xs
xsm
sm
md
lg

‘พวกหัวรุนแรง’คุกคาม‘ข้อตกลงสันติภาพฟิลิปปินส์-กบฏโมโร’(ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: เจค็อบ เซนน์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Militants threaten Manila peace deal
By Jacob Zenn
15/10/2012

กรอบข้อตกลงสู่สันติภาพครั้งประวัติศาสตร์ที่รัฐบาลฟิลิปปินส์ กับกลุ่มแนวร่วมปลดแอกอิสลามโมโร (MILF) ลงนามกันไปหมาดๆ เมื่อไม่กี่วันก่อน จะสามารถอยู่รอดเติบใหญ่ได้หรือไม่นั้น ต้องขึ้นอยู่กับว่าพวกหัวรุนแรงซึ่งอยู่ในพื้นที่มินดาเนาที่ปั่นป่วนวุ่นวาย จะแสดงการสนองตอบต่อเรื่องนี้กันอย่างไร ขณะที่มาตรการหลายๆ ด้านที่ระบุไว้ในข้อตกลงฉบับนี้ เป็นต้นว่า การให้เขตปกครองตนเองที่จะจัดตั้งขึ้นมา มีสิทธิที่จะจัดเก็บภาษี ตลอดจนสามารถใช้หลักกฎหมายอิสลามมาตัดสินคดีความ มีจุดมุ่งหมายที่จะถอดชนวนภัยคุกคามซึ่งจะมาจากประดากลุ่มสุดโต่งอย่างเช่น อบูไซยาฟ แต่กระนั้นพวกหัวรุนแรงที่มีสายใยเชื่อมโยงอยู่กับกลุ่มแยกตัวอื่นๆ ซึ่งยึดถืออัลกออิดะห์เป็นแรงบันดาลใจเช่นเดียวกัน ยังคงมั่นอกมั่นใจได้ว่าจะสามารถปลุกระดมหาสมาชิกใหม่ๆ เข้ามาร่วมก่อความไม่สงบกับพวกตนได้ต่อไป

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

กรอบข้อตกลงสู่สันติภาพที่มีการลงนามกันอย่างเป็นทางการเมื่อวันจันทร์ที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา ระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์ กับ กลุ่มกบฏ “แนวร่วมปลดแอกอิสลามโมโร” (Moro Islamic Liberation Front หรือ MILF) มีจุดมุ่งหมายที่จะยุติการสู้รบขัดแย้งกันที่ดำเนินมายาวนานหลายสิบปีแล้ว โดยวิธีการจัดตั้งหน่วยการเมืองเพื่อการปกครองตนเองหน่วยใหม่ ซึ่งจะเป็นที่รู้จักเรียกขานกันในนามว่า “บังซาโมโร” (Bangsamoro) ขึ้นมาในอาณาบริเวณเกาะมินดาเนา อันเป็นเกาะใหญ่ทางภาคใต้ของประเทศ ถึงแม้มีกระแสเล็งการณ์ในแง่ดีอย่างกว้างขวางทั้งภายในฟิลิปปินส์เองและในต่างประเทศ โดยต่างก็ให้ภาพคาดการณ์เกี่ยวกับอนาคตแห่งสันติภาพของข้อตกลงฉบับนี้ไปในทางสดใส แต่กระนั้นก็ยังมีประเด็นฉกาจฉกรรจ์อยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งยังคงเป็นปัจจัยลดทอนโอกาสแห่งความสำเร็จในระยะยาวของกรอบข้อตกลงนี้

ประเด็นแรก คือพวกที่จะพยายามบ่อนทำลายกรอบข้อตกลงสู่สันติภาพฉบับนี้ พวกบ่อนทำลายเหล่านี้น่าจะมาจากหลายๆ กลุ่มทีเดียว อันดับแรกเลยได้แก่ พวกนักรบของกลุ่ม MILF เองที่เป็นพวกหัวรุนแรงและตัดสินใจแยกตัวไม่เดินตามคณะผู้นำกลุ่มที่ไปยินยอมทำข้อตกลงกับรัฐบาล นักรบเหล่านี้ยังจะดำเนินการต่อสู้ด้วยอาวุธต่อไป

กลุ่มถัดมาได้แก่ กลุ่มแนวร่วมปลดแอกแห่งชาติโมโร (Moro National Liberation Front หรือ MNLF) ที่กำลังฟื้นคืนขึ้นมาปฏิบัติการกันอีกครั้ง กลุ่มนี้เองเคยทำข้อตกลงสันติภาพกับรัฐบาลฟิลิปปินส์เมื่อสิบกว่าปีก่อน แต่เวลานี้พวกเขาเชื่อว่าข้อตกลงดังกล่าว ได้ถูกทำลายไปแล้วโดยข้อตกลงฉบับใหม่ล่าสุดที่รัฐบาลไปเซ็นกับ MILF และดังนั้นกลุ่มนี้จึงกำลังออกอาการข่มขู่ที่จะหันไปใช้ความรุนแรงอีกครั้งหนึ่ง

อีกกลุ่มหนึ่ง คือ กลุ่มนักรบเสรีภาพอิสลามบังซาโมโร (Bangsamoro Islamic Freedom Fighters หรือ BIFF) ซึ่งเป็นพวกที่แยกตัวออกจาก MILF ตั้งแต่ 2 ปีก่อน โดยอยู่ใต้การบังคับบัญชาของ อาเมริล คาโต (Ameril Kato) ผู้นำหัวรุนแรงซึ่งข่มขู่ที่จะเปิดการโจมตีต่อพลเรือนถ้าหากกรอบข้อตกลงใหม่นี้มีผลบังคับใช้

นอกจากนั้นยังมี อบูไซยาฟ (Abu Sayyaf) กลุ่มซึ่งแตกออกมาจาก MNLF และเป็นผู้ก่อความไม่สงบแนวทางนิยมอิสลามซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากอัลกออิดะห์ ทั้งนี้มีรายงานข่าวว่ากลุ่มนี้ได้เริ่มเปิดฉากระดมหาสมาชิกใหม่ๆ ในระดับนานาชาติครั้งใหม่แล้ว

กรอบข้อตกลงฉบับล่าสุด เป็นผลของการเจรจากันมาอย่างยาวนานกว่า 15 ปี และจะนำมาดำเนินการให้เป็นไปตามข้อตกลง โดยคณะกรรมการถ่ายโอนอำนาจ (Transition Commission) ที่มีจำนวนทั้งสิ้น 15 คน อย่างไรก็ดี ยังไม่มีการประกาศตารางเวลาอันแน่นอนชัดเจนสำหรับการปลดอาวุธกองกำลังของ MILF ซึ่งประมาณการกันว่ามีจำนวนราว 11,000 คน เห็นได้ชัดเจนว่าข้อตกลงนี้ยังคงห่างไกลจากข้อเรียกร้องแกนกลางของ MILF เมื่อตอนที่กลุ่มนี้แยกตัวออกจาก MNLF เพื่อมาจัดตั้งเป็นกลุ่มอิสระ ซึ่งก็คือการก่อตั้งรัฐมุสลิมที่เป็นเอกราชสำหรับชาวมุสลิมชาติพันธุ์โมโรในมินดาเนาขึ้นมา MILF แตกออกมาจาก MNLF ในช่วงทศวรรษ 1970 ตอนที่ MNLF ไปทำความตกลงกับรัฐบาลโดยยินยอมละทิ้งข้อเรียกร้องเรื่องรัฐเอกราช และยอมรับเพียงฐานะการเป็นเขตกึ่งปกครองตนเอง

หลังจากผ่านการลงประชามติของประชาชนในท้องถิ่นเมื่อปี 1989 แล้ว พื้นที่ปกครองตนเองนี้ก็กลายเป็นที่รู้จักเรียกขานกันในชื่อว่า “เขตปกครองตนเองของชาวมุสลิมในมินดาเนา” (Autonomous Region in Muslim Mindanao ใช้อักษรย่อว่า ARMM) ซึ่งเวลานี้ประกอบด้วยพื้นที่หลายๆ ส่วนของจังหวัดมากูอินดาเนา (Maguindanao) และจังหวัด ลาเนา เดล ซูร์ (Lanao del Sur) บนตัวเกาะมินดาเนา และจังหวัดซูลู (Sulu) กับจังหวัดตาวี ตาวี (Tawi Tawi) ในหมู่เกาะซูลู สำหรับ บังซาโมโร หน่วยการเมืองที่จะเข้าแทนที่ ARMM ตามกรอบข้อตกลงฉบับล่าสุด กล่าวอย่างคร่าวๆ แล้วจะประกอบด้วยอาณาเขตคล้ายๆ กับ ARMM ในปัจจุบัน และจะมีประชากรรวมกันประมาณ 4 ล้านคน โดยมีองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นในจังหวัด ลาเนา เดล ซูร์ อยู่ในสังกัดรวม 6 แห่ง และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นในจังหวัดนอร์ท โคตาบาโต (North Cotabato) อีก 6 แห่ง นอกจากนั้นยังจะครอบคลุมเมืองขนาดใหญ่อีก 2 แห่ง คือ เมืองโคตาบาโต และ เมืองอิซาเบลา (Isabela) ซึ่งอยู่ในจังหวัดบาซิลัน (Basilan)

อาณาเขตในปกครองขนาดนี้นับว่าเล็กกว่าสิ่งที่ได้เคยเจรจาทำความตกลงกันเอาไว้ในปี 2008 เป็นอย่างมาก โดยที่ในตอนนั้นรัฐบาลฟิลิปปินส์ (ในยุคของประธานาธิบดีกลอเรีย มากาปากัลป์-อาร์โรโย) กับ MILF วางแผนจะลงนามในเอกสารที่เรียกกันว่า “บันทึกความเข้าใจแห่งข้อตกลงว่าด้วยเขตอาณาบริเวณที่ได้รับตกทอดจากบรรพบุรุษ” (Memorandum of Agreement on Ancestral Domain หรือ MOAAD) เอกสาร MOAAD ซึ่งได้ถูกศาลสูงสุดตัดสินว่าขัดรัฐธรรมนูญและดังนั้นจึงไม่เคยนำมาปฏิบัติเลยนั้น นอกจากครอบคลุมเขตพื้นที่บังซาโมโรตามกรอบข้อตกลงฉบับล่าสุดแล้ว ยังรวมเอาพื้นที่ขนาดใหญ่หลายส่วนของจังหวัดปาลาวัน (Palawan) ตลอดจนพื้นที่ในส่วนซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นคริสเตียนของจังหวัดนอร์ท โคตาบาโต และเมืองซัมโบอังกา (Zamboanga) ที่ตั้งอยู่บนเกาะมินดาเนา

ประธานาธิบดีเบนิโญ อากีโน ให้คำมั่นสัญญาว่า กลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองต่างๆ ที่เป็นตัวการสำคัญในการผลักดันให้ล้มข้อตกลง MOAAD จะไม่เข้ามาแทรกแซงการดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบข้อตกลงล่าสุดคราวนี้ สำหรับอากีโนแล้ว ข้อตกลงฉบับนี้มีความสำคัญไม่เพียงในแง่ที่จะทำให้ฐานะความเป็นประธานาธิบดีนักปฏิรูป ซึ่งมีผลงานในระดับเป็นมรดกสืบทอดถึงรุ่นลูกหลานของเขา บังเกิดความหนักแน่นมั่นคงมากขึ้นเท่านั้น หากแต่ยังจะทำให้เขามีเกียรติภูมิในฐานะของผู้สร้างสันติภาพเพิ่มขึ้นมาอีกด้วย อากีโนประกาศเจตนารมณ์ว่าจะพยายามผลักดันให้กรอบข้อตกลงสู่สันติภาพฉบับนี้ พัฒนากลายเป็นข้อตกลงสุดท้ายให้สำเร็จในปี 2016 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่วาระดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี 6 ปีของเขาจะสิ้นสุดลง เขาพยายามเน้นย้ำให้เห็นผลประโยชน์ต่างๆ ในทางเศรษฐกิจซึ่งข้อตกลงนี้จะนำมาให้มินดาเนา โดยเขากล่าวว่า “มือที่ครั้งหนึ่งเคยจับปืนเล็กยาว จะเปลี่ยนไปเป็นมือที่ใช้เพื่อการไถหว่านผืนแผ่นดิน, การขายผลผลิต, การจัดคนเข้าทำงานตามสถานที่ทำงานต่างๆ, และการผลักประตูแห่งโอกาสให้เปิดกว้าง”

ตามการประเมินของหน่วยข่าวกรองสหรัฐฯที่นำออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนในปี 2011 นั้น ได้ประมาณการเอาไว้ว่า มินดาเนามีสินแร่ต่างๆ ที่ยังไม่ได้ถูกขุดค้นขึ้นมาคิดเป็นมูลค่าสูงถึงราวๆ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯทีเดียว ทว่าในอดีตที่ผ่านมาพวกบริษัทธุรกิจต่างๆ ไม่สามารถเข้าแสวงผลประโยชน์จากทรัพยากรเหล่านี้ได้ สืบเนื่องจากมีการก่อความไม่สงบของกลุ่มต่างๆ หลายหลากบนเกาะใหญ่ที่เต็มไปด้วยความปั่นป่วนวุ่นวายแห่งนี้ บริษัทหลายๆ แห่งที่มีฐานอยู่ในเขตอ่าวเปอร์เซียโดยที่เป็นกิจการซึ่งมาจากซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเคตส์ (ยูเออี) ได้เคยแสดงความสนใจที่จะทำการลงทุนทางด้านภาคการเกษตรบนเกาะมินดาเนา แต่แล้วก็ต้องถอยจากไปเช่นเดียวกัน เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์อันเต็มไปด้วยความเสี่ยงทางการเมือง

กรอบข้อตกลงสู่สันติภาพฉบับนี้เป็นที่ยอมรับกันได้ในกรุงมะนิลา ส่วนหนึ่งก็เพราะพื้นที่บังซาโมโร จะไม่มีขนาดใหญ่โตเหมือนครั้งที่เสนอเอาไว้ในเอกสารปี 2008 นอกจากนั้นอำนาจทั้งหลายทั้งปวงที่จัดอยู่ในประเภทเป็นอำนาจอธิปไตยเฉพาะของรัฐ เป็นต้นว่า การดำเนินนโยบายการต่างประเทศ และการดำเนินกิจการทางด้านกลาโหม ในข้อตกลงนี้ระบุว่าจะยังคงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลส่วนกลางในกรุงมะนิลา แต่บังซาโมโรก็จะมีอำนาจในด้านอื่นๆ ตัวอย่างเช่น การจัดเก็บภาษี และ “สิทธิที่จะทำให้ศาลศาสนาอิสลามมีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น” ถึงแม้ศาลอิสลามและกฎหมายอิสลามจะพิจารณาตัดสินคดีเฉพาะของคนมุสลิมเท่านั้น

ข้อตกลงฉบับนี้ยังเป็นที่ยินดีต้อนรับของกองทัพฟิลิปปินส์ด้วย ถ้าหากมีการนำเอาไปปฏิบัติตามแผนการที่วางไว้ ก็จะเปิดทางให้ฝ่ายทหารสามารถจัดสรรทรัพยากรเพิ่มมากขึ้น ให้แก่การพิทักษ์ปกป้องอาณาเขต แทนที่จะสาละวนอยู่กับเรื่องความมั่นคงภายใน ทั้งนี้ข้อตกลงล่าสุดฉบับนี้ออกมาในจังหวะเวลาที่กำลังมีความตึงเครียดเพิ่มมากขึ้นระหว่างฟิลิปปินส์กับจีน ในเรื่องที่ต่างฝ่ายต่างอ้างกรรมสิทธิ์เหนืออาณาเขตในทะเลจีนใต้ (ปัจจุบันฟิลิปปินส์ได้เปลี่ยนชื่อเรียกขานของทะเลแห่งนี้เป็น ทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตก West Philippine Sea อย่างเป็นทางการแล้ว) ทับซ้อนกันอยู่ และเพียง 1 วันหลังจากมีการประกาศกรอบข้อตกลงฉบับนี้ออกมาเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม หน่วยนาวิกโยธินของอเมริกันและของฟิลิปปินส์ ก็เริ่มต้นการฝึกซ้อมรบในบริเวณอ่าวซูบิก ถึงแม้โดยทางการแล้วการฝึกซ้อมเหล่านี้ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับกรณีพิพาททางดินแดนที่ฟิลิปปินส์มีอยู่กับจีนเลยก็ตาม

เจค็อบ เซนน์ เป็นนักวิเคราะห์กิจการระหว่างประเทศ และที่ปรึกษากฎหมายซึ่งชำนาญเป็นพิเศษในเรื่องการวิเคราะห์กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบต่างๆ เขาพำนักอยู่ในกรุงวอชิงตันดีซี และสามารถที่จะติดต่อเขาทางอีเมลได้ที่ zopensource123@gmail.com

(อ่านต่อตอน2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
กำลังโหลดความคิดเห็น