xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดจับตาการประชุม กนง. วันที่ 29 พ.ค.นี้ พิจารณา ดบ.นโยบายจะมีแรงกดดันหรือไม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตลาดจับตาการประชุม กนง. วันที่ 29 พ.ค.นี้ พิจารณา ดบ.นโยบายจะมีแรงกดดันหรือไม่ ศูนย์วิจัยกสิกร คาดที่ประชุมอาจลดอัตรา ดบ.ลงร้อยละ 0.25 เพื่อดูแล ศก. ด้านนักวิชาการ ม.หอการค้า คาดที่ประชุมคง ดบ.ที่ร้อยละ 2.75 เพราะจีดีพีไตรมาส 1/56 ยังโตได้

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า แม้ตัวเลขอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/2556 ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ประกาศว่าขยายตัวร้อยละ 5.3 และการส่งออกขยายตัวร้อยละ 4.5 ถือเป็นการเติบโตในระดับที่น่าพอใจหากเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่เงินสกุลอ่อนค่าลง แต่ตัวเลขจีดีพี และการส่งออกยังต่ำกว่าประเทศไทย เช่น สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ไต้หวัน ซึ่งการชะลอตัวของเศรษฐกิจมาจากผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก ไม่ได้เป็นผลมาจากปัจจัยด้านหนึ่งเป็นการเฉพาะ ดังนั้น หากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ในวันที่ 29 พ.ค. นี้ ให้น้ำหนักกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจเป็นหลัก ก็มีช่องให้ กนง. สามารถลดอัตราดอกเบี้ยลงประมาณร้อยละ 0.25 เพื่อดูแลเศรษฐกิจได้ เนื่องจากแรงกดดันอีกด้านหนึ่งจากภาวะเงินเฟ้อไม่ได้มีน้ำหนักมาก เพราะอัตราเงินเฟ้อในไตรมาส 1/56 อยู่ที่ร้อยละ 2.9 ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 3

อย่างไรก็ตาม หากจะใช้อัตราดอกเบี้ยเพื่อมาดูแลค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นก่อนหน้านี้เชื่อว่า กนง. จะไม่ใช้ดอกเบี้ยแน่นอน เพราะกรอบการใช้อัตราดอกเบี้ยเพื่อดูแลความสมดุลและเสถียรภาพของเศรษฐกิจเท่านั้น การดูแลค่าเงินบาทควรใช้มาตรการเฉพาะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลัง ได้เตรียมไว้ ซึ่งแม้ว่าจะยังไม่มีมาตรการใดๆ เงินบาทก็อ่อนค่าลงแล้ว และปริมาณเงินทุนไหลเข้าทั้งในตลาดตราสารหนี้ และตลาดหุ้นก็ชะลอลงค่อนข้างชัดเจน และทิศทางเงินบาทก็มีทั้งแข็งค่าและอ่อนค่า ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่เข้ามากระทบ โดยปัจจัยที่มีผลมากที่สุดคือ ความชัดเจนเรื่องการลดขนาดวงเงินซื้อสินทรัพย์ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) หรือ QE หากเฟดลด QE จริง เงินดอลลาร์สหรัฐจะกลับมาแข็งค่า ความน่าสนใจของตลาดหุ้น และตลาดตราสารหนี้ในเอเชียก็จะลดลง เงินทุนต่างชาติก็ไหลกลับไปลงทุนในสหรัฐฯ แทน ทำให้เงินบาทมีทิศทางที่จะกลับมาอ่อนค่าได้ ดังนั้น ทิศทางเงินบาทจึงยังมีความผันผวน

นายเชาว์ กล่าวว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังไม่มีการปรับอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย คาดว่าจีดีพีปีนี้จะเติบโตร้อยละ 4.8 และการส่งออกขยายตัวร้อยละ 7 โดยเชื่อว่าการส่งออกในครึ่งปีหลังจะมีทิศทางที่ดีขึ้น เพราะได้แรงส่งจากการเริ่มการลงทุนตาม พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ของรัฐบาล ที่จะเริ่มเห็นในไตรมาส 4 ปีนี้มาสนับสนุน

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ในวันที่ 29 พ.ค.2556 กนง. สามารถที่จะตัดสินใจคง หรือลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายก็ได้ แต่ส่วนตัวเห็นว่า กนง. น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 2.75 เพราะแม้ว่าอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไตรมาสแรกปีนี้ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ประกาศว่าโตร้อยละ 5.3 จะต่ำกว่าที่คาดการณ์ แต่ก็ถือว่าเป็นอัตราการขยายตัวที่ใช้ได้ ไม่ได้ต่ำจนเกินไป ยังอยู่ในระดับร้อยละ 5

ดังนั้น เห็นว่า กนง. ควรเก็บนโยบายดอกเบี้ยไว้ใช้ในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวลงมากกว่านี้ และดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.75 ก็ยังต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 3 ดังนั้น หาก กนง. ลดดอกเบี้ยลงอีก จะยิ่งทำให้ดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบมากขึ้น ซึ่งเป็นการไม่สนับสนุนการออมในประเทศ ทำให้ผู้มีเงินออมนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้น และอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังมีสัญญาณฟองสบู่ ประกอบกับขณะนี้ค่าเงินบาทเริ่มอ่อนค่าลงมาอยู่ที่ระดับ 29.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ดีขึ้นกว่าในช่วงเดือนเมษายนที่แข็งค่ามาถึงระดับ 28.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ประกอบกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการดูแลการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทได้ดี ดังนั้น แรงกดดันที่จะให้ กนง.ลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินบาทก็น้อยลง

อย่างไรก็ตาม หาก กนง. จะตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบายลงประมาณร้อยละ 0.25 ก็สามารถทำได้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวอย่างชัดเจน และเป็นการดูแลให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าอย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนการส่งออก
กำลังโหลดความคิดเห็น