xs
xsm
sm
md
lg

‘ซาบาห์’อันตราย‘สงคราม’ทำท่าบานปลาย (ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: โนเอล ทาร์ราโซนา

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Threats of a wider war in Sabah
By Noel Tarrazona
07/03/2013

เหล่านักรบจากกลุ่มกบฏ “แนวร่วมปลดแอกแห่งชาติโมโร” (MNLF) ซึ่งทำศึกต่อสู้กับกองกำลังความมั่นคงของฟิลิปปินส์มาอย่างยืดเยื้อยาวนานหลายสิบปี เวลานี้กำลังพุ่งเป้าเล็งเขม็งไปยังมาเลเซีย ภายหลังที่รัฐบาลแดนเสือเหลืองเปิดฉากการโจมตีทั้งทางอากาศและภาคพื้นดิน ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะขับไล่ผลักดันกลุ่มติดอาวุธโกโรโกโสซึ่งเป็นลูกน้องบริวารของสุลต่านแห่งซูลู ที่ได้อาศัยเรือเล็กยกกำลังขึ้นบกที่ซาบาห์เพื่อยืนยันอ้างสิทธิอันเก่าแก่หลายร้อยปีในการครอบครองดินแดนบริเวณดังกล่าว ข่าวคราวความทารุณโหดเหี้ยมในความขัดแย้งนี้ที่กำลังเพิ่มทวีขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ MNLF ซึ่งมีความใกล้ชิดกับสุลต่านแห่งซูลู ก็ขึ้นชื่อลือชาในเรื่องความห้าวหาญในการสู้รบ ดังนั้น สถานการณ์นี้จึงกำลังทำท่ากลายเป็นภัยคุกคามในระดับภูมิภาคไปอย่างรวดเร็ว

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

ซัมโบอังกาซิตี้, ภาคใต้ฟิลิปปินส์ – การประจันหน้ากันเป็นเวลาหลายสัปดาห์ระหว่างกลุ่มผู้ถืออาวุธชาวฟิลิปปินส์กับตำรวจมาเลเซีย กำลังมีอันตรายที่จะแปรเปลี่ยนกลายเป็นความขัดแย้งที่เกิดการปะทะสู้รบกันอย่างใหญ่โตกว้างขวางยิ่งขึ้น ภายในดินแดนรัฐซาบาห์ของมาเลเซีย [1] ซึ่งก็มีปัญหาความแตกแยกระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ อยู่แล้ว ทั้งนี้เมื่อวันอังคาร (5 มี.ค.) ที่ผ่านมา กองทัพมาเลเซียได้เปิดฉากดำเนินการโจมตีทางอากาศและทางภาคพื้นดิน เพื่อกวาดล้างผลักดันกลุ่มผู้ถืออาวุธชาวฟิลิปปินส์ประมาณ 200 คน ซึ่งได้ลงเรือเล็กขึ้นบกในดินแดนของซาบาห์ และตั้งค่ายพักชั่วคราวขึ้นตรงบริเวณใกล้ๆ กับตำบลลาฮัด ดาตู (Lahad Datu) โดยที่พวกเขาเหล่านี้ประกาศอ้างตัวว่าเป็นกองกำลังอาวุธท้องถิ่นในองค์สุลต่าน (royal militia) และปฏิบัติการคราวนี้โดยได้รับคำบัญชาจากอาณาจักรสุลต่านแห่งซูลู (Sultanate of Sulu)[2]

การโจมตีผลักดันของกองทัพมาเลเซียบังเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วัน ภายหลังเกิดเหตุการณ์ซุ่มตีเมื่อวันที่ 2 มีนาคม ในเมืองเล็กๆ ทางชายฝั่งด้านตะวันออกของซาบาห์ที่มีชื่อว่า เซมปอร์นา (Semporna) และตั้งอยู่ห่างออกไปประมาณ 150 กิโลเมตรจาก ลาฮัด ลาตู การซุ่มตีดังกล่าวซึ่งเป็นฝีมือของกลุ่มถืออาวุธอีกกลุ่มหนึ่งไม่ใช่พวกที่อยู่ที่ลาฮัด ลาตู ได้สังหารตำรวจแดนเสือเหลืองตายไป 6 คน จากนั้นก็มีการตัดแขนตัดขาศพตำรวจเหล่านี้บางศพด้วย ทั้งนี้ตามคำบอกเล่าของแหล่งข่าวที่ทราบเรื่องดีรายหนึ่ง ภายหลังเกิดเหตุซุ่มตีแล้ว พวกถืออาวุธกลุ่มนี้ได้ส่งอีเมลฉบับหนึ่งไปถึงพวกผู้บังคับบัญชาของสำนักงานตำรวจมาเลเซีย โดยที่แนบภาพหลายภาพของตำรวจ 2 คนในสภาพถูกตัดศีรษะไปให้ดูด้วย

มีผู้ถูกปลิดชีพจากการต่อสู้กันด้วยกำลังอาวุธไปอย่างน้อยที่สุด 30 คนแล้ว[3] นับตั้งแต่ที่กลุ่มถืออาวุธชาวฟิลิปปินส์เหล่านี้เดินทางด้วยเรือเล็กมาถึงซาบาห์ครั้งแรกสุดในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ เพื่อยืนยันอ้างสิทธิอันเก่าแก่โบร่ำโบราณหลายร้อยปี ในการครอบครองดินแดนบริเวณนี้ของอาณาจักรสุลต่านแห่งซูลู ซึ่งปัจจุบันได้ล่มสลายลงไปแล้ว ในคืนวันพุธ (6 มี.ค.) ที่ผ่านมา รัฐบาลมาเลเซียประกาศว่าทางเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของตนสามารถเข้าควบคุมสถานการณ์เอาไว้ได้สำเร็จ ด้วยการระดมส่งกำลังทหาร 7 กองพันเข้าสู่พื้นที่แถบนี้ อย่างไรก็ดี จากการที่ “แนวร่วมปลดแอกแห่งชาติโมโร” (Moro National Liberation Front ใช้อักษรย่อว่า MNLF)[4] ซึ่งเป็นกลุ่มกบฏสำคัญกลุ่มหนึ่งที่เคลื่อนไหวในแถบภาคใต้ของฟิลิปปินส์ อันอยู่ใกล้ๆ รัฐซาบาห์ กำลังแสดงท่าทีเข้ายุ่งเกี่ยวพัวพันกับวิกฤตคราวนี้ด้วย จึงทำให้มีโอกาสสูงมากที่จะเกิดการปะทะกันเพิ่มมากขึ้นอีก

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ MNLF รายหนึ่ง ซึ่งพูดคุยกับเอเชียไทมส์ออนไลน์โดยขอให้สงวนนามของเขา ได้กล่าวอ้างว่าอันที่จริงกลุ่มของเขาได้จัดส่งคนชาติพันธุ์ ตาวซัก (Tausug) จำนวนหลายพันคนจากบริเวณเกาะบาซิลัน (Basilan), เกาะซูลู, และเกาะตาวี-ตาวี (Tawi-Tawi) ทางภาคใต้ของฟิลิปปินส์ ไปเสริมกำลังพวกสมาชิกของกองกำลังอาวุธท้องถิ่นในองค์สุลต่าน ของอาณาจักรสุลต่านแห่งซูลู แล้วด้วยซ้ำ เขาอ้างด้วยว่าคนเหล่านี้จำนวนมากประสบความสำเร็จในการเล็ดลอดผ่านการสกัดปิดกั้นของกองกำลังนาวีของทางการฟิลิปปินส์ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อมุ่งหวังคลี่คลายสถานการณ์ และมีอีกจำนวนมากเช่นกันที่กำลังอยู่ระหว่างการเดินทางไปสมทบเพิ่มขึ้นอีกภายหลังที่ทราบข่าวการโจมตีทางอากาศของกองทหารมาเลเซียในวันอังคาร

ชาว ตาวซัก ซึ่งรู้จักกันในชื่อทางการว่า สุลัค (Suluk) ในมาเลเซียนั้น เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่พำนักอาศัยกระจายอยู่ทั้งในฟิลิปปินส์และมาเลเซีย โดยที่มีต้นกำเนิดจากซูลู ชาวตาวซักเป็นพวกที่ขึ้นชื่อลือชาเรื่องความห้าวหาญในการสู้รบ และในปัจจุบันพวกเขาจำนวนมากผูกพันวางตนเองเป็นส่วนหนึ่งของชาวชาติพันธุ์โมโร[5] ในการต่อสู้ทางการเมืองผ่านทาง MNLF และทาง แนวร่วมปลดแอกอิสลามโมโร (Moro Islamic Liberation Front ใช้อักษรย่อว่า MILF กลุ่มนี้แตกออกมาจาก MNLF )[6] ซึ่งได้ทำการต่อสู้และทำการเจรจากับรัฐบาลส่วนกลางของฟิลิปปินส์ในกรุงมะนิลามาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว เพื่อเรียกร้องสิทธิปกครองตนเองในดินแดนที่พวกเขาควบคุมอยู่

กลุ่ม MNLF ได้ลงนามทำข้อตกลงสันติภาพกับมะนิลาก็จริงอยู่ (ดูคำอธิบายเพิ่มเติมใน [4]) ทว่าข้อตกลงนี้ทำท่าสั่นคลอนมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้กลุ่มนี้มิได้ร่วมลงนามแถมยังประกาศคัดค้านอย่างเปิดเผยต่อข้อตกลงแม่บทฉบับสำคัญที่รัฐบาลฟิลิปปินส์ลงนามกับกลุ่ม MILF ในปีที่แล้วโดยที่มีมาเลเซียเป็นคนกลาง (ดูคำอธิบายเพิ่มเติมใน [5]) ญามาลุล คิราม ที่ 3 (Jamalul Kiram III) สุลต่านของซูลู คนปัจจุบัน ได้เข้าร่วมในพิธีลงนามข้อตกลงสันติภาพระหว่างรัฐบาลฟิลิปปินส์กับกลุ่ม MILF ในปีที่แล้วด้วย แต่มีรายงานว่าเขาแสดงความโกรธกริ้วด้วยความรู้สึกถูกหยามหมิ่น เนื่องจากไม่ได้รับการยอมรับในทางพิธีการอย่างสมเกียรติสมฐานะ ทั้งนี้ตามคำบอกเล่าของแหล่งข่าวที่ทราบสถานการณ์เป็นอย่างดีรายหนึ่ง

อาณาจักรสุลต่านแห่งซูลู นั้น เป็นผู้ปกครองดินแดนในซาบาห์ซึ่งกำลังเกิดปัญหาขึ้นในปัจจุบัน อยู่เป็นเวลาหลายร้อยปีทีเดียว ก่อนที่ดินแดนเหล่านี้จะถูกพวกล่าอาณานิคมยึดครองไปในทางพฤตินัย และในที่สุดจักรวรรดินิยมอังกฤษก็ได้ถ่ายโอนพื้นที่ส่วนนี้ให้แก่มาเลเซียในปี 1963 ในเวลานั้นฟิลิปปินส์ได้ออกมาคัดค้านการถ่ายโอน โดยใช้ข้ออ้างที่ว่า บริษัท บริติช นอร์ท บอร์เนียว (British North Borneo Company) เพียงแค่ “เช่า” ไม่ได้ “ซื้อ” ดินแดนส่วนตะวันออกของซาบาห์ในปัจจุบันจากอาณาจักรสุลต่านแห่งซูลู และดังนั้นอังกฤษซึ่งได้รับสิทธิดังกล่าวต่อเนื่องมาจากทาง บริติช นอร์ท บอร์เนียว จึงไม่ได้มีอำนาจที่จะถ่ายโอนกรรมสิทธิ์ในพื้นที่นี้ไปให้แก่มาเลเซีย ในปัจจุบัน กัวลาลัมเปอร์ก็ยังคงชำระเงิน “ค่ายินยอม” (cession) จำนวนเล็กน้อยพอเป็นพิธี ให้แก่ทางทายาทของผู้ปกครองอาณาจักรสุลต่านแห่งซูลู ในลักษณะตอบแทนการยอมรับการดูดกลืนพื้นที่ซึ่งเป็นปัญหานี้

**แอบ“ยื่นหมูยื่นแมว”**

ในข้อตกลงสันติภาพที่รัฐบาลฟิลิปปินส์ทำกับกลุ่ม MILF โดยที่มีมาเลเซียเป็นคนกลางนั้น ดูเหมือนจะมีเรื่องหนึ่งซึ่งทำกันอย่างลับๆ มิได้มีการเปิดเผยต่อสาธารณชน นั่นคือ มะนิลาสัญญาที่จะยุติการหยิบยกเหตุผลในทางประวัติศาสตร์มาเป็นข้ออ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนต่างๆ ในซาบาห์ โดยที่กัวลาลัมเปอร์ยินยอมแลกเปลี่ยนตอบแทนด้วยการให้ฟิลิปปินส์จัดตั้งสถานกงสุลขึ้นในรัฐซาบาห์ ทั้งนี้ตามคำบอกเล่าของแหล่งข่าวรายหนึ่งที่ทราบเรื่องข้อตกลงดังกล่าวเป็นอย่างดี โดยที่แหล่งข่าวรายนี้กล่าวต่อไปว่า มีรายงานว่าทั้ง คิราม สุลต่านแห่งซูลู และทั้งคณะผู้นำของกลุ่ม MNLF ต่างโกรธแค้นกันมากเมื่อได้ทราบเรื่องการตกลงลับๆ นี้ มีข้อน่าสังเกตว่า ตลอดเวลาที่เกิดวิกฤตคราวล่าสุดขึ้น มะนิลามีการร่วมมือประสานงานกับกัวลัมเปอร์ และพยายามกดดันเป็นอย่างมากเพื่อให้ คิราม เรียกคนของเขากลับไป

คิราม ซึ่งปัจจุบันพำนักอาศัยอยู่ในกรุงมะนิลา โดยที่มีรายงานว่าป่วยด้วยโรคเบาหวานนั้น จวบจนถึงเวลานี้ยังคงไม่ยินยอมปฏิบัติการข้อเรียกร้องของพวกทางการฟิลิปปินส์ ขณะที่เหล่าสมาชิกในครอบครัวของเขาได้แสดงท่าทีคุกคามใหม่ๆ เพิ่มเติมขึ้นมาอีกด้วย ภายหลังที่มาเลเซียเปิดการโจมตีใส่กองกำลังท้องถิ่นในองค์สุลต่านที่ดูโกโรโกโสไม่ใช่กองกำลังอาวุธอันน่าเกรงขามแต่อย่างใดแล้ว เจ้าหญิง ซีเลีย ฟาติมะ คิราม (Princess Celia Fatima Kiram) ออกมาเตือนว่า จะเกิด “สงครามกลางเมืองอย่างยาวนาน” ขึ้นในซาบาห์ การที่ คิราม ดูเหมือนจะมีความเชื่อมโยงอย่างแน่นแฟ้นกับกลุ่ม MNLF ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นกลุ่มกบฎขนาดใหญ่ที่สุดของฟิลิปปินส์โดยที่มีกองกำลังอาวุธขนาดกำลังคน 15,000 คนอยู่ในบังคับบัญชา อีกทั้งปัจจุบันก็ยังกำลังสูญสิ้นความเชื่อถือที่มีต่อมะนิลามากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้การข่มขู่นี้ดูมีน้ำหนักไม่ใช่เล่นทีเดียว

โนเอล ที ทาร์ราโซนา เป็นทั้งนักหนังสือพิมพ์และอาจารย์พิเศษของโครงการรัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต (Master of Public Administration Program) แห่งมหาวิทยาลัยซัมโบอังกา (Universidad de Zamboanga) สามารถติดต่อเขาทางอีเมลได้ที่ noeljobstreet@yahoo.com. ทั้งนี้ ฌอน ดับเบิลยู คริสพิน (Shawn W Crispin) บรรณาธิการด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของเอเชียไทมส์ออนไลน์ มีส่วนในการรายงานข่าวจากกรุงเทพฯเข้าสมทบในข้อเขียนชิ้นนี้ด้วย
(อ่านต่อตอน2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
กำลังโหลดความคิดเห็น