“ประสาร” แจงมติ กนง. ลดดอกเบี้ย 0.25% เหมาะสม เป็นไปตามความคาดหมายของตลาด และข้อมูลทางเศรษฐกิจ หากปรับลดมากกว่านี้อาจถูกมองว่าปรับตามความต้องการของฝ่ายการเมือง ส่งผลกระทบความเชื่อมั่น ด้านนายแบงก์มองทิศทางดอกเบี้ยไม่ใช่ขาลง
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) โดยยืนยันว่า ไม่ได้ถูกกดดันจากฝ่ายการเมือง แต่ได้พิจารณาจากข้อมูลต่างๆ จนกระทั่งมีมาตรการออกมา เช่น มาตรการด้านดอกเบี้ยซึ่งหากลดต่ำไปก็กระทบกับคนออมเงิน แต่หากค่าบาทแข็งมากไปผู้ส่งออกก็กระทบเช่นกัน
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการให้นักลงทุนไทยสามารถนำเงินตราลงทุนต่างประเทศได้ หรือกรณีที่ธนาคารพาณิชย์สามารถซื้อดอลลาร์สหรัฐได้ แต่ไม่ได้ปฏิบัติมากเช่นในอดีต และในขณะนี้ค่าบาทอ่อนมากคือ เงินทุนไหลออกบ้าง แต่ก่อนหน้านี้ทุนไหลมามาก 4-5 เดือนที่ผ่านมา ประมาณ 5 พันล้านบาท
นายประสาร อธิบายเสริมว่า ดอกเบี้ยนโยบายใช้ในแก้ปัญหา แต่ไปลดมากไม่ได้ เพราะมีผลเสีย แต่ประเทศอื่นๆ ดอกเบี้ยนโยบายสูงมาก เช่น มาเลเซีย อินเดีย เป็นต้น สำหรับประเทศที่เศรษฐกิจขยายตัว ไทยถือว่าดอกเบี้ยถูกที่สุด พร้อมยืนยันว่า การลดดอกเบี้ย 0.25% เป็นไปตามคาดหวังของตลาด หากปรับลดมากกว่านี้อาจกระทบความเชื่อมั่น
“ยืนยันว่าเราได้รักษาเสถีรภาพให้เศรษฐกิจโตอย่างยั่งยืน ไม่มีอะไรขัดแย้งกัน แต่อาจต่างกันทางเทคนิค ก็ทำหน้าที่ให้ดี ไม่คิดลาออกเพราะตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาทำหน้าที่ ก็รู้ว่ามีวาระการดำรงตำแหน่ง คิดว่ามีเหตุผลในสิ่งที่เราทำอยู่ และยืนยันในแนวทางที่ทำอยู่นี้ต่อไป”
นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ ในฐานะอดีตรองนายกรฐมนตรี มองการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโนบายลง 0.25% เป็นเรื่องของการตอบสนองตัวเลขการเติบโตเศรษฐกิจในระยะสั้น หลังจากในไตรมาสที่ 1 ที่ขยายตัวติดลบเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ปีที่ผ่านมาเท่านั้น ซึ่งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ ไม่ได้สะท้อนให้เห็นถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ยว่าอยู่ในช่วงขาลง
อย่างไรก็ตาม มองว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้เป็นเพียงความเชื่อว่าจะสามารถสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ แต่โดยส่วนตัวเห็นว่าหลายประเทศมีการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยต่ำก็ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้น ซึ่งการดำเนินนโบายอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ จะเกิดความเสี่ยงต่อภาพรวมเศรษฐกิจระยะยาวได้
นอกจากนี้ ยังมองอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงจะมีผลต่อการออมของประเทศให้ลดลง เนื่องจากผลตอบแทนไม่สร้างแรงจูงใจในการออม โดยในอนาคตจะมีปัญหาได้ ดังนั้น การพิจารณาอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกรุงเทพจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับผลของ กนง.หรือไม่ ต้องพิจารณาอีกครั้งก่อน