกาศชัยชนะไปรอบสนามของนักกีฬาที่ชนะการแข่งขันแล้วอีกด้วย --นั่นคือเป็นจุดสูงสุดแห่งความสำเร็จภายหลังที่พรรคได้ใช้ความพยายามมาอย่างยาวนานเพื่อผูกพันธนาการสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่แต่กับพิธีกรรม และจองจำสถาบันนี้ด้วยคำสรรเสริญอันว่างเปล่า พร้อมๆ กันนั้นก็ถือสิทธิ์อ้างตนเองเป็นผู้พิทักษ์คุ้มครองมรดกของสมเด็จนโรดมสีหนุแต่เพียงผู้เดียว

นับตั้งแต่ปี 1979 เมื่อพรรคประชาชนกัมพูชา (เดิมรู้จักกันในชื่อว่า พรรคประชาชนปฏิวัติกัมพูชา Kampuchean People's Revolutionary Party) ขึ้นครองอำนาจด้วยการแต่งตั้งของเวียดนาม ภายหลังกองทัพของเวียดนามเข้าโค่นล้มระบอบปกครองเขมรแดงแล้ว ความนิยมชมชื่นในสมเด็จนโรดมสีหนุอย่างไม่เสื่อมคลายของประชาชนชาวกัมพูชา ก็ได้กลายเป็นภัยคุกคามอันสลัดไม่หลุดเสียที ต่ออำนาจการปกครองของพรรคนี้เรื่อยมา ระหว่างช่วงทศวรรษ 1980 เมื่อสมเด็จนโรดมสีหนุทรงเข้าเป็นส่วนหนึ่งของแนวร่วมต่อต้านซึ่งทำการสู้รบกับระบอบปกครองในพนมเปญ สื่อมวลชนในความควบคุมของพรรคประชาชนกัมพูชา ได้ประณามอดีตกษัตริย์พระองค์นี้ว่าเป็น พวกปฏิกิริยาศักดินา “จอมขูดรีด” ("exploitative" feudal reactionary) ซึ่งเป็นศัตรูกับผลประโยชน์ของชนชั้นผู้ใช้แรงงาน แต่แล้วทัศนคติของพรรคนี้เริ่มแปรเปลี่ยนเมื่อการเจรจาสันติภาพมีความคืบหน้ายิ่งขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงปลายทศวรรษ 1980 กระทั่งในเดือนพฤศจิกายน 1991 ตอนที่สมเด็จนโรดมสีหนุเสด็จนิวัติกัมพูชาหลังจากการลี้ภัยในต่างแดน ในช่วงเวลาไม่นานนักหลังจากมีการลงนามในข้อตกลงสันติภาพกรุงปารีส (Paris Peace Accords) ฮุนเซนได้โดยเสด็จในรถยนต์พระที่นั่งที่แล่นเข้าไปในนครหลวงแห่งนี้ท่ามกลางฝูงชนที่แสดงความปลาบปลื้มยินดีอย่างเหลือประมาณ ในปี 1992 หนังสือพิมพ์ประชาชน (Pracheachon) กระบอกเสียงของพรรคประชาชนกัมพูชา ได้ยกย่องสรรเสริญสมเด็จนโรดมสีหนุ และบรรยายให้เห็นว่าพรรคประชาชนกัมพูชามีฐานะเป็นเสมือน “น้องชายคนเล็ก” ของระบอบปกครองในยุคก่อนของสมเด็จนโรดมสีหนุ

**ภายในกรงทอง**

อย่างไรก็ตาม ในเวลาเดียวกันนั้น พรรคประชาชนกัมพูชาก็พยายามหาทางจำกัดพระราชประสงค์นานาขององค์ราชันย์ผู้นิวัติกลับคืนประเทศ ภายหลังที่ทรงได้รับราชาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์อีกคำรบหนึ่งในเดือนกันยายน 1993 แล้ว พรรคนี้ใช้กลวิธีต่างๆ มากมายเพื่อจำกัดให้สมเด็จนโรดมสีหนุทรงมีบทบาทอยู่เพียงเท่าที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประเทศให้ไว้ โดยที่รัฐธรรมนูญนี้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าพระมหากษัตริย์ทรงขึ้นครองราชย์แต่หาได้ทรงมีอำนาจในการปกครองไม่ “ตั้งแต่ตอนเริ่มต้นทีเดียว พรรคประชาชนกัมพูชาก็มองเห็นอันตรายหากยอมปล่อยให้กษัตริย์พระองค์นี้ทรงครองราชย์อย่างเสรี ทั้งนี้เนื่องจากความนิยมชมชื่นในพระองค์ที่มีอยู่ในหมู่ประชากรชาวชนบท” จูลิโอ เจลเดรส (Julio Jeldres) นักเขียนพระราชประวัติอย่างเป็นทางการของสมเด็จนโรดมสีหนุ กล่าวแจกแจง “ด้วยเหตุนี้เองตั้งแต่ตอนเริ่มต้นแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างจึงถูกควบคุมเอาไว้อย่างแน่นหนา”

ทั้งนี้ ไม่กี่วันก่อนพระราชพิธีราชาภิเษกของกษัตริย์นโรดมสีหมุนี ในวันที่ 24 กันยายน 2004 คง ซามอล (Kong Samol) นักปฐพีวิทยา (agronomist) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องดินที่ผ่านการศึกษาในอเมริกา และปัจจุบันเป็นกรรมการคนหนึ่งของคณะกรรมการกรมการเมือง (Politburo) ของพรรคประชาชนกัมพูชา ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีดูแลพระบรมมหาราชวัง (minister of the Royal Palace) อันเป็นตำแหน่งที่เขายังครองอยู่จวบจนกระทั่งถึงเวลานี้ แหล่งข่าวหลายรายที่ใกล้ชิดกับพระราชวังบอกว่า รัฐมนตรีผู้นี้คอยกำกับให้กษัตริย์นโรดมสีหมุนี ต้องทรงอยู่ใต้การตรวจตราสอดส่องอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นเรื่อยๆ และคอยป้องกันกีดกันมิให้พระองค์ได้ทรงพบกับประชาชน หรือได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปทั่วประเทศอย่างเสรี

เซบาสเตียน สตรังจิโอ เป็นนักหนังสือพิมพ์ซึ่งพำนักอยู่ในพนมเปญ โดยทำหน้าที่รายงานข่าวเกี่ยวกับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ปัจจุบันเขากำลังเขียนหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งจะพูดถึงกัมพูชายุคใหม่ ทั้งนี้สามารถติดต่อเขาได้ทางอีเมลที่ sebastian.strangio@gmail.com

(อ่านต่อตอน2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
สิ้น‘กษัตริย์สีหนุ’สิ้นพลังชีวิตของ‘สถาบัน’ในกัมพูชา (ตอนจบ)
พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพอันแสนอลังการและทุ่มเทอย่างเต็มที่ ซึ่งกัมพูชาจัดขึ้นเพื่อถวายแด่กษัตริย์นโรดมสีหนุ เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ ยังควรที่จะถือเป็นหลักหมายของการขึ้นสู่จุดสูงสุดแห่งความสำเร็จของพรรคประชาชนกัมพูชาที่เป็นรัฐบาลปกครองประเทศในปัจจุบัน หลังจากที่ได้ใช้ความพยายามมาเป็นเวลาหลายสิบปี เพื่อผูกพันธนาการสถาบันพระมหากษัตริย์ให้อยู่แต่กับพิธีกรรม และจองจำสถาบันนี้ด้วยคำสรรเสริญอันว่างเปล่า พร้อมๆ กันนั้นก็ถือสิทธิ์อ้างตนเองเป็นผู้พิทักษ์คุ้มครองมรดกของสมเด็จสีหนุแต่เพียงผู้เดียว ทั้งนี้หลังจากอำนวยการจัดการงานต่างๆ ในพระราชพิธีจนเสร็จสิ้นผ่านพ้นไปแล้ว เวลานี้นายกรัฐมนตรีฮุนเซน ก็สามารถที่จะจัดส่งสถาบันพระมหากษัตริย์ของกัมพูชาให้เข้าไปอยู่ในซอกหลืบที่ถูกลืมเลือนได้แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น