xs
xsm
sm
md
lg

“สุรนันทน์” โต้ “คณิต” ตะแบงกู้ 2 ล้านล้านไม่ใช่เงินแผ่นดิน-“ประชา” ซัดพวกขัดแข้งขัดขา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี (ภาพจากแฟ้ม)
รัฐบาลดิ้นหลังประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายชี้ พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านขัดรัฐธรรมนูญ ร่อนคำชี้แจงยาวเฟื้อยจากโปแลนด์ ระบุไม่ใช่เงินแผ่นดิน ไม่เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 169 โวพร้อมเดินหน้าโครงการต่อ มท.3 เสื้อแดงได้ทีถล่ม “คณิต” พวกขัดแข้งขัดขา เหน็บ ปชป.ค้านทุกเรื่อง ไม่เสนอทางแก้

วันนี้ (4 ก.ค.) มีรายงานว่า เมื่อเวลา 16.45 น.ทีมงานนายกรัฐมนตรีได้แจ้งสื่อมวลชนผ่านทางการสนทนาโซเชียลมีเดียของแอปพลิเคชัน “ไลน์” ที่ใช้ชื่อกลุ่มว่า “PMReporterทีมข่าวสร1.” ว่าได้ส่งอีเมลข่าว โดยใช้ชื่อหัวข้อว่า “เงินกู้ 2 ล้านล้าน” เข้าอีเมลสื่อมวลชนทำเนียบรัฐบาลทุกคน โดยเนื้อหารายละเอียดระบุว่า นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่งขณะนี้อยู่กับนายกรัฐมนตรีที่ประเทศโปแลนด์ ชี้แจงกรณีเรื่อง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ตามแนวทางที่นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ที่ระบุว่ามีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

โดยรายละเอียดดังกล่าว ระบุว่า ประเด็นขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 หมวด 8 ว่าด้วยการเงิน การคลัง และงบประมาณ ในมาตรา 169 บัญญัติไว้ว่า “การจ่ายเงินแผ่นดินจะกระทำได้เฉพาะที่ได้อนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ กฎหมายเกี่ยวด้วยการโอนงบประมาณ หรือกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง...” ซึ่งการกู้เงินตามร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท เป็นการกู้เงินซึ่งอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของกระทรวงการคลังอันเป็นหน่วยงานของรัฐ เงินกู้จึงเป็นเงินแผ่นดิน ซึ่งในการจ่ายเงินแผ่นดินนั้น จะต้องเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ การตราเป็นพระราชบัญญัตินอกเหนือจากวิธีการตามที่กำหนดไว้ จึงอาจเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งแนวทางชี้แจง ได้แก่ มาตรา 169 ของรัฐธรรมนูญ ปี 50 ไม่ได้บัญญัติครั้งแรก แต่ใช้ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2492 และได้ใช้มาตลอด (รัฐธรรมนูญ 2511, 2517, 2521, 2534, 2538 และ 2540) ระหว่างใช้รัฐธรรมนูญเหล่านี้ ได้มีการตรา พ.ร.บ.กู้เงินตามวัตถุประสงค์เฉพาะเรื่องหลายฉบับควบคู่กันไปกับ พ.ร.บ.รายจ่ายประจำปี เช่น ในรัฐธรรมนูญปี 50 มีการตรา พ.ร.บ.กู้เงิน คือ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 (ไทยเข้มแข็ง) ซึ่งได้มีโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนนไร้ฝุ่น เป็นต้น

“จากหลักการดังกล่าว แสดงให้เห็นแนวทางปฏิบัติที่ยึดถือมาต่อเนื่องว่า บทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญที่ว่า “การจ่ายเงินแผ่นดินจะกระทำได้ก็เฉพาะที่ได้อนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย” นั้น หมายถึงรายจ่ายที่จะจ่ายจากเงินแผ่นดินซึ่งหมายถึงเงินที่อยู่ในบัญชีคลังตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง ส่วนเงินกู้มิใช่เป็นเงินแผ่นดิน เพราะเป็นเงินที่มิได้ส่งบัญชีคลัง แต่เป็นเงินกู้จากแหล่งเงินอื่น และต้องใช้จ่ายได้เฉพาะตามวัตถุประสงค์ของการกู้เงินเท่านั้น ดังนั้นเมื่อมิใช่เป็นการจ่ายเงินแผ่นดินจึงไม่อยู่ในบังคับมาตรา 169 ของรัฐธรรมนูญ รวมทั้งสอดคล้องกับความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งเห็นว่าการใช้จ่ายเงินตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 (พ.ร.ก.ไทยเข้มแข็ง 2552) จึงไม่ใช่การจ่ายเงินแผ่นดินตาม ม.169 ของรัฐธรรมนูญ” คำชี้แจงระบุ

ประเด็นต่อมา ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเกินกว่าความจำเป็นโดยควบคุมองค์กรนิติบัญญัติ ไม่ให้มีโอกาสในการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินเป็นเวลา 7 ปี แนวทางชี้แจง ได้แก่ การใช้จ่ายเงินกู้จะกำหนดวัตถุประสงค์การใช้จ่ายที่ชัดเจน มิใช่การหลีกเลี่ยงการควบคุมการใช้จ่ายตามระบบงบประมาณ และได้มีการกำหนดมาตรการควบคุมไว้ในร่าง พ.ร.บ.ด้วย โดยกำหนดบัญชีแนบท้ายซึ่งแสดงยุทธศาสตร์ แผนงาน และวงเงินอย่างชัดเจน ซึ่งแตกต่างจากกฎหมายการกู้เงินที่ผ่านมาทุกฉบับที่ไม่เคยกำหนดกรอบวงเงินไว้ในกฎหมาย

นอกจากนั้น ยังกำหนดให้หน่วยงานเจ้าของโครงการต้องปฏิบัติตามขั้นตอนให้ครบถ้วนและขอความเห็นชอบจาก ครม.โดยต้องผ่านความเห็นชอบจากหน่วยงานกลางก่อนการดำเนินการ เช่น กระทรวงการคลัง สงป.และ สศช.ซึ่งเป็นในลักษณะเดียวกันกับการเสนอขออนุมัติโครงการตามขั้นตอนปกติ ทั้งนี้ กระทรวงการคลังโดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะจะมีระบบการติดตามและประเมินผลโครงการเพื่อรายงาน ครม.และ รัฐสภาเพื่อทราบและติดตามผลการดำเนินงานต่อไป

ประเด็นที่สาม โครงการแนบท้าย พ.ร.บ.ดังกล่าว ยังไม่ผ่านการศึกษาความคุ้มค่าทางการเงิน เศรษฐกิจ เสี่ยงต่อปัญหาทางการเงินของประเทศในอนาคต และเป็นภาระหนี้สินสะสมของภาครัฐ แนวทางชี้แจง ได้แก่ โครงการส่วนใหญ่ เช่น โครงการระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้า โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ และโครงการทางหลวงพิเศษ (Motorway) ได้มีการศึกษาความคุ้มค่าทางการเงิน (FIRR) และความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ (EIRR)แล้ว และในการดำเนินการจะเป็นการทยอยกู้ทำให้ภารหนี้ไม่สูง และเป็นการรักษาวินัยการเงินการคลัง

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูง จะต้องมีการศึกษาความคุ้มค่าทั้งด้านเศรษฐกิจและการเงิน รวมทั้งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนก่อน จึงจะเริ่มดำเนินการได้ ซึ่งคาดว่าจะไม่สามารถลงทุนได้ในปี 2556 ได้ทัน รวมทั้งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้มีการศึกษารูปแบบการขยายตัวและการวางผังเมืองในอนาคตเพื่อรองรับกับโครงการดังกล่าวด้วย

ประเด็นที่สี่ ควรมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และควรให้ข้อมูลการดำเนินการ ผลกระทบ รวมไปถึงรายละเอียดต่างๆ ของโครงการต่อประชาชนอย่างทั่วถึง รวมไปถึงการจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างเพียงพอและรอบด้าน เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ แนวทางชี้แจง ได้แก่ สำหรับโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงานวิเคราะห์ต่อผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามประกาศดังกล่าวฯ

รัฐบาลได้มีการชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนมาโดยตลอดผ่านช่องทางที่สามารถเข้าถึงประชาชนได้ในทุกระดับ ทั้งการจัดนิทรรศการ สื่อสิ่งพิมพ์ ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อโทรทัศน์และวิทยุ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้อง รวมทั้งสามารถเสนอแนะข้อคิดเห็นได้ด้วย อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจะต้องดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่น พรบ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 และระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 อย่างเคร่งครัดทุกขั้นตอน

ทั้งนี้ นายสุรนันทน์ ได้กล่าวต่อว่า ขอขอบคุณ นายคณิต ณ นคร สำหรับข้อห่วงใยในประเด็นดังกล่าว แต่รัฐบาลยืนยันเดินหน้าโครงการด้วยความโปร่งใส และเป็นไปตามเจตนารมณ์และนโยบายต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น ตามที่นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลประกาศไว้ ทั้งนี้ ประเทศจะต้องเดินหน้าเพื่อการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันของประเทศต่อไป

อีกด้านหนึ่ง นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 กล่าวด้วยว่า การแสดงความเห็นของ คปก.นั้น เป็นเรื่องของ คปก.ซึ่งก่อนที่จะมีการนำเข้าพิจารณาทางสภาฯก็ได้ดูข้อกฎหมายแล้ว และยืนยันว่าไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยการที่ คปก.ระบุว่ากฎหมายฉบับนี้อาจจะขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 57 วรรค 2 และมาตรา 67 วรรค 2 มีปัญหาตามหลักสิทธิชุมชนและการมีส่วนร่วมของประชาชนนั้น เห็นว่าในแต่ละเรื่องก็มีโครงสร้างอยู่แล้ว แต่ก็ต้องมีการมาขอเงินจากสภาฯก่อน และมีการอนุมัติโดยบองอย่างต้องมีการทำประชาพิจารณ์อยู่แล้วในภายหลังกฎหมายผ่านจากสภาฯ

ส่วน นายประชา ประสพดี รมช.มหาดไทย กล่าวถึงกรณีที่นายคณิต มีความเห็นว่าร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท อาจขัดรัฐธรรมนูญว่า เป็นความเห็นเชิงปัดแข้งปัดขา เรื่องนี้รัฐบาลได้ดำเนินการมาอย่างรอบคอบ สอบถามกฤษฎีกา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง โครงการดังกล่าวเป็นการสร้างยุทธศาสตร์ประเทศ สร้างความเจริญ ขยายโอกาสใหม่ๆ ไม่ต้องกินแต่บุญเก่า การที่พรรคประชาธิปัตย์เตรียมจะโหนกระแสยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้น เหมือนเป็นสูตรสำเร็จที่ต้องขัด ต้องค้าน และต้องยื่นทุกเรื่อง ทั้งเรื่องข้าว เรื่องน้ำ อยากให้ประชาชนมองดูว่าใครกำลังปัดแข้งปัดขา ขัดขวางผลประโยชน์ รัฐบาลกำลังหาทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน แต่พรรคประชาธิปัตย์ก็เอาแต่หลับหูหลับตาค้าน และไม่เคยเสนอแนวทางแก้ไขอื่นใด เอาแต่พูดซ้ำซากเรื่องทุจริต โกงนั่นโกงนี่

นายประชา กล่าวว่า กรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่าได้ยิน ส.ส.พูดซุบซิบกันว่าจะมีการยุบสภานั้น คำพูดของนายอภิสิทธิ์ได้พิสูจน์วุฒิภาวะแล้วว่ามาตรฐานต่ำอย่างไร แค่ได้ยินเสียงซุบซิบก็เอามาเป็นประเด็น และอยากถามว่า ส.ส.คนไหนเป็นคนพูด แสดงว่าเรื่องต่างๆ ที่ออกมาค้านที่ผ่านมาเลื่อนลอยทั้งสิ้น อย่างไรก็ตามขอถามกลับไปว่าถ้ายุบสภาวันนี้พรรคประชาธิปัตย์พร้อมเลือกตั้งแล้วหรือยัง ปฏิรูปพรรคเสร็จหรือยัง ที่สำคัญปฏิรูปจิตใจให้ฝักใฝ่ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงได้หรือยัง วันนี้ตนก็ได้ยินเสียงซุบซิบมาเหมือนกันว่าพรรคประชาธิปัตย์รับไม้ใครมาตีหัวเขาด้านหลัง การประกาศตั้งเวทีปราศรัยใน กทม.หวังผสมโรงกับใครหรือไม่ แต่สุดท้ายแล้วกลุ่มหน้ากากขาวไหวตัวทัน ประกาศยุติชุมนุมไปก่อน กลัวบางคนจะมาชุบมือเปิบ


กำลังโหลดความคิดเห็น