xs
xsm
sm
md
lg

ความรุนแรงใน‘ซาบาห์’กระทบการเมืองมาเลเซีย (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: ไนล์ โบวี

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Quagmire politics in Sabah
By Nile Bowie
12/03/2013

ในขณะที่ความตึงเครียดกำลังร้อนระอุในรัฐซาบาห์ของมาเลเซีย ภายหลังการเผชิญหน้ากันระหว่างพวกถืออาวุธซึ่งมาจากภาคใต้ของฟิลิปปินส์ กับกองทหารตำรวจของแดนเสือเหลือง การปฏิบัติการด้วยกำลังรุนแรงของกลุ่มผู้ถืออาวุธ ก็นำไปสู่การยอมรับในข้อกล่าวอ้างสันนิษฐานที่ว่า ความขัดแย้งคราวนี้เป็นสิ่งที่ผลิตขึ้นมาเพื่อมุ่งก่อกวนสร้างความยุ่งยากในช่วงจังหวะเวลาซึ่งการเมืองมาเลเซียกำลังมีความอ่อนไหว เวลานี้มีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยว่า ถ้าหากวิกฤตแผ่ลามกว้างขวางออกไป ก็อาจถึงขั้นชะลอการจัดการเลือกตั้งทั่วไปของมาเลเซียได้ทีเดียว

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนที่ 2 ซึ่งเป็นตอนจบ*

(ต่อจากตอนแรก)

**ทฤษฎีสมคบคิด**

มาเลเซียจะต้องจัดการเลือกตั้งทั่วไปในเวลาอีกไม่นานนับจากนี้ โดยที่การเลือกตั้งคราวนี้จะเป็นการต่อสู้กันอย่างคู่คี่ระหว่างนายกรัฐมนตรีนาจิบ กับ ผู้นำฝ่ายค้าน อันวาร์ อิบรอฮิม (Anwar Ibrahim) นาจิบได้แสดงความสงสัยข้องใจว่า ทำไมพวกกลุ่มถืออาวุธจากซูลูจึงเลือกเอาเวลาช่วงนี้มาประกาศเดินหน้ายืนยันการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือซาบาห์ ทั้งๆ ที่พวกเขาก็เคยกล่าวอ้างเช่นนี้มานมนานแล้ว ดังนั้น จึงน่าสนใจว่าแท้ที่จริงมันจะมีอะไรเกี่ยวข้องหรือไม่กับการที่มาเลเซียกำลังอยู่ระหว่างการเตรียมการเพื่อจัดการเลือกตั้งทั่วไป โดยที่ตามกฎหมายแล้วจะต้องจัดขึ้นภายในเดือนมิถุนายนปีนี้

ทางด้านสำนักข่าวรอยเตอร์ได้รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวหลายรายภายในรัฐบาลมาเลเซียผู้ซึ่งระบุว่า เป็นที่น่าสงสัยว่ากลุ่มผู้ถืออาวุธเหล่านี้อาจจะมีสายสัมพันธ์โยงใยกับกลุ่มย่อยต่างๆ ซึ่งรู้สึกไม่พอใจจากการที่เมื่อเร็วๆ นี้รัฐบาลฟิลิปปินส์ได้ลงนามในข้อตกลงสันติภาพอีกฉบับหนึ่ง กับกลุ่มแนวร่วมปลดแอกอิสลามโมโร (Moro Islamic Liberation Front หรือ MILF) ซึ่งเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่แตกออกมาจาก MNLF โดยที่ในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่า MNIF ได้กลายเป็นกลุ่มกระแสหลักของขบวนการต่อสู้ของชาวโมโร (ชาวมุสลิมในภาคใต้ฟิลิปปินส์) ไปแล้ว

มาเลเซียนั้นได้แสดงบทบาทเป็นคนกลางผู้คอยช่วยเหลืออำนวยความสะดวกให้แก่การจัดทำข้อตกลงสันติภาพปี 2012 ที่กล่าวไว้ข้างต้น อันที่จริงกัวลาลัมเปอร์มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลืออำนวยความสะดวกให้แก่การเจรจาสันติภาพระหว่างมะนิลากับกลุ่มกบฎต่างๆ ในมินดาเนามาหลายครั้งหลายหนแล้วนับตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม กลุ่ม MNLF ได้แถลงคัดค้านอย่างเปิดเผยต่อข้อตกลงแม่บทที่มะนิลาทำกับกลุ่ม MILF ขณะที่สำนักข่าวรอยเตอร์ยังเสนอรายงานข่าวอีกชิ้นหนึ่งโดยอ้างพวกนายทหารฟิลิปปินส์ที่ขอสงวนนามระบุว่า พวกกบฏซูลูได้ “รับการเชื้อเชิญให้ไปยังซาบาห์โดยนักการเมืองฝ่ายค้านชาวมาเลเซียรายหนึ่ง เพื่อหารือกันในประเด็นเรื่องดินแดน”

หลังจากนั้นนายกรัฐมนตรีนาจิบก็ได้สั่งการให้พวกเจ้าหน้าที่ข่าวกรองของมาเลเซียเข้าไปสืบสวนสอบสวนข้อกล่าวอ้างที่ว่ามีผู้นำฝ่ายค้านรายหนึ่งเกี่ยวข้องพัวพันกับการที่กลุ่มถืออาวุธบุกรุกเข้าไปในซาบาห์คราวนี้ ขณะที่ อันวาร์ ผู้นำฝ่ายค้านได้ดำเนินการฟ้องร้องพวกวิทยุโทรทัศน์ของมาเลเซียซึ่งเผยแพร่รายงานข่าวที่พูดพาดพิงว่าเขาเกี่ยวข้องกับกลุ่มติดอาวุธชาวฟิลิปปินส์ซึ่งล่วงล้ำเข้าไปในซาบาห์ รวมทั้ง อันวาร์ ยังแถลงปฏิเสธอย่างกราดเกรี้ยวว่าเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้น สื่อมวลชนกระแสหลักในมาเลเซียซึ่งล้วนแต่เป็นพวกเชียร์รัฐบาล พากันเสนอข่าวและความเห็นกันเป็นประจำอยู่แล้ว ในลักษณะมุ่งวิพากษ์วิจารณ์ อันวาร์ ว่าพัวพันเกี่ยงโยงกับตัวบุคคลที่เป็นชาวต่างชาติ พวกบล็อกเกอร์หลายรายยังโพสต์ภาพถ่ายขณะที่ อันวาร์ พบปะกับ มิซูอารี ผู้นำของ MNLF พร้อมกับเปรยๆ ว่า ทั้งสองคนนี้อาจจะกำลังร่วมมือประสานงานกัน จึงทำให้เกิดเหตุการณ์กองกำลังอาวุธประจำองค์สุลต่านแห่งซูลู ของ คิราม บุกรุกเข้าไปในซาบาห์ขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม ทางด้าน เถียน ฉั่ว (Tian Chua) 1 ในคณะผู้นำของพันธมิตรฝ่ายค้าน ปาคะตัน รัคยัต (Pakatan Rakyat) ซึ่งนำโดยอันวาร์ ได้กล่าวหาตอบโต้ว่า พวกพรรครัฐบาลนั่นแหละที่ประสานงานกันจนทำให้เกิดการสู้รบกับพวกผู้ถืออาวุธชาวฟิลิปปินส์ขึ้นมา เขาระบุด้วยว่าการบุกรุกคราวนี้ “เป็นการสมคบคิดที่วางแผนกันเอาไว้ล่วงหน้าของรัฐบาล (ที่มีพรรคอัมโนของนาจิบเป็นแกนนำ)” เพื่อหันเหความสนใจของประชาชน ตลอดจนเป็นการข่มขู่ทำให้ประชาชนเกิดความตระหนกรู้สึกถึงภัยอันตรายก่อนหน้าจะมีการเลือกตั้ง ทั้งนี้ ทางด้านพันธมิตรพรรครัฐบาลก็ได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาของฝ่ายค้านเช่นนี้ อย่างสอดคล้องเป็นเสียงเดียวกัน

ในเวลาเดียวกันนั้น แหล่งข่าวชาวฟิลิปปินส์หลายรายอ้างว่า การบุกรุกเข้าไปซาบาห์ของทางสุลต่านแห่งซูลู แท้จริงแล้วเป็นความพยายามที่จะบ่อนทำลายประธานาธิบดีอากีโน ในจังหวะเวลาที่กำลังจะมีการเลือกตั้งกลางเทอมในเดือนพฤษภาคมนี้ ทั้งนี้ คิราม เคยลงสมัครแข่งขันเป็นวุฒิสมาชิกของฟิลิปปินส์ โดยอยู่ในพรรคซึ่งเป็นมิตรกับอดีตประธานาธิบดีกลอเรีย มากาปากัลป์-อาร์โรโย (Gloria Macapagal-Arroyo) เมื่อครั้งการเลือกตั้งปี 2007 มิหนำซ้ำพวกนักการเมืองฟิลิปปินส์ที่จับมือเป็นพันธมิตรกับ คิราม ก็ถูกจับตามองว่าเป็นพวกที่กำลังพยายามกดดัน อากีโน ให้ยินยอมอภัยโทษอดีตประธานาธิบดีอาร์โรโย ซึ่งเวลานี้ยังคงถูกกักตัวให้อยู่แต่ภายในบ้านพักสืบเนื่องจากถูกฟ้องร้องเรื่องทุจริตฉ้อโกงการเลือกตั้ง

**ข้อกล่าวอ้างทางประวัติศาสตร์**

คิราม แถลงกับสื่อมวลชนในฟิลิปปินส์ว่า เขาต้องการให้สหประชาชาติ, สหรัฐฯ, และอังกฤษ เข้ามาแทรกแซงในเรื่องที่เขากล่าวอ้างกรรมสิทธิ์เหนือซาบาห์ สุลต่านแห่งซูลูผู้นี้ระบุว่า สหรัฐฯต้องเข้ามาไกล่เกลี่ย ดังที่เคยตกลงเอาไว้เช่นนั้นในข้อตกลงปี 1915 ซึ่งลงนามโดยรัฐบาลอาณานิคมในฟิลิปปินส์ของสหรัฐฯในเวลานั้น โดยในข้อตกลงดังกล่าวมีข้อความระบุเอาไว้ว่า สหรัฐฯ เป็นผู้ให้ “การพิทักษ์คุ้มครองอย่างเต็มที่” แก่สุลต่านแห่งซูลู เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่คณะรัฐบาลอาณานิคมจะใช้อำนาจต่างๆ เหนืออำนาจอธิปไตยของอาณาจักรสุลต่านแห่งซูลู

รัฐซาบาห์นั้น เป็นดินแดนที่ร่ำรวยด้วยทรัพยากรต่างๆ โดยที่มีน้ำมันสำรองและก๊าซธรรมชาติสำรองอันอุดมสมบูรณ์ คิดเป็นปริมาณเท่ากับ 14% ของก๊าซธรรมชาติทั้งหมด และ 30% ของน้ำมันดิบทั้งหมดที่มาเลเซียมีอยู่ แหล่งน้ำมัน 15 แห่งของซาบาห์ผลิตน้ำมันดิบออกมาได้มากในระดับ 192,000 บาร์เรลต่อวัน นอกจากนั้นในช่วงเวลา 2 ปีหลังมานี้ ยังมีการค้นพบแหล่งน้ำมันใหม่ๆ อีก 4 แหล่งในบริเวณน่านน้ำอาณาเขตของซาบาห์

เรื่องเหล่านี้ทำให้มีบางคนคาดเดาว่า บางทีหนึ่งในแรงจูงใจทั้งหลายแหล่ที่ทำให้สุลต่านแห่งซูลูเดินหน้าประกาศอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนแห่งนี้ ก็คือแรงขับดันในเรื่องผลกำไรงามๆ นี่เอง กระนั้นก็ตามที จังหวะเวลาอันน่าสงสัยอย่างยิ่งของการปฏิบัติการของกองกำลังอาวุธจากซูลูคราวนี้ โดยที่เป็นการลงมือก่อนหน้าการเลือกตั้งทั่วไปในมาเลเซียไม่นานนัก ก็ยังคงเป็นปมที่มิอาจละเลยของปริศนานี้ เฉกเช่นเดียวกับคำถามทั้งหลายเกี่ยวกับแหล่งที่มาของอาวุธและเงินทุนของ คิราม ทั้งนี้พวกนักวิเคราะห์บอกว่า สุลต่านแห่งซูลู สามารถที่จะเลือกใช้หนทางแก้ปัญหาอื่นๆ อีกหลายหนทาง ซึ่งเป็นหนทางที่เน้นวิธีการสนทนาหารือกันเป็นหลักในการแก้ไขคลี่คลายสถานการณ์ และน่าที่จะบังเกิดผลพวงสืบเนื่องในทางลบต่อลูกน้องบริวารของเขาและการต่อสู้ของเขาน้อยกว่านี้นักหนา

วิธีการก่อความไม่สงบแบบที่พวกผู้ถืออาวุธภายใต้การบังคับบัญชาของเขาเลือกใช้นี้ กำลังทำลายเหตุผลข้ออ้างและความน่าเชื่อถือของตัวสุลต่านเอง แถมยังกลับช่วยสร้างการยอมรับให้แก่ข้อกล่าวอ้างสันนิษฐานที่ระบุว่า วิกฤตคราวนี้เป็นสิ่งที่ผลิตขึ้นมาเพื่อมุ่งก่อกวนสร้างความยุ่งยากในช่วงจังหวะเวลาซึ่งการเมืองมาเลเซียกำลังมีความอ่อนไหว ตั้งแต่ก่อตั้งประเทศ มาเลเซียไม่ค่อยจะได้ประสบกับวิกฤตทางด้านความมั่นคงสักเท่าใดนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิกฤตชนิดที่อาจจะบังเกิดขึ้น ถ้าหากความขัดแย้งนี้ขยายตัวลุกลามออกไป ในเมื่อมีพวกหัวรุนแรงชาวฟิลิปปินส์จับอาวุธเข้าร่วมการต่อสู้เพิ่มขึ้นอีก

เป็นที่คาดหมายกันอยู่แล้วว่า การเลือกตั้งทั่วไปของมาเลเซียซึ่งกำลังจะจัดขึ้นมานี้ จะเป็นการแข่งขันที่คู่คี่กันเป็นอย่างยิ่ง และหลายๆ คนกำลังหวาดหวั่นว่าวิกฤตที่แผ่ลามกว้างขวางออกไป อาจส่งผลทำให้ต้องมีการชะลอการลงคะแนน ในฟิลิปปินส์นั้น คิราม กำลังพยายามป่าวร้องว่าการเข้าแทรกแซงของต่างชาติคือหนทางเดียวที่จะคลี่คลายความขัดแย้งคราวนี้ได้ ในขณะที่ชาวฟิลิปปินส์จำนวนมากมองเห็นการปฏิบัติการปราบปรามของมาเลเซียว่า เป็น “การกระทำอันโหดร้ายป่าเถื่อน” โดยที่ถ้าหากกองกำลังของ MNLF สามารถที่จะสร้างที่หยั่งเท้าอันมั่นคงขึ้นในซาบาห์ อันตรายที่สงครามจะแผ่ลามขยายตัวออกไปก็มีโอกาสเป็นไปได้จริงๆ ในเวลาเดียวกันทางด้านมาเลเซียนั้น นาจิบน่าที่จะยังคงยึดจุดยืนเดิมเอาไว้อย่างมั่นคง และมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ที่วิกฤตจะขยายตัว ในเมื่อกองกำลังความมั่นคงของแดนเสือเหลืองกำลังเข้าสู้รบปราบปรามพวกกลุ่มถืออาวุธ มีความเป็นไปได้ที่รายงานจากแนวหน้าจะโหมกระพืออารมณ์ความรู้สึกชาตินิยมอันรุนแรงขึ้นมา

ไนล์ โบวี เป็นนักวิเคราะห์การเมืองอิสระ ซึ่งกำลังพำนักอยู่ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย สามารถติดต่อเขาทางอีเมลที่ nilebowie@gmail.com

บทความนี้ปรากฏอยู่ในส่วน Speaking Freely ของเอเชียไทมส์ออนไลน์ ซึ่งเป็นส่วนที่เปิดให้นักเขียนรับเชิญจากภายนอกเขียนแสดงทัศนะความคิดเห็น โดยไม่จำเป็นต้องมีมาตรฐานทางด้านบรรณาธิการในระดับเดียวกับพวกนักเขียนที่เขียนให้แก่เอเชียไทมส์ออนไลน์เป็นประจำ
กำลังโหลดความคิดเห็น