เอเอฟพี - บรรดาสื่อของพม่าแสดงท่าทีผิดหวังต่อร่างกฎหมายฉบับใหม่ที่จะควบคุมสื่อ ซึ่งสร้างความหวั่นเกรงว่า รัฐบาลพม่าจะกลับคำสัญญาที่จะผ่อนคลายอำนาจในอุตสากรรมสื่อที่ถูกควบคุมมาอย่างยาวนาน
กฎหมายการตีพิมพ์และเผยแพร่ ร่างโดยกระทรวงข่าวสารพม่า ได้ระบุข้อจำกัดจำนวนมาก รวมทั้งการรายงานเกี่ยวกับการปะทะกันระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ และการผลิตบทความที่ละเมิดรัฐธรรมนูญฉบับที่ร่างขึ้นโดยรัฐบาลทหาร
ร่างกฎหมายดังกล่าว ยังวางบทลงโทษเข้มงวดจำคุกนานสูงสุดถึง 6 เดือน สำหรับผู้ที่ดำเนินการโดยไม่ได้รับการรับรอง ซึ่งสร้างความตกตะลึงให้แก่สภาสื่อชั่วคราวที่ร่างกฎหมายสื่ออีกส่วนหนึ่ง
“มันเป็นเรื่องน่ารำคาญสำหรับพวกเรา เราคิดว่าบทลงโทษนั้นรุนแรงเกินกว่าที่จำเป็น” นายซอว์ เต๊ต สมาชิกสภา กล่าว
พม่าสร้างความแปลกใจให้แก่บรรดานักสังเกตการณ์ด้วยการปฏิรูปที่หลากหลายภายใต้รัฐบาลกึ่งพลเรือน ที่เข้าแทนที่รัฐบาลทหารในปี 2554 รวมทั้งจัดการเลือกตั้งที่นางอองซานซูจี กวาดคะแนนเสียงเข้าสู่สภา
มาตรการการตรวจสอบเนื้อหาก่อนตีพิมพ์ถูกยกเลิกลงในเดือน ส.ค. นับเป็นการสิ้นสุดการควบคุมเข้มงวดกับสื่อสิ่งพิมพ์ทุกชนิดตั้งแต่หนังสือพิมพ์ ไปจนถึงเนื้อเพลง และพม่าเพิ่งประกาศที่จะอนุญาตให้หนังสือพิมพ์เอกชน 8 ฉบับ ตีพิมพ์รายวันได้เป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษตั้งแต่เดือน เม.ย. นี้
แต่รายงานในหนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ในวันเสาร์ระบุว่า มีหนังสือพิมพ์ได้รับอนุญาตให้ตีพิมพ์รายวันเพียง 8 ฉบับ จากทั้งหมด 17 ฉบับ ที่ยื่นคำร้องขออนุญาต โดยสำนักข่าวอีเลฟเว่นมีเดียกรุ๊ป หนึ่งในสำนักพิมพ์รายใหญ่ของประเทศ ระบุว่า การขอใบอนุญาตเหล่านั้นถูกปฏิเสธด้วยเหตุผลทางเทคนิค
“เราไม่สามารถที่จะยอมรับความกดดันใดๆ เกี่ยวกับการเผยแพร่หนังสือพิมพ์รายวัน” นายธัน ฮุ๊ต อ่อง ประธานกลุ่มอีเลฟเว่นมีเดียกรุ๊ป ระบุลงในบทบรรณาธิการฉบับวันศุกร์
“หากกฎหมายการตีพิมพ์ของกระทรวงข่าวสารเมื่อเร็วๆ นี้มีผลบังคับใช้ สื่ออิสระก็จะต้องเผชิญกับความยากลำบากที่คล้ายกัน” นายฮุ๊ต อ่อง กล่าว และให้คำมั่นที่จะคัดค้านกฎหมายสื่อนี้
นายชอว์น คริสพิน คณะกรรมการคุ้มครองผู้สื่อข่าว ได้วิพากษ์วิจารณ์ร่างกฎหมายการตีพิมพ์ที่เผยแพร่ในสื่อของรัฐในภาษาพม่าเมื่อวันพุธ (27 ก.พ.) ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการแทนที่การเซ็นเซอร์ของรัฐบาลเก่าด้วยการปราบปรามแบบใหม่ที่คล้ายคลึงกัน ประเด็นข่าวที่ถูกห้ามนำเสนอ และกฎหมายจำคุกนักข่าวเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกันอย่างที่สุดกับการรับประกันเสรีภาพสื่อ ซึ่งทางการให้คำมั่นว่าจะผลักดันกฎหมายใหม่นี้.