xs
xsm
sm
md
lg

‘ฟิลิปปินส์’ทำกรอบข้อตกลงสู่สันติภาพกับ‘กบฎมุสลิม’ (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: ริชาร์ด จาวัด เฮย์ดาเรียน

Mindanao gets a chance for peace
By Richard Javad Heydarian
10/10/2012

การที่ประธานาธิบดีเบนิโญ อากีโน สามารถบรรลุกรอบข้อตกลงเพื่อก้าวเข้าสู่สันติภาพ กับกลุ่มแนวร่วมปลดแอกอิสลามโมโร (MILF) ได้สำเร็จ คือการสร้างโอกาสในการยุติการสู้รบขัดแย้งซึ่งได้คร่าชีวิตผู้คนไปร่วมๆ 200,000 คนแล้ว อย่างไรก็ตาม ถ้าหากเขาไม่สามารถที่จะจัดทำยุทธศาสตร์อันมีประสิทธิภาพในการยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชนภายในเขตพื้นที่ซึ่งจะมีการจัดตั้งขึ้นมาภายใต้กรอบข้อตกลงฉบับนี้แล้ว แผนการนี้ก็จะล้มเหลวพังครืนลงไปเฉกเช่นเดียวกับความพยายามสร้างสันติภาพในมินดาเนาครั้งก่อนๆ ในอดีต ซึ่งแม้มีเจตนารมณ์ที่ดีทว่าลงท้ายแล้วก็ไม่สามารถดำเนินการให้บังเกิดสัมฤทธิผลได้

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

ย้อนหลังกลับไปในอดีตสืบสาวการพูดจากันระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์ชุดต่างๆ กับพวกกบฏกลุ่มแนวร่วมปลดแอกอิสลามโมโร (MILF) ตลอดช่วงเวลาราว 20 ปีที่ผ่านมา ในยุคของประธานาธิบดีฟิเดล รามอส ภายหลังที่ได้ทำข้อตกลงสันติภาพกับกลุ่มแนวร่วมปลดแอกแห่งชาติโมโร (MNLF) ในปี 1996 ซึ่งมีการกำหนดให้จัดตั้ง“เขตปกครองตนเองของชาวมุสลิมในมินดาเนา” (Autonomous Region in Muslim Mindanao หรือ ARMM) ขึ้นมา ทว่าสมาชิกส่วนหนึ่งของ MNLF ไม่เห็นด้วย และมีการแยกตัวออกมาตั้งเป็นกลุ่ม MILF ขึ้นนั้น รัฐบาลก็มีการเจรจาหารือเบื้องต้นกับ MILF ไประดับหนึ่งเหมือนกันในช่วงปี 1997 แต่แล้วคณะรัฐบาลชุดต่อมาของประธานาธิบดีโจเซฟ เอสตราดา กลับประกาศทำสงครามอย่างโจ่งแจ้งเปิดเผยกับกบฏกลุ่มนี้ เป็นความพยายามที่จะใช้ไม้แข็งใช้กำลังมาบังคับให้เกิดสันติภาพ จนเมื่อเข้าสู่ยุคของประธานาธิบดีกลอเรีย มากาปากัล-อาร์โรโย เธอรู้สึกได้ถึงความล้มเหลวในนโยบายของผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนก่อนหน้าเธอ อาร์โรโยจึงเรียกร้องให้มีการหยุดยิงและเข้าพูดจาหาลู่ทางเจรจาสันติภาพกับกลุ่ม MILF ตั้งแต่ปี 2003 หลังจากใช้เวลาเจรจาอย่างเข้มข้นเป็นเวลาประมาณ 5 ปี อาร์โรโยได้ออกมาประกาศข้อตกลงสันติภาพชั่วคราวที่ทำกับMILF และนี่ก็เป็นเอกสารฉบับหนึ่งซึ่งศาลสูงสุดมีคำพิพากษาตัดสินในที่สุดว่าเป็นโมฆะเพราะขัดรัฐธรรมนูญ ความล้มเหลวไม่เป็นท่าเช่นนี้ ส่วนหนึ่งก็เนื่องจากการที่คณะรัฐบาลของอาร์โรโยไร้ความสามารถที่จะจัดทำกระบวนการในการเจรจาระหว่างรัฐบาลของเธอกับกลุ่ม MILF ให้ดำเนินไปด้วยความโปร่งใสและเปิดกว้างให้ฝ่ายต่างๆ เข้าร่วมได้

จากการศึกษาสรุปบทเรียนความล้มเหลวของบรรดาประธานาธิบดีหลายๆ คนก่อนหน้าเขา อากีโนก็ได้ใช้วิธีการที่แตกต่างออกไปอย่างชัดเจน ด้วยการทำให้การเจรจาที่ดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องของเขามีความโปร่งใสและการเปิดกว้างต้อนรับผู้เข้าร่วมให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ทั้งนี้หลังจากผ่านขั้นตอนอันจำเป็นของระยะแห่งการเจรจาต่อรองแบบปิดลับไปแล้ว ในเวลานี้รายละเอียดต่างๆ ของกรอบข้อตกลงก็ถูกนำมาวางแบให้สาธารณชนศึกษา พร้อมๆ กับที่ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแสดงความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะ

**เสียงยกย่องชมเชยจากนานาชาติ**

การตอบรับในระดับระหว่างประเทศต่อกรอบข้อตกลงฉบับนี้ ปรากฏว่าออกมาในทางบวก โดยเฉพาะในระดับผู้นำสูงสุด เลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ บัน คีมุน พูดถึงกรอบข้อตกลงนี้ว่าเป็น “ความสำเร็จที่เป็นการสร้างหลักหมายใหม่” พร้อมกับเน้นย้ำว่าสหประชาชาติมีความพรักพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือแก่ฝ่ายต่างๆ ตามความต้องการ เพื่อให้สามารถดำเนินการตามกรอบข้อตกลงสันติภาพฉบับนี้ได้

สำหรับพวกนักลงทุนชาวต่างประเทศ พวกเขามีความรู้สึกตื่นเต้นมานานแล้วเมื่อพูดจากันถึงลู่ทางในการลงทุนถ้าหากสร้างสันติภาพขึ้นมาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโอกาสในการลงทุนทำกิจการเหมืองแร่ขนาดใหญ่ในเกาะมินดาเนาซึ่งอุดมไปด้วยทรัพยากร ตามการประเมินของบางสำนักนั้นระบุว่าเกาะใหญ่ที่สุดในภาคใต้ของฟิลิปปินส์แห่งนี้มีสินแร่ที่ยังไม่ได้ขุดค้นทำประโยชน์คิดเป็นมูลค่ากว่า 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯทีเดียว จากการที่มินดาเนามีอัตราส่วนการลงทุนต่อจีดีพีเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในห้วงเวลาหลายๆ ปีหลังมานี้ ดินแดนแห่งนี้จึงสามารถใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานและโครงการพัฒนาต่างๆ ที่มีมากขึ้น เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่การลงทุนระหว่างประเทศดังกล่าวนี้

ในเวลาเดียวกัน พวกประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงอย่างเช่นมาเลเซีย ก็แสดงความยินดีต้อนรับข้อตกลงคราวนี้อย่างอบอุ่น ทั้งนี้ถ้าหากสามารถจัดทำข้อตกลงสุดท้ายและมีการปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดแล้ว ก็อาจหมายความว่ากิจกรรมทางด้านอาชญากรรมทางทะเลตามแนวพรมแดนระหว่างฟิลิปปินส์กับมาเลเซียจะลดน้อยลง ตลอดจนสกัดกั้นการไหลทะลักของผู้อพยพผิดกฎหมายจากดินแดนที่ทุกข์ยากลำบากเนื่องจากความขัดแย้งอย่างมินดาเนา ซึ่งส่วนใหญ่พากันมุ่งเดินทางไปยังเกาะบอร์เนียว โดยเฉพาะสู่ดินแดนรัฐซาบาห์บนเกาะใหญ่แห่งนั้นของมาเลเซีย กัวลาลัมเปอร์นั้นทำหน้าที่เป็นตัวกลางรายสำคัญในการเจรจาระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์กับกลุ่มกบฎ MILF โดยทำหน้าที่ในการไกล่เกลี่ยให้สองฝ่ายเกิดความรอมชอมกันมาตั้งแต่ปี 2001 แล้ว

นายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัค ของมาเลเซีย ได้กล่าวยกย่องชมเชยข้อตกลงคราวนี้ว่า เป็นก้าวเดินที่มุ่งไปสู่ “... การรับประกันว่าประชาชนบังซาโมโรจะสามารถชื่นชมกับดอกผลของสันติภาพ ซึ่งพวกสมควรที่จะได้รับดอกผลเหล่านั้นอย่างเต็มที่” ขณะที่รัฐมนตรีกลาโหมของเขา อาหมัด ซาฮิด ฮามิดี ( Ahmad Zahid Hamidi) บอกว่า “เมื่อมีสันติภาพ การไหลทะลักของผู้อพยพเข้าสู่ซาบาห์ก็จะลดน้อยลง เรื่องการจัดการกับผู้อพยพผิดกฎหมายเข้าสู่ซาบาห์นี้ไม่เพียงแต่ทำให้เราต้องสิ้นเปลืองงบประมาณเป็นอย่างมากเท่านั้น แต่มันยังสามารถก่อให้เกิดปัญหาทั้งทางเศรษฐกิจและทางการเมืองขึ้นในรัฐแห่งนั้นด้วย”

เมื่อตอนที่ “สงครามต่อต้านการก่อการร้าย” ทั่วโลกที่นำโดยสหรัฐฯในยุคประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช กำลังดำเนินไปจนถึงจุดสูงสุดนั้น มีนักวิเคราะห์บางรายระบุว่า มินดาเนาคือแนวรบแนวที่สองของสมรภูมิแห่งสงครามนี้ เพราะดินแดนแห่งนี้เสมือนกับเป็นแม่เหล็กที่ดึงดูดพวกผู้ก่อการร้ายชั้นแนวหน้าซึ่งต้องหลบหนีการปราบปรามกวาดล้างในส่วนอื่นๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยเหตุนี้ กรอบข้อตกลงสันติภาพฉบับนี้จึงยังสามารถมีบทบาทช่วยเหลือการปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายที่ยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องในภูมิภาคแถบนี้ โดยกลุ่มที่ตกเป็นเป้าหมายสำคัญที่สุดก็คือกลุ่มอบูไซยาฟ เมื่อมองโดยภาพรวมแล้ว กรอบข้อตกลงนี้จึงเป็นการสร้างคุณูปการอย่างใหญ่หลวงให้แก่ความมั่นคงปลอดภัยทั้งในระดับชาติและในระดับภูมิภาค

**ทัศนะมุมมองทางยุทธศาสตร์ระยะยาวไกล**

พวกผู้เชี่ยวชาญทางยุทธศาสตร์กำลังประเมินกันถึงดอกผลทางยุทธศาสตร์ที่อาจจะบังเกิดขึ้นได้จากการที่ดินแดนมินดาเนามีเสถียรภาพเพิ่มมากขึ้น เป็นที่ทราบกันดีว่าทั้งสหรัฐฯ, ออสเตรเลีย, และชาติพันธมิตรรายอื่นๆ กำลังวิเคราะห์วิจัยกันถึงลู่ทางต่างๆ ในการยุติยับยั้งการแทรกซึมเข้าสู่ดินแดนมินดาเนาอย่างต่อเนื่องของพวกผู้ก่อการร้ายชื่อดังๆ เป็นต้นว่า การแทรกซึมของพวกกลุ่มที่เกี่ยวข้องพัวพันกับอัลกออิดะห์อย่างเช่น กลุ่มญะมะอาห์ อิสลามิยะห์ (Jemaah-Islamiyah หรือ JI) ที่ตั้งฐานอยู่ในอินโดนีเซีย กลุ่มเหล่านี้สามารถฉวยใช้ประโยชน์มานานแล้วจากสภาพชายแดนที่เต็มไปด้วยรูโหว่ และภาวะไร้ขื่อแปไร้กฎหมายโดยทั่วไปของเกาะมินดาเนา

ความสัมพันธ์อย่างสันติกับกลุ่ม MILF จะเปิดทางให้กองทัพฟิลิปปินส์หันไปเน้นหนักที่การปราบปรามกวาดล้างกลุ่มอบูไซยาฟได้อย่างจริงจังยิ่งขึ้น พร้อมๆ กับที่ปรับเปลี่ยนทัศนคติในการป้องกันประเทศของพวกเขาให้มุ่งไปที่ภัยคุกคามจากภายนอกให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมื่อฟิลิปปินส์กำลังเกิดความตึงเครียดกับจีนมากขึ้นเรื่อยๆ สืบเนื่องจากการพิพาทช่วงชิงกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะในทะเลจีนใต้

บางคนบางฝ่ายในฟิลิปปินส์เองตั้งความหวังว่า ความสำเร็จในการทำข้อตกลงสันติภาพกับกลุ่ม MILF จะสร้างโมเมนตัมให้แก่การเปิดเจรจาสันติภาพกันขึ้นใหม่กับพวกผู้ก่อความไม่สงบคอมมิวนิสต์ NPA ซึ่งมีกองกำลังติดอาวุธที่มีสมาชิกราว 10,000 คน ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์กับ NPA นั้นสามารถสาวย้อนหลังกลับไปจนถึงช่วงทศวรรษ 1960 และเป็นสาเหตุทำให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายประมาณ 40,000 คนทีเดียว

การพูดจาหารือสร้างสันติภาพระลอกก่อนหน้านี้ทั้งในปี 2004 และปี 2010 ที่มีรัฐบาลนอร์เวย์ทำหน้าที่เป็นคนกลาง มีอันล้มครืนลงไปหลังจากที่พวกผู้นำคอมมิวนิสต์ยื่นข้อเรียกร้องให้ปล่อยตัวสหายของพวกเขาที่ถูกจับกุมคุมขังอยู่ โดยถือเป็นเงื่อนไขที่ฝ่ายรัฐบาลจะต้องปฏิบัติก่อนเพื่อให้บังเกิดสันติภาพ นอกจากนั้นผู้นำคอมมิวนิสต์ยังกล่าวหารัฐบาลฟิลิปปินส์ มีส่วนในการทำให้สหรัฐฯบรรจุเอา NPA เข้าไว้ในบัญชีดำองค์การก่อการร้ายต่างประเทศของตน มีรายงานว่าเวลานี้คณะรัฐบาลอากีโนที่เต็มไปด้วยแรงบันดาลใจ กำลังพยายามที่จะรื้อฟื้นการเจรจาที่หยุดชะงักไปเหล่านี้ขึ้นมาใหม่

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้มีบรรยากาศของการเล็งการณ์ในแง่ดีเป็นอันมากบังเกิดขึ้นจากการประกาศผลสำเร็จของการจัดทำกรอบข้อตกลงสันติภาพ แต่ก็ยังคงมีความกังวลกันอยู่เกี่ยวกับความสามารถของกลุ่ม MILF ในการยึดมั่นอยู่กับข้อตกลงสันติภาพชั่วคราวนี้ ตลอดจนในการบริหารปกครองเขตพื้นที่บังซาโมโรอย่างทรงประสิทธิภาพ ข้อตกลงปี 1996 ที่ทำไว้กับกลุ่ม MNLF ในปัจจุบันอยู่ในสภาพแหลกสลายในทางเป็นจริงเสียแล้ว ที่สำคัญเป็นเพราะพวกผู้นำของพื้นที่ปกครองตนเองแห่งนี้บกพร่องล้มเหลวไม่สามารถแก้ไขลดทอนภาวะความยากจนอย่างกว้างขวาง, การทุจริตคอร์รัปชั่น, และภาวะไร้ขื่อแปไร้กฎหมายโดยทั่วไป ขณะเดียวกับที่พวกกลุ่มแยกตัวออกจาก MNLF อย่างเช่น MILF, อบูไซยาฟ, และ BIFF ต่างตั้งจุดมุ่งหมายที่จะบ่อนทำลายข้อตกลงฉบับดังกล่าว

ดังนั้น คณะรัฐบาลประธานาธิบดีอากีโนจึงจำเป็นที่จะต้องจัดทำแผนการอันมีรายละเอียดและทรงประสิทธิภาพที่จะสามารถสร้างความแข็งแกร่งให้แก่รากฐานของเขตที่เพิ่งเริ่มต้นปกครองตนเองแห่งนี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ยากจนที่สุดและเกิดความรุนแรงหนักหน่วงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มิฉะนั้นแล้ว เขาก็เสี่ยงที่จะซ้ำรอยประวัติศาสตร์แห่งความพยายามสร้างสันติภาพขึ้นในมินดาเนา ซึ่งต่างก็เป็นความพยายามอันเต็มไปด้วยเจตนารมณ์ที่ดี ทว่าลงท้ายแล้วก็ไม่สามารถดำเนินการให้บังเกิดสัมฤทธิผล

ริชาร์ด จาวัด เฮย์ดาเรียน เป็นนักวิเคราะห์ด้านกิจการต่างประเทศซึ่งพำนักอยู่ในมะนิลา สามารถติดต่อเขาทางอีเมลได้ที่ jrheydarian@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น