xs
xsm
sm
md
lg

ความรุนแรงใน‘ซาบาห์’กระทบการเมืองมาเลเซีย (ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: ไนล์ โบวี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Quagmire politics in Sabah
By Nile Bowie
12/03/2013

ในขณะที่ความตึงเครียดกำลังร้อนระอุในรัฐซาบาห์ของมาเลเซีย ภายหลังการเผชิญหน้ากันระหว่างพวกถืออาวุธซึ่งมาจากภาคใต้ของฟิลิปปินส์ กับกองทหารตำรวจของแดนเสือเหลือง การปฏิบัติการด้วยกำลังรุนแรงของกลุ่มผู้ถืออาวุธ ก็นำไปสู่การยอมรับในข้อกล่าวอ้างสันนิษฐานที่ว่า ความขัดแย้งคราวนี้เป็นสิ่งที่ผลิตขึ้นมาเพื่อมุ่งก่อกวนสร้างความยุ่งยากในช่วงจังหวะเวลาซึ่งการเมืองมาเลเซียกำลังมีความอ่อนไหว เวลานี้มีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยว่า ถ้าหากวิกฤตแผ่ลามกว้างขวางออกไป ก็อาจถึงขั้นชะลอการจัดการเลือกตั้งทั่วไปของมาเลเซียได้ทีเดียว

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

กัวลาลัมเปอร์ – ความตึงเครียดยังคงระอุรุนแรงในรัฐซาบาห์ของมาเลเซีย ซึ่งเป็นดินแดนที่ตั้งอยู่ตอนเหนือสุดของเกาะบอร์เนียว และอยู่ทางด้านตะวันออกของประเทศ ทั้งนี้ภายหลังจากได้เกิดการประจันหน้ากันระหว่างกลุ่มผู้ถืออาวุธซึ่งเดินทางมาจากเกาะทางภาคใต้ของฟิลิปปินส์ที่อยู่ใกล้ๆ กัน กับกองกำลังความมั่นคงของมาเลเซีย

ตามตัวเลขที่มีการระบุออกมานั้น กลุ่มผู้ถืออาวุธเหล่านี้ ซึ่งมีจำนวน 235 คน ได้อาศัยเรือเล็กเดินทางมาขึ้นบกในบริเวณด้านตะวันออกของรัฐซาบาห์เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ จากนั้นก็เข้ายึดหมู่บ้านเอาไว้หลายแห่ง ในความพยายามที่จะประกาศอ้างสิทธิอันตกทอดมายาวนานหลายร้อยปีแล้ว เพื่อครอบครองเป็นเจ้าของอาณาบริเวณนี้

ทั้งสองฝ่ายต่างกล่าวหาอีกฝ่ายหนึ่งว่าเป็นผู้ที่เปิดฉากลั่นกระสุนนัดแรก แต่ทันทีที่การเผชิญหน้าทำให้มีตำรวจของมาเลเซียบาดเจ็บล้มตาย กองทัพมาเลเซียก็ส่งหมู่เครื่องบินขับไล่เข้ามา และดำเนินการโจมตีทางอากาศอย่างรุนแรงชนิดที่ไม่เคยทำมาก่อน เพื่อผลักดันกวาดล้างกลุ่มผู้ถืออาวุธเหล่านี้ มีรายงานว่าพวกถืออาวุธจากภาคใต้ฟิลิปปินส์ถูกสังหารไปอย่างน้อยที่สุด 52 คน นอกจากนั้นตำรวจมาเลเซียก็ถูกฆ่าตายไปหลายคน โดยที่มีรายงานว่าพวกผู้ถืออาวุธได้ตัดศีรษะศพของตำรวจเหล่านี้ด้วย

ญามาลุล คิราม ที่ 3 (Jamalul Kiram III) สุลต่านแห่งซูลู (Sultan of Sulu) ซึ่งปัจจุบันพำนักอาศัยอยู่ในกรุงมะนิลา เป็นผู้คอยกำกับชี้นำการก่อความไม่สงบคราวนี้จากภายนอกในสถานที่ห่างไกล ขณะที่น้องชายของเขา อักบิมุดดิน คิราม (Agbimuddin Kiram) เป็นผู้นำการปฏิบัติการภาคพื้นดินในซาบาห์ สุลต่านแห่งซูลู ในฐานะผู้ปกครองอาณาจักรสุลต่านแห่งซูลู ซึ่งปัจจุบันล่มสลายไปหมดสิ้นแล้ว กล่าวอ้างยืนยันว่าซาบาห์เป็นดินแดนส่วนหนึ่งของเขา และอาณาจักรสุลต่านแห่งนี้จะไม่ยอมถอยเลยในการประกาศอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนบริเวณนี้ แม้กระทั่งว่าคนของเขาจะถูกเข่นฆ่าสังหารจากการประจันหน้ากับกองกำลังทหารตำรวจมาเลเซีย

รายงานก่อนหน้านี้ของเอเชียไทมส์ออนไลน์ เป็นรายแรกๆ ซึ่งเสนอข่าวว่า พวกผู้ถืออาวุธได้ส่งอีเมลไปถึงเหล่าเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของฝ่ายมาเลเซีย โดยที่มีรูปภาพตำรวจมาเลเซียถูกตัดศีรษะแนบไปให้ด้วย กลุ่มผู้ถืออาวุธเหล่านี้เรียกตนเองว่าเป็น “กองกำลังอาวุธประจำองค์สุลต่านแห่งซูลู” พวกเขาระบุว่าพวกเขาเป็นตัวแทนของอาณาจักรสุลต่าน ซึ่งเคยเป็นผู้ควบคุมดินแดนซาบาห์มาหลายร้อยปี ก่อนที่จะทำสัญญาเช่าพื้นที่เหล่านี้ให้แก่บริษัท บริติช นอร์ท บอร์เนียว คอมพานี (British North Borneo Company) ของพวกนักล่าอาณานิคมเมื่อปี 1878 ต่อมารัฐบาลอังกฤษได้เปลี่ยนฐานะของดินแดนบริเวณนี้ซึ่งในตอนนั้นเรียกขานกันว่า นอร์ท บอร์เนียว (North Borneo) ให้เป็นรัฐอารักขาของตน (protectorate) ในปี 1888 จนกระทั่งถึงปี 1963 อังกฤษจึงได้ยกดินแดนนี้ให้เป็นส่วนหนึ่งของประเทศมาเลเซียที่ก่อตั้งขึ้นมาใหม่ (มาเลเซียในตอนเริ่มก่อตั้ง ประกอบด้วย สหพันธรัฐมลายา ซึ่งก็คือรัฐต่างๆ ของมาเลเซียที่อยู่บนแผ่นดินใหญ่ในปัจจุบัน โดยที่ มลายา มีฐานะเป็นชาติเอกราชมาตั้งแต่ปี 1957 แล้วมาบวกกับดินแดนที่ยังคงอยู่ในปกครองของอังกฤษอีก 3 แห่ง ได้แก่ สิงคโปร์, ซาบาห์, และซาราวัก อย่างไรก็ดี ในอีก 2 ปีต่อมา คือในปี 1965 สิงคโปร์ได้แยกตัวออกจากมาเลเซียไปเป็นประเทศเอกราช –ผู้แปล)

ในเวลานั้น ฟิลิปปินส์ได้คัดค้านและท้าทายการดำเนินการของอังกฤษ โดยระบุว่าอังกฤษไม่ได้มีฐานะเป็นเจ้าของ จึงไม่มีอำนาจที่จะโอนกรรมสิทธิ์การครอบครองซาบาห์ไปให้มาเลเซีย อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการชุดหนึ่งของอังกฤษได้รายงานเมื่อปี 1962 ว่า ประชากรถึงราวสองในสามของที่นั่นต้องการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของมาเลเซีย และหลังจากก่อตั้งประเทศแล้ว รัฐบาลมาเลเซียยังได้เริ่มจ่ายเงินประจำปีจำนวนไม่มากนัก ให้แก่พวกทายาทของอาณาจักรสุลต่านแห่งซูลู ในฐานะเป็นค่าชดเชยที่พวกเขายอมสละสิทธิ์ในดินแดนนี้ โดยที่การกระทำเช่นนี้ยังคงดำเนินสืบเนื่องเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ในตอนแรกทีเดียว มาเลเซียพยายามใช้ไม้อ่อนในการจัดการกับพวกกลุ่มถืออาวุธชาวฟิลิปปินส์ โดยเสนอโอกาสให้พวกเขาวางอาวุธและจากไปอย่างสันติ แต่ท่าทีเช่นนี้ได้ถูกฝ่ายต่างๆ จำนวนมากวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค ตลอดจนกองทัพและสำนักงานตำรวจแห่งชาติของมาเลเซียว่า ยังคงแสดงท่าทีอ่อนปวกเปียกหลังจากที่ปล่อยปละให้กลุ่มถืออาวุธเหล่านี้เล็ดลอดแทรกซึมเข้ามาในดินแดนมาเลเซียแล้ว ตอนแรกๆ พวกสื่อมวลชนท้องถิ่นเรียกขานกลุ่มผู้ถืออาวุธเหล่านี้ว่าเป็น “กลุ่มผู้บุกรุก” แต่ไม่ช้าไม่นานหลังจากพวกผู้ถืออาวุธเหล่านี้ทำการยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของแดนเสือเหลืองแล้ว มาเลเซียก็เริ่มเรียกกลุ่มนี้ว่าเป็น “ผู้ก่อการร้าย”

นายกรัฐมนตรีนาจิบ ได้มอบอำนาจให้กองกำลังความมั่นคงดำเนินการโจมตีตอบโต้อย่างดุเดือดรุนแรง พร้อมกับยื่นคำขาดให้พวกผู้อาวุธเหล่านี้ต้องวางอาวุธยอมจำนนโดยไม่มีข้อต่อรอง ภายหลังการโจมตีทางอากาศของกองทัพมาเลเซีย คิราม ได้แถลงต่อสื่อมวลชนฟิลิปปินส์ว่า ตัวเขาไม่สามารถที่จะติดต่อกับน้องชายของเขา ซึ่งก็คือ อักบิมุดดิน คิราม ที่เป็นผู้นำของกลุ่มติดอาวุธที่บุกเข้าไปในซาบาห์ สุลต่านผู้พำนักอาศัยอยู่ในกรุงมะนิลาผู้นี้บอกด้วยว่าเขามีความวิตกห่วงใยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับความปลอดภัยของ “กองกำลังอาวุธประจำองค์สุลต่าน” ของเขาในซาบาห์ และขอเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายหยุดยิง อย่างไรก็ดี นาจิบยืนกรานว่าเขาจะไม่พิจารณาการร้องขอใดๆ ทั้งสิ้นจนกว่าพวกผู้ถืออาวุธในซาบาห์จะส่งมอบอาวุธให้แก่เจ้าหน้าที่รับผิดชอบของมาเลเซีย และยอมจำนนเท่านั้น

**เสียงเพรียกร้องหาสงคราม**

รัฐบาลฟิลิปปินส์ภายใต้ประธานาธิบดีเบนิโญ อากีโน นั้น ประกาศจุดยืนอยู่ข้างเดียวกับมาเลเซีย และพูดย้ำคำเรียกร้องของแดนเสือเหลืองที่ให้พวกลูกน้องบริวารของ คิราม ยอมจำนน เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้มีการนองเลือดมากขึ้นอีก อากีโนยังพูดถึงการพิจารณาลงโทษสุลต่านผู้นี้และคนของเขา ในความผิดฐานบงการให้เกิดการกบฏด้วยกำลังอาวุธขึ้นในซาบาห์ แต่ปรากฏว่าเรื่องนี้เผชิญปฏิกิริยาต่อต้านไม่พอใจจากภายในฟิลิปปินส์เอง กระทั่งทำท่าจะกลายเป็นการอันตรายต่อข้อตกลงสันติภาพอันบอบบาง ซึ่งรัฐบาลลงนามไว้กับพวกกลุ่มติดอาวุธแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ฟิลิปปินส์ ที่แสดงความเห็นอกเห็นใจกับการต่อสู้ของคิราม ทั้งนี้ นักรบของสุลต่านผู้นี้ส่วนใหญ่แล้วเป็นคนชาติพันธุ์ ตาวซัก (Tausug) จากเขตซูลู ของฟิลิปปินส์ นักรบเหล่านี้จำนวนหนึ่งได้เข้าเป็นพันธมิตรกับ แนวร่วมปลดแอกแห่งชาติโมโร (Moro National Liberation Front ใช้อักษรย่อว่า MNLF) กลุ่มกบฏซึ่งได้ทำการต่อสู้และทำการเจรจากับกรุงมะนิลามาอย่างยืดเยื้อยาวนาน เพื่อเรียกร้องสิทธิปกครองตนเองเหนือดินแดนต่างๆ ในภาคใต้ของฟิลิปปินส์

นูร์ มิซูอารี (Nur Misuari) ผู้นำของแนวร่วมปลดแอกแห่งชาติโมโร (MNLF) ออกมาแถลงเตือนรัฐบาลอากีโนว่าจะเกิดความปั่นป่วนวุ่นวายอย่างแน่นอน ถ้าหาก คิราม ถูกจับกุม หรือคนของเขาถูกคุมขัง มิซูอารี เป็นผู้ก่อตั้ง MNLF ในปี 1969 ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะก่อตั้งชาติเอกราชซึ่งผู้คนมีความเท่าเทียมกันขึ้นในภูมิภาคด้านตะวันออกสุดของฟิลิปปินส์ อันประกอบด้วยเกาะมินดาเนา (Mindanao), ปาลาวัน (Palawan), และ ซูลู (Sulu) องค์การแห่งนี้ประกาศคำสอนเรื่องขันติธรรมทางศาสนาอยู่เป็นระยะๆ อีกทั้งสมาชิกก็มีทั้งชาวมุสลิม, คริสเตียน, และผู้เลื่อมใสศรัทธาความเชื่อแบบพื้นบ้านดั้งเดิม

สำหรับ กลุ่มอบู ไซยาฟ (Abu Sayyaf Group หรือ ASG) ซึ่งก็เคลื่อนไหวต่อสู้มุ่งแบ่งแยกดินแดนแถบนี้เป็นชาติเอกราชเช่นกัน แต่ขึ้นชื่ออื้อฉาวในเรื่องใช้ความรุนแรงอย่างโหดร้ายและเข่นฆ่าผู้คนนั้น เป็นกลุ่มที่แตกตัวออกมาจาก MNLF กลุ่มอบู ไซยาฟ ยังมีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงกับเครือข่ายอัลกออิดะห์ ตลอดจนเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางจากพฤติการณ์จับชาวต่างชาติไปเป็นตัวประกันเรียกค่าไถ่ ทั้งนี้ในรายงานลับทางการทูตของสหรัฐฯฉบับหนึ่งที่ถูกนำมาเปิดโปงโดย วิกิลีกส์ (WikiLeaks) เว็บไซต์จอมแฉ ได้กล่าวพาดพิงว่ามีเอกอัครราชทูตของซาอุดีอาระเบียประจำฟิลิปปินส์คนหนึ่ง ให้ความสนับสนุนพวกเครือข่ายผู้ก่อการร้ายชาวฟิลิปปินส์ ด้วยการให้เงินสดผ่านทางองค์กรการกุศลทางศาสนาหลายๆ องค์กร

ระหว่างแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเมื่อเร็วๆ นี้ มิซูอารีกล่าวย้ำว่า “มีเหตุผลอะไรที่ทำให้เขา (ประธานาธิบดีอากีโน) นำพาประเทศนี้ (ฟิลิปปินส์) ไปจับมือเป็นพันธมิตรกับมาเลเซีย ซึ่งเป็นมหาอำนาจอาณานิคมที่กำลังยึดครองดินแดนของประชาชนของเราอยู่? ผมขอคัดค้านเรื่องนี้ ขอคัดค้านอย่างสิ้นเชิงด้วยจิตวิญญาณทั้งหมดของผม ผมหวังว่าท่านประธานาธิบดีจะได้รับการปรึกษาหารืออย่างถูกต้องเหมาะสม ผมหวังว่าเขาจะเปลี่ยนใจและยกเลิกเรื่องนี้เสีย มิฉะนั้นแล้วเราก็จะไม่ให้อภัยเขาเลย แล้วตามที่ผมเข้าใจนั้น ยังมีกระทั่งความพยายามที่จะจับกุมท่านสุลต่านอีกด้วย ถ้าพวกเขาอยากทำอย่างนั้นก็ปล่อยให้พวกเขาทำไปเถอะ ประเทศนี้จะต้องตกอยู่ในความปั่นป่วนวุ่นวายไปหมดอย่างแน่นอนถ้าหากพวกเขาทำอย่างนั้น ผมให้สัญญากับพวกคุณได้เลย” มิซูอารียังกล่าวเตือนนายกรัฐมนตรีนาจิบของมาเลเซียว่า การพุ่งเป้ามุ่งเล่นงานชาวมุสลิมที่อพยพจากฟิลิปปินส์ไปอยู่ในซาบาห์นั้น “จะมีความหมายเท่ากับการประกาศสงคราม”

ทางด้านหนังสือพิมพ์ฟิลิปปินส์เดลี่เอนไควเรอร์ (Philippine Daily Inquirer) รายงานว่า ฮาบิบ ฮาชิม มุดจาฮับ (Habib Hashim Mudjahab) เจ้าหน้าที่ระดับสูงคนหนึ่งของกลุ่ม MNLF ได้ประกาศอ้างว่า มีชาวตาวซักจากเกาะต่างๆ ทางภาคใต้ของฟิลิปปินส์จำนวนอย่างน้อยที่สุด 10,000 คน มุ่งหน้าไปยังซาบาห์เพื่อเป็นกำลังหนุนทดแทน อันเป็นการแสดงออกซึ่งความสนับสนุนที่ให้แก่กองกำลังอาวุธประจำองค์สุลต่านแห่งซูลู ขณะเดียวกันก็มีรายงานว่า ชาวฟิลิปปินส์ในซาบาห์ซึ่งมิได้เป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังอาวุธประจำองค์สุลต่าน ได้เข้าร่วมการสู้รบกับกองทหารตำรวจมาเลเซียด้วย โดยเป็นปฏิกิริยาตอบโต้สิ่งที่พวกเขามองเห็นว่าเป็นการกระทำอันโหดร้ายป่าเถื่อนของรัฐบาลมาเลเซีย ส่วน ฮัดยี อาหมัด บายัม (Hadji Ahmad Bayam) อดีตเจ้าหน้าที่อาวุโสผู้หนึ่งของ MNLF ได้บอกกับหนังสือพิมพ์มะนิลาบุลเลติน (Manila Bulletin) ว่า กองกำลังอาวุธของ MNLF อาจจะมีคลังแสงแห่งหนึ่งที่มีอาวุธจำนวนมากพอดู ซุกซ่อนอยู่ในป่าทึกของซาบาห์ คลังแสงแห่งนี้ถูกปล่อยทิ้งไว้เบื้องหลังโดยพวกหัวหน้านักรบของ MNLF ซึ่งได้เคยเคลื่อนไหวเข้าๆ ออกๆ ภูมิภาคแถบนี้ตลอดระยะเวลาหลายๆ ปีที่ผ่านมา

ไนล์ โบวี เป็นนักวิเคราะห์การเมืองอิสระ ซึ่งกำลังพำนักอยู่ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย สามารถติดต่อเขาทางอีเมลที่ nilebowie@gmail.com

บทความนี้ปรากฏอยู่ในส่วน Speaking Freely ของเอเชียไทมส์ออนไลน์ ซึ่งเป็นส่วนที่เปิดให้นักเขียนรับเชิญจากภายนอกเขียนแสดงทัศนะความคิดเห็น โดยไม่จำเป็นต้องมีมาตรฐานทางด้านบรรณาธิการในระดับเดียวกับพวกนักเขียนที่เขียนให้แก่เอเชียไทมส์ออนไลน์เป็นประจำ

(อ่านต่อตอน2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
กำลังโหลดความคิดเห็น