xs
xsm
sm
md
lg

บังซาโมโรกับรัฐบาลฟิลิปปินส์ : ประวัติศาสตร์ที่ควรจารึก

เผยแพร่:   โดย: สีดา สอนศรี

ฟิลิปปินส์มีปัญหากับมุสลิมภาคใต้มานานนับศตวรรษ ปัญหาเกิดจากสเปนเข้าครอบครองฟิลิปปินส์และพยายามให้มุสลิมซึ่งอยู่ทางใต้เป็นสเปน (Hispanization) แต่ไม่สำเร็จ สิ่งที่สเปนทำได้คือ ส่งชาวฟิลิปปินส์ที่เป็นคริสเตียนหรือชาวสเปนเข้าไปครอบครองที่ดินส่วนใหญ่ของมินดาเนา ในช่วงที่สหรัฐฯ เข้าครอบครอง แม้สหรัฐฯ จะไม่สามารถนำชาวฟิลิปปินส์และชาวอเมริกันไปกล่อมเกลามุสลิมได้ก็ตาม แต่ก็ได้ส่งเสริมให้บรรษัทข้ามชาติของอเมริกันเข้าไปลงทุนมากมาย จากเจ้าอาณานิคมทั้งสองประเทศทำให้เกิดปัญหาสะสมในภาคใต้จนนำมาสู่การแบ่งแยกดินแดนของมุสลิมภาคใต้

ปัญหาภาคใต้ของฟิลิปปินส์ เพิ่มความรุนแรงตั้งแต่ปี 1945 แต่รัฐบาลก็มิได้นิ่งนอนใจ ในสมัยประธานาธิบดีแมกไซไซ รัฐบาลออกกฎหมายให้จัดตั้ง Mindanao state University ในเมืองมาราวี เพื่อศึกษาวัฒนธรรมของภาคใต้ ในเวลาต่อมาคณะกรรมาธิการบูรณาการแห่งชาติได้ร่างกฎหมายเข้าสู่สภาและได้หยั่งเสียงประชามติประชาชนในมินดาเนาว่า จะอยู่ในเขตปกครองตนเองหรือไม่ ปรากฏว่ามีประชาชนเพียง 3 จังหวัดเท่านั้นที่ต้องการคือ โคตาบาโต ลาเนา เดลซูร์ และซูลู กฎหมายได้ผ่านสภา ในปี1957 รัฐบาลได้ช่วยเหลือด้านการศึกษาของเยาวชนกว่า 30,000 คน

มาในสมัยประธานาธิบดี การ์เซีย รัฐบาลได้ออกกฎหมายเลขที่ 3034 เพื่อจัดตั้งหน่วยงานพัฒนามินดาเนา แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ ต่อมาในสมัยมาร์กอส ปี1972 นูร์ มิซูอาริ ได้เป็นตัวตั้งตัวตีก่อตั้งกลุ่ม MNLF เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแบ่งแยกดินแดนบางส่วนให้มุสลิมปกครองตนเอง ในขณะนั้นผู้ร่วมเจรจามี 3 ฝ่ายคือ มาร์กอส, OIC และอินโดนีเซียเป็นตัวกลางเจรจา ซึ่งได้บรรลุข้อตกลงที่ตริโปลี ว่าจะช่วยพัฒนาภาคใต้ แต่มาร์กอสก็มิได้ดำเนินตามข้อตกลง ทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้น

ในสมัย คอราซอน อากีโน ได้มีแนวคิดที่จะแก้ไขปัญหาภาคใต้ พร้อมๆ กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญของสมัยมาร์กอสด้วย จึงได้บรรจุเขตปกครองตนเอง (ARMM - Autonomous Region) ไว้ในรัฐธรรมนูญโดยได้ดำเนินการเหมือนการปกครองท้องถิ่น พร้อมระบุให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดในเขต ARMM รวมทั้งได้กำหนดกรอบกว้างๆ ของการพัฒนาซึ่งไม่ต่างจากกรอบที่ MILF เรียกร้องในปัจจุบันเพียงแต่การทำกรอบข้อตกลงเป็นข้อผูกมัดที่แตกรายละเอียดจากหัวข้อกว้างๆ ออกไปให้ชัดเจนยิ่งขึ้นเท่านั้น

การดำเนินการตามกรอบรัฐธรรมนูญปี 1987 ได้มีการหยั่งเสียงประชามติประชาชนที่ต้องการอยู่ในเขตปกครองตนเองด้วยซึ่งมีอยู่ 4 จังหวัดกับอีก 1 เมือง ได้ประสบความสำเร็จในสมัยรามอส ในปี 1997โดยรัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการศึกษาประวัติศาสตร์ของชนกลุ่มน้อยต่างๆ ศึกษาความขัดแย้งและดำเนินการพัฒนาเศรษฐกิจ อีกทั้งได้นำภาคประชาชนลงไปทำงานเพื่อกล่อมเกลา ชาวฟิลิปปินส์ที่นับถือคาทอลิกกับมุสลิมและชนเผ่าอื่นๆ ให้เข้าใจกัน ยอมรับกัน และได้สร้างหลักสูตร Peace Education ขึ้น รวมทั้งพัฒนาเศรษฐกิจโดยได้ขอให้องค์กรระหว่างประเทศ เช่น USAID, JICA, CIDA ไปช่วยซึ่งนับว่าได้ผลเป็นอย่างยิ่ง

ส่วนกลุ่ม MILF ซึ่งเป็นกลุ่มที่รวมตัวกันในปี 1984 ไม่เห็นด้วยกับจังหวัดที่เป็นเขตปกครองตนเอง ที่ MNLF ตกลงกับรัฐบาล กลุ่มนี้ต้องการขยายเขตให้ครอบคลุมมากไปกว่านั้น ในสมัยอาร์โรโย ได้ขอร้องให้มาเลเซียเป็นตัวกลางการเจรจา โดยมีกลุ่ม OIC และประเทศต่างๆ สังเกตการณ์การเจรจา ในปี 2008 กลุ่ม MILF ได้เรียกร้องขอขยายดินแดนออกไปโดยได้ร่างข้อตกลง MOA-AD เสนอรัฐบาลเพื่อยกร่างกฎหมายหลักของตนเอง โดยได้ระบุเรื่องการจัดการกับกองกำลังของตนเองรวมทั้งระบบการเงิน การคลัง การศึกษา และความมั่นคงภายใน

ในครั้งนั้นกลุ่ม MILF ได้รวม 6 เทศบาลในจังหวัด ลาเนา เดลซูร์ หมู่บ้านในจังหวัด สุลต่าน กูดารัต ลาเนา เดล์ นอร์เต้ และนอร์ต โคตาบาโต รวมทั้งจังหวัดในเขตของ ARMM ที่กลุ่ม MNLF ได้ตกลงไว้แต่เดิมและบางส่วนในจังหวัดปาลาวัน ซึ่งในครั้งนั้นรัฐบาลอาร์โรโยได้นำเข้าสภาเพื่อพิจารณา และเซ็นข้อตกลงหลังจากการประชุม แต่ศาลสูงให้หยุดการเซ็นข้อตกลง ด้วยเสียง 8-7 โดยได้ประกาศว่าบางเขตเป็นเขตที่มีกลุ่มคริสเตียนและชนกลุ่มน้อยอื่นๆ อาศัยอยู่ และเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้ระบุเขตของ ARMM ไว้ในรัฐธรรมนูญปี 1987

จากเหตุนี้ทำให้เกิดการโจมตีจากกลุ่ม MILF ต่อชุมชนคริสเตียนในมินดาเนา ทำให้มีผู้อพยพไปในที่พักพิงใหม่ประมาณ 750,000 คน และเสียชีวิต 400 คน เหตุการณ์ในครั้งนั้นเป็นช่วงปลายสมัยของอาร์โรโย มาในสมัยอากีโน ในเดือนกรกฎาคม 2010 ได้ทำการเจรจาใหม่ โดยได้ขอร้องให้ Marvic Leonen คณบดีของคณะนิติศาสตร์ U.P. เป็นประธานการเจรจาฝ่ายรัฐบาล มาเลเซียเป็นตัวกลางการเจรจา (facilitator - Third party) และได้เดินทางไปพบ Murad Ebrahim ที่โตเกียว ซึ่งทั้งสองได้บรรลุข้อตกลงร่วมกันโดยมีการเจรจากันที่มาเลเซียหลายรอบจนกระทั่งวันที่ 5 ธันวาคม 2010 เพื่อให้เกิดสันติสุขในฟิลิปปินส์ อากีโนก็ได้ประกาศที่จะเพิ่มจังหวัดจากที่เคยมีอยู่ ใน ARMM จึงนำมาซึ่งการเซ็นกรอบข้อตกลงร่วมกันในวันที่ 15 ตุลาคม 2555 ที่ผ่านมา โดยมีการลงนามร่วมกัน 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายรัฐบาลมีประธานฝ่ายเจรจา คือ Marvic Leonen ผู้เจรจาคือ Teresita Deles และประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ เบนิกโน อากีโนที่ 3 ฝ่าย MILF มีประธานการเจรจาคือ Murad Ebrahim ผู้เจรจา คือ Mohagher Iqbal ฝ่ายมาเลเซีย ประธานผู้ไกล่เกลี่ย คือนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค ผู้ไกล่เกลี่ย คือ Dato Tengko Abdul Ghafar นับเป็นประวัติศาสตร์ของฟิลิปปินส์อีกครั้งหนึ่งที่ต้องถูกบันทึกไว้

การลงนามในครั้งนี้มีพยานเป็นสมาชิกสภา สมาชิกสภาสูง นำโดย Juan Ponce Enile และ Enrile ประธานสภาล่าง นำโดย Fellciano Belmonte รวมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเขต ARMM และจังหวัดใกล้เคียง ตัวแทนจากประเทศมาเลเซีย ตัวแทนจากกลุ่ม MNLF และกลุ่ม MILF และตัวแทนจากอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น สวีเดน อังกฤษ ตุรกี ซาอุดีอาระเบีย รวมทั้งองค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศ เช่น Centes For Humanitarian Dialogue, Asia Foundation, JICA, USAID และ Muhamadiyah

สำหรับกรอบความร่วมมือโดยย่อมีอยู่ 8 ประเด็นคือ

การจัดตั้งเขต Bangsamoro

1. ทั้งสองฝ่ายคือฝ่ายรัฐบาลและฝ่าย MILF ยินดียอมรับเขตดินแดน Bangsamoro แทน ARMM ที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญปี 1987

2. Bangsamoro จะร่างกฎหมายหลักให้มีความสัมพันธ์กับกฎหมายหลักของชาติ

3. Bangsamoro จะบริหารเขตดินแดนใหม่หลังจากการที่ได้มีการหยั่งเสียงประชามติแล้วและเป็นที่ยอมรับจากฝ่ายรัฐบาล และฝ่ายเจรจา

4. Bangsamoro จะทำงานร่วมไปกับรัฐบาล ในการพัฒนาความเจริญในดินแดนภาคใต้

5. ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะให้เสรีภาพแก่ประชาชนในการเลือกเชื้อสายของตัวเอง

กฎหมายหลัก

1. Bangsamoro จะถูกปกครองตามกฎหมายหลักที่ได้รับการผ่านสภาของฟิลิปปินส์แล้วโดยความเห็นชอบทั้งสองฝ่าย

2. กฎหมายหลักจะสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของ Bangsamoro และเป็นที่ยอมรับกันในระดับระหว่างประเทศ

อำนาจ

1. รัฐบาลกลางยังคงมีอำนาจในการปกครองดินแดนทั้งหมดของฟิลิปปินส์ และมอบอำนาจบางส่วนให้ Bangsamoro ดำเนินการ โดยมีหลักการระบุไว้ในกฎหมายหลักของ Bangsamoro ว่ารัฐบาลกลางมีอำนาจดังต่อไปนี้

- การป้องกันและความมั่นคงจากภัยภายนอก

- นโยบายต่างประเทศ

- ตลาดร่วมและการค้าโลก โดยอำนาจในการตกลงทางเศรษฐกิจได้ระบุไว้แล้วในกฎหมาย RA ที่ 9054 ซึ่งรัฐบาลจะถ่ายโอนให้ Bangsamoro

- การเงินและการคลัง

- ความเป็นพลเมือง

- การบริหารทางไปรษณีย์

2. ทั้งสองฝ่ายต้องการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ศาลมุสลิม (Shari’ah Courts) และพิจารณาคดีท้องถิ่นเอง

การกระจายรายได้และส่วนแบ่งของรายได้

1. ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะสร้างความมั่นคง เพื่อการดำเนินการของ Bangsamoro

2. Bangsamoro มีอำนาจในการสร้างรายได้ของตนเอง เก็บภาษีของตนเอง รวมทั้งค่าธรรมเนียมอื่นๆ ซึ่งจะได้ตกลงกันทั้งสองฝ่าย

3. Bangsamoro สามารถรับเงินทุน เงินบริจาคได้จากทั้งภายในและภายนอกประเทศยกเว้นเงินกู้ จากภายในและภายนอกประเทศที่เกี่ยวกับความเป็นอธิปไตยและความมั่นคงของประเทศซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบและอนุมัติจากรัฐบาลกลาง

4. การแบ่งรายได้ต่างๆ ขึ้นอยู่กับการตกลงของทั้งสองฝ่าย แต่ต้องไม่ละเมิดกฎหมายหลักของประเทศ

5. ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะให้มีสถาบันการคลังระหว่างประเทศซึ่งประกอบด้วยตัวแทนของ Bangsamoro และรัฐบาลกลางเพื่อดูแลความเท่าเทียมของการกระจายรายได้

6. ทั้งสองฝ่ายต้องการเน้นการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยให้มีหารจัดตั้งคณะกรรมาธิการของทั้งสองฝ่ายดำเนินการ

เขตแดน

เขตแดนของ Bangsamoro ประกอบด้วยเขตแดนของ ARMM ที่ระบุไว้ตั้งแต่มีการหยั่งเสียงประชามติในสมัยรามอส เทศบาลต่างๆ ของจังหวัด ลาเนา เดล์ นอร์เต้ บารังไก ของเทศบาล Kabacan เมืองในจังหวัดโคตาบาโต และ อิซาเบลลา และเขตอื่นๆของการปกครองส่วนท้องถิ่นตามที่ระบุไว้ในเขตเลือกตั้ง ซึ่งทั้งหมดต้องผ่านการหยั่งเสียงประชามติก่อน และเป็นที่ยินยอมกันทั้งสองฝ่าย

สิทธิขั้นพื้นฐาน

ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขต Bangsamoro มีสิทธิขั้นพื้นฐานดังต่อไปนี้

1. สิทธิในชีวิตและทรัพย์สิน

2. สิทธิในการพูด การเขียน และการพิมพ์

3. สิทธิในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองตามวิถีทางประชาธิปไตย

4. สิทธิในการเลือกที่อยู่อาศัย

5. สิทธิของความเท่าเทียม ปลอดจากการเลือกปฏิบัติ

6. สิทธิในการนับถือศาสนา

7. สิทธิในการจัดตั้งสถาบันทางวัฒนธรรมและศาสนา

8. สิทธิของชนกลุ่มน้อยอื่นๆ จะต้องได้รับการยอมรับ

9. สิทธิความเป็นส่วนตัว

10. สิทธิของสตรีในการมีส่วนร่วมทางการเมืองและสิทธิได้รับการปกป้องจากความรุนแรงทุกรูปแบบ

การเปลี่ยนผ่านและการนำข้อตกลงไปใช้ให้สำเร็จ

1. ทั้งสองฝ่ายต่างตกลงที่จะเตรียมการเปลี่ยนผ่านจาก ARMM เป็น Bangsamoro โดยเตรียมร่างกฎหมายหลักเพื่อนำสู่สภาฟิลิปปินส์ และรับฟังความคิดเห็นในกฎหมาย

2. ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะมีคณะกรรมาธิการ 15 คน ซึ่งสมาชิกทั้งหมดต้องอยู่ในกลุ่ม Bangsamoro โดย 8 คน มาจากการคัดเลือกของรัฐบาล, 7 คน มาจากการคัดเลือกของ MILF (รวมประธานาธิบดี)

3. ทั้งสองฝ่ายตกลงให้มีตัวกลางการเจรจา (มาเลเซีย) รวมทั้งกลุ่มต่างๆภายในประเทศ ในการบังคับใช้ข้อตกลงดังกล่าว

4. ในตอนสุดท้ายของการเปลี่ยนผ่าน ผู้เจรจาฝ่ายรัฐบาลฟิลิปปินส์ และ MILF รวมทั้งตัวกลางการเจรจา (มาเลเซีย) และผู้สังเกตการณ์ต่างประเทศ ต้องมาร่วมประชุมรับรู้

5. การจัดตั้งต้องเสร็จสิ้นในรัฐบาลอากิโน ก่อนมีการเลือกตั้งใหม่ในเดือนพฤษภาคม 2016

6. ทั้งสองฝ่ายพยายามถ่ายโอนอำนาจของทหารมาสู่ตำรวจ ในเขต Bangsamoro และของรัฐบาล

การกลับเข้าสู่สภาวะปกติ

ทั้งสองฝ่ายต่างพร้อมให้มีสันติภาพในภาคใต้ร่วมกัน โดยคำนึงถึงการพัฒนาเศรษฐกิจ วัฒนธรรม สิทธิมนุษยชน และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ การดำเนินการทางเศรษฐกิจและการลงทุน การแก้ปัญหาความยากจนในภาคใต้

กรอบข้อตกลงดังกล่าวข้างต้น เป็นกรอบที่ผูกมัดทั้งสองฝ่าย ผู้ที่จะดำเนินการตรวจสอบคือ ตัวกลางการเจรจา (Facilitator) และคณะผู้สังเกตการณ์จากต่างประเทศ

การเจรจาครั้งนี้เป็นเหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่กว่าทุกครั้งเนื่องจาก

1. รัฐบาลยอมรับความแตกต่างทางวัฒนธรรม ซึ่งไม่ใช่พวกเขา (มุสลิม) หรือพวกเรา (คาทอลิก) แต่เป็นเราร่วมกันภายใต้ธงชาติเดียวกัน

2. ส่งเสริมให้ประชาชนชาวมุสลิมสามารถเคลื่อนไหวไปมาอย่างเสรี สามารถเข้าศึกษาในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยได้ทุกแห่ง สามารถดำเนินธุรกิจ สามารถเดินทางไปมาหาสู่กันได้จากใต้สู่มะนิลา สู่ทางเหนือได้ทุกแห่งโดยไม่มีการกีดกัน ซึ่งในขณะนี้นักศึกษาจากเขตมุสลิมมาศึกษาฝึกอบรมที่ National College of Public Administration (NCPAG) ที่ U.P. กว่า 100 คนแล้ว

3. สร้างชุมชนภาคใต้ให้มีชีวิตชีวา ร่วมมือกันระหว่าง คริสเตียนละมุสลิมโดยรัฐบาลได้ทุ่มเงินงบประมาณในปีนี้ไป 285.4 พันล้านเปโซ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุน การสร้างที่อยู่อาศัย โดยความร่วมมือของกระทรวงการขนส่งและโยธาธิการร่วมกับกระทรวงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

4. สร้างจิตสำนึกของประชาชนโดยร่วมมือกันระหว่างประชาชนสองศาสนา องค์กรพัฒนาเอกชนและรัฐบาล (ซึ่งได้เคยทำมาแล้วในช่วงรัฐบาลรามอส) ให้เข้าใจซึ่งกันและกันตามแนวทางของ Peace Education

5. ที่สำคัญที่สุดรัฐบาลจะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตราที่ 10 ข้อ 19 จาก ARMM เป็น Bangsamoro Provinces แต่รัฐบาลยังคงดูแลเรื่องความมั่นคง นโยบายต่างประเทศ การเงินการคลัง พลเมือง และความเป็นกลางตามที่ทั้งสองฝ่ายตกลงกัน

6. รัฐบาลได้เปิดเผยกรอบข้อตกลงทั้งสองฝ่ายในเว็บไซต์ และหน้าหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ เพื่อให้ประชาชนทั้งประเทศได้รับรู้ข้อตกลงนี้ตามวิถีทางประชาธิปไตย

7. นานาประเทศ เช่น อังกฤษ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น แคนาดา และชาติอื่นๆ ให้การสนับสนุน

แต่อย่างไรก็ตาม การขยายเขตดินแดนออกไปมากกว่าที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ 1987 นั้น จะต้องมีการหยั่งเสียงประชามติจากประชาชนในเขตที่ MILF ต้องการรวมก่อน และนำเข้าสภาเพื่ออนุมัติจึงจะบรรจุลงในรัฐธรรมนูญที่แก้ไขแทนเขต ARMM

ที่สำคัญทั้งสองฝ่ายตกลงว่า “WE UNITED UNDER A SINGLE FLAG”
กำลังโหลดความคิดเห็น