(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)
Threats of a wider war in Sabah
By Noel Tarrazona
07/03/2013
เหล่านักรบจากกลุ่มกบฏ “แนวร่วมปลดแอกแห่งชาติโมโร” (MNLF) ซึ่งทำศึกต่อสู้กับกองกำลังความมั่นคงของฟิลิปปินส์มาอย่างยืดเยื้อยาวนานหลายสิบปี เวลานี้กำลังพุ่งเป้าเล็งเขม็งไปยังมาเลเซีย ภายหลังที่รัฐบาลแดนเสือเหลืองเปิดฉากการโจมตีทั้งทางอากาศและภาคพื้นดิน ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะขับไล่ผลักดันกลุ่มติดอาวุธโกโรโกโสซึ่งเป็นลูกน้องบริวารของสุลต่านแห่งซูลู ที่ได้อาศัยเรือเล็กยกกำลังขึ้นบกที่ซาบาห์เพื่อยืนยันอ้างสิทธิอันเก่าแก่หลายร้อยปีในการครอบครองดินแดนบริเวณดังกล่าว ข่าวคราวความทารุณโหดเหี้ยมในความขัดแย้งนี้ที่กำลังเพิ่มทวีขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ MNLF ซึ่งมีความใกล้ชิดกับสุลต่านแห่งซูลู ก็ขึ้นชื่อลือชาในเรื่องความห้าวหาญในการสู้รบ ดังนั้น สถานการณ์นี้จึงกำลังทำท่ากลายเป็นภัยคุกคามในระดับภูมิภาคไปอย่างรวดเร็ว
*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*
(ต่อจากตอนแรก)
พวกผู้นำของกลุ่มแนวร่วมปลดแอกแห่งชาติโมโร (MNLF) ต่างออกมาพูดด้วยถ้อยคำแรงๆ เมื่อกองทหารมาเลเซียเปิดการโจมตีกวาดล้างพวกถืออาวุธที่เป็นลูกน้องบริวารของสุลต่านแห่งซูลู ซึ่งยกกันเข้าไปในดินแดนรัฐซาบาห์ ประธานคณะกรรมการสภาอิสลามของ MNLF (MNLF Islamic Council Committee Chairman) ฮาบิบ ฮาชิม มุดจาฮับ (Habib Hashim Mudjahab) แถลงในวันอังคาร (5 มี.ค.) ว่า เขาไม่สามารถที่จะเหนี่ยวรั้งคนของเขาได้อีกต่อไปแล้ว โดยที่คนเหล่านี้กำลังเดินทางมุ่งไปยังซาบาห์เพื่อช่วยเหลือคุ้มครองพี่น้องชาติพันธุ์เดียวกันของพวกเขาจากการกวาดล้างของกองกำลังมาเลเซีย “พวกเราต่างรู้สึกเจ็บปวด และประชาชนของพวกเราจำนวนมาก แม้กระทั่งพวกที่ไม่ได้เป็นนักรบ ต่างกำลังจะไปที่ซาบาห์เพื่อแสดงความเห็นอกเห็นใจกับทางอาณาจักรสุลต่าน” มุดจาฮับ บอก
หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเมืองของ MNLF (MNLF political chief) กาปุล หะยีรุล (Gapul Hajirul) กล่าวเตือนว่า สัญญาณต่างๆ ของสงครามกลางเมืองกำลังปรากฏออกมาให้เห็นกันแล้วในซาบาห์ ทั้งนี้เขาดูจะกำลังอ้างอิงถึงเหตุการณ์ที่กลุ่มผู้ถืออาวุธซุ่มตีกำลังตำรวจในเมืองเซมปอร์นา เหตุการณ์ดังกล่าว สำหรับผู้สังเกตการณ์บางรายแล้ว มันคือการบ่งชี้ให้เห็นว่าขบวนการชาวตาวซักใต้ดิน ได้มีการจัดตั้งหาสมาชิกและดำเนินปฏิบัติการก่อความไม่สงบขึ้นในซาบาห์เรียบร้อยแล้ว “ผมเกรงว่ามันจะเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นในซาบาห์ เพราะมีชาวเบงซาโมโร (Bangsamoro ชาวมุสลิมฟิลิปปินส์) จำนวนเป็นเป็นแสนๆ คนกำลังพำนักอาศัยในซาบาห์[7] อยู่แล้ว” หะยีรุล กล่าวโดยไม่อธิบายอะไรเพิ่มเติม
นุล มิซูอารี (Nur Misuari) ผู้นำของ MNLF บอกกับผู้สื่อข่าวในวันอังคารเช่นกันว่า ถ้าหากมาเลเซียพุ่งเป้ามุ่งเล่นงานชาวฟิลิปปินส์ซึ่งอยู่ในซาบาห์แล้ว กลุ่มของเขาก็จะถือว่า การกระทำดังกล่าว “มีความหมายเท่ากับการประกาศสงคราม” เขากล่าวเตือนประธานาธิบดีเบนิโญ อากีโน ของฟิลิปปินส์ด้วยว่า ถ้าหากพยายามที่จะจับกุม คิราม แล้ว ก็จะพาให้ประเทศชาติต้องตกลงไปสู่ภาวะยุ่งเหยิงวุ่นวายอย่างแน่นอน
ทางทำเนียบประธานาธิบดีฟิลิปปินส์นั้น กล่าวหาทั้ง มิซูอารี และ นอร์แบร์โต กอนซาเลส (Norberto Gonzales) อดีตที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติในยุคประธานาธิบดีกลอเรีย อาร์โรโย ว่าเป็นคนเกลี้ยกล่อมชักชวนให้ คิราม ส่งลูกน้องบริวารของเขาไปยังซาบาห์ เพื่อบ่อนทำลายข้อตกลงสันติภาพที่รัฐบาลฟิลิปปินส์ทำกับกลุ่ม MILF อย่างไรก็ดี ทั้ง กอนซาเลส และ มิซูอารี ซึ่งต่างก็ดูมีแรงจูงใจแม้อาจจะแตกต่างกันอยู่บ้าง ที่ต้องการทำลายข้อตกลงสันติภาพระหว่าง MILF กับรัฐบาล ได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหานี้แล้วทั้งคู่
การโจมตีกวาดล้างของมาเลเซียคราวนี้ ยังได้จุดชนวนให้เกิดเปลวเพลิงแห่งอารมณ์ความรู้สึกชาตินิยมลุกลามขึ้นในมะนิลา กลุ่มชาติพันธุ์โมโรกับกลุ่มหัวเอียงซ้ายซึ่งธรรมดาแล้วมักเป็นฝ่ายตรงกันข้ามกันในทางแนวคิดอุดมการณ์ กลับออกมาทำการประท้วงอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในสัปดาห์นี้ที่บริเวณด้านหน้าสถานเอกอัครราชทูตมาเลเซีย พวกประท้วงเหล่านี้กล่าวหา อากีโน ด้วยว่าปล่อยให้มาเลเซียกระทำการอย่างอิสระตามอำเภอใจในการกวาดล้างผลักดันพวกบริวารผู้ติดตามของสุลต่าน หลังจากที่กลุ่มนี้ปฏิเสธไม่ยอมวางอาวุธและเดินทางกลับฟิลิปปินส์
“ถ้าหากไม่เป็นเพราะรัฐบาลฟิลิปปินส์นิ่งเฉยไม่ยอมทำอะไรเพื่อพิทักษ์ปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติแล้ว การเผชิญหน้ากันในซาบาห์ก็คงจะไม่จบลงด้วยการนองเลือดแบบนี้หรอก” ยูโซฟ เลเดสมา (Yusof Ledesma) บอก เลเดสมา อยู่ในกลุ่มพันธมิตรผู้สนับสนุนสุลต่านแห่งซูลู (Coalition Supporters for the Sultan of Sulu) หนึ่งในกลุ่มผู้ประท้วงที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำกรุงมะนิลาคราวนี้
วิกฤตคราวนี้ยังกำลังก่อให้เกิดกระแสคลื่นทางการเมืองขึ้นมาในมาเลเซีย ก่อนที่จะมีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปซึ่งเป็นที่คาดหมายกันว่าการแข่งขันจะเป็นไปอย่างดุเดือดร้อนแรง ซาบาห์นั้นมีฐานะเป็นรัฐที่อาจลงคะแนนเอียงไปทางข้างหนึ่งข้างใดก็ได้ ในการเลือกตั้งซึ่งทั้งนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค และผู้นำฝ่ายค้าน อันวาร์ อิบรอฮิม ต่างกำลังคาดการณ์วางแผนกันอย่างเต็มที่เพื่อให้ได้ชัยชนะ ก่อนเกิดการโจมตีทางอากาศในวันอังคาร อันวาร์ ได้ออกมาแถลงต่อสาธารณชน โจมตีนายกฯนาจิบว่า ล้มเหลวไม่สามารถที่จะพิทักษ์ปกป้องอธิปไตยแห่งชาติและความมั่นคงปลอดภัยของประชาชนชาวมาเลเซียได้
ไม่เฉพาะเพียงทางด้านการเมืองเท่านั้น ถ้าหากเกิดภาวะไร้เสถียรภาพอย่างยืดเยื้อขึ้นในซาบาห์แล้ว ยังจะส่งผลกระทบกระเทือนหนักในทางด้านเศรษฐกิจอีกด้วย ตามรายงานของบริษัทที่ปรึกษาทางด้านพลังงานภาคเอกชน ชื่อ แฟคต์ส โกลบอล เอนเนอจี (Facts Global Energy) ซาบาห์มีน้ำมันอยู่ประมาณ 1,500 ล้านบาร์เรล และก๊าซธรรมชาติ 1.1 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต นี่คือปริมาณสำรองซึ่งทราบกันแน่นอนแล้ว โดยที่ผลผลิตจากรัฐนี้คิดเป็นประมาณ 1 ใน 4 ของการผลิตน้ำมันและก๊าซโดยรวมของมาเลเซียในแต่ละปีทีเดียว ขณะที่การลงทุนของต่างชาติในภาคน้ำมันและก๊าซของมาเลเซีย เป็นตัวสร้างรายได้ถึงกว่า 40% ของรายรับรัฐบาล
หมายเหตุผู้แปล
[1] รัฐซาบาห์ (Sabah) เป็น 1 ใน 13 รัฐที่ประกอบกันเป็นประเทศมาเลเซีย ซาบาห์ตั้งอยู่บริเวณทางตอนเหนือของเกาะบอร์เนียว (Borneo) เกาะซึ่งมิใช่ทวีปที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก เกาะแห่งนี้มี 3 ประเทศแบ่งกันครอบครองเป็นเจ้าของ ได้แก่ มาเลเซีย, บรูไน, และอินโดนีเซีย สำหรับมาเลเซียนอกจากซาบาห์ ยังมีรัฐซาราวัก ซึ่งมีถัดไปทางตะวันตกเฉียงใต้ โดยรวมทั้งหมดแล้วมาเลเซียเป็นเจ้าของพื้นที่ประมาณ 26% ของเกาะ ทางด้านบรูไนนั้น ดินแดนประเทศเล็กๆ แห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งตอนเหนือของเกาะบอร์เนียว โดยที่ถูกรายล้อมด้วยพื้นที่รัฐซาราวักของมาเลเซีย มิหนำซ้ำดินแดนของบรูไนยังแบ่งเป็น 2 ส่วน และมีอำเภอลิมบัง (Limbang district) ของซาราวัก คั่นกลางอีกด้วย ดินแดนบรูไนคิดเป็นประมาณ 1% ของตัวเกาะบอร์เนียว ส่วนอินโดนีเซียเป็นเจ้าของอาณาบริเวณทางตอนล่างทั้งหมดของเกาะที่อยู่ถัดจากรัฐซาบาห์และซาราวักของมาเลเซียลงมา อินโดนีเซีย เรียกชื่อเกาะบอร์เนียวว่า กาลิมันตัน (Kalimantan) และเป็นผู้ครอบครองพื้นที่ประมาณ 73% ของตัวเกาะแห่งนี้ ทั้งนี้อินโดนีเซียแบ่งพื้นที่ของตนบนเกาะแห่งนี้ออกมาเป็น 5 จังหวัด ได้แก่ กาลิมันตันตะวันตก, กาลิมันตันกลาง, กาลิมันตันใต้, กาลิมันตันตะวันออก, และ กาลิมันตันเหนือ: ข้อมูลจาก Wikipedia
[2] อาณาจักรสุลต่านแห่งซูลู (Sultanate of Sulu) เป็นรัฐอิสลามของชาวตาวซิก ซึ่งปกครองเหนือหมู่เกาะจำนวนมากในทะเลซูลู ซึ่งปัจจุบันอยู่ในบริเวณภาคใต้ของฟิลิปปินส์ตลอดจนหลายๆ พื้นที่ทางตอนหนือของเกาะบอร์เนียว อาณาจักรสุลต่านแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นในปี 1457 โดย ไซยิด อาบู บาคร์ อาบิริน (Sayyid Abu Bakr Abirin) นักสำรวจและนักการศาสนาชาวอาหรับ ทว่าตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 อาณาจักรสุลต่านแห่งนี้สูญเสียดินแดนในปกครองในทางพฤตินัยให้แก่นักล่าอาณานิคมชาวสเปนและชาวอังกฤษ ตลอดจนจักรวรรดินิยมอเมริกันซึ่งเข้าครอบครองฟิลิปปินส์ต่อจากสเปน อำนาจอธิปไตยของอาณาจักรสุลต่านแห่งซูลูถูกยกเลิกไปอย่างเป็นทางการในปี 1917: ข้อมูลจาก Wikipedia
[3] จำนวนผู้ถูกสังหารจากวิกฤตคราวนี้ยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อิสมาอิล โอมาร์ (Ismail Omar) แถลงในวันเสาร์ที่ 9 มีนาคม 2013 ว่า นับถึงขณะนั้นมีผู้เสียชีวิตไปรวม 61 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ถืออาวุธชาวฟิลิปปินส์ 53 คน และตำรวจมาเลเซีย 8 คน ขณะเดียวกันตำรวจยังจับกุมผู้ต้องสงสัยเป็นบริเวณผู้สนับสนุน ญามาลุล คิราม ที่ 3 ผู้อ้างตนเป็นสุลต่านแห่งซูลู อีกเป็นจำนวน 79 คน: ข้อมูลจากเรื่อง Malaysia rounds up Filipino gunmen, AFP, 09 March, 2013 ของสำนักข่าวเอเอฟพี และเรื่อง Another Kiram follower killed in Sabah ในเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์ ฟิลิปปินส์ เดลี่ เอนไควเรอร์ (Philippine Daily Enquirer) ดูที่http://globalnation.inquirer.net/68023/another-kiram-follower-killed-in-sabah
[4] แนวร่วมปลดแอกแห่งชาติโมโร” (Moro National Liberation Front ใช้อักษรย่อว่า MNLF) ก่อตั้งขึ้นโดย นูร์ มิซูอารี (Nur Misuari) ในปี 1969 ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะทำการต่อสู้กับรัฐบาลฟิลิปปินส์เพื่อความเป็นเอกราชของดินแดนภาคใต้ของฟิลิปปินส์ ซึ่งพวกเขาเรียกว่า บังซาโมโรแลนด์ (Bangsamoro Land หรือบางทีก็เรียกว่า ประชาชาติ บังซาโมโร Bangsamoro Nation ตลอดจน ประชาชาติ มินดาเนา Mindanao Nation) MNLF ทำการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธอย่างนองเลือด และก็ดำเนินการเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลฟิลิปปินส์เรื่อยๆ มา ทั้งนี้ ในปี 1976ประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ในเวลานั้น ได้ส่ง อิเมลดา มาร์กอส สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง เดินทางไปยังกรุงตริโปลี ประเทศลิเบีย ทำให้ มูอัมมาร์ กัดดาฟี ผู้นำลิเบียขณะนั้น เข้าทำหน้าที่เป็นคนกลาง ภายใต้การรับรู้และรับทราบขององค์การความร่วมมืออิสลาม (Organization of Islamic Cooperation ซึ่งในเวลาต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น องค์การการประชุมอิสลาม Organization of the Islamic Conference แต่ยังใช้อักษรย่อว่า OIC ตามเดิม) เพื่อให้รัฐบาลฟิลิปปินส์และกลุ่ม MNLF ทำการหยุดยิงและเจรจาสันติภาพ ในที่สุดทั้งสองฝ่ายก็ได้ลงนามในข้อตกลงตริโปลีปี 1976 ซึ่งมีเนื้อหากำหนดให้มีการหยุดยิงและรับรองหลักการให้ภาคใต้ของฟิลิปปินส์เป็นเขตปกครองตนเองแต่ยังเป็นดินแดนที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ของสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ถัดจากนั้นภายหลังการสู้รบและเจรจากันต่อมาอีก 13 ปี กระทั่งถึงปี 1989 รัฐสภาฟิลิปปินส์จึงได้ผ่านกฎหมายพื้นฐานว่าด้วยภูมิภาคปกครองตนเองสำหรับชาวมุสลิมมินดาเนาปี 1989 (the 1989 Autonomous Region for Muslim Mindanao (ARMM) Organic Act) ซึ่งกำหนดให้ 13 จังหวัดทางภาคใต้ของฟิลิปปินส์ (ในจำนวนนี้ 8 จังหวัดมีชาวคริสต์เป็นประชากรส่วนข้างมาก) เป็นดินแดนที่อยู่ภายใต้ข้อตกลงสันติภาพตริโปลี ซึ่งอนุญาตให้ชาวมุสลิมมีศาลยุติธรรม, โรงเรียน, และระบบบริหารของตนเองได้ ถึงปี 1996 รัฐบาลฟิลิปปินส์และกลุ่ม MNLF ได้ลงนามในข้อตกลงสันติภาพขั้นสุดท้าย ซึ่งให้ภูมิภาคปกครองตนเองของชาวมุสลิม มีสภานิติบัญญัติ, คณะกรรมการบริหาร, กองกำลังความมั่นคงพิเศษของภูมิภาค, ตลอดจนระบบเศรษฐกิจและระบบการเงินของตนเอง: ข้อมูลจาก Wikipedia ซึ่งมีการระบุข้อความเตือนว่า เนื้อหาในหัวเรื่องนี้ถูกท้วงติงว่ายังขาดความเป็นกลางในทางวิชาการ
[5] ชาวชาติพันธุ์ โมโร (Moro) หมายถึงประชากรพื้นเมืองที่เป็นชาวมุสลิมในภาคใต้ฟิลิปปินส์ ประชากรเหล่านี้ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ 10 กลุ่ม หนึ่งในนี้คือชาวตาวซัก นอกจากนั้นยังมีชนเผ่าเล็กๆ อื่นๆ ที่นับถืออิสลาม ก็ประกาศตนเป็นชาวโมโรด้วย: ข้อมูลจาก Wikipedia
[6] จากการที่กลุ่มแนวร่วมปลดแอกแห่งชาติโมโร (MNLF) ลงนามในข้อตกลงสันติภาพตริโปลี กับรัฐบาลฟิลิปปินส์ในปี 1976 ทำให้คณะผู้นำของกลุ่มนี้เกิดความแตกร้าวอย่างรุนแรง จนเกิดกลุ่มที่แตกแยกออกมาต่างหากในปี 1977 นำโดย ฮาชิม ซาลามัต (Hashim Salamat) และในเวลาต่อมากลุ่มนี้ก็จัดองค์กรกลายเป็นแนวร่วมปลดแอกอิสลามโมโร (Moro Islamic Liberation Front ใช้อักษรย่อว่า MILF) อย่างเป็นทางการในปี 1984 โดยที่ มูอัมมาร์ กัดดาฟี ผู้นำลิเบีย ได้กลายเป็นผู้สนับสนุนกลุ่มนี้เรื่อยๆ มา กลุ่ม MILF ปฏิเสธไม่ยอมรับข้อตกลงระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์กับ MNLF ในการจัดตั้งภูมิปกครองตนเองที่มีชื่อว่า ภูมิภาคปกครองตนเองสำหรับชาวมุสลิมมินดาเนา(Autonomous Region for Muslim Mindanao) และยังคงปฏิบัติการก่อความไม่สงบอย่างต่อเนื่อง โดยที่ในระหว่างนั้นก็มีความพยายามที่จะเจรจาทำข้อตกลงหยุดยิงกันระหว่างกลุ่ม MILF กับรัฐบาลฟิลิปปินส์อยู่หลายระลอก ทว่าไม่ประสบผล จวบจนกระทั่งถึงเดือนตุลาคม ปี 2012 ภายหลังการเจรจาสันติภาพระหว่าง MILF กับรัฐบาลฟิลิปปินส์ ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ โดยที่มีรัฐบาลมาเลเซียเป็นคนกลาง จึงได้ประสบความสำเร็จ โดยในวันที่ 7 ตุลาคม ประธานาธิบดีเบนิโญ อากีโน แถลงว่า ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงลงนามในกรอบข้อตกลงสันติภาพเบื้องต้น ซึ่งกำหนดให้ก่อตั้งองค์กรปกครองตนเองทางการเมืองระดับภูมิภาคที่จะใช้ชื่อว่า “บังซาโมโร” เพื่อใช้แทนที่ “ภูมิภาคปกครองตนเองสำหรับชาวมุสลิมมินดาเนา” โดยที่ อากีโน วิจารณ์ว่า ภูมิภาคปกครองตนเองสำหรับชาวมุสลิมมินดาเนา เป็น “การทดลองที่ประสบความล้มเหลว” เพราะไม่สามารถแก้ไขปัญหาฉกรรจ์ๆ อย่างเช่น การโกงการเลือกตั้ง, การอุปถัมภ์ทางการเมือง, ความยากจน, สงคราม, และลัทธิขุนศึก จึงจำเป็นต้องดำเนินการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง ด้วยการก่อตั้ง “บังซาโมโร” ขึ้นมา
[7] คำพูดเช่นนี้ของ กาปุล หะยีรุล อาจจะมีวัตถุประสงค์ในทางการเมือง แต่ถ้าหากพิจารณาเฉพาะข้อเท็จจริงแล้ว ก็เป็นความจริงอย่างไม่ต้องสงสัย กล่าวคือ ประชากรของซาบาห์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมาก จากที่มีจำนวน 651,304 คน ตามการสำรวจสำมะโนประชากรในปี 1970 ก็กลายเป็น 929.299 คนในปี 1980 ยิ่งใน 2 ทศวรรษถัดมายิ่งทะยานลิ่วๆ จนกลายเป็น 2,468,246 คนในปี 2000 และขึ้นเป็น 3,117,405 คนในการสำรวจสำมะโนประชากรปี 2010 เหตุผลสำคัญที่สุดของการเพิ่มพลเมืองอย่างรวดเร็วเช่นนี้ ก็คือ การไหลเข้ามาของพวกผู้อพยพอย่างผิดกฎหมายจากจังหวัดต่างๆ ทางภาคใต้ของฟิลิปปินส์ คนเหล่านี้เป็นพวกที่มีเชื้อสายมาเลย์นับถือศาสนาอิสลาม และไม่ว่าจะเป็นผู้อพยพอย่างถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมาย ก็มักได้รับสัญชาติมาเลเซียอย่างไม่ยากเย็น โดยที่มีเสียงกล่าวหากันอย่างกว้างขวางทั้งทางสื่อมวลชน ตลอดจนในหมู่นักวิจารณ์ทางการเมืองและประชาชนทั่วไปว่า รัฐบาลกลางของมาเลเซีย โดยเฉพาะในยุคของนายกรัฐมนตรีมหาเธร์ โมฮัมหมัด มีโครงการเร่งให้สัญชาติแก่ผู้อพยพเหล่านี้ ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะเปลี่ยนแปลงแบบแผนทางประชากรของรัฐซาบาห์ เพื่อให้ผู้ออกเสียงส่วนใหญ่กลายเป็นพวกที่นิยมรัฐบาล
โนเอล ที ทาร์ราโซนา เป็นทั้งนักหนังสือพิมพ์และอาจารย์พิเศษของโครงการรัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต (Master of Public Administration Program) แห่งมหาวิทยาลัยซัมโบอังกา (Universidad de Zamboanga) สามารถติดต่อเขาทางอีเมลได้ที่ noeljobstreet@yahoo.com. ทั้งนี้ ฌอน ดับเบิลยู คริสพิน (Shawn W Crispin) บรรณาธิการด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของเอเชียไทมส์ออนไลน์ มีส่วนในการรายงานข่าวจากกรุงเทพฯเข้าสมทบในข้อเขียนชิ้นนี้ด้วย
Threats of a wider war in Sabah
By Noel Tarrazona
07/03/2013
เหล่านักรบจากกลุ่มกบฏ “แนวร่วมปลดแอกแห่งชาติโมโร” (MNLF) ซึ่งทำศึกต่อสู้กับกองกำลังความมั่นคงของฟิลิปปินส์มาอย่างยืดเยื้อยาวนานหลายสิบปี เวลานี้กำลังพุ่งเป้าเล็งเขม็งไปยังมาเลเซีย ภายหลังที่รัฐบาลแดนเสือเหลืองเปิดฉากการโจมตีทั้งทางอากาศและภาคพื้นดิน ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะขับไล่ผลักดันกลุ่มติดอาวุธโกโรโกโสซึ่งเป็นลูกน้องบริวารของสุลต่านแห่งซูลู ที่ได้อาศัยเรือเล็กยกกำลังขึ้นบกที่ซาบาห์เพื่อยืนยันอ้างสิทธิอันเก่าแก่หลายร้อยปีในการครอบครองดินแดนบริเวณดังกล่าว ข่าวคราวความทารุณโหดเหี้ยมในความขัดแย้งนี้ที่กำลังเพิ่มทวีขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ MNLF ซึ่งมีความใกล้ชิดกับสุลต่านแห่งซูลู ก็ขึ้นชื่อลือชาในเรื่องความห้าวหาญในการสู้รบ ดังนั้น สถานการณ์นี้จึงกำลังทำท่ากลายเป็นภัยคุกคามในระดับภูมิภาคไปอย่างรวดเร็ว
*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*
(ต่อจากตอนแรก)
พวกผู้นำของกลุ่มแนวร่วมปลดแอกแห่งชาติโมโร (MNLF) ต่างออกมาพูดด้วยถ้อยคำแรงๆ เมื่อกองทหารมาเลเซียเปิดการโจมตีกวาดล้างพวกถืออาวุธที่เป็นลูกน้องบริวารของสุลต่านแห่งซูลู ซึ่งยกกันเข้าไปในดินแดนรัฐซาบาห์ ประธานคณะกรรมการสภาอิสลามของ MNLF (MNLF Islamic Council Committee Chairman) ฮาบิบ ฮาชิม มุดจาฮับ (Habib Hashim Mudjahab) แถลงในวันอังคาร (5 มี.ค.) ว่า เขาไม่สามารถที่จะเหนี่ยวรั้งคนของเขาได้อีกต่อไปแล้ว โดยที่คนเหล่านี้กำลังเดินทางมุ่งไปยังซาบาห์เพื่อช่วยเหลือคุ้มครองพี่น้องชาติพันธุ์เดียวกันของพวกเขาจากการกวาดล้างของกองกำลังมาเลเซีย “พวกเราต่างรู้สึกเจ็บปวด และประชาชนของพวกเราจำนวนมาก แม้กระทั่งพวกที่ไม่ได้เป็นนักรบ ต่างกำลังจะไปที่ซาบาห์เพื่อแสดงความเห็นอกเห็นใจกับทางอาณาจักรสุลต่าน” มุดจาฮับ บอก
หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเมืองของ MNLF (MNLF political chief) กาปุล หะยีรุล (Gapul Hajirul) กล่าวเตือนว่า สัญญาณต่างๆ ของสงครามกลางเมืองกำลังปรากฏออกมาให้เห็นกันแล้วในซาบาห์ ทั้งนี้เขาดูจะกำลังอ้างอิงถึงเหตุการณ์ที่กลุ่มผู้ถืออาวุธซุ่มตีกำลังตำรวจในเมืองเซมปอร์นา เหตุการณ์ดังกล่าว สำหรับผู้สังเกตการณ์บางรายแล้ว มันคือการบ่งชี้ให้เห็นว่าขบวนการชาวตาวซักใต้ดิน ได้มีการจัดตั้งหาสมาชิกและดำเนินปฏิบัติการก่อความไม่สงบขึ้นในซาบาห์เรียบร้อยแล้ว “ผมเกรงว่ามันจะเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นในซาบาห์ เพราะมีชาวเบงซาโมโร (Bangsamoro ชาวมุสลิมฟิลิปปินส์) จำนวนเป็นเป็นแสนๆ คนกำลังพำนักอาศัยในซาบาห์[7] อยู่แล้ว” หะยีรุล กล่าวโดยไม่อธิบายอะไรเพิ่มเติม
นุล มิซูอารี (Nur Misuari) ผู้นำของ MNLF บอกกับผู้สื่อข่าวในวันอังคารเช่นกันว่า ถ้าหากมาเลเซียพุ่งเป้ามุ่งเล่นงานชาวฟิลิปปินส์ซึ่งอยู่ในซาบาห์แล้ว กลุ่มของเขาก็จะถือว่า การกระทำดังกล่าว “มีความหมายเท่ากับการประกาศสงคราม” เขากล่าวเตือนประธานาธิบดีเบนิโญ อากีโน ของฟิลิปปินส์ด้วยว่า ถ้าหากพยายามที่จะจับกุม คิราม แล้ว ก็จะพาให้ประเทศชาติต้องตกลงไปสู่ภาวะยุ่งเหยิงวุ่นวายอย่างแน่นอน
ทางทำเนียบประธานาธิบดีฟิลิปปินส์นั้น กล่าวหาทั้ง มิซูอารี และ นอร์แบร์โต กอนซาเลส (Norberto Gonzales) อดีตที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติในยุคประธานาธิบดีกลอเรีย อาร์โรโย ว่าเป็นคนเกลี้ยกล่อมชักชวนให้ คิราม ส่งลูกน้องบริวารของเขาไปยังซาบาห์ เพื่อบ่อนทำลายข้อตกลงสันติภาพที่รัฐบาลฟิลิปปินส์ทำกับกลุ่ม MILF อย่างไรก็ดี ทั้ง กอนซาเลส และ มิซูอารี ซึ่งต่างก็ดูมีแรงจูงใจแม้อาจจะแตกต่างกันอยู่บ้าง ที่ต้องการทำลายข้อตกลงสันติภาพระหว่าง MILF กับรัฐบาล ได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหานี้แล้วทั้งคู่
การโจมตีกวาดล้างของมาเลเซียคราวนี้ ยังได้จุดชนวนให้เกิดเปลวเพลิงแห่งอารมณ์ความรู้สึกชาตินิยมลุกลามขึ้นในมะนิลา กลุ่มชาติพันธุ์โมโรกับกลุ่มหัวเอียงซ้ายซึ่งธรรมดาแล้วมักเป็นฝ่ายตรงกันข้ามกันในทางแนวคิดอุดมการณ์ กลับออกมาทำการประท้วงอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในสัปดาห์นี้ที่บริเวณด้านหน้าสถานเอกอัครราชทูตมาเลเซีย พวกประท้วงเหล่านี้กล่าวหา อากีโน ด้วยว่าปล่อยให้มาเลเซียกระทำการอย่างอิสระตามอำเภอใจในการกวาดล้างผลักดันพวกบริวารผู้ติดตามของสุลต่าน หลังจากที่กลุ่มนี้ปฏิเสธไม่ยอมวางอาวุธและเดินทางกลับฟิลิปปินส์
“ถ้าหากไม่เป็นเพราะรัฐบาลฟิลิปปินส์นิ่งเฉยไม่ยอมทำอะไรเพื่อพิทักษ์ปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติแล้ว การเผชิญหน้ากันในซาบาห์ก็คงจะไม่จบลงด้วยการนองเลือดแบบนี้หรอก” ยูโซฟ เลเดสมา (Yusof Ledesma) บอก เลเดสมา อยู่ในกลุ่มพันธมิตรผู้สนับสนุนสุลต่านแห่งซูลู (Coalition Supporters for the Sultan of Sulu) หนึ่งในกลุ่มผู้ประท้วงที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำกรุงมะนิลาคราวนี้
วิกฤตคราวนี้ยังกำลังก่อให้เกิดกระแสคลื่นทางการเมืองขึ้นมาในมาเลเซีย ก่อนที่จะมีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปซึ่งเป็นที่คาดหมายกันว่าการแข่งขันจะเป็นไปอย่างดุเดือดร้อนแรง ซาบาห์นั้นมีฐานะเป็นรัฐที่อาจลงคะแนนเอียงไปทางข้างหนึ่งข้างใดก็ได้ ในการเลือกตั้งซึ่งทั้งนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค และผู้นำฝ่ายค้าน อันวาร์ อิบรอฮิม ต่างกำลังคาดการณ์วางแผนกันอย่างเต็มที่เพื่อให้ได้ชัยชนะ ก่อนเกิดการโจมตีทางอากาศในวันอังคาร อันวาร์ ได้ออกมาแถลงต่อสาธารณชน โจมตีนายกฯนาจิบว่า ล้มเหลวไม่สามารถที่จะพิทักษ์ปกป้องอธิปไตยแห่งชาติและความมั่นคงปลอดภัยของประชาชนชาวมาเลเซียได้
ไม่เฉพาะเพียงทางด้านการเมืองเท่านั้น ถ้าหากเกิดภาวะไร้เสถียรภาพอย่างยืดเยื้อขึ้นในซาบาห์แล้ว ยังจะส่งผลกระทบกระเทือนหนักในทางด้านเศรษฐกิจอีกด้วย ตามรายงานของบริษัทที่ปรึกษาทางด้านพลังงานภาคเอกชน ชื่อ แฟคต์ส โกลบอล เอนเนอจี (Facts Global Energy) ซาบาห์มีน้ำมันอยู่ประมาณ 1,500 ล้านบาร์เรล และก๊าซธรรมชาติ 1.1 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต นี่คือปริมาณสำรองซึ่งทราบกันแน่นอนแล้ว โดยที่ผลผลิตจากรัฐนี้คิดเป็นประมาณ 1 ใน 4 ของการผลิตน้ำมันและก๊าซโดยรวมของมาเลเซียในแต่ละปีทีเดียว ขณะที่การลงทุนของต่างชาติในภาคน้ำมันและก๊าซของมาเลเซีย เป็นตัวสร้างรายได้ถึงกว่า 40% ของรายรับรัฐบาล
หมายเหตุผู้แปล
[1] รัฐซาบาห์ (Sabah) เป็น 1 ใน 13 รัฐที่ประกอบกันเป็นประเทศมาเลเซีย ซาบาห์ตั้งอยู่บริเวณทางตอนเหนือของเกาะบอร์เนียว (Borneo) เกาะซึ่งมิใช่ทวีปที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก เกาะแห่งนี้มี 3 ประเทศแบ่งกันครอบครองเป็นเจ้าของ ได้แก่ มาเลเซีย, บรูไน, และอินโดนีเซีย สำหรับมาเลเซียนอกจากซาบาห์ ยังมีรัฐซาราวัก ซึ่งมีถัดไปทางตะวันตกเฉียงใต้ โดยรวมทั้งหมดแล้วมาเลเซียเป็นเจ้าของพื้นที่ประมาณ 26% ของเกาะ ทางด้านบรูไนนั้น ดินแดนประเทศเล็กๆ แห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งตอนเหนือของเกาะบอร์เนียว โดยที่ถูกรายล้อมด้วยพื้นที่รัฐซาราวักของมาเลเซีย มิหนำซ้ำดินแดนของบรูไนยังแบ่งเป็น 2 ส่วน และมีอำเภอลิมบัง (Limbang district) ของซาราวัก คั่นกลางอีกด้วย ดินแดนบรูไนคิดเป็นประมาณ 1% ของตัวเกาะบอร์เนียว ส่วนอินโดนีเซียเป็นเจ้าของอาณาบริเวณทางตอนล่างทั้งหมดของเกาะที่อยู่ถัดจากรัฐซาบาห์และซาราวักของมาเลเซียลงมา อินโดนีเซีย เรียกชื่อเกาะบอร์เนียวว่า กาลิมันตัน (Kalimantan) และเป็นผู้ครอบครองพื้นที่ประมาณ 73% ของตัวเกาะแห่งนี้ ทั้งนี้อินโดนีเซียแบ่งพื้นที่ของตนบนเกาะแห่งนี้ออกมาเป็น 5 จังหวัด ได้แก่ กาลิมันตันตะวันตก, กาลิมันตันกลาง, กาลิมันตันใต้, กาลิมันตันตะวันออก, และ กาลิมันตันเหนือ: ข้อมูลจาก Wikipedia
[2] อาณาจักรสุลต่านแห่งซูลู (Sultanate of Sulu) เป็นรัฐอิสลามของชาวตาวซิก ซึ่งปกครองเหนือหมู่เกาะจำนวนมากในทะเลซูลู ซึ่งปัจจุบันอยู่ในบริเวณภาคใต้ของฟิลิปปินส์ตลอดจนหลายๆ พื้นที่ทางตอนหนือของเกาะบอร์เนียว อาณาจักรสุลต่านแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นในปี 1457 โดย ไซยิด อาบู บาคร์ อาบิริน (Sayyid Abu Bakr Abirin) นักสำรวจและนักการศาสนาชาวอาหรับ ทว่าตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 อาณาจักรสุลต่านแห่งนี้สูญเสียดินแดนในปกครองในทางพฤตินัยให้แก่นักล่าอาณานิคมชาวสเปนและชาวอังกฤษ ตลอดจนจักรวรรดินิยมอเมริกันซึ่งเข้าครอบครองฟิลิปปินส์ต่อจากสเปน อำนาจอธิปไตยของอาณาจักรสุลต่านแห่งซูลูถูกยกเลิกไปอย่างเป็นทางการในปี 1917: ข้อมูลจาก Wikipedia
[3] จำนวนผู้ถูกสังหารจากวิกฤตคราวนี้ยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อิสมาอิล โอมาร์ (Ismail Omar) แถลงในวันเสาร์ที่ 9 มีนาคม 2013 ว่า นับถึงขณะนั้นมีผู้เสียชีวิตไปรวม 61 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ถืออาวุธชาวฟิลิปปินส์ 53 คน และตำรวจมาเลเซีย 8 คน ขณะเดียวกันตำรวจยังจับกุมผู้ต้องสงสัยเป็นบริเวณผู้สนับสนุน ญามาลุล คิราม ที่ 3 ผู้อ้างตนเป็นสุลต่านแห่งซูลู อีกเป็นจำนวน 79 คน: ข้อมูลจากเรื่อง Malaysia rounds up Filipino gunmen, AFP, 09 March, 2013 ของสำนักข่าวเอเอฟพี และเรื่อง Another Kiram follower killed in Sabah ในเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์ ฟิลิปปินส์ เดลี่ เอนไควเรอร์ (Philippine Daily Enquirer) ดูที่http://globalnation.inquirer.net/68023/another-kiram-follower-killed-in-sabah
[4] แนวร่วมปลดแอกแห่งชาติโมโร” (Moro National Liberation Front ใช้อักษรย่อว่า MNLF) ก่อตั้งขึ้นโดย นูร์ มิซูอารี (Nur Misuari) ในปี 1969 ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะทำการต่อสู้กับรัฐบาลฟิลิปปินส์เพื่อความเป็นเอกราชของดินแดนภาคใต้ของฟิลิปปินส์ ซึ่งพวกเขาเรียกว่า บังซาโมโรแลนด์ (Bangsamoro Land หรือบางทีก็เรียกว่า ประชาชาติ บังซาโมโร Bangsamoro Nation ตลอดจน ประชาชาติ มินดาเนา Mindanao Nation) MNLF ทำการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธอย่างนองเลือด และก็ดำเนินการเจรจาสันติภาพกับรัฐบาลฟิลิปปินส์เรื่อยๆ มา ทั้งนี้ ในปี 1976ประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ในเวลานั้น ได้ส่ง อิเมลดา มาร์กอส สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง เดินทางไปยังกรุงตริโปลี ประเทศลิเบีย ทำให้ มูอัมมาร์ กัดดาฟี ผู้นำลิเบียขณะนั้น เข้าทำหน้าที่เป็นคนกลาง ภายใต้การรับรู้และรับทราบขององค์การความร่วมมืออิสลาม (Organization of Islamic Cooperation ซึ่งในเวลาต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น องค์การการประชุมอิสลาม Organization of the Islamic Conference แต่ยังใช้อักษรย่อว่า OIC ตามเดิม) เพื่อให้รัฐบาลฟิลิปปินส์และกลุ่ม MNLF ทำการหยุดยิงและเจรจาสันติภาพ ในที่สุดทั้งสองฝ่ายก็ได้ลงนามในข้อตกลงตริโปลีปี 1976 ซึ่งมีเนื้อหากำหนดให้มีการหยุดยิงและรับรองหลักการให้ภาคใต้ของฟิลิปปินส์เป็นเขตปกครองตนเองแต่ยังเป็นดินแดนที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ของสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ถัดจากนั้นภายหลังการสู้รบและเจรจากันต่อมาอีก 13 ปี กระทั่งถึงปี 1989 รัฐสภาฟิลิปปินส์จึงได้ผ่านกฎหมายพื้นฐานว่าด้วยภูมิภาคปกครองตนเองสำหรับชาวมุสลิมมินดาเนาปี 1989 (the 1989 Autonomous Region for Muslim Mindanao (ARMM) Organic Act) ซึ่งกำหนดให้ 13 จังหวัดทางภาคใต้ของฟิลิปปินส์ (ในจำนวนนี้ 8 จังหวัดมีชาวคริสต์เป็นประชากรส่วนข้างมาก) เป็นดินแดนที่อยู่ภายใต้ข้อตกลงสันติภาพตริโปลี ซึ่งอนุญาตให้ชาวมุสลิมมีศาลยุติธรรม, โรงเรียน, และระบบบริหารของตนเองได้ ถึงปี 1996 รัฐบาลฟิลิปปินส์และกลุ่ม MNLF ได้ลงนามในข้อตกลงสันติภาพขั้นสุดท้าย ซึ่งให้ภูมิภาคปกครองตนเองของชาวมุสลิม มีสภานิติบัญญัติ, คณะกรรมการบริหาร, กองกำลังความมั่นคงพิเศษของภูมิภาค, ตลอดจนระบบเศรษฐกิจและระบบการเงินของตนเอง: ข้อมูลจาก Wikipedia ซึ่งมีการระบุข้อความเตือนว่า เนื้อหาในหัวเรื่องนี้ถูกท้วงติงว่ายังขาดความเป็นกลางในทางวิชาการ
[5] ชาวชาติพันธุ์ โมโร (Moro) หมายถึงประชากรพื้นเมืองที่เป็นชาวมุสลิมในภาคใต้ฟิลิปปินส์ ประชากรเหล่านี้ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ 10 กลุ่ม หนึ่งในนี้คือชาวตาวซัก นอกจากนั้นยังมีชนเผ่าเล็กๆ อื่นๆ ที่นับถืออิสลาม ก็ประกาศตนเป็นชาวโมโรด้วย: ข้อมูลจาก Wikipedia
[6] จากการที่กลุ่มแนวร่วมปลดแอกแห่งชาติโมโร (MNLF) ลงนามในข้อตกลงสันติภาพตริโปลี กับรัฐบาลฟิลิปปินส์ในปี 1976 ทำให้คณะผู้นำของกลุ่มนี้เกิดความแตกร้าวอย่างรุนแรง จนเกิดกลุ่มที่แตกแยกออกมาต่างหากในปี 1977 นำโดย ฮาชิม ซาลามัต (Hashim Salamat) และในเวลาต่อมากลุ่มนี้ก็จัดองค์กรกลายเป็นแนวร่วมปลดแอกอิสลามโมโร (Moro Islamic Liberation Front ใช้อักษรย่อว่า MILF) อย่างเป็นทางการในปี 1984 โดยที่ มูอัมมาร์ กัดดาฟี ผู้นำลิเบีย ได้กลายเป็นผู้สนับสนุนกลุ่มนี้เรื่อยๆ มา กลุ่ม MILF ปฏิเสธไม่ยอมรับข้อตกลงระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์กับ MNLF ในการจัดตั้งภูมิปกครองตนเองที่มีชื่อว่า ภูมิภาคปกครองตนเองสำหรับชาวมุสลิมมินดาเนา(Autonomous Region for Muslim Mindanao) และยังคงปฏิบัติการก่อความไม่สงบอย่างต่อเนื่อง โดยที่ในระหว่างนั้นก็มีความพยายามที่จะเจรจาทำข้อตกลงหยุดยิงกันระหว่างกลุ่ม MILF กับรัฐบาลฟิลิปปินส์อยู่หลายระลอก ทว่าไม่ประสบผล จวบจนกระทั่งถึงเดือนตุลาคม ปี 2012 ภายหลังการเจรจาสันติภาพระหว่าง MILF กับรัฐบาลฟิลิปปินส์ ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ โดยที่มีรัฐบาลมาเลเซียเป็นคนกลาง จึงได้ประสบความสำเร็จ โดยในวันที่ 7 ตุลาคม ประธานาธิบดีเบนิโญ อากีโน แถลงว่า ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงลงนามในกรอบข้อตกลงสันติภาพเบื้องต้น ซึ่งกำหนดให้ก่อตั้งองค์กรปกครองตนเองทางการเมืองระดับภูมิภาคที่จะใช้ชื่อว่า “บังซาโมโร” เพื่อใช้แทนที่ “ภูมิภาคปกครองตนเองสำหรับชาวมุสลิมมินดาเนา” โดยที่ อากีโน วิจารณ์ว่า ภูมิภาคปกครองตนเองสำหรับชาวมุสลิมมินดาเนา เป็น “การทดลองที่ประสบความล้มเหลว” เพราะไม่สามารถแก้ไขปัญหาฉกรรจ์ๆ อย่างเช่น การโกงการเลือกตั้ง, การอุปถัมภ์ทางการเมือง, ความยากจน, สงคราม, และลัทธิขุนศึก จึงจำเป็นต้องดำเนินการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง ด้วยการก่อตั้ง “บังซาโมโร” ขึ้นมา
[7] คำพูดเช่นนี้ของ กาปุล หะยีรุล อาจจะมีวัตถุประสงค์ในทางการเมือง แต่ถ้าหากพิจารณาเฉพาะข้อเท็จจริงแล้ว ก็เป็นความจริงอย่างไม่ต้องสงสัย กล่าวคือ ประชากรของซาบาห์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมาก จากที่มีจำนวน 651,304 คน ตามการสำรวจสำมะโนประชากรในปี 1970 ก็กลายเป็น 929.299 คนในปี 1980 ยิ่งใน 2 ทศวรรษถัดมายิ่งทะยานลิ่วๆ จนกลายเป็น 2,468,246 คนในปี 2000 และขึ้นเป็น 3,117,405 คนในการสำรวจสำมะโนประชากรปี 2010 เหตุผลสำคัญที่สุดของการเพิ่มพลเมืองอย่างรวดเร็วเช่นนี้ ก็คือ การไหลเข้ามาของพวกผู้อพยพอย่างผิดกฎหมายจากจังหวัดต่างๆ ทางภาคใต้ของฟิลิปปินส์ คนเหล่านี้เป็นพวกที่มีเชื้อสายมาเลย์นับถือศาสนาอิสลาม และไม่ว่าจะเป็นผู้อพยพอย่างถูกกฎหมายหรือผิดกฎหมาย ก็มักได้รับสัญชาติมาเลเซียอย่างไม่ยากเย็น โดยที่มีเสียงกล่าวหากันอย่างกว้างขวางทั้งทางสื่อมวลชน ตลอดจนในหมู่นักวิจารณ์ทางการเมืองและประชาชนทั่วไปว่า รัฐบาลกลางของมาเลเซีย โดยเฉพาะในยุคของนายกรัฐมนตรีมหาเธร์ โมฮัมหมัด มีโครงการเร่งให้สัญชาติแก่ผู้อพยพเหล่านี้ ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะเปลี่ยนแปลงแบบแผนทางประชากรของรัฐซาบาห์ เพื่อให้ผู้ออกเสียงส่วนใหญ่กลายเป็นพวกที่นิยมรัฐบาล
โนเอล ที ทาร์ราโซนา เป็นทั้งนักหนังสือพิมพ์และอาจารย์พิเศษของโครงการรัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต (Master of Public Administration Program) แห่งมหาวิทยาลัยซัมโบอังกา (Universidad de Zamboanga) สามารถติดต่อเขาทางอีเมลได้ที่ noeljobstreet@yahoo.com. ทั้งนี้ ฌอน ดับเบิลยู คริสพิน (Shawn W Crispin) บรรณาธิการด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของเอเชียไทมส์ออนไลน์ มีส่วนในการรายงานข่าวจากกรุงเทพฯเข้าสมทบในข้อเขียนชิ้นนี้ด้วย