xs
xsm
sm
md
lg

เผยสาเหตุ “ทองคำ” ปั่นป่วน เจอพิษ “คิวอี” แถมโดนกองทุนต่างชาติทุบราคา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“จิตติ” ชี้ทองปั่นป่วนเกิดจากการทุบราคาของกองทุนต่างชาติ ทองคำโลกหลุด 1,300 ดอลล์/ออนซ์ กระทบราคาในประเทศผันผวน ต้องปรับราคาถึง 15 รอบ ราคาลดไปบาทละ 800 บาท แนะชะลอซื้อขาย ด้านศูนย์วิจัยทองฯ ระบุ เกิดจาก “เฟด” ส่งสัญญาณลดขนาด “คิวอี” ฉุดทองคำโลกร่วงแรง เตือนราคาทองอาจลงได้อีก

นายจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมค้าทองคำ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. สมาคมค้าทองคำได้ประกาศปรับราคาขายทองคำถึง 15 ครั้ง โดยปรับครั้งล่าสุดเมื่อเวลา 16.57 น. ทองคำแท่ง ขาย 19,150 บาท ทองรูปพรรณ ขาย 19,550 บาท ราคาลดลงถึง 800 บาท จากเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา

นายจิตติ มองว่า สาเหตุที่ราคาทองคำที่ผันผวน และปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วดังกล่าว น่าจะเกิดจากการทุบราคาของกองทุนต่างชาติ โดยราคาทองคำในตลาดโลกวันนี้ทำสถิติต่ำสุดหลุดระดับ 1,300 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ลงมาที่ 1,290 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ทำให้ราคาทองคำในประเทศร่วงลงตาม แต่เนื่องจากค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมาเคลื่อนไหวที่ 31.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จึงช่วยให้ราคาทองคำไม่ลดลงมาก

ด้านนายกมลธัญ พรไพศาลวิจิต ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ ระบุว่า การที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ยังคงนโยบายดอกเบี้ยต่ำ และมาตรการผ่อนปรนทางการเงิน (QE) และส่งสัญญาณชะลอ QE ในอนาคต ส่งผลราคาทองคำตลาดโลกปรับลดลงอย่างหนักมาแตะ 1,293 เหรียญสหรัฐต่อออนซ์

ทั้งนี้ การส่งสัญญาณชะลอ QE มีผลมากพอที่จะทำให้ตลาดตอบรับในเชิงลบ จะเห็นว่าราคาสินทรัพย์เสี่ยงปรับตัวลดลง ไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้น ทองคำ ราคาน้ำมัน ขณะที่เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี พุ่งขึ้นทันทีกว่า 6.5% สะท้อนนักลงทุนตอบสนองต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ขณะที่ศูนย์ฯ ประเมินว่า สัญญาณราคาทองคำจะเห็นชัดในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี หรืออย่างช้าช่วงไตรมาสแรกปี 2557

น.ส.ฐิภา นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด กล่าวว่า กลยุทธ์การลงทุนทองคำในช่วงนี้ นักลงทุนอาจต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมาก เนื่องจากราคาทองคำอยู่ในระดับที่ลงมาค่อนข้างเยอะ อาจเกิดแรงเหวี่ยงระหว่างวันค่อนข้างสูงได้ และยังคงเน้นให้นักลงทุนเก็งกำไรระยะสั้นเป็นสำคัญ และวางจุดตัดขาดทุนทุกครั้ง หากราคาทองคำหลุด 1,300 ดอลลาร์ต่อออนซ์ มีโอกาสลงมาที่แนวรับ 1,250-1,220 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือบาทละ 18,500-18,000 บาท
กำลังโหลดความคิดเห็น