(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)
Death of a killer in Cambodia
By Sebastian Strangio
14/03/2013
เอียง ซารี รัฐมนตรีต่างประเทศของกัมพูชาในยุคการปกครองฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของเขมรแดง เสียชีวิตในวัย 87 ปีที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงพนมเปญ ก่อนที่ศาลพิเศษซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติ จะทันเสร็จสิ้นการพิจารณาคดีและเขียนคำพิพากษาตัดสินความผิด จากการที่เขามีบทบาทอยู่ในอาชญากรรมอันนองเลือดของระบอบปกครองดังกล่าว เรื่องนี้ถือเป็นความผิดพลาดล้มเหลวสำหรับศาลแห่งนี้ ซึ่งกำลังประสบปัญหาทั้งการถูกกล่าวหาว่ามีการแทรกแซงทางการเมือง, งบประมาณค่าใช้จ่ายกำลังร่อยหรอถึงขั้นวิกฤต, และจำเลยเขมรแดงอาวุโสที่เหลืออยู่อีก 2 คนก็มีสุขภาพทรุดโทรมเต็มที
*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*
(ต่อจากตอนแรก)
**สหายร่วมรบของจีน**
หลังจากระบอบปกครองเขมรแดงถูกโค่นล้มไปในเดือนมกราคม 1979 เอียง ซารี ยังคงรักษาสายสัมพันธ์การเชื่อมโยงอันใกล้ชิดกับประเทศจีนเอาไว้ได้ เมื่อตอนที่ เอียง ซารี ในสภาพเท้าเปล่า ข้ามเข้าไปในเขตประเทศไทยในเวลา 4 วันภายหลังกรุงพนมเปญตกอยู่ในเงื้อมมือของกองกำลังอาวุธที่หนุนหลังโดยกองทัพเวียดนามนั้น ปรากฏว่ามีพวกเจ้าหน้าที่จากสถานเอกอัครราชทูตจีนในกรุงเทพฯไปรอต้อนรับเขาอยู่ที่นั่น พร้อมกับเสื้อผ้าสะอาดๆ และรองเท้าคู่ใหม่ เพื่อใช้แทนรองเท้าแตะคู่ที่เขาทำหายในระหว่างการถอยออกมาอย่างสับสนวุ่นวายจากเมืองหลวงของกัมพูชา จากนั้นเขาก็ถูกนำตัวขึ้นเครื่องเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพไทย เดินทางเข้าสู่กรุงเทพฯ ก่อนจะบินต่อไปยังกรุงปักกิ่ง
ตลอดช่วงทศวรรษ 1980 จีนยังคงให้การหนุนหลังพวกเขมรแดงที่ถูกโค่นล้ม ในสงครามกลางเมืองซึ่งต่อสู้กับระบอบปกครองใหม่ในกรุงพนมเปญที่เวียดนามแต่งตั้งขึ้นมา ถึงเดือนสิงหาคม 1979 หลังการขับไล่เขมรแดงผ่านพ้นไป 8 เดือน รัฐบาลใหม่ได้จัดให้มีการพิจารณาคดีในศาลปฏิวัติของประชาชน ในแบบที่จำเลยมิได้อยู่ปรากฏตัว โดยศาลแห่งนี้ตัดสินว่า เอียง ซารี และ โปล โปต มีความผิดฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และพิพากษาให้รับโทษประหารชีวิต
เอียง ซารี ซึ่งไปหลบซ่อนตัวอยู่ในป่าเขาทางภาคตะวันตกของกัมพูชา ยังคงแสดงบทบาทเป็นรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศของระบอบปกครองที่ถูกโค่นล้มแล้วต่อไปอีกจวบจนกระทั่งถึงปี 1982 เมื่อเขาส่งมอบหน้าที่นี้ไปให้แก่ เคียว สมพร (Khieu Samphan หรือ เขียว สัมพัน) เพื่อนร่วมงานของเขาซึ่งเคยดำรงตำแหน่งประมุขแห่งรัฐในยุคระบอบปกครองเขมรแดง นับแต่นั้นมา เอียง ซารี ก็มิได้มีตำแหน่งอย่างเป็นทางการใดๆ ในขบวนการนี้อีก แต่ยังคงเป็นผู้ควบคุมเรื่องการเงินของเขมรแดง ในเวลาต่อมา เอียง ซารี ได้กลายเป็นเจ้าพ่อแห่งเมืองไพลิน (Pailin) เมืองเล็กๆ เต็มไปด้วยฝุ่นแต่กำลังรุ่งเรืองเฟื่องฟูมาก เมืองนี้ตั้งอยู่ในเขตเขาบริเวณแนวชายแดนติดต่อกับประเทศไทยซึ่งอุดมไปด้วยพลอย และเอียง ซารีก็สามารถรวบรวมสะสมทรัพย์สินเงินทองเข้าพกเข้าห่อส่วนตัวได้เป็นจำนวนมหาศาล
อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงช่วงที่มีการลงนามในข้อตกลงสันติภาพกรุงปารีส (Paris Peace Accords) ในปี 1991อิทธิพลของเขาในขบวนการเขมรแดงก็เริ่มต้นจางหายไป ความสำคัญอันสูงส่งที่เขาเคยได้รับอยู่ในระหว่างทศวรรษ 1980 สืบเนื่องจากการที่เขามีสายสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับปักกิ่งกลับเหือดหายไป หลังจากจีนตัดความช่วยเหลือที่ให้แก่เขมรแดงในปี 1991 การที่เขาแสดงจุดยืนเรียกร้องให้เขมรแดงร่วมไม้ร่วมมือกับกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติซึ่งเดินทางมาถึงกัมพูชาเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามข้อตกลงสันติภาพกรุงปารีสในระหว่างปี 1992-1993 บวกกับทรัพย์สินความมั่งคั่งของเขาซึ่งเห็นกันอย่างชัดเจนว่าได้มาด้วยวิธีการที่ไม่มีความเป็นนักปฏิวัติเลย ล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดความร้าวฉานในความสัมพันธ์ซึ่งเขามีอยู่กับ โปล โปต ผู้ซึ่งพยายามที่จะนำเอาดินแดนในปกครองของ เอียง ซารี กลับเข้าไปอยู่ในความควบคุมของตนเองให้มากยิ่งขึ้น
ถึงเดือนสิงหาคม 1996 เอียง ซารี ตัดสินใจแปรพักตร์หันไปอยู่กับฝ่ายรัฐบาล โดยที่นำเอากองทหารเขมรแดงหลายพันคนออกมาพร้อมกับตัวเขาด้วย ซึ่งกลายเป็นการเร่งรัดให้ขบวนการนี้เดินไปสู่จุดจบ สถานีวิทยุของเขมรแดงได้ประณามเขาว่าเป็น “คนทรยศ” และกล่าวหาเขาว่าเบียดบังเอาเงินทองของเขมรแดงไปหลายๆ ล้าน อีกทั้งกำลังร่วมมือกับ “คนเวียดนามผู้เป็นนักรุกราน, นักผนวกดินแดน, และนักกำจัดกวาดล้างเชื้อชาติ” การแปรพักตร์ของ เอียง ซารี คือการส่งมอบดินแดนที่มั่นสำคัญของเขมรแดง 2 แห่ง คือ ไพลิน และ มาลัย (Malai) ให้แก่ฝ่ายรัฐบาล หลังจากที่รัฐบาลได้เคยเปิดการโจมตีที่มั่นทั้งสองแห่งนี้มาหลายปีทว่าประสบความล้มเหลวไม่เคยได้ชัยชนะที่เด็ดขาดมาโดยตลอด
เพื่อเป็นรางวัลตอบแทนสำหรับการแปรพักตร์ของเขา เอียง ซารี ได้รับนิรโทษกรรมซึ่งเป็นการลบล้างโทษประหารชีวิตที่ศาลในปี 1979 เคยพิพากษาเอาไว้ หลังจากนั้นมา เอียง ซารี ก็ใช้ชีวิตอย่างสุขสบาย โดยแบ่งเวลาไปอยู่ที่วิลล่าอันมีต้นไม้ร่มรื่นในกลางกรุงพนมเปญบ้าง และที่บ้านพักในเมืองไพลินบ้าง สำหรับที่ไพลินนั้นเขายังคงมีอิทธิพลอย่างใหญ่หลวงในหมู่ประชาชนท้องถิ่น ดังเห็นได้จากการที่ เอียง วุธ (Ieng Vuth) บุตรชายของเขาสามารถขึ้นตำแหน่งเป็นรองผู้ว่าการของไพลิน
ถึงแม้ เอียง ซารี พยายามอ้างมานานแล้วว่าเขาเป็นคนบริสุทธิ์ อีกทั้งหยิบยกเหตุผลต่างๆ มาอธิบายภายหลังจากที่เขาแปรพักตร์ว่า โปล โปต “คือสถาปนิกแต่เพียงผู้เดียว และเป็นสถาปนิกสูงสุด ซึ่งได้จัดวางแนวทาง, ยุทธศาสตร์, และยุทธวิธี ของพรรค” แต่ในที่สุดความยุติธรรมก็จู่โจมเข้าถึงตัวเขาจนได้ ในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2007 เอียง ซารี และ เอียง ธีริทธ์ ภรรยาของเขา ซึ่งเคยเป็นรัฐมนตรีฝ่ายกิจการสังคมของระบอบเขมรแดง ได้ถูกจับกุมตัว และถูกนำขึ้นพิจารณาคดีในศาล ECCC
เอียง ซารี ถูกตั้งข้อหาว่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (นี่เป็นครั้งที่สองแล้วที่เขาเจอข้อหานี้), กระทำอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ, และล่วงละเมิดอย่างร้ายแรงต่ออนุสัญญาเจนีวาปี 1949 คดีของเขา ซึ่งเขาตกเป็นจำเลยร่วมกับ นวน เจีย (Nuon Chea), เคียว สมพร, และ เอียง ธีริทธ์ ภรรยาของเขา เริ่มต้นขึ้นในปี 2011 ทว่านับแต่นั้นมา การพิจารณาคดีก็ดำเนินไปอย่างติดๆ ขัดๆ โดยถูกคุกคามไม่หยุดไม่หย่อนจากปัญหาข้อโต้แย้งเรื่องค่าใช้จ่าย และการที่จำเลยล้วนแต่อยู่ในวัยสูงอายุ เมื่อปลายปีที่แล้ว ศาล ECCC ตัดสินว่า เอียง ธีริทธ์ อยู่ในสภาพที่ไม่เหมาะสมแก่การถูกพิจารณาคดี เนื่องจากเธอกำลังล้มป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์ และได้รับการปล่อยตัวไป
การเสียชีวิตของ เอียง ซารี คือความผิดพลาดล้มเหลวของศาล ECCC โดยแท้ ในเมื่อจำเลยอีก 2 คนที่ยังเหลืออยู่ คือ นวน เจีย และ เคียว สมพร ต่างก็มีสุขภาพอันย่ำแย่เช่นกัน อีกทั้งเมื่อไม่นานมานี้ศาลแห่งนี้ยังประสบปัญหาหนักหน่วงในเรื่องขาดเงินทุนงบประมาณดำเนินงาน รวมทั้งถูกกล่าวหาว่ามีการแทรกแซงทางการเมือง แต่ถึงแม้ต้องเผชิญกับความท้าทายต่างๆ เหล่านี้ ยุค ชะอัง ผู้อำนวยการศูนย์จัดทำเอกสารแห่งกัมพูชา ก็ยังมีความเห็นว่า ศาลพิเศษแห่งนี้ ตลอดจนประชาคมระหว่างประเทศที่ให้การสนับสนุนศาลแห่งนี้อยู่ ไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากต้องเสาะแสวงหาความยุติธรรมกันต่อไป “ศาลยังต้องเดินหน้าต่อ” เขากล่าว “สหประชาชาติและรัฐบาลกัมพูชาได้ให้คำมั่นสัญญาแล้วว่าจะลงโทษผู้ที่กระทำความผิดข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ บรรดาเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายทั้งหลายนั้นสมควรที่จะได้เห็นการปิดคดี เหยื่อเหล่านี้สมควรที่จะได้เห็นกระบวนการนี้ดำเนินไปจนเสร็จสิ้นสมบูรณ์”
หมายเหตุผู้แปล
[1] ศาลพิเศษภายในศาลยุติธรรมแห่งกัมพูชา (Extraordinary Chambers in the Courts of Cambodia ใช้อักษรย่อว่า ECCC) หรือที่นิยมเรียกขานกันว่า ศาลพิเศษเขมรแดง (Khmer Rouge Tribunal) เป็นศาลที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อไต่สวนพิจารณาความผิดของพวกสมาชิกอาวุโสที่สุดและพวกมีความรับผิดชอบมากที่สุดของขบวนการเขมรแดง ถึงแม้ศาลแห่งนี้มีฐานะเป็นศาลระดับชาติของกัมพูชา แต่ก็จัดตั้งขึ้นมาในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงระหว่างรัฐบาลราชอาณาจักรกัมพูชา กับสหประชาชาติ อีกทั้งผู้พิพากษาของศาลแห่งนี้ก็ประกอบด้วยชาวกัมพูชาและชาวต่างประเทศ ศาลพิเศษเขมรแดงถูกมองว่าเป็นศาลลูกผสม เนื่องจากก่อตั้งขึ้นโดยรัฐบาลด้วยความร่วมมือของสหประชาชาติ แต่ก็ถือว่ามีความเป็นอิสระจากทั้ง 2 ฝ่ายนี้ สำหรับการไต่สวนพิจารณาคดีกระทำกันในกัมพูชา และใช้เจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ ที่เป็นชาวกัมพูชาซึ่งได้รับมอบหมายอำนาจหน้าที่อันชัดเจน แต่ขณะเดียวกัน ก็เชื้อเชิญให้นานาชาติเข้าร่วมเพื่อให้อยู่ในระดับมาตรฐานระหว่างประเทศ (ข้อมูลจาก Wikipedia)
[2] “แก๊ง 4 คน” เป็นชื่อที่ตั้งให้กลุ่มย่อยทางการเมืองกลุ่มหนึ่งของเจ้าหน้าที่พรรคคอมมิวนิสต์จีน 4 คน กลุ่มนี้ประกอบด้วย เจียง ชิง ภรรยาคนสุดท้ายของเหมา เจ๋อตง ซึ่งเป็นผู้นำกลุ่ม และผู้ร่วมมือใกล้ชิดกับเธออีก 3 คน ได้แก่ จาง ชุนเฉียว, เหยา เหวินหยวน, และ หวัง หงเหวิน
แก๊ง 4 คนสามารถเข้าควบคุมกลไกทางอำนาจต่างๆ ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเอาไว้ได้มากมายตลอดระยะหลังๆ ของการปฏิวัติทางวัฒนธรรมในประเทศจีน ถึงแม้ยังคงไม่เป็นที่ชัดเจนว่า การตัดสินใจที่สำคัญอันไหนที่กระทำผ่านทางเหมา เจ๋อตง และอันไหนที่กระทำผ่านพวกแก๊ง 4 คน และอันไหนเป็นผลจากการวางแผนของพวกแก๊ง 4 คนเอง พวกเขาถูกตีตราควบคู่ไปกับ หลิน เปียว อดีตรองประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีนและรองนายกรัฐมนตรีจีน ว่าเป็น “กลุ่มปฏิปักษ์ปฏิวัติ” สำคัญ 2 กลุ่มของการปฏิวัติทางวัฒนธรรม และถูกรัฐบาลจีนในสมัยต่อมาประณามอย่างเป็นทางการว่า เป็นตัวการสำคัญที่ก่อกวนทำให้สังคมจีนเกิดความปั่นป่วนยุ่งเหยิงอย่างเลวร้ายที่สุดในระหว่าง 10 ปีแห่งความวุ่นวายของการปฏิวัติวัฒนธรรม แก๊ง 4 คนถูกโค่นล้มจากการก่อรัฐประหารยึดอำนาจในวันที่ 6 ตุลาคม 1976 นั่นคือเพียง 1 เดือนภายหลังการถึงแก่อสัญกรรมของเหมา เจ๋อตง (ข้อมูลจาก Wikipedia)
[3] เคียว สมพร หรือ เขียว สัมพัน เป็นประมุขแห่งรัฐของกัมพูชาในระบอบปกครองเขมรแดง เขาเกิดเมื่อปี 1931 ในครอบครัวชาวกัมพูชาเชื้อสายจีน บิดาเป็นผู้พิพากษาที่ต้องคดีทุจริตและถูกจำคุก แต่เขาก็พยายามมุมานะจนได้ไปศึกษาในประเทศฝรั่งเศส และจบปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์และการเมืองการปกครองที่มหาวิทยาลัยปารีสในปี 1959 จากนั้น เคียว สมพร เดินทางกลับมาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยพนมเปญ โดยระหว่างนั้นได้ตีพิมพ์จดหมายข่าวภาษาฝรั่งเศสซึ่งเผยแพร่แนวคิดสังคมนิยม ทำให้ถูกจับตามองจากรัฐบาลสมเด็จนโรดมสีหนุ ที่ตอนนั้นเป็นฝ่ายขวาต่อต้านคอมมิวนิสต์ อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา เขาได้รับเชิญให้เข้าร่วมพรรคสังคม ของสมเด็จนโรดมสีหนุในปี 1963 และได้รับการวางตัวให้เป็นรองหัวหน้าพรรค เพื่อเป็นการคานอำนาจกับ พล.อ.ลอน นอล ซึ่งเป็นฝ่ายขวา และมีเสียงข้างมากในพรรคสังคม หลังจากเกิดการลุกฮือของประชาชนที่จังหวัดพระตะบองในปี 1967 กองกำลังของรัฐบาลก็ทำการกวาดล้างฝ่ายซ้าย และ เคียว สมพร หายตัวไปโดยมีข่าวลือว่าถูกสังหาร ทว่าเมื่อ พล.อ.ลอน นอล ด้วยความสนับสนุนของสหรัฐฯ ก่อการรัฐประหารยึดอำนาจในปี 1970 แล้วสมเด็จนโรดมสีหนุได้หันมาร่วมมือกับฝ่ายคอมมิวนิต์ จัดตั้งรัฐบาลแนวร่วมแห่งชาติกัมพูชา (GRUNK) เคียว สมพร ก็เข้าอยู่ในขบวนการนี้ด้วย โดยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีกลาโหม, และผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองกำลังอาวุธของ GRUNK (ถึงแม้ผู้บัญชาการตัวจริงคือ โปล โปต) ในช่วงที่เขมรแดงได้ชัยชนะและปกครองประเทศ (ปี1975-1979) เคียว สมพร ยังคงอยู่ในระดับเกือบสูงสุดของขบวนการ และได้รับตำแหน่งประธานของคณะประธาน ซึ่งก็คือประมุขของประเทศในปี 1976 จนเมื่อกองกำลังฝ่ายต่อต้านนำโดยกองทัพเวียดนามโค่นล้มระบอบเขมรแดง เขาก็รับหน้าที่เป็นหัวหน้ารัฐบาลของฝ่ายกบฎ ซึ่งยังคงได้รับการยอมรับจากนานาชาติบางส่วนจนกระทั่งถึงปี 1982 และเมื่อปี 1985 เขาเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าของเขมรแดงต่อจาก โปล โปต อย่างเป็นทางการ โดยอยู่ในตำแหน่งนี้จนกระทั่งกองกำลังเขมรแดงประกาศยอมจำนนต่อรัฐบาลฮุน เซน ในปี 1998
เคียว สมพร ถูกทางการกัมพูชาจับกุมในปี 2007 และถูกนำตัวขึ้นพิจารณาคดีในศาลพิเศษเขมรแดง โดยที่เขายืนกรานมาโดยตลอดว่า ไม่เคยสั่งการในฐานะผู้นำเขมรแดงให้มีการเข่นฆ่าประชาชนชาวกัมพูชา (ข้อมูลจาก Wikipedia)
[4] นวน เจีย มีชื่อภาษาไทยว่า ลอง บุญรอด เกิดที่จังหวัดพระตะบองเมื่อปี 1926 เขาเป็นชาวกัมพูชาเชื้อสายจีน เคยศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในช่วงทศวรรษ 1940 และเคยทำงานชั่วคราวที่กระทรวงการต่างประเทศของไทย เขาเริ่มการเคลื่อนไหวทางการเมืองกับพรรคคอมมิวนิสต์สยาม และในปี 1960 ได้รับเลือกเป็นรองเลขาธิการพรรคแรงงานกัมพูชา ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา นวน เจีย ได้ชื่อว่าเป็นหัวหน้านักทฤษฎีของพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา และเป็นผู้นำเขมรแดงเพียงไม่กี่คนที่ไม่ได้ไปศึกษาที่ฝรั่งเศส ในช่วงการปกครองประเทศของเขมรแดง เขามีตำแหน่งเป็นประธานของสภาผู้แทนประชาชนกัมพูชา (รัฐสภา)
ภายหลังการเจรจาต่อรองกับรัฐบาลฮุน เซน ในวันที่ 29 ธันวาคม 1998 โนน เจีย ได้ยอมจำนนต่อรัฐบาลพร้อมกับกองกำลังต่อต้านของเขมรแดงกลุ่มสุดท้ายที่ยังเหลืออยู่ จากนั้นก็ได้ใช้ชีวิตโดยไม่ถูกดำเนินคดีใดๆ อยู่หลายปี ในบ้านหลังย่อมๆ ที่เมืองไพลินพร้อมกับภรรยา กระทั่งถึงวันที่ 19 กันยายน 2007 เขาถูกจับกุมจากบ้านพักในเมืองไพลิน และถูกนำตัวมาฟ้องร้องต่อศาลพิเศษเขมรแดง (ข้อมูลจาก Wikipedia)
เซบาสเตียน สตรังจิโอ เป็นนักหนังสือพิมพ์ซึ่งพำนักอยู่ในพนมเปญ โดยทำหน้าที่รายงานข่าวเกี่ยวกับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ปัจจุบันเขากำลังเขียนหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งจะพูดถึงกัมพูชายุคใหม่ ทั้งนี้สามารถติดต่อเขาได้ทางอีเมลที่ sebastian.strangio@gmail.com
Death of a killer in Cambodia
By Sebastian Strangio
14/03/2013
เอียง ซารี รัฐมนตรีต่างประเทศของกัมพูชาในยุคการปกครองฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของเขมรแดง เสียชีวิตในวัย 87 ปีที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงพนมเปญ ก่อนที่ศาลพิเศษซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติ จะทันเสร็จสิ้นการพิจารณาคดีและเขียนคำพิพากษาตัดสินความผิด จากการที่เขามีบทบาทอยู่ในอาชญากรรมอันนองเลือดของระบอบปกครองดังกล่าว เรื่องนี้ถือเป็นความผิดพลาดล้มเหลวสำหรับศาลแห่งนี้ ซึ่งกำลังประสบปัญหาทั้งการถูกกล่าวหาว่ามีการแทรกแซงทางการเมือง, งบประมาณค่าใช้จ่ายกำลังร่อยหรอถึงขั้นวิกฤต, และจำเลยเขมรแดงอาวุโสที่เหลืออยู่อีก 2 คนก็มีสุขภาพทรุดโทรมเต็มที
*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*
(ต่อจากตอนแรก)
**สหายร่วมรบของจีน**
หลังจากระบอบปกครองเขมรแดงถูกโค่นล้มไปในเดือนมกราคม 1979 เอียง ซารี ยังคงรักษาสายสัมพันธ์การเชื่อมโยงอันใกล้ชิดกับประเทศจีนเอาไว้ได้ เมื่อตอนที่ เอียง ซารี ในสภาพเท้าเปล่า ข้ามเข้าไปในเขตประเทศไทยในเวลา 4 วันภายหลังกรุงพนมเปญตกอยู่ในเงื้อมมือของกองกำลังอาวุธที่หนุนหลังโดยกองทัพเวียดนามนั้น ปรากฏว่ามีพวกเจ้าหน้าที่จากสถานเอกอัครราชทูตจีนในกรุงเทพฯไปรอต้อนรับเขาอยู่ที่นั่น พร้อมกับเสื้อผ้าสะอาดๆ และรองเท้าคู่ใหม่ เพื่อใช้แทนรองเท้าแตะคู่ที่เขาทำหายในระหว่างการถอยออกมาอย่างสับสนวุ่นวายจากเมืองหลวงของกัมพูชา จากนั้นเขาก็ถูกนำตัวขึ้นเครื่องเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพไทย เดินทางเข้าสู่กรุงเทพฯ ก่อนจะบินต่อไปยังกรุงปักกิ่ง
ตลอดช่วงทศวรรษ 1980 จีนยังคงให้การหนุนหลังพวกเขมรแดงที่ถูกโค่นล้ม ในสงครามกลางเมืองซึ่งต่อสู้กับระบอบปกครองใหม่ในกรุงพนมเปญที่เวียดนามแต่งตั้งขึ้นมา ถึงเดือนสิงหาคม 1979 หลังการขับไล่เขมรแดงผ่านพ้นไป 8 เดือน รัฐบาลใหม่ได้จัดให้มีการพิจารณาคดีในศาลปฏิวัติของประชาชน ในแบบที่จำเลยมิได้อยู่ปรากฏตัว โดยศาลแห่งนี้ตัดสินว่า เอียง ซารี และ โปล โปต มีความผิดฐานฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และพิพากษาให้รับโทษประหารชีวิต
เอียง ซารี ซึ่งไปหลบซ่อนตัวอยู่ในป่าเขาทางภาคตะวันตกของกัมพูชา ยังคงแสดงบทบาทเป็นรัฐมนตรีว่าการต่างประเทศของระบอบปกครองที่ถูกโค่นล้มแล้วต่อไปอีกจวบจนกระทั่งถึงปี 1982 เมื่อเขาส่งมอบหน้าที่นี้ไปให้แก่ เคียว สมพร (Khieu Samphan หรือ เขียว สัมพัน) เพื่อนร่วมงานของเขาซึ่งเคยดำรงตำแหน่งประมุขแห่งรัฐในยุคระบอบปกครองเขมรแดง นับแต่นั้นมา เอียง ซารี ก็มิได้มีตำแหน่งอย่างเป็นทางการใดๆ ในขบวนการนี้อีก แต่ยังคงเป็นผู้ควบคุมเรื่องการเงินของเขมรแดง ในเวลาต่อมา เอียง ซารี ได้กลายเป็นเจ้าพ่อแห่งเมืองไพลิน (Pailin) เมืองเล็กๆ เต็มไปด้วยฝุ่นแต่กำลังรุ่งเรืองเฟื่องฟูมาก เมืองนี้ตั้งอยู่ในเขตเขาบริเวณแนวชายแดนติดต่อกับประเทศไทยซึ่งอุดมไปด้วยพลอย และเอียง ซารีก็สามารถรวบรวมสะสมทรัพย์สินเงินทองเข้าพกเข้าห่อส่วนตัวได้เป็นจำนวนมหาศาล
อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงช่วงที่มีการลงนามในข้อตกลงสันติภาพกรุงปารีส (Paris Peace Accords) ในปี 1991อิทธิพลของเขาในขบวนการเขมรแดงก็เริ่มต้นจางหายไป ความสำคัญอันสูงส่งที่เขาเคยได้รับอยู่ในระหว่างทศวรรษ 1980 สืบเนื่องจากการที่เขามีสายสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับปักกิ่งกลับเหือดหายไป หลังจากจีนตัดความช่วยเหลือที่ให้แก่เขมรแดงในปี 1991 การที่เขาแสดงจุดยืนเรียกร้องให้เขมรแดงร่วมไม้ร่วมมือกับกองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติซึ่งเดินทางมาถึงกัมพูชาเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามข้อตกลงสันติภาพกรุงปารีสในระหว่างปี 1992-1993 บวกกับทรัพย์สินความมั่งคั่งของเขาซึ่งเห็นกันอย่างชัดเจนว่าได้มาด้วยวิธีการที่ไม่มีความเป็นนักปฏิวัติเลย ล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดความร้าวฉานในความสัมพันธ์ซึ่งเขามีอยู่กับ โปล โปต ผู้ซึ่งพยายามที่จะนำเอาดินแดนในปกครองของ เอียง ซารี กลับเข้าไปอยู่ในความควบคุมของตนเองให้มากยิ่งขึ้น
ถึงเดือนสิงหาคม 1996 เอียง ซารี ตัดสินใจแปรพักตร์หันไปอยู่กับฝ่ายรัฐบาล โดยที่นำเอากองทหารเขมรแดงหลายพันคนออกมาพร้อมกับตัวเขาด้วย ซึ่งกลายเป็นการเร่งรัดให้ขบวนการนี้เดินไปสู่จุดจบ สถานีวิทยุของเขมรแดงได้ประณามเขาว่าเป็น “คนทรยศ” และกล่าวหาเขาว่าเบียดบังเอาเงินทองของเขมรแดงไปหลายๆ ล้าน อีกทั้งกำลังร่วมมือกับ “คนเวียดนามผู้เป็นนักรุกราน, นักผนวกดินแดน, และนักกำจัดกวาดล้างเชื้อชาติ” การแปรพักตร์ของ เอียง ซารี คือการส่งมอบดินแดนที่มั่นสำคัญของเขมรแดง 2 แห่ง คือ ไพลิน และ มาลัย (Malai) ให้แก่ฝ่ายรัฐบาล หลังจากที่รัฐบาลได้เคยเปิดการโจมตีที่มั่นทั้งสองแห่งนี้มาหลายปีทว่าประสบความล้มเหลวไม่เคยได้ชัยชนะที่เด็ดขาดมาโดยตลอด
เพื่อเป็นรางวัลตอบแทนสำหรับการแปรพักตร์ของเขา เอียง ซารี ได้รับนิรโทษกรรมซึ่งเป็นการลบล้างโทษประหารชีวิตที่ศาลในปี 1979 เคยพิพากษาเอาไว้ หลังจากนั้นมา เอียง ซารี ก็ใช้ชีวิตอย่างสุขสบาย โดยแบ่งเวลาไปอยู่ที่วิลล่าอันมีต้นไม้ร่มรื่นในกลางกรุงพนมเปญบ้าง และที่บ้านพักในเมืองไพลินบ้าง สำหรับที่ไพลินนั้นเขายังคงมีอิทธิพลอย่างใหญ่หลวงในหมู่ประชาชนท้องถิ่น ดังเห็นได้จากการที่ เอียง วุธ (Ieng Vuth) บุตรชายของเขาสามารถขึ้นตำแหน่งเป็นรองผู้ว่าการของไพลิน
ถึงแม้ เอียง ซารี พยายามอ้างมานานแล้วว่าเขาเป็นคนบริสุทธิ์ อีกทั้งหยิบยกเหตุผลต่างๆ มาอธิบายภายหลังจากที่เขาแปรพักตร์ว่า โปล โปต “คือสถาปนิกแต่เพียงผู้เดียว และเป็นสถาปนิกสูงสุด ซึ่งได้จัดวางแนวทาง, ยุทธศาสตร์, และยุทธวิธี ของพรรค” แต่ในที่สุดความยุติธรรมก็จู่โจมเข้าถึงตัวเขาจนได้ ในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2007 เอียง ซารี และ เอียง ธีริทธ์ ภรรยาของเขา ซึ่งเคยเป็นรัฐมนตรีฝ่ายกิจการสังคมของระบอบเขมรแดง ได้ถูกจับกุมตัว และถูกนำขึ้นพิจารณาคดีในศาล ECCC
เอียง ซารี ถูกตั้งข้อหาว่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (นี่เป็นครั้งที่สองแล้วที่เขาเจอข้อหานี้), กระทำอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ, และล่วงละเมิดอย่างร้ายแรงต่ออนุสัญญาเจนีวาปี 1949 คดีของเขา ซึ่งเขาตกเป็นจำเลยร่วมกับ นวน เจีย (Nuon Chea), เคียว สมพร, และ เอียง ธีริทธ์ ภรรยาของเขา เริ่มต้นขึ้นในปี 2011 ทว่านับแต่นั้นมา การพิจารณาคดีก็ดำเนินไปอย่างติดๆ ขัดๆ โดยถูกคุกคามไม่หยุดไม่หย่อนจากปัญหาข้อโต้แย้งเรื่องค่าใช้จ่าย และการที่จำเลยล้วนแต่อยู่ในวัยสูงอายุ เมื่อปลายปีที่แล้ว ศาล ECCC ตัดสินว่า เอียง ธีริทธ์ อยู่ในสภาพที่ไม่เหมาะสมแก่การถูกพิจารณาคดี เนื่องจากเธอกำลังล้มป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์ และได้รับการปล่อยตัวไป
การเสียชีวิตของ เอียง ซารี คือความผิดพลาดล้มเหลวของศาล ECCC โดยแท้ ในเมื่อจำเลยอีก 2 คนที่ยังเหลืออยู่ คือ นวน เจีย และ เคียว สมพร ต่างก็มีสุขภาพอันย่ำแย่เช่นกัน อีกทั้งเมื่อไม่นานมานี้ศาลแห่งนี้ยังประสบปัญหาหนักหน่วงในเรื่องขาดเงินทุนงบประมาณดำเนินงาน รวมทั้งถูกกล่าวหาว่ามีการแทรกแซงทางการเมือง แต่ถึงแม้ต้องเผชิญกับความท้าทายต่างๆ เหล่านี้ ยุค ชะอัง ผู้อำนวยการศูนย์จัดทำเอกสารแห่งกัมพูชา ก็ยังมีความเห็นว่า ศาลพิเศษแห่งนี้ ตลอดจนประชาคมระหว่างประเทศที่ให้การสนับสนุนศาลแห่งนี้อยู่ ไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากต้องเสาะแสวงหาความยุติธรรมกันต่อไป “ศาลยังต้องเดินหน้าต่อ” เขากล่าว “สหประชาชาติและรัฐบาลกัมพูชาได้ให้คำมั่นสัญญาแล้วว่าจะลงโทษผู้ที่กระทำความผิดข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ บรรดาเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายทั้งหลายนั้นสมควรที่จะได้เห็นการปิดคดี เหยื่อเหล่านี้สมควรที่จะได้เห็นกระบวนการนี้ดำเนินไปจนเสร็จสิ้นสมบูรณ์”
หมายเหตุผู้แปล
[1] ศาลพิเศษภายในศาลยุติธรรมแห่งกัมพูชา (Extraordinary Chambers in the Courts of Cambodia ใช้อักษรย่อว่า ECCC) หรือที่นิยมเรียกขานกันว่า ศาลพิเศษเขมรแดง (Khmer Rouge Tribunal) เป็นศาลที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อไต่สวนพิจารณาความผิดของพวกสมาชิกอาวุโสที่สุดและพวกมีความรับผิดชอบมากที่สุดของขบวนการเขมรแดง ถึงแม้ศาลแห่งนี้มีฐานะเป็นศาลระดับชาติของกัมพูชา แต่ก็จัดตั้งขึ้นมาในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงระหว่างรัฐบาลราชอาณาจักรกัมพูชา กับสหประชาชาติ อีกทั้งผู้พิพากษาของศาลแห่งนี้ก็ประกอบด้วยชาวกัมพูชาและชาวต่างประเทศ ศาลพิเศษเขมรแดงถูกมองว่าเป็นศาลลูกผสม เนื่องจากก่อตั้งขึ้นโดยรัฐบาลด้วยความร่วมมือของสหประชาชาติ แต่ก็ถือว่ามีความเป็นอิสระจากทั้ง 2 ฝ่ายนี้ สำหรับการไต่สวนพิจารณาคดีกระทำกันในกัมพูชา และใช้เจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ ที่เป็นชาวกัมพูชาซึ่งได้รับมอบหมายอำนาจหน้าที่อันชัดเจน แต่ขณะเดียวกัน ก็เชื้อเชิญให้นานาชาติเข้าร่วมเพื่อให้อยู่ในระดับมาตรฐานระหว่างประเทศ (ข้อมูลจาก Wikipedia)
[2] “แก๊ง 4 คน” เป็นชื่อที่ตั้งให้กลุ่มย่อยทางการเมืองกลุ่มหนึ่งของเจ้าหน้าที่พรรคคอมมิวนิสต์จีน 4 คน กลุ่มนี้ประกอบด้วย เจียง ชิง ภรรยาคนสุดท้ายของเหมา เจ๋อตง ซึ่งเป็นผู้นำกลุ่ม และผู้ร่วมมือใกล้ชิดกับเธออีก 3 คน ได้แก่ จาง ชุนเฉียว, เหยา เหวินหยวน, และ หวัง หงเหวิน
แก๊ง 4 คนสามารถเข้าควบคุมกลไกทางอำนาจต่างๆ ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเอาไว้ได้มากมายตลอดระยะหลังๆ ของการปฏิวัติทางวัฒนธรรมในประเทศจีน ถึงแม้ยังคงไม่เป็นที่ชัดเจนว่า การตัดสินใจที่สำคัญอันไหนที่กระทำผ่านทางเหมา เจ๋อตง และอันไหนที่กระทำผ่านพวกแก๊ง 4 คน และอันไหนเป็นผลจากการวางแผนของพวกแก๊ง 4 คนเอง พวกเขาถูกตีตราควบคู่ไปกับ หลิน เปียว อดีตรองประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีนและรองนายกรัฐมนตรีจีน ว่าเป็น “กลุ่มปฏิปักษ์ปฏิวัติ” สำคัญ 2 กลุ่มของการปฏิวัติทางวัฒนธรรม และถูกรัฐบาลจีนในสมัยต่อมาประณามอย่างเป็นทางการว่า เป็นตัวการสำคัญที่ก่อกวนทำให้สังคมจีนเกิดความปั่นป่วนยุ่งเหยิงอย่างเลวร้ายที่สุดในระหว่าง 10 ปีแห่งความวุ่นวายของการปฏิวัติวัฒนธรรม แก๊ง 4 คนถูกโค่นล้มจากการก่อรัฐประหารยึดอำนาจในวันที่ 6 ตุลาคม 1976 นั่นคือเพียง 1 เดือนภายหลังการถึงแก่อสัญกรรมของเหมา เจ๋อตง (ข้อมูลจาก Wikipedia)
[3] เคียว สมพร หรือ เขียว สัมพัน เป็นประมุขแห่งรัฐของกัมพูชาในระบอบปกครองเขมรแดง เขาเกิดเมื่อปี 1931 ในครอบครัวชาวกัมพูชาเชื้อสายจีน บิดาเป็นผู้พิพากษาที่ต้องคดีทุจริตและถูกจำคุก แต่เขาก็พยายามมุมานะจนได้ไปศึกษาในประเทศฝรั่งเศส และจบปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์และการเมืองการปกครองที่มหาวิทยาลัยปารีสในปี 1959 จากนั้น เคียว สมพร เดินทางกลับมาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยพนมเปญ โดยระหว่างนั้นได้ตีพิมพ์จดหมายข่าวภาษาฝรั่งเศสซึ่งเผยแพร่แนวคิดสังคมนิยม ทำให้ถูกจับตามองจากรัฐบาลสมเด็จนโรดมสีหนุ ที่ตอนนั้นเป็นฝ่ายขวาต่อต้านคอมมิวนิสต์ อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา เขาได้รับเชิญให้เข้าร่วมพรรคสังคม ของสมเด็จนโรดมสีหนุในปี 1963 และได้รับการวางตัวให้เป็นรองหัวหน้าพรรค เพื่อเป็นการคานอำนาจกับ พล.อ.ลอน นอล ซึ่งเป็นฝ่ายขวา และมีเสียงข้างมากในพรรคสังคม หลังจากเกิดการลุกฮือของประชาชนที่จังหวัดพระตะบองในปี 1967 กองกำลังของรัฐบาลก็ทำการกวาดล้างฝ่ายซ้าย และ เคียว สมพร หายตัวไปโดยมีข่าวลือว่าถูกสังหาร ทว่าเมื่อ พล.อ.ลอน นอล ด้วยความสนับสนุนของสหรัฐฯ ก่อการรัฐประหารยึดอำนาจในปี 1970 แล้วสมเด็จนโรดมสีหนุได้หันมาร่วมมือกับฝ่ายคอมมิวนิต์ จัดตั้งรัฐบาลแนวร่วมแห่งชาติกัมพูชา (GRUNK) เคียว สมพร ก็เข้าอยู่ในขบวนการนี้ด้วย โดยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีกลาโหม, และผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองกำลังอาวุธของ GRUNK (ถึงแม้ผู้บัญชาการตัวจริงคือ โปล โปต) ในช่วงที่เขมรแดงได้ชัยชนะและปกครองประเทศ (ปี1975-1979) เคียว สมพร ยังคงอยู่ในระดับเกือบสูงสุดของขบวนการ และได้รับตำแหน่งประธานของคณะประธาน ซึ่งก็คือประมุขของประเทศในปี 1976 จนเมื่อกองกำลังฝ่ายต่อต้านนำโดยกองทัพเวียดนามโค่นล้มระบอบเขมรแดง เขาก็รับหน้าที่เป็นหัวหน้ารัฐบาลของฝ่ายกบฎ ซึ่งยังคงได้รับการยอมรับจากนานาชาติบางส่วนจนกระทั่งถึงปี 1982 และเมื่อปี 1985 เขาเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าของเขมรแดงต่อจาก โปล โปต อย่างเป็นทางการ โดยอยู่ในตำแหน่งนี้จนกระทั่งกองกำลังเขมรแดงประกาศยอมจำนนต่อรัฐบาลฮุน เซน ในปี 1998
เคียว สมพร ถูกทางการกัมพูชาจับกุมในปี 2007 และถูกนำตัวขึ้นพิจารณาคดีในศาลพิเศษเขมรแดง โดยที่เขายืนกรานมาโดยตลอดว่า ไม่เคยสั่งการในฐานะผู้นำเขมรแดงให้มีการเข่นฆ่าประชาชนชาวกัมพูชา (ข้อมูลจาก Wikipedia)
[4] นวน เจีย มีชื่อภาษาไทยว่า ลอง บุญรอด เกิดที่จังหวัดพระตะบองเมื่อปี 1926 เขาเป็นชาวกัมพูชาเชื้อสายจีน เคยศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในช่วงทศวรรษ 1940 และเคยทำงานชั่วคราวที่กระทรวงการต่างประเทศของไทย เขาเริ่มการเคลื่อนไหวทางการเมืองกับพรรคคอมมิวนิสต์สยาม และในปี 1960 ได้รับเลือกเป็นรองเลขาธิการพรรคแรงงานกัมพูชา ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา นวน เจีย ได้ชื่อว่าเป็นหัวหน้านักทฤษฎีของพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา และเป็นผู้นำเขมรแดงเพียงไม่กี่คนที่ไม่ได้ไปศึกษาที่ฝรั่งเศส ในช่วงการปกครองประเทศของเขมรแดง เขามีตำแหน่งเป็นประธานของสภาผู้แทนประชาชนกัมพูชา (รัฐสภา)
ภายหลังการเจรจาต่อรองกับรัฐบาลฮุน เซน ในวันที่ 29 ธันวาคม 1998 โนน เจีย ได้ยอมจำนนต่อรัฐบาลพร้อมกับกองกำลังต่อต้านของเขมรแดงกลุ่มสุดท้ายที่ยังเหลืออยู่ จากนั้นก็ได้ใช้ชีวิตโดยไม่ถูกดำเนินคดีใดๆ อยู่หลายปี ในบ้านหลังย่อมๆ ที่เมืองไพลินพร้อมกับภรรยา กระทั่งถึงวันที่ 19 กันยายน 2007 เขาถูกจับกุมจากบ้านพักในเมืองไพลิน และถูกนำตัวมาฟ้องร้องต่อศาลพิเศษเขมรแดง (ข้อมูลจาก Wikipedia)
เซบาสเตียน สตรังจิโอ เป็นนักหนังสือพิมพ์ซึ่งพำนักอยู่ในพนมเปญ โดยทำหน้าที่รายงานข่าวเกี่ยวกับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ปัจจุบันเขากำลังเขียนหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งจะพูดถึงกัมพูชายุคใหม่ ทั้งนี้สามารถติดต่อเขาได้ทางอีเมลที่ sebastian.strangio@gmail.com