xs
xsm
sm
md
lg

กนง.คงดอกเบี้ยเล็งปรับจีดีพีต่ำ5%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - กนง.มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.50%ต่อปี ลุ้นการใช้จ่ายในประเทศช่วงครึ่งปีหลังฟื้นตัว ยัน กนง.พร้อมยืดหยุ่นนโยบายดอกเบี้ยตามสถานการณ์ แต่ไม่ควรลดดอกเบี้ยเพื่ออุ้มภาระหนี้ประชาชน เหตุการเติบโตสินเชื่อเริ่มลดจากก่อนหนี้ที่เติบโตสูงมาก ยอมรับเตรียมปรับเป้าจีดีพีต่ำกว่า 5% หลังจากส่งออกได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ในการประชุมวันที่ 9-10ก.ค. ซึ่งเป็นครั้งที่ 5 ของปีนี้ ทางบอร์ดกนง.มีมติเป็นเอกฉันท์ 7 ต่อ 0 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.50%ต่อปี เพราะเห็นว่าอุปสงค์ในประเทศชะลอตัวลงในขณะนี้เป็นผลจากการพักฐานที่เร่งตัวมากในช่วงก่อนหน้านี้ แต่คาดน่าจะกลับมาขยายตัวระดับปกติได้ในช่วงไตรมาส 3-4 ของปีนี้ ประกอบกับนโยบายการเงินในระดับปัจจุบัน ถือเป็นการผ่อนคลายนโยบายการเงินและสนับสนุนการขยายตัวเศรษฐกิจไทยได้อย่างต่อเนื่องแล้ว
“ยอมรับว่าการกระตุ้นการใช้จ่ายมีเหตุผลในบางจังหวะที่เกิดความไม่เชื่อมั่นหรืออุปสงค์ในประเทศบกพร่อง ทำให้มาตรการกระตุ้นการบริโภคได้ผลในช่วงเวลาสั้นๆ และมีต้นทุน กล่าวคือ ภาระหนี้สินเอกชนและรัฐ อย่างไรก็ตาม มาตรการของเราช่วยเหลือผ่อนคลายมากอยู่แล้วเหมือนกับยาโดปอ่อนๆ ลักษณะมาตรการมีผลระยะสั้น โดยเมื่อร่างกายเราอ่อนแอลงจะอาศัยยาโดปได้ แต่เมื่อยาโดปหมดก็อ่อนแรง ฉะนั้น ร่างกายจะแข็งแรงได้ต้องอาศัยเข้าโรงยิม”
ทั้งนี้ กนง.เห็นว่าโครงการรถยนต์คันแรก โครงการรับจำนำข้าวก่อให้เกิดการใช้จ่ายในประเทศมากขึ้น แต่ก็มีผลให้ภาระหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งเห็นได้จากสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์สูงมากถึง 30-40% ในหลายเดือนที่ผ่านมา จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ภาระหนี้มีผลต่อการใช้จ่ายของประชาชน เมื่อความต้องการซื้ออนาคตมาใช้ในปัจจุบันย่อมส่งผลให้ความต้องการซื้อในปัจจุบันน้อยลง
อย่างไรก็ตาม เมื่อชำระหนี้สินได้ครบกำหนดแล้วถึงตอนนั้นภาวะการเงินเริ่มคลี่คลาย ทำให้การบริโภคกลับเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น ขณะนี้ยังไม่จำเป็นต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อช่วยเหลือภาระหนี้ที่เกิดขึ้น เพราะเริ่มเห็นสินเชื่อระบบการเงินเริ่มทรงๆ ตัว ไม่เร่งตัวเหมือนช่วงที่ผ่านมา จึงมองว่าเป็นการปรับตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะเดียวกันยังไม่เห็นสัญญาณที่บ่งชี้ให้เห็นว่าคุณภาพสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ผิดปกติหรือน่าห่วง ซึ่งหากพิจารณาจากแนวโน้มมีการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม แง่ของหนี้สินครัวเรือนก็ต้องติดตามดูต่อไป
ต่อข้อซักถามที่ว่า กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไปเรื่อยๆ หรือไม่ นายไพบูลย์ กล่าวว่า การพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขึ้นกับสถานการณ์ ซึ่งข้อมูลในปัจจุบันชี้ให้เห็นว่าดอกเบี้ยระดับดังกล่าวเหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ตาม หากเศรษฐกิจโลก อุปสงค์ในประเทศไทย โครงการลงทุนเปลี่ยนแปลงไปมากกว่าที่คาดไว้ก็ต้องนำไปสู่การทบทวนดอกเบี้ยที่เหมาะสมต่อไป
เลขานุการบอร์ดกนง.กล่าวว่า วันที่ 19 ก.ค.นี้ ในรายงานนโยบายการเงินฉบับเดือนก.ค.นี้จะมีการปรับประมาณการอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทย ซึ่งคาดว่าปีนี้น่าจะโตต่ำกว่า 5% จากเดิม 5.1% สอดคล้องกับการพยากรณ์ของสำนักต่างๆ ซึ่งส่วนนี้ได้นับรวมการชะลอลงทุนโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท เช่นเดียวกันก็จะปรับตัวเลขการส่งออกไทย
เพราะเห็นว่าเศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงปรับเปลี่ยนหรือบางช่วงทรงๆ ตัว ซึ่งล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ)ปรับลดเศรษฐกิจโลกเหลือ 3.1%สำหรับปีนี้ ดังนั้นมองว่าภาคการส่งออกไทยน่าจะปรับให้สอดคล้องกับทิศทางดังกล่าว โดยคาดว่าจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้และดีขึ้นในปีหน้า
นายไพบูลย์ กล่าวว่า แม้ กนง.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25%ในวันที่ 28-29พ.ค.ที่ผ่านมา ทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในตลาดการเงินลดลงบ้างแล้ว ส่วนการส่งผ่านนโยบายการเงินสู่เศรษฐกิจรวมก็ต้องเข้าใจว่าต้องผ่านหลายข้อต่อและระยะเวลาไม่แน่นอน ซึ่งดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ก็ต้องการให้เป็นไปตามกลไกตลาด เข้าใจว่าขึ้นกับหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นมุมมองของธนาคารเรื่องความต้องการสินเชื่อ กังวลสภาพคล่องลดลงจากโครงการลงทุนของรัฐ รวมถึงการแข่งขันสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ฉะนั้น อย่าคาดหวังพึ่งพานโยบายการเงินมากเกินไป
“จากการลดดอกเบี้ยครั้งที่ผ่านมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อยู่เห็นได้จากสินเชื่อที่ขยายตัวดี แม้ดอกเบี้ยสถาบันการเงินไม่ได้ลดตามดอกเบี้ยนโยบาย และจากการสำรวจของธปท.หรือองค์กรข้างนอก ปรากฎว่า เรื่องสภาพคล่องและอัตราดอกเบี้ยเป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจอันดับท้ายๆ ฉะนั้น เป้าหมายนโยบายการเงินมีผลด้านดีมานส์ให้ใกล้เคียงกับศักยภาพ กล่าวคือ หน้าที่สำคัญของเราต้องดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจให้เศรษฐกิจเติบโตได้ตามศักยภาพ.
กำลังโหลดความคิดเห็น