อดีตขุนคลัง “ธีระชัย” ชี้หากตีความตามหลักเศรษฐศาสตร์ และรัฐบาลประชาธิปไตย เงินจาก พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน ต้องเป็นเงินแผ่นดินเท่านั้น ไม่เช่นนั้นจะเปิดช่องให้รัฐบาลกู้เงินมาใช้ได้อย่างไร้การควบคุม พร้อมมอง ศก.โลกชะลอตัว ประชานิยมแผ่ว อาจฉุด “จีดีพี” ปี 56 ชะลอตตัว แนะรัฐลงทุนภายใต้กรอบงบประมาณ คาดช่วยกระตุ้นให้โตได้ 4%
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Thirachai Phuvanatnaranubala โดยระบุถึงการตีความรัฐธรรมนูญในเรื่อง พ.ร.บ. เงินกู้ 2 ล้านล้าน ดังนี้
1.ในวันนี้ ผมขอให้ความเห็นในเชิงวิชาการ เรื่องการตีความรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับ พ.ร.บ. เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท เพื่อในอนาคตหากเมื่อใดที่ศาลรัฐธรรมนูญมีการพิจารณาไต่สวนเรื่องนี้ ข้อมูลต่อไปนี้น่าจะเป็นประโยชน์ในการให้ภาพที่มีความครอบคลุม และสมบูรณ์
2.เรื่องนี้หากพิจารณาโดยอาศัยความรู้เฉพาะด้านกฎหมาย จะไม่ได้ภาพที่สมบูรณ์ เพราะว่านักกฎหมาย...มุ่งเน้นไปที่การตีความตามตัวอักษร ว่าเงินที่รัฐบาลได้รับแบบใดหรือลักษณะใด จึงจะถือ หรือจะไม่ถือว่าเป็น “เงินของแผ่นดิน” ตามมาตรา 169 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550
3.ในการตีความว่า “เป็นเงินของแผ่นดิน” หรือไม่ นักกฎหมายมักจะเน้นไปที่รูปแบบของนิติกรรมสัญญา และวิธีการได้มาซึ่งเงินดังกล่าว รวมไปถึงวิธีการในการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ
4.ในด้านรัฐบาลนั้น ก็ชอบที่จะตีความว่า “ไม่เป็นเงินของแผ่นดิน” เพราะจะทำให้รัฐบาลสามารถใช้เงินดังกล่าวโดยไม่ผ่านกระบวนการงบประมาณ ซึ่งจะมีความคล่องตัวสูง และรัฐบาลยังจะสามารถออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อกำหนดวิธีการใช้จ่ายที่แตกต่างไปจากระเบียบปกติเกี่ยวกับการใช้เงินของกระทรวงการคลังอีกด้วย
5.ทั้งนี้ การตีความรัฐธรรมนูญในหมวดอื่นๆ นั้น อาจจะพอใช้ความรู้ทางกฎหมายอย่างเดียวได้ แต่การตีความรัฐธรรมนูญ ในหมวดที่เกี่ยวกับการเงินการคลังนั้น ไม่สามารถใช้เฉพาะความรู้ทางกฎหมาย จำเป็นจะต้องใช้ความรู้ทางเศรษฐกิจประกอบด้วย เพราะในหมวดนี้ -- เนื้อหาทางเศรษฐกิจ มีความสำคัญมากกว่ารูปแบบทางกฎหมาย --
6.การอ่านรัฐธรรมนูญในหมวดที่เกี่ยวกับการเงินการคลังนั้น จะต้องเริ่มต้นก่อนว่าในหลักเศรษฐศาสตร์ ทุกประเทศที่ใช้ระบอบประชาธิปไตยนั้น การใช้เงินโดยรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นเงินชนิดใด จำเป็นจะต้องมีกรอบ และวิธีการกำกับดูแลถ่วงดุลเอาไว้ และกรอบวิธีการดังกล่าวจะต้องมีการกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายหลักของประเทศนั้นๆ
7.ทุกประเทศที่ใช้ระบอบประชาธิปไตยนั้น จะไม่มีประเทศใดเลยที่เปิดให้รัฐบาลสามารถใช้เงินได้อย่างอิสรเสรีโดยไม่มีการกำกับควบคุม
8.สำหรับกรอบ และวิธีการที่จะกำกับควบคุมการใช้เงินของรัฐบาลนั้น ทุกประเทศจะใช้กระบวนการงบประมาณ โดยจะบังคับให้รัฐบาลต้องเสนอแผนการใช้เงินเป็นกฎหมายงบประมาณผ่านสภา จะไม่มีประเทศใดเลยที่เปิดให้รัฐบาลใช้เงินแบบตีเช็คเปล่า
9.ดังนั้น ถ้าหากเราดูรัฐธรรมนูญของประเทศต่างๆ ที่ใช้ระบอบประชาธิปไตย เราจะเห็นว่าทุกประเทศจะบังคับให้รัฐบาลใช้เงินได้เฉพาะผ่านกระบวนการงบประมาณ โดยมีรัฐสภาถ่วงดุลและกำกับดูแล และในทุกประเทศรัฐธรรมนูญก็จะกำหนดวิธีการ และขั้นตอนในการเสนอกฎหมายงบประมาณที่บังคับให้รัฐบาลจะต้องนำเสนอ และแสดงข้อมูลต่อรัฐสภาอย่างละเอียด มากกว่าการเสนอกฎหมายอื่นๆ อย่างเปรียบเทียบกันไม่ได้เลยทีเดียว
10.เมื่อเข้าใจหลักเศรษฐศาสตร์ดังนี้แล้ว ก็จะต้องตีความว่าเงิน 2 ล้านล้านบาทที่รัฐบาลจะได้รับจากการกู้ยืมนั้น ต้องถือเป็น “เงินของแผ่นดิน” ตามมาตรา 169 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 สถานเดียวเท่านั้น
11.เพราะถ้าหากตีความว่าไม่ถือเป็นเงินของแผ่นดิน ก็จะเท่ากับเปิดช่องให้รัฐบาลนี้ และรัฐบาลอื่นๆ ในอนาคตสามารถจะกู้เงิน และใช้เงินได้อย่างไม่มีการกำกับควบคุม
12.ถ้าหากตีความว่าไม่ถือเป็นเงินของแผ่นดิน ในอนาคตต่อไปหากรัฐบาลใดมีโครงการจะใช้เงินเพื่อการใดก็ตาม รัฐบาลนั้นก็เพียงแต่ใช้เสียงข้างมากในสภา ออกเป็นกฎหมายเฉพาะเลียนแบบกรณีการกู้เงิน 2 ล้านล้านครั้งนี้ ดังนั้น ในอนาคตรัฐบาลใดๆ ก็จะสามารถกู้เงิน และใช้เงินได้อย่างอิสรเสรี การใช้เงินทุกโครงการสามารถจะทำนอกกรอบงบประมาณได้ทั้งสิ้น
13.ถ้าหากตีความว่าไม่ถือเป็นเงินของแผ่นดิน จะมีผลเท่ากับเป็นการฉีกทิ้งบทบัญญัติเกี่ยวกับกระบวนการงบประมาณ ในกฎหมายรัฐธรรมนูญอย่างสิ้นเชิง
ดังนั้น การตีความจึงไม่มีทางเป็นไปอย่างนี้ได้
14.สำหรับเงินที่รัฐธรรมนูญมิได้กำหนดไว้ ให้ต้องผ่านกระบวนการงบประมาณนั้น มีแต่เฉพาะกรณีที่เป็นเรื่องที่เร่งด่วน โดยใช้บทบัญญัติตามมาตรา 184 ออกเป็นพระราชกำหนดเท่านั้น
15.กรณีที่ใช้บทบัญญัติตามมาตรา 184 ที่ผ่านมา ก็คือ (1) พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ.๒๕๕๒ (รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์) และ (2) พระราชกำหนดให้อํานาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.๒๕๕๕ (รัฐบาลพรรคเพื่อไทย)
16.ผมจึงขอสรุปว่า การตีความรัฐธรรมนูญในหมวดการเงินการคลังนั้น จะต้องอาศัยหลักเศรษฐศาสตร์ควบคู่ไปกับหลักกฎหมาย
17.และเมื่อใช้ทั้งสองหลักควบคู่กันแล้ว ก็ต้องตีความว่าเงิน 2 ล้านล้านบาทที่รัฐบาลจะได้รับจากการกู้ยืมนั้น ถือเป็น “เงินของแผ่นดิน” ตามมาตรา 169 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 สถานเดียวเท่านั้น
นายธีระชัย ยังได้เปิดเผยกับสื่อกรณีที่หลายหน่วยงานออกมาปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทย ปี 2556 โดยมองว่า ในช่วงหลังวิกฤตน้ำท่วม เศรษฐกิจไทยถูกกระตุ้นด้วยนโยบายประชานิยม จึงทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศอยู่ในระดับสูง
“แต่ว่าเมื่อเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีน และยุโรป รวมถึงนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลโดยอาศัยนโยบายการคลังที่เริ่มแผ่วลง ทำให้เศรษฐกิจไทยต้องชะลอตัวลงตามไปด้วย ซึ่งก็คงไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เนื่องจากเป็นไปในลักษณะเดียวกับต่างประเทศ อีกทั้งความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจไทยมีศักยภาพ และมีความเข้มแข็งเพียงพอ”
นายธีระชัย กล่าวอีกว่า เพื่อเป็นการประคับประคองเศรษฐกิจไทยให้เดินหน้า รัฐบาลเองก็จะต้องพัฒนาในความสามารถด้านการแข่งขันของผู้ประกอบการ นอกจากนี้ ในการลงทุนภายใต้งบประมาณปกติที่มีลักษณะไม่ก่อให้เกิดปัญหาทางกฎหมาย ก็จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี