xs
xsm
sm
md
lg

ชี้พ.ร.บ.กู้เงินขัดรัฐธรรมนูญ ป.ป.ช.ตามจิกงบน้ำ3.5แสนล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-"คณิต"ชี้ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทขัดรัฐธรรมนูญว่าด้วยวินัยการคลัง และยังจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชน แนะปรับวิธีหาเงิน พร้อมเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมทำโครงการต่างๆ "วราเทพ"โต้ กู้เงินไม่ขัดมาตรา 169 ป.ป.ช. สั่งรวบรวมข้อมูลเงินกู้น้ำ 3.5 แสนล้าน "ปู"ไม่หวั่นฝ่ายค้านยื่นถอดถอน ครม. ยกชุด โฆษก กวป. แจ้งจับตุลาการศาลปกครองกลางเบรงบบริหารน้ำ3.5แสนล้าน

นายคณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) เปิดเผยว่า ร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศวงเงิน 2 ล้านล้านบาท พ.ศ. ... (พ.ร.บ.กู้เงิน2ล้านล้านบาท) ซึ่ง คปก.ได้ศึกษาและรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มีความเห็นว่า การกู้เงินตามร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว อาจเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 เพราะการกู้เงินอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงการคลังที่เป็นหน่วยงานของรัฐ เงินกู้จึงเป็นเงินของแผ่นดิน การใช้จ่ายเงินแผ่นดิน จะต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ การตราเป็นพ.ร.บ.นอกเหนือจากวิธีการตามที่กำหนดไว้ จึงอาจเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่ง คปก. ได้ทำบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะต่อนายกรัฐมนตรีไปแล้วเมื่อวันที่ 2 ก.ค.2556

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 หมวด 8 ว่าด้วย การเงิน การคลัง และงบประมาณ ในมาตรา 169 บัญญัติไว้ว่า “การจ่ายเงินแผ่นดินจะกระทำได้เฉพาะที่ได้อนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ กฎหมายเกี่ยวด้วยการโอนงบประมาณ หรือกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง”

ขณะเดียวกัน ยังพบว่า นอกจากอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเงิน การคลังแล้ว การที่รัฐจะตราพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพ.ร.บ.ฉบับใดฉบับหนึ่ง จำเป็นต้องพิจารณาในเรื่องการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายก่อนประกาศใช้ว่าเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเกินกว่าความจำเป็นหรือไม่ เพื่อควบคุมองค์กรนิติบัญญัติไม่ให้ตรากฎหมายจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจนเกินสมควร โดยกฎหมายที่ตราขึ้นนั้น ต้องสอดคล้องกับหลักความพอสมควรแก่เหตุ อีกทั้งยังต้องพิจารณาถึงหลักสิทธิชุมชนและสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย

"ตามร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทฉบับนี้ ฝ่ายนิติบัญญัติจะไม่มีโอกาสได้ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของฝ่ายบริหารเป็นเวลา 7 ปี การกู้เงินดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันรัฐบาลชุดต่อไป ซึ่งถือได้ว่าเป็นการก้าวล่วงอำนาจของฝ่ายบริหารด้วยกัน ทำให้รัฐบาลชุดต่อไป ไม่มีอิสระในการปฏิเสธโครงการเหล่านี้ หรือเสนอโครงการพัฒนาใหม่ๆ ได้อีก เนื่องจากโครงการทั้งหมดถูกกำหนดไว้แล้วจากรัฐบาลชุดก่อนหน้า"นายคณิตกล่าว

นายคณิตกล่าวว่า โครงการจำนวนมากตามแผนยุทธศาสตร์แนบท้ายพ.ร.บ.ดังกล่าว ยังไม่ผ่านการศึกษาความคุ้มค่าทางการเงิน และเศรษฐกิจ หากโครงการดำเนินการไม่ได้หรือล่าช้า ไม่เกิดความต่อเนื่องตามระยะเวลาที่วางไว้ หรือการเร่งรีบสรุปผลการศึกษาเพื่อให้ดำเนินการได้ทันใน 7 ปี จะทำให้ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน หรือการจัดประเภทการลงทุนที่ไม่เหมาะสม เช่น กรณีรถไฟความเร็วสูง ซึ่งกลุ่มเป้าหมายมีฐานะปานกลางถึงสูง ถือเป็นการวางแผนการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า เสี่ยงต่อปัญหาทางการเงินของประเทศในอนาคต และเป็นภาระหนี้สินสะสมของภาครัฐ

ดังนั้น คปก. จึงข้อเสนอแนะว่า การที่รัฐจะกู้เงินจำนวนมาก โดยเป็นการกู้ในนามประเทศไทย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและดุลยภาพทางการเงินการคลังของประเทศ รัฐสามารถดำเนินการให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติรองรับไว้ โดยรัฐบาลสามารถดำเนินการในรูปแบบงบประมาณประจำปี และสามารถใช้วิธีการแสวงหาเงินทุนในรูปแบบที่กฎหมายกำหนดไว้เป็นทางเลือกได้ เช่น การให้เอกชนร่วมลงทุน โดยไม่จำต้องตราเป็นพ.ร.บ. ที่นอกเหนือจากวิธีการทางงบประมาณ ซึ่งเป็นวิธีการที่เป็นไปตามวินัยทางการเงินการคลังของประเทศ และควรมีการศึกษาในแต่ละโครงการอย่างรอบด้านเสียก่อนและดำเนินการโครงการเฉพาะเท่าที่จำเป็น ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรักษาดุลยภาพทางเศรษฐกิจและลดจำนวนเงินกู้ที่จะต้องเกิดขึ้น

ส่วนการกำหนดโครงการและมาตรการต่างๆ ควรมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และควรให้ข้อมูลการดำเนินการ ผลกระทบ รวมไปถึงรายละเอียดต่างๆ ของโครงการต่อประชาชนอย่างทั่วถึง รวมไปถึงการจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างเพียงพอและรอบด้าน เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ให้เจ้าหน้าที่ไปรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโครงการบริการจัดการน้ำของรัฐบาลตามพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555 วงเงิน 3.5แสนล้านบาท จากนั้นจะส่งข้อมูลมาให้คณะกรรมการป.ป.ช.พิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ แม้ว่าศาลปกครองสูงสุดจะยังไม่มีคำพิพากษาออกมาว่าโครงการดังกล่าวจะต้องผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามรัฐธรรมนูญมาตรา67วรรคสองหรือไม่ แต่เมื่อมีบุคคลใช้สิทธิ์ร้องเข้ามาที่ ป.ป.ช. โดยอาศัยคำพิพากษาของศาลปกครองกลางทำให้ป.ป.ช.ต้องรับเรื่องเอาไว้

"ขอให้เข้าใจด้วยว่า เมื่อมีประชาชนให้สิทธิ์ตามกฎหมาย มายื่นเรื่องให้กับ ป.ป.ช. ตรวจสอบ ทำให้ป.ป.ช.ไม่สามารถทำอะไรได้นอกจากต้องรับเรื่องไว้พิจารณา เพราะถ้าป.ป.ช.ไม่ทำอย่างนั้น ป.ป.ช.อาจมีความผิดฐานละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ได้" นายวิชา กล่าว

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงกรณีที่ คปก. ระบุว่าการกู้เงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม 2 ล้านล้านบาทขัดต่อรัฐธรรมนูญ ว่า ยังไม่ได้เห็นข้อเสนอดังกล่าวจากคปก. ที่เสนอให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งตนเห็นว่าเรื่องดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรกับโครงการ เพราะเป็นเพียงข้อเสนอแนะ และล่าสุดการพิจารณากฎหมายกู้เงินก็ดำเนินไปตามขั้นตอน ขณะเดียวกันการออกกฎหมายฉบับดังกล่าว ก็ได้ผ่านการพิจารณาจากสำนักงานกฤษฎีกาอย่างรอบคอบก่อนจะเสนอเข้ารัฐสภาแล้ว โดยได้ยืนยันว่า ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะไม่ได้เป็นเงินแผ่นดินตามมาตรา 169 ของรัฐธรรมนูญ

ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีที่ฝ่ายค้านยื่นถอดถอนนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งคณะ ในปัญหาโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ว่า คงต้องว่าไปตามขั้นตอน เรายินดีให้ข้อมูลและชี้แจง ส่วนจะทำให้โครงการหยุดชะงักหรือไม่ คงต้องรอฟังศาลปกครองอีกที ซึ่งที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 2 ก.ค.ที่ผ่านมา ได้มอบหมายให้นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดูว่ามีส่วนไหนที่รัฐบาลทำได้ และอะไรบ้างที่เราจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครอง

ทางด้านนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ดำเนินการยื่นถอดถอนครม. ทั้งคณะ ว่า ส่วนตัวไม่ได้หวั่นไหว เพราะเรื่องนี้มีการทำงานกันมาตั้งแต่สมัยน้ำท่วมใหญ่ มีทั้งข้าราชการประจำและฝ่ายการเมืองมาช่วยกันคิดช่วยกันทำ โดยคิดว่าวิธีการในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยหรือการบริหารจัดการน้ำจะทำแบบเดิมอย่างการทำเป็นจุดๆ นั้นไม่ได้ แต่เป็นโครงการที่ต้องมองในภาพรวม ถึงจะแก้ปัญหาได้ ซึ่งได้ทำถูกต้องตามกฎหมาย และยืนยันว่า การลงทุน 3.5 แสนล้านบาท เป็นประโยชน์และจำเป็นต้องทำ

อย่างไรก็ตาม ได้เลื่อนการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองให้ความเห็นเกี่ยวกับคำสั่งศาลปกครองกลางในคดีโครงการบริหารจัดการน้ำมูลค่า 3.5 แสนล้านบาทจากวันที่ 8 ก.ค. มาเป็นวันที่ 5 ก.ค. เวลา 09.00 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยจะมีการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาศึกษา ส่วนเรื่องการอุทธรณ์ คงให้ได้แค่ความเห็น ส่วนการตัดสินใจจะเป็นเรื่องของหน่วยงานเจ้าของเรื่องกับอัยการ

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงผลการประชุมส.ส.พรรคว่า เป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดประชุมสภาสมัยสามัญทั่วไปในวันที่ 1 ส.ค.2556 ซึ่งพรรคจะทำหน้าที่อย่างเข้มแข็งในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล โดยเฉพาะการออกกฎหมายเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ที่มีการประเมินว่าพรรคเพื่อไทยเข้าสู่ภาวะจนแต้มทางการเมือง ประชานิยมไม่มีมนต์ขลังเหมือนในอดีต ความนิยมของพรรคเพื่อไทยกำลังตกต่ำลงจากความล้มเหลวในโครงการรับจำนำข้าว 15,000 บาททุกเมล็ด ที่สร้างความเสียหายให้ประเทศอย่างมาก จึงทำให้รัฐบาลหันมามุ่งที่เรื่องเงินเป็นอันดับแรก สอดคล้องกับท่าทีรัฐบาลที่มีการผลักดัน พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านมาเป็นอันดับแรก ก่อนเรื่องนิรโทษกรรม และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงให้ส.ส.ไปศึกษาข้อเสียว่าหากกฎหมายเงินกู้ดังกล่าวผ่านออกไปโดยไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการใช้เงินก็จะเป็นอนุเสาวรีย์แห่งการทุจริตอีกเรื่องหนึ่ง

วันเดียวกันนี้ ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (บก.ปปป.) เมื่อเวลา 13.30 น. นายมาลัยรักษ์ ทองชัย อายุ 46 ปี โฆษกกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (กวป.) พร้อมด้วย นายหนึ่งดิน วิมุตตินันท์ ทนายความ และกลุ่มเครือข่ายชาวนาภาคเหนือ จาก จ.พิษณุโลก ประมาณ 30 คน เดินทางเข้าพบ พ.ต.อ.วิวัฒน์ ชัยสังฆะ รอง ผบก.ปปป.เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับ 4 องค์คณะตุลาการศาลปกครองกลาง ประกอบด้วย 1.นายธีรรัฐ อร่ามทวีทอง ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลาง 2.นายสุรัตน์ พุ่มพวง ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลาง 3.นายทศพร โต๊ะบุรินทร์ ตุลาการศาลปกครองกลาง และ 4.นายศรัณยู โพธิรัชตางกูร ตุลาการศาลปกครองกลาง ในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 โดยทำหนังสือร้องทุกข์ และนำเอกสารที่เกี่ยวข้อง มอบให้พนักงานสอบสวนเป็นหลักฐาน
กำลังโหลดความคิดเห็น