xs
xsm
sm
md
lg

"โต้ง"จับภาคธุรกิจตัวประกัน อ้างกู้2ล้านล.สะดุดฉุดเชื่อมั่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อวานนี้ (10 ก.ค.) มีการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ที่มีนายวราเทพ รัตนากร รองประธานคณะกรรมาธิการ ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม โดยนายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายขนส่งและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข.ในฐานะกรรมาธิการ ชี้แจงตัวเลขสรุปกรอบวงเงินลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งก่อนนำเข้าสู่การประชุมสมัยสามัญ ซึ่งที่ประชุมได้มีการปรับลดกรอบวงเงินค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่างๆ อาทิ ค่าจ้างที่ปรึกษา ค่าที่ดิน ค่าก่อสร้าง วงเงิน 11,790 ล้านบาท โดยนำไปเพิ่มในวงเงินเผื่อเหลือเผื่อขาดจากเดิมที่ตั้งไว้ 9,261ล้านบาท เป็น 21,051 ล้านบาท
โดยคณะกรรมาธิการฝ่ายค้านแสดงความกังวลว่า ตัวเลขอาจคลาดเคลื่อนจากตัวเลขความเป็นจริง โดยเฉพาะค่าที่ดิน และค่าก่อสร้าง เพราะดำเนินการแล้วอาจมีการเปลี่ยนแปลงในรายละเอียดของโครงการได้ นอกจากนี้ การปรับลดต่างๆ ก็ยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน พร้อมทั้งได้ตั้งข้อสังเกตว่า งบประมาณที่ปรับลด 11,790 ล้านบาท และถูกนำมารวมกับวงเงินคงเหลือจาก ร่าง พ.ร.บ.เดิมคือ 9,261 ล้านบาทนั้น เป็นงบที่ไม่มีการชี้แจงรายละเอียดการใช้เงินอย่างชัดเจน ซึ่งอาจเปิดช่องให้มีการทุจริตได้
นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ส.ส. กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมาธิการ กล่าวว่า ไม่จำเป็นต้องคงเงินจำนวน 21,051 ล้านบาท ไว้ในแผน ข. หรือเผื่อเหลือเผื่อขาด เพราะอายุของ พ.ร.บ.กู้เงินดังกล่าว มีอายุถึง 7 ปี หากมีความจำเป็น ก็สามารถไปกำหนดเป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้
ขณะที่นายพิชิฏ ชื่นบาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้แย้งว่าการที่นำงบประมาณที่ตัดออก ไปไว้ในแผน ข. จะทำให้กฎหมายได้มีทางออกที่จะให้คณะรัฐมนตรีบริหารประเทศได้ ขณะที่กรรมาธิการเสียงข้างมากบางคนเห็นว่า ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งอาจจะทำให้ค่าใช้จ่ายและต้นทุนสูงขึ้น จึงเห็นด้วยที่จะคงงบที่จะปรับลดไว้ในแผน ข.
นายอรรถวิชช์ จึงเสนอให้มีการลงมติ ตัดสินแม้ นายวราเทพ และนายชัย ชิดชอบ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย จะขอร้องไม่ให้มีการลงมติ เพื่อเป็นไปตามประเพณีการประชุมกรรมาธิการ ที่ไม่นิยมลงมติโดยให้ไปแปรญัตติแล้วไปอภิปรายในสภาแทน แต่นายอรรถวิชช์ ยังยืนยันให้ลงมติ โดยผลการลงมติปรากฏว่า เสียงส่วนใหญ่ให้คงวงเงิน 21,051 ล้านบาทไว้ในวงเงินเผื่อเหลือเผื่อขาด ด้วยคะแนน 16 ต่อ 8
จากนั้นนายอรรถวิชช์ และนายสามารถ ราชพลสิทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้แถลงข่าวย้ำว่า การตัดลดงบประมาณลง11,790 ล้านบาท แต่กลับไปเพิ่มในในแผน ข. ซึ่งเป็นงบเผื่อเหลือเผื่อขาด เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม เพราะเท่ากับเป็นการตีเช็คเปล่า ไม่สามารถตรวจสอบได้ เพราะไม่ได้ระบุรายละเอียดไว้ และอาจมีการนำไปใช้ไม่ถูกทางและทุจริต ซึ่งจะทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปไม่ได้ ทั้งนี้เห็นว่ากรรมาธิการฯ ควรปรับลดงบประมาณลงอีก โดยเฉพาะค่าจ้างที่ปรึกษา ค่าเวนคืนที่ดิน และค่าก่อสร้าง

** ย้ำพ.ร.บ.กู้2ล้านล้าน จบที่ศาลรธน.

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกครม.เงา แถลงผลการประชุมครม.เงา ต่อกรณี พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ว่า ตามที่มีหลายภาคส่วนได้มีความเห็นว่ากฎหมายดังกล่าวอาจมีความสุ่มเสี่ยงที่จะขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งที่ประชุมเห็นว่า ควรจะทำความเข้าใจกับประชาชนว่าการออกมาแสดงความคิดเห็น หรือคัดค้านเรื่องดังกล่าวของพรรคประชาธิปัตย์นั้น ไม่ได้แปลว่าจะไม่สนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพียงแต่ตั้งคำถามว่า แหล่งเงินที่ใช้ดำเนินโครงการจำเป็นต้องมาจากการกู้เงินหรือไม่ เพราะรัฐบาลสามารถใช้เงินจากงบปรกติได้ ซึ่งโครงการที่มีความพร้อม มีการศึกษาผลกระทบด้านต่างๆ มีวงเงินที่ต้องเบิกจ่ายเพียง 2.5 แสนล้านบาทเท่านั้น แต่การตั้งวงเงิน 2 ล้านล้านบาท เป็นการตั้งเกินจริง
อย่างไรก็ตามหาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านการพิจารณาในวาระ 2 และ 3 จนกระทั่งผ่านวุฒิสภา พรรคประชาธิปัตย์ จะยื่นตีความต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเห็นว่านอกจากจะขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 169 แล้ว ยังขัดกับรัฐธรรมนูญ ในเรื่องวินัยทางการคลังด้วย เพราะหาก พ.ร.บ.ผ่าน ก็จะทำให้เงินกู้ที่กำหนดในเพดานของวินัยทางการคลังไม่มีความหมาย
“พรรควางแผนที่จะจัดเวทีเสวนาเกี่ยวกับ พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ในช่วงต้นเดือนหน้า และไม่มีวัตถุประสงค์ขัดขวาง แต่ต้องการให้สังคมเข้าใจว่า เนื้อหาของพ.ร.บ.ดังกล่าว มีความเหมาะสม หรือสุ่มเสี่ยงที่จะขัดกับกฎหมายอย่างไร และหากจะเดินหน้าต่อในบางโครงการ ควรมีขั้นตอนอย่างใดบ้าง โดยจะมีการเชิญบุคคลภายนอกที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านการเงินการคลัง โลจิสติก และด้านกฎหมายมาร่วมเสนา เพื่อหาข้อสรุปที่เป็นประโยชน์ในการทำงานของรัฐบาล และเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องของประชาชน”
ส่วน กรณีเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท ที่ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งให้รัฐบาลปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 57 วรรค 2 และ มาตรา 67 วรรค 2 นั้น แต่เป็นเรื่องที่เลอะเทอะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ออกมาบอกว่า เพียงแค่จัดนิทรรศการ ก็ถือว่าเป็นการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอย่างรอบคอบ เพียงพอแล้ว เพราะการศึกษาผลกระทบด้านต่างๆนั้น ต้องมีหลักทางวิทยาศาสตร์ มีการทดสอบในพื้นที่จริง และลงพื้นที่สอบถามประชาชน ร่วมกับการจัดนิทรรศการ

**"โต้ง"อ้างแผนกู้สะดุด ฉุดความเชื่อมั่น

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวถึงปัญหาเรื่องโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง 2 ล้านล้านบาท ส่อเค้าจะสะดุดว่า เท่าที่พูดคุยนักลงทุน มีความกังวลนิดหน่อย เพราะไทยเพิ่งจะผ่านพ้นมหาอุกทภัยเมื่อปลายปี 54 ได้ไม่นาน และการลงทุนในระบบบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ เป็นเรื่องของการเตรียมตัวให้เราปลอดจากความเสี่ยงของภัยธรรมชาติ ฉะนั้นการชะงักในขั้นตอนนี้ ทำให้เขากังวลบ้าง แต่พอตนอธิบายว่าได้ทำตามขั้นตอนที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่ง ก็มีความเข้าใจมากขึ้น แต่เขาจะติดตามและจับตาดูว่า เราจะลงทุนหรือไม่ เพราะการที่โรงงานของเขาที่อยู่ในประเทศไทยจะปลอดภัยหรือไม่
เมื่อถามว่า หากทั้ง 2 โครงการ ไม่เกิด ประเมินตัวเลขได้หรือไม่ว่าจะเกิดความเสียหายเท่าไร รองนายกฯ กล่าวว่า คงประมาณค่ามิได้ เพราจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นอย่างมาก เพราะตอนน้ำท่วมใหญ่ในปี 54 มีมูลค่าความเสียหายของผู้ลงทุนในจำนวนที่สูงมาก ดังนั้นการที่เราจะลงทุนจำนวน 3.5 แสนล้านบาท เพื่อคุ้มครองทรัพย์สินที่มูลค่ามากกว่านั้นหลายเท่าของภาคเอกชน จึงเป็นเรื่องจำเป็น อย่าเข้าใจว่าเราคุ้มครองนายทุน แต่เขาเหล่านี้เป็นผู้จ้างงาน คนจำนวนนับล้านคน ฉะนั้น เรามามั่นใจด้วยกันว่า จะดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ให้ลุล่วงไปได้ มิฉะนั้นจะเกิดความเสียอย่างประมาณค่าไม่ได้

** กวป.บุกศาลปค.ทวงคำตอบ

นายศรรักษ์ มาลัยทอง โฆษกกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และสมาชิกกลุ่มประมาณ 5 คน ได้เดินทางมาทวงคำตอบต่อศาลปกครองกลาง กรณีที่เมื่อวันที่ 2 ก.ค. ที่ผ่านมา ทางกลุ่มได้ยื่นหนังสือขอให้ตุลาการศาลปกครองกลางชี้แจงต่อสาธารณะว่า การที่ศาลปกครองกลางมีคำวินิจฉัยให้รัฐบาลต้องมีการทำประชาพิจารณ์โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทนั้น ถือเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชนเสียงข้างมากที่เลือกรัฐบาลนี้เข้ามาบริหารประเทศหรือไม่ และหากทำประชาพิจารณ์ จนทำให้การดำเนินโครงการล่าช้า แล้วเกิดอุทกภัยร้ายแรงใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ประชาชนสามารถเอาผิดศาลปกครองได้หรือไม่
โดยนางสุธีรา สิทธิภิญโญ ผู้อำนวยการสำนักงานศาลปกครองกลาง และนายอติโชค ผลดี ที่ปรึกษาสำนักงานศาลปกครองกลาง ได้ร่วมกันชี้แจงว่า หนังสือที่ทางกลุ่ม กวป.ได้มายื่นเมื่อวันที่ 2 ก.ค..นั้น ไม่ได้มีการลงนามของผู้ยื่น รวมทั้งไม่มีการระบุที่อยู่ ที่ทางสำนักงานศาลปกครอง จะสามารถแจ้งผลกลับไปได้ ซึ่งหากมีที่อยู่ชัดเจน ทางศาลฯ คงแจ้งให้ผู้ยื่นทราบไปนานแล้ว
ส่วนที่ต้องการให้เผยแพร่คำชี้แจงผ่านสื่อนั้น จะดำเนินการได้ก็ต่อเมื่อได้แจ้งให้ผู้ร้อง หรือคู่กรณีทราบผลแล้ว
อย่างไรก็ตาม นายศรรักษ์ ก็ได้ยื่นหนังสือทวงคำตอบดังกล่าว ต่อศาลปกครองกลางโดยระบุว่า เมื่อครบกำหนด วันแล้ว คณะตุลาการไม่ออกมาชี้แจง แสดงว่า คำพิพากษาของศาลปกครองกลางในโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน ไม่สามารถกระทำได้จริง และยังไม่ใช่ทางออกที่จะแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำได้ จึงขอประณามคำวินิจฉัยอันก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ และประชาชนดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น