xs
xsm
sm
md
lg

‘เอียง ซารี’ผู้นำเขมรแดงสิ้นชีวิตไปอีกคน (ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: เซบาสเตียน สตรังจิโอ

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Death of a killer in Cambodia
By Sebastian Strangio
14/03/2013

เอียง ซารี รัฐมนตรีต่างประเทศของกัมพูชาในยุคการปกครองฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของเขมรแดง เสียชีวิตในวัย 87 ปีที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงพนมเปญ ก่อนที่ศาลพิเศษซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติ จะทันเสร็จสิ้นการพิจารณาคดีและเขียนคำพิพากษาตัดสินความผิด จากการที่เขามีบทบาทอยู่ในอาชญากรรมอันนองเลือดของระบอบปกครองดังกล่าว เรื่องนี้ถือเป็นความผิดพลาดล้มเหลวสำหรับศาลแห่งนี้ ซึ่งกำลังประสบปัญหาทั้งการถูกกล่าวหาว่ามีการแทรกแซงทางการเมือง, งบประมาณค่าใช้จ่ายกำลังร่อยหรอถึงขั้นวิกฤต, และจำเลยเขมรแดงอาวุโสที่เหลืออยู่อีก 2 คนก็มีสุขภาพทรุดโทรมเต็มที

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

พนมเปญ – เอียง ซารี (Ieng Sary) สมาชิกผู้เจนจัดของขบวนการคอมมิวนิสต์เขมรแดง (Khmer Rouge) ของกัมพูชา และหนึ่งในจำนวนผู้นำไม่กี่คนของขบวนการนี้ ซึ่งถูกนำตัวขึ้นไต่สวนพิจารณาคดีสำหรับอาชญากรรมต่างๆ ที่ได้กระทำไปในระหว่างการครองอำนาจของระบอบปกครองนี้ในช่วงปี 1975-1979 ได้ถึงแก่กรรมแล้วเมื่อตอนเช้าวันพฤหัสบดี (14 มี.ค.) สิริอายุได้ 87 ปี ขณะที่สิ้นชีพนี้ เขากำลังตกเป็นจำเลยถูกพิจารณาคดีโดยศาลพิเศษภายในศาลยุติธรรมแห่งกัมพูชา (Extraordinary Chambers in the Courts of Cambodia ใช้อักษรย่อว่า ECCC) อันเป็นศาลพิเศษที่สนับสนุนโดยสหประชาชาติ เพื่อทำหน้าที่พิจารณาความผิดของพวกเขมรแดงโดยเฉพาะ ทั้งนี้นอกจาก เอียง ซารี แล้ว ยังมีผู้นำอาวุโสของเขมรแดงอีก 2 คน ซึ่งตกเป็นจำเลยในคดีเดียวกันนี้ด้วย

ทางด้านศาลพิเศษ ECCC ก็ได้ออกคำแถลงยืนยันการเสียชีวิตของ เอียง ซารี ในตอนเช้าวันพฤหัสบดีนั้นเอง สำหรับสาเหตุการตายของเขายังไม่เป็นที่ชัดเจนในตอนนี้ แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าเขาเคยป่วยหนักจากอาการความดันโลหิตสูงและปัญหาเกี่ยวกับหัวใจมาก่อน และได้ถูกส่งเข้าไปเยียวยาที่โรงพยาบาลในกรุงพนมเปญแห่งหนึ่งเมื่อวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา

การเสียชีวิตของเอียง ซารี บังเกิดขึ้นก่อนที่จะทันมีคำพิพากษาตัดสินใดๆ ในคดีของเขา สำหรับผู้คนจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะพวกที่ตกเป็นเหยื่อของระบอบเขมรแดงตลอดจนญาติมิตรพี่น้อง ความตายของเขาเหมือนกับเป็นใบอนุญาตทำให้เขาหลุดรอดจากความรับผิดชอบในอาชญากรรมต่างๆ ซึ่งเขาถูกกล่าวหาว่าได้กระทำในระหว่างช่วงเวลาหลายๆ ปีแห่งการครองอำนาจอย่างนองเลือดของเขมรแดง เอียง ซารี นั้นเป็นสมาชิกคนสำคัญมากคนหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา (Communist Party of Kampuchea ใช้อักษรย่อว่า CPK) เคียงข้างกับ โปล โปต (Pol Pot หรือ พล พต) คู่เขยของเขาซึ่งเป็นหัวหน้าใหญ่ของเขมรแดง ก่อนที่พรรคนี้จะยาตราทัพเข้าสู่กรุงพนมเปญได้สำเร็จในเดือนเมษายน 1975 และหลังจากที่พวกเขายึดอำนาจได้สำเร็จแล้ว เขมรแดงได้ปฏิบัติต่อประชาชนของกัมพูชาเสมือนกับเป็นเพียงวัตถุดิบที่สามารถจับจ่ายใช้สอยให้หมดเปลืองไปได้ โดยที่พวกเขาวางแผนการที่จะอาศัยประชาชนเหล่านี้ ในการบากบั่นพยายามสร้างสังคมอุดมคติแบบชนบท ซึ่งมีความบริสุทธิ์ผุดผ่องอย่างชนิดไม่มีอะไรโดดเด่นยิ่งกว่า เป็นรัฐการเกษตรในความฝัน ซึ่งนามของรัฐแห่งนี้จะ “ได้รับการจารึกเอาไว้ด้วยอักษรสีทองในประวัติศาสตร์โลก” ภายใต้ระบอบปกครองของเขมรแดง เงินตราถูกยกเลิก เมืองต่างๆ ถูกปล่อยทิ้งร้าง และประชากรทั้งหมดถูกกวาดต้อนให้ไปทำงานตามคอมมูนชนบทต่างๆ อันมีขนาดใหญ่โตกว้างขวาง

ก่อนหน้าที่เขมรแดงจะถูกโค่นล้มโดยกองกำลังฝ่ายต่อต้านซึ่งนำโดยกองทหารเวียดนามในเดือนมกราคม 1979 นโยบายต่างๆ ของระบอบปกครองนี้ได้ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปรวมประมาณ 1.7 ล้านคน ทั้งจากความอดอยาก, การประหารเข่นฆ่า, และการบังคับให้ทำงานหนักเกินกำลัง

เอียง ซารี เกิดเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 1925 ในบริเวณภาคใต้ของเวียดนาม โดยที่มีชื่อตอนถือกำเนิดว่า คิม ตรัง (Kim Trang) ในตอนต้นทศวรรษ 1950 เขาเป็นหนึ่งในกลุ่มนักศึกษาชาวกัมพูชากลุ่มเล็กๆ ที่ได้รับทุนเล่าเรียนรัฐบาลให้ไปศึกษาในประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเวลานั้นเป็นเจ้าอาณานิคมปกครองกัมพูชาแบบเมืองขึ้น ในฝรั่งเศสนั่นเองที่เขาได้รู้จักและมุ่งมั่นเลื่อมใสกับแนวความคิดต่างๆ ของคอมมิวนิสต์ รวมทั้งยังเป็นสถานที่ซึ่งเขาได้พบกับนักศึกษาหนุ่มผู้มีนามว่า ซาลอต ซาร์ (Saloth Sar) ผู้ซึ่งต่อมาได้หันไปใช้ชื่อจัดตั้ง (nom de guerre) ที่แสนจะฉาวโฉ่ว่า โปล โปต มิตรภาพของพวกเขาทั้งคู่ยิ่งเพิ่มความแนบแน่นแข็งแกร่งขึ้นอีก เมื่อพวกเขาได้พบและแต่งงานกับพี่น้อง 2 สาว ชื่อ เคียว ปนเนียรี (Khieu Ponnary คนพี่สาวซึ่งเป็นภรรยาของ โปล โปต) กับ เคียว ธีริทธ์ (Khieu Thirith คนน้องสาวซึ่งเป็นภรรยาของ เอียง ซารี) ต่อมา หลังจากที่พวกเขาเดินทางกลับมายังกัมพูชาแล้ว ทั้ง 4 คนก็เดินหน้าก่อตั้งแกนนำวงในของขบวนการคอมมิวนิสต์กัมพูชา

เอียง ซารี นั้นเดินทางกลับสู่กัมพูชาในปี 1957 และกลายเป็นสมาชิกคนหนึ่งของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชาในปี 1960 เฉกเช่นเดียวกับชาวคอมมิวนิสต์กัมพูชาคนอื่นๆ จำนวนมากในเวลานั้น เอียง ซารี หาอาชีพบังหน้าด้วยการเป็นอาจารย์สอนอยู่ในโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งหนึ่งในเมืองหลวงพนมปญ ในขณะที่เข้าร่วมกิจกรรมปิดลับทั้งหลายที่มุ่งต่อต้านระบอบปกครองของสมเด็จนโรดมสีหนุ ทั้งนี้สมเด็จนโรดมสีหนุทรงประสบความสำเร็จในการเป็นหัวหอกของการต่อสู้ดิ้นรนจนกระทั่งกัมพูชาได้เป็นเอกราชจากการปกครองของฝรั่งเศส อย่างไรก็ดี ระบอบปกครองของพระองค์ก็ต้องเผชิญกับการคัดค้านต่อต้านจากพวกคอมมิวนิสต์ที่ขณะนั้นยังมีจำนวนนิดเดียว และพระองค์เองเป็นผู้ให้สมญานามอันกลายเป็นที่รู้จักเรียกขานกันอย่างกว้างขวางแก่คนกลุ่มนี้ว่า “เขมรแดง” (Khmers Rouges) ระหว่างที่กองกำลังความมั่นคงของสมเด็จสีหนุดำเนินการปราบปรามกวาดล้างคอมมิวนิสต์อย่างดุเดือดเข้มข้นเมื่อปี 1963 เอียง ซารี พร้อมด้วยคู่เขย โปล โปต ได้ทิ้งกรุงพนมเปญไปอยู่ในเขตป่าเขาไกลโพ้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของกัมพูชา

อย่างไรก็ตาม ในที่สุดแล้วเขมรแดงก็สามารถขึ้นครองอำนาจได้ เมื่อ พล.อ.ลอน นอล (Lon Nol) ภายใต้การสนับสนุนของสหรัฐฯ ได้เข้ายึดอำนาจโค่นล้มสมเด็จสีหนุในปี 1970 แล้วเขมรแดงก็ร่วมมือกับสมเด็จสีหนุที่ลี้ภัยอยู่ต่างแดน ในการทำสงครามกลางเมืองอย่างนองเลือดกับระบอบปกครองลอน นอล จนกระทั่งพวกเขาได้ชัยชนะในปี 1975 นับตั้งแต่ที่เขมรแดงขึ้นครองอำนาจเมื่อปี 1975 ไปจนกระทั่งถูกกองกำลังต่อต้านที่นำโดยกองทหารเวียดนามโค่นล้มในตอนต้นปี 1979 เอียง ซารี มีตำแหน่งเป็นสมาชิกถาวร (permanent member) คนหนึ่ง ของคณะกรรมการประจำแห่งพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา (CPK's Standing Committee) ซึ่งทำหน้าที่เป็นเสมือนศูนย์รวมประสาทของระบอบปกครองเขมรแดง อีกทั้งยังทำหน้าที่เป็นรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศไปด้วย จากการดำรงตำแหน่งหลังนี้เอง ทำให้เขามีสายสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับพวกผู้นำในประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้อุปถัมภ์ต่างชาติรายหลักของเขมรแดง เขารักษาความสัมพันธ์ดังกล่าวนี้เอาไว้อย่างทนุถอนม โดยที่มีความใกล้ชิดสนิทสนมเป็นพิเศษกับพวก “แก๊ง 4 คน” ซึ่งเป็นกลุ่มหัวรุนแรงชาวจีนที่ก้าวผงาดขึ้นมามีอำนาจอิทธิพลมากมายในระหว่างการปฏิวัติวัฒนธรรมในจีนเมื่อช่วงทศวรรษ 1960 และ 1970 ตามคำบอกเล่าของนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ นายัน จันดา (Nayan Chanda) ตอนที่ เอียง ซารี ได้รับแจ้งข่าวคราวการถูกจับกุมของแก๊ง 4 คน ในเดือนตุลาคม 1976 เขาถึงกับอยู่ในอาการช็อก ได้แต่พูดพึมพำว่า “ไม่จริง ไม่มีทางเป็นจริงไปได้ พวกเขาเป็นคนดีนะ”

ถึงแม้เขาพยายามยืนกรานในเวลาต่อมาว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ที่ไม่รู้ไม่เห็นอะไรกับความเหี้ยมโหดของระบอบปกครองเขมรแดง แต่พวกผู้เชี่ยวชาญต่างเชื่อว่า เอียง ซารี มีความเกี่ยวข้องพัวพันอย่างใกล้ชิดกับการออกคำสั่งให้ทรมานและสังหารหมู่พวกที่ต้องสงสัยว่าเป็นศัตรูจากภายใน ทั้งนี้ เพียงไม่นานหลังจากระบอบเขมรแดงขึ้นเถลิงอำนาจ เอียง ซารี ได้ออกมาแถลงเรียกร้องต่อสาธารณชน ขอให้พวกปัญญาชนชาวกัมพูชาที่พำนักอาศัยอยู่ในต่างแดน เดินทางกลับบ้านมาช่วยกันบูรณะสร้างสรรค์ประเทศชาติขึ้นมาใหม่ ครั้นเมื่อคนเหล่านั้นจำนวนไม่น้อยกลับกันมาจริงๆ พวกเขาก็ถูกจับกุมและถูกนำไปกักขังในเรือนจำต่างๆ โดยได้รับการปฏิบัติอย่างโหดร้ายทารุณจนหลายๆ คนเสียชีวิตในเวลาต่อมา ยุค ชะอัง (Youk Chhang) ผู้อำนวยการของศูนย์จัดทำเอกสารแห่งกัมพูชา (Documentation Center of Cambodia ใช้อักษรย่อว่า DC-Cam) ซึ่งทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับอาชญากรรมต่างๆ ของพวกเขมรแดง ระบุยืนยันว่ามีหลักฐานจำนวนมากมายซึ่งเป็นข้อพิสูจน์อย่างชัดเจนว่า เอียง ซารี มีความเกี่ยวข้องพัวพันอย่างใกล้ชิด หรืออย่างน้อยที่สุดก็ทราบเรื่องเป็นอันดี เกี่ยวกับการกำจัดกวาดล้างและการเข่นฆ่าสังหารในระหว่างปี 1975-1979 “มีเอกสารเยอะแยะมากมายที่แสดงให้เห็นว่า เขาเป็นผู้รับผิดชอบ หรือมีความตระหนักรับรู้ หรือมีความเกี่ยวข้องพัวพันโดยตรงหรือโดยทางอ้อมในกรณีจำนวนมากที่เหยื่อหายตัวไป หรือถูกประหารเข่นฆ่า” เขากล่าว

เซบาสเตียน สตรังจิโอ เป็นนักหนังสือพิมพ์ซึ่งพำนักอยู่ในพนมเปญ โดยทำหน้าที่รายงานข่าวเกี่ยวกับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ปัจจุบันเขากำลังเขียนหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งจะพูดถึงกัมพูชายุคใหม่ ทั้งนี้สามารถติดต่อเขาได้ทางอีเมลที่ sebastian.strangio@gmail.com

(อ่านต่อตอน2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
กำลังโหลดความคิดเห็น