ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-สัปดาห์ที่แล้วเรื่องน้ำ ๆ ไม่ทันจะหาย ! เรื่องร้อนๆ ร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... หรือร่าง พ.ร.บ.เงินกู้2 ล้านล้านบาท ที่รัฐบาลเปลี่ยนเป็น โครงการไทยแลนค์ 2020 เพื่อสร้างรถไฟความเร็วสูง แล้วก็ถูกยกคำพูดของนายกรัฐมนตรี มาเย้ยว่า เอาไว้ขนผัก
ที่รัฐบาลเล็งจะดันเข้าสู่วาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญทั่วไปที่จะเปิด ในวันที่ 1 สิงหาคมนี้ท่าจะเป็นหมันอีกแล้ว!
ไม่ทันจะหาย ! เรื่องแรกเป็นน้ำ บ่ายวันที่ 27 มิ.ย. ที่ศาลปกครองกลางอ่านพิพากษา
สั่งให้นายกรัฐมนตรี รวมไปถึงคณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กนอช.) คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและ อุทกภัย (กบอ.) และ คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.)
ปฏิบัติหน้าที่ร่วมการนำแผนแม่บทบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และแผนดำเนินโครงการก่อสร้างเพื่อ ออกแบบก่อสร้างระบบบริหารจัดการน้ำอย่าง ยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศ จำนวน 9โครงการ 10แผนงาน วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท ไปดำเนินการจัดให้มีกระบวนการให้มีการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียอย่างทั่วถึง ตาม ม.57 วรรคสอง และ ม.67 วรรคสอง ตามสิทธิในข้อมูลข่าวสารและการร้องเรียน และสิทธิชุมชนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ก่อนที่จะดำเนินการจ้างเอกชนออกแบบและก่อสร้างในแต่ละแผนงาน
เอ็นจีโอสายน้ำ นักวิชาการออกมาให้รัฐบาลยอมรับคำสั่งศาล อย่าอุทธรณ์! ขณะที่ นายพงษ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการกลั่นกรองให้ความเห็นเกี่ยวกับคำสั่งศาลปกครองกลางในคดีโครงการบริหารจัดการน้ำมูลค่า 3.5 แสนล้านบาท บอกว่าจะเอาเรื่องนี้เข้าหารือกับทีมกฎหมายของรัฐบาล ตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี แม้นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับ ทั้ง กบอ. กยน. จะออกมาพูดลอยๆว่า ขั้นตอนการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียอย่างทั่วถึง ทำแค่ 2 เดือนก็เสร็จ
รัฐบาลยังอาจจะเห็นว่า การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (เอชไอเอ) จะทำเฉพาะในส่วนของเขื่อน โดยอ้างว่า หลายเรื่องไม่เกี่ยวอยู่แล้ว มีเฉพาะบางเรื่องเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่นเขื่อนที่ต้องทำ
ดังนั้นเชื่อว่า ผู้มีส่วนได้เสียอย่างทั่วถึงของรัฐบาล เขามองแค่ว่า อาจจะจัดนิทรรศการทั่วประเทศ เอาคนมายกมือเห็นด้วยก็คงจะจบ
ไม่ทันหาย! เรื่องต่อมา
หลังจากเดินหน้าร่าง พ.ร.บ.การให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานวงเงิน 2 ล้านล้านบาท แบบไม่สนใจเสียงวิพากษ์วิจารณ์
กลางสัปดาห์ 3 ก.ค. 56 คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ที่มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน ออก จดหมายแถลงข่าวเรื่อง ร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ....
ซึ่ง คปก.ได้ศึกษาและรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และได้ทำบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะต่อนายกรัฐมนตรี ไปเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2556
คปก.มีความเห็นว่า การกู้เงินตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว อาจเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 หมวด 8 ว่าด้วย การเงิน การคลัง และงบประมาณ ในมาตรา 169 บัญญัติไว้ว่า“การจ่ายเงินแผ่นดินจะกระทำได้เฉพาะที่ได้อนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ กฎหมายเกี่ยวด้วยการโอนงบประมาณ หรือกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง...”
ดังนั้น เมื่อการกู้เงินตามร่างพระราชบัญญัติที่ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศวงเงิน 2 ล้านล้านบาท เป็นการกู้ซึ่งอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของกระทรวงการคลังอันเป็นหน่วยงานของรัฐ เงินกู้จึงเป็นเงินแผ่นดิน ซึ่งในการจ่ายเงินแผ่นดินนั้นจะต้องเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ การตราเป็นพระราชบัญญัตินอกเหนือจากวิธีการตามที่กำหนดไว้ จึงอาจเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้นอกจากอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเงิน การคลังแล้ว การที่รัฐจะตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างพระราชบัญญัติฉบับใดฉบับหนึ่งนั้นจำเป็นต้องพิจารณาในเรื่องการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายก่อนประกาศใช้ว่าเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเกินกว่าความจำเป็นหรือไม่ เพื่อควบคุมองค์กรนิติบัญญัติไม่ให้ตรากฎหมายจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจนเกินสมควร โดยกฎหมายที่ตราขึ้นนั้นต้องสอดคล้องกับหลักความพอสมควรแก่เหตุ อีกทั้งยังต้องพิจารณาถึงหลักสิทธิชุมชนและสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย
ตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ฝ่ายนิติบัญญัติจะไม่มีโอกาสได้ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของฝ่ายบริหารเป็นเวลา 7 ปี การกู้เงินดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันรัฐบาลชุดต่อไปด้วย ซึ่งถือได้ว่าเป็นการก้าวล่วงอำนาจของฝ่ายบริหารด้วยกัน ทำให้รัฐบาลชุดต่อไปไม่มีอิสระในการปฏิเสธโครงการเหล่านี้หรือเสนอโครงการพัฒนาใหม่ๆได้อีก เนื่องจากโครงการทั้งหมดถูกกำหนดไว้แล้วจากรัฐบาลชุดก่อนหน้า
นอกจากนี้ โครงการจำนวนมากตามแผนยุทธศาสตร์แนบท้าย พ.ร.บ.ดังกล่าวยังไม่ผ่านการศึกษาความคุ้มค่าทางการเงิน/เศรษฐกิจ และหากโครงการดำเนินการไม่ได้หรือล่าช้า ไม่เกิดความต่อเนื่องตามระยะเวลาที่วางไว้ หรือ การเร่งรีบสรุปผลการศึกษาเพื่อให้ดำเนินการได้ทันใน 7 ปี จะทำให้ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน หรือ การจัดประเภทการลงทุนที่ไม่เหมาะสม เช่น กรณีรถไฟความเร็วสูง ซึ่งกลุ่มเป้าหมายมีฐานะปานกลางถึงสูง ถือเป็นการวางแผนการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า เสี่ยงต่อปัญหาทางการเงินของประเทศในอนาคต และเป็นภาระหนี้สินสะสมของภาครัฐ
คปก.มีข้อเสนอแนะว่า การที่รัฐจะกู้เงินจำนวนมาก โดยเป็นการกู้ในนามประเทศไทยซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและดุลยภาพทางการเงินการคลังของประเทศ รัฐสามารถดำเนินการให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติรองรับไว้ โดยรัฐบาลสามารถดำเนินการในรูปแบบงบประมาณประจำปี และสามารถใช้วิธีการแสวงหาเงินทุนในรูปแบบที่กฎหมายกำหนดไว้เป็นทางเลือกได้ เช่น การให้เอกชนร่วมลงทุน โดยไม่จำต้องตราเป็นพระราชบัญญัติที่นอกเหนือจากวิธีการทางงบประมาณ ซึ่งเป็นวิธีการที่เป็นไปตามวินัยทางการเงินการคลังของประเทศ และควรมีการศึกษาในแต่ละโครงการอย่างรอบด้านเสียก่อนและดำเนินการโครงการเฉพาะเท่าที่จำเป็น ทั้งนี้เพื่อเป็นการรักษาดุลยภาพทางเศรษฐกิจและลดจำนวนเงินกู้ที่จะต้องเกิดขึ้น
ทั้งนี้การกำหนดโครงการและมาตรการต่างๆ ควรมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และควรให้ข้อมูลการดำเนินการ ผลกระทบ รวมไปถึงรายละเอียดต่างๆของโครงการต่อประชาชนอย่างทั่วถึง รวมไปถึงการจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างเพียงพอและรอบด้าน เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
แม้ นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรมช.เกษตรฯ จะบอกว่าเรื่องนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรกับโครงการ เพราะเป็นเพียงข้อเสนอแนะ และล่าสุดการพิจารณากฎหมายกู้เงินก็ดำเนินไปตามขั้นตอน ขณะเดียวกันการออกกฎหมายฉบับดังกล่าวก่อนหน้านี้ก็ได้ผ่านการพิจารณาจากสำนักงานกฤษฎีกาอย่างรอบคอบ ก่อนจะเสนอเข้ารัฐสภาแล้ว โดยได้ยืนยันว่า กรณีดังกล่าวไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะไม่ได้เป็นเงินแผ่นดินตามมาตรา 169 ของรัฐธรรมนูญ
โดยอ้างว่า ก่อนหน้านี้ทางกฤษฏีกา ได้ชี้แจงถึงความหมายของเงินแผ่นดินตามมาตรา 169 คือ ไม่มีกฎหมายใดกฎหมายหนึ่ง ซึ่งเงินดังกล่าวหมายถึงเงินที่เข้าคลังไปแล้วและจะจ่ายต้องมีกฎหมายเฉพาะให้จ่าย คือกฎหมายวิธีการงบประมาณ กฎหมายงบประมาณรายจ่าย เหมือนที่กำลังจะออกมาตอนนี้ และกฎหมายว่าด้วยการโอนเงินงบประมาณ และกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง มีอยู่ 4 กฎหมาย ดังนั้นกฎหมายการกู้เงินนี้ จึงเป็นกฎหมายเฉพาะไม่ใช่เงินที่เข้าคลังแล้วใช้กฎหมายจ่ายออกมา เงินกู้ไม่ใช้กู้มาแล้วไปเข้าคลัง
ส่วนฝากพรรคฝ่ายค้าน นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ บอกว่า พรรคได้เตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดประชุมสภาสมัยสามัญทั่วไปในวันที่ 1 สิงหาคม 2556 พรรคจะทำหน้าที่อย่างเข้มแข็งในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล โดยเฉพาะการออกกฎหมายเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ที่มีการประเมินว่าพรรคเพื่อไทยเข้าสู่ภาวะจนแต้มทางการเมืองประชานิยมไม่มีมนต์ขลังเหมือนในอดีต ความนิยมของพรรคเพื่อไทยกำลังตกต่ำลงจากความล้มเหลวในโครงการรับจำนำข้าว 15,000 บาททุกเมล็ด ที่สร้างความเสียหายให้ประเทศอย่างมาก
พรรคมองว่า จึงทำให้รัฐบาลหันมามุ่งที่เรื่องเงินเป็นอันดับแรก สอดคล้องกับท่าทีรัฐบาลที่มีการผลักดัน พ.ร.บ.เงินกู้สองล้านล้านมาเป็นอันดับแรก ก่อนเรื่องนิรโทษกรรม และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงให้ส.ส.ไปศึกษาข้อเสียว่าหากกฎหมายเงินกู้ดังกล่าวผ่านออกไปโดยไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการใช้เงินก็จะเป็นอนุสาวรีย์แห่งการทุจริตอีกเรื่องหนึ่ง