ครม.เงา ปชป.เรียกร้องรัฐบาลเปิดแผนการระบายข้าวในสต๊อก 20 ล้านตัน เตือนตั้ง กก.สอบ “สุภา” ถือเป็นการแทรกแซงฝ่ายนิติบัญญัติ ลั่นยื่นศาล รธน.เล่นงานเหตุดำเนินการขัด รธน.หากผ่านวุฒิสภาฯ เตรียมเดินสายแฉแผนกู้ 2 ล้านล้านบาทของรัฐบาล เฉ่ง “ปู” เลอะหนัก อ้างศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมผ่านนิทรรศการเงินกู้ 2 ล้านล้านไปแล้ว จี้รัฐบาลจริงใจแก้ปัญหาหนีภาคประชาชน หลังเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 5 ปี
ที่พรรคประชาธิปัตย์ วันนี้ (10 ก.ค.) มีการประชุมคณะรัฐมนตรีเงา พรรคประชาธิปัตย์ โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค นายเกียรติ สิทธีอมร, นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์, นายกรณ์ จาติกวณิชย์, นายอภิรักษ์ โกษโยธิน รองหัวหน้าพรรค และส.ส.พรรคเข้าร่วมประชุม
น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษก ครม.เงา แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุม ครม.เงามีการพิจารณาเรื่องโครงการรับจำนำข้าว และอยากเสนอให้รัฐบาลเร่งชี้แจงข้อมูลเรื่องความโปร่งใสว่าจะมีแผนการดำเนินการในการระบายข้าวที่อยู่ในสต๊อก 20 ล้านตันอย่างไร และการที่รัฐบาลบอกว่าจะระบายข้าว 7 ล้านตันแบบจีทูจีนั้นจะระบายไปประเทศใดบ้าง และการระบายข้าวแบบจีทูจีที่ผ่านมาก็อยากให้รัฐบาลชี้แจงว่าขายให้ประเทศใดบ้าง ในราคาเท่าใด และได้รายได้เข้าประเทศเท่าไหร่ ซึ่งรัฐบาลไม่ควรอ้างว่าเป็นข้อมูลลับ เพราะเรื่องนี้สามารถสรุปได้ ไม่เกี่ยวกับเรื่องราคาขาย
ส่วนการตั้งคณะกรรมการสอบ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการจำนำข้าวนั้น ที่ประชุมเห็นว่าเป็นการส่งสัญญาณที่ไม่ดีของรัฐบาลต่อการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ เพราะการที่ น.ส.สุภาชี้แจงต่อกรรมาธิการนั้นเป็นหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญที่ข้าราชการต้องให้ข้อมูลต่อกรรมาธิการ ซึ่งการตั้งคณะกรรมการสอบแบบนี้เป็นการจ้องทำลายระบบการตรวจสอบของฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้งนี้จึงอยากตั้งคำถามว่าการตั้งคณะกรรมการครั้งนี้จะสอบตัว น.ส.สุภา หรือข้อมูลที่ น.ส.สุภาชี้แจง ซึ่งในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ก็จะติดตามเรื่องนี้ต่อไปว่ารัฐบาลจะมีการตั้งคณะกรรมการสอบข้าราชการที่ให้ข้อมูลไม่ถูกใจรัฐบาลอีกหรือไม่
น.ส.รัชดากล่าวว่า กรณี พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทนั้น ตามที่มีหลายภาคส่วนได้มีความเห็นว่ากฎหมายดังกล่าวอาจมีความสุ่มเสี่ยงที่จะขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าควรจะทำความเข้าใจกับประชาชนว่าการออกมาแสดงความคิดเห็นหรือคัดค้านเรื่องดังกล่าวของพรรคประชาธิปัตย์นั้น ไม่ได้แปลว่าจะไม่สนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพียงแต่ตั้งคำถามว่าแหล่งเงินที่ใช้ดำเนินโครงการจำเป็นต้องมาจากการกู้เงินหรือไม่ เพราะรัฐบาลสามารถใช้เงินจากงบปรกติได้ ซึ่งโครงการที่มีความพร้อม มีการศึกษาผลกระทบด้านต่างๆ มีวงเงินที่ต้องเบิกจ่ายเพียง 2.5 แสนล้านบาทเท่านั้น แต่การตั้งวงเงิน 2 ล้านล้านบาทเป็นการตั้งเกินจริง
อย่างไรก็ตาม หาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านการพิจารณาในวาระ 2 และ 3 จนกระทั่งผ่านวุฒิสภา พรรคประชาธิปัตย์จะยื่นตีความต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเห็นว่านอกจากจะขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 169 แล้ว ยังขัดกับรัฐธรรมนูญในเรื่องวินัยทางการคลังด้วย เพราะหาก พ.ร.บ.ผ่านก็จะทำให้เงินกู้ที่กำหนดในเพดาลของวินัยทางการคลังไม่มีความหมาย
“พรรควางแผนที่จะจัดเวทีเสวนาเกี่ยวกับ พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ในช่วงต้นเดือนหน้าและไม่มีวัตถุประสงค์ขัดขวาง แต่ต้องการให้สังคมเข้าใจว่าเนื้อหาของ พ.ร.บ.ดังกล่าว มีความเหมาะสม หรือสุ่มเสี่ยงที่จะขัดกับกฎหมายอย่างไร และหากจะเดินหน้าต่อในบางโครงการควรมีขั้นตอนอย่างใดบ้าง โดยจะมีการเชิญบุคคลภายนอกที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านการเงินการคลัง ลอจิสติกส์ และด้านกฎหมายมาร่วมเสนา เพื่อหาข้อสรุปที่เป็นประโยชน์ในการทำงานของรัฐบาล และเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องของประชาชน”
ส่วนกรณีเงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท ที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้รัฐบาลปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 57 วรรค 2 และ มาตรา 67 วรรค 2 แต่เป็นเรื่องที่เลอะเทอะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ออกมาบอกว่าเพียงแค่จัดนิทรรศการก็ถือว่าเป็นการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอย่างรอบคอบ เพียงพอแล้ว เพราะการศึกษาผลกระทบด้านต่างๆ นั้นต้องมีหลักทางวิทยาศาสตร์ มีการทดสอบในพื้นที่จริง และลงพื้นที่สอบถามประชาชน ร่วมกับการจัดนิทรรศการ
ด้านนายสรรเสริญ สมะลาภา สส.กทม. รมช.เงา คลัง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้รัฐบาลจริงใจในการแก้ปัญหาหนี้ภาคประชาชน ซึ่งที่ผ่านมานายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และ รมว.คลัง ออกมาระบุว่าการแก้ปัญหาหนี้ภาคประชาชนประสบความสำเร็จอย่างดี แต่ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงเพราะหนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย โดยปี 2556 เพิ่มสูงขึ้น 2 หมื่นบาทต่อคน ซึ่งสูงสุดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
ส่วนที่นายกิตติรัตน์ ระบุว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถแก้ปัญหาหนี้ภาคประชาชนได้ ถือเป็นการโกหก เพราะพรรคให้ความสำคัญกับเรื่องนี้จนกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ และตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 ชุดเพื่อดำเนินการแก้ไขและบูรณาการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ ซึ่งปัญหาหนี้นอกระบบเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญของหนี้ภาคประชาชน ได้แก้ปัญหาโดยโอนเข้ามาอยู่ในระบบสถาบันการเงินและแก้ปัญหาหนี้บัตรเครดิตจนลดภาระประชาชนไปได้เดือนละ 9,000 บาทต่อคน โดยหนี้ภาคประชาชนเพิ่มขึ้นน้อยมาก
อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับรัฐบาลชุดนี้กลับไม่พบการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ มีเพียงแค่พักหนี้ 1 ปี ลดดอกเบี้ยร้อยละ 3 แต่สุดท้ายโครงการนี้ก็เหมือนจะพับไปแล้วอย่างกลายๆ เพราะโครงการนี้มีเงื่อนไขต้องนำหลักฐาน ภงด.มาแสดงซึ่งถือเป็นการจำกัดสิทธิเพราะคนที่เป็นหนี้ส่วนใหญ่มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์และได้รับการยกเว้นจ่ายภาษีทำให้ไม่มีหลักฐานส่วนนี้ฃ
ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลจริงใจในการแก้ปัญหา ซึ่งเคยหาเสียงไว้ว่าจะล้างหนี้ประเทศไทย แต่วันนี้หนี้ภาคประชาชนเพิ่มสูงสุดในรอบ 5 ปี หากรัฐบาลไม่ชี้แจงให้ชัดเจนก็ไม่รู้ว่าเป็นความตั้งใจของรัฐบาลที่จะทำให้ประชาชนเป็นหนี้และเสพติดนโยบายประชานิยมซึ่งอาจจะออกมาหาเสียงล้างหนี้อีกรอบ