xs
xsm
sm
md
lg

แนวโน้มเศรษฐกิจหลังประชุม กนง. by จีที เวลธ์ แมเนจเมนท์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


         สวัสดีครับย่างเข้าสู่ครึ่งหลังของปี ซึ่งถ้าเปรียบเทียบมุมมองที่มีต่อเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งแรกกับครึ่งหลังของปี ดูจะแตกต่างกันเป็นหนังคนละม้วน โดยถ้าเราจำกันได้ในช่วงต้นปีการประเมินเศรษฐกิจในมุมมองต่าง ๆ ดูจะค่อน ไปในเชิงบวกมาก ทั้งในด้านการบริโภค การส่งออก การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในต่างประเทศ รวมถึงแผนการลงทุนภาครัฐ ซึ่งจากการประเมินของคณะกรรมการนโยบายทางการเงินในการประชุมวันที่ 20 กุมภาพันธ์ก็มองว่าเศรษฐกิจโลกมีเสถียรภาพมากขึ้นขณะที่เศรษฐกิจจีนและ เศรษฐกิจเอเชียยังขยายตัวได้ดีจากอุปสงค์ในประเทศ แต่วันนี้เราคงเห็นค่อนข้างชัดแล้วว่าแนวโน้มเศรษฐกิจที่เราเคยมองว่าสดใสใน ปีนี้เริ่มเปลี่ยนแปลงไปตามลำดับ โดยเฉพาะจะการส่งสัญญาณชะลอมาตรการ QE ของสหรัฐฯที่ทำให้มีการดึงเงินออกจากเอเชียและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่จำนวน มาก หลายประเทศต้องดำเนินการในการดูแลค่าเงินมากขึ้น ขณะที่ไทยเองก็ได้รับผลกระทบแบบเดียวกันคือมีเงินไหลออกทั้งจากตลาดหุ้นและ ตลาดตราสารหนี้ ทำให้ค่าเงินบาทที่เคยกังวลว่าแข็งค่าเกินไปกลายเป็นอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว และมีสัญญาณอื่นจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาตามลำดับ

โดยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายทางการเงินในครั้งต่อ ๆ มาก็เริ่มมีสัญญาณให้เห็นตามลำดับ อย่างการประชุมในวันที่ 3 เมษายน เริ่มมีความกังวลเรื่องวิกฤตเศรษฐกิจยูโรโซน ขณะปัจจัยในประเทศยังมองรายได้ภาคครัวเรือนและการจ้างงานในระดับสูงเป็น ปัจจัยสนับสนุน ต่อด้วยแถลงผลการประชุมในวันที่ 29 พฤษภาคม ที่ผ่านมาที่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 25 basis point หรือ 0.25% จาก 2.75% เป็น 2.50% โดยเริ่มมองว่าเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวล่าช้ากว่าที่คาดไว้ก่อนหน้า ขณะที่เศรษฐกิจจีนและเอเชียขยายตัวต่ำกว่าคาดเช่นกัน ส่งผลต่อการส่งออกไทย มีความกังวลเรื่องเงินทุนเคลื่อนย้ายเข้าสู่ภูมิภาค ด้านปัจจัยในประเทศมองโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐล่าช้า อุปสงค์ในประเทศขยายตัวต่ำส่วนแรงกดดันเงินเฟ้อลดลง ทำให้คณะกรรมการตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง โดยมีการประเมินว่ามีแรงกดดันทางการเมืองหรือไม่จุดนี้คงตอบแทนคณะกรรมการ ทั้ง 7 ท่านไม่ได้แต่สิ่งที่เห็นคือเงื่อนไขทางเศรษฐกิจมีการปรับเปลี่ยนไปจริงจาก การประชุม 2 ครั้งก่อนหน้า

          ล่าสุดผลการประชุม กนง. วันนี้ผลออกมาตามที่คาดกันไว้ก่อนหน้าคือคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.50% พร้อมปรับลดเป้า GDP ลงซึ่งอาจจะต่ำกว่า 5% จากเดิมที่ประมาณไว้ 5.1% โดยมองว่าอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันเหมาะสมกับเศรษฐกิจไทย และยังเป็นระดับที่เป็นการผ่อนคลาย และพร้อมที่จะปรับนโยบายดอกเบี้ยในอนาคตหากเศรษฐกิจโลกและอุปสงค์ในประเทศลด ลงอย่างมากในอนาคต สะท้อนว่าครึ่งหลังของปีเศรษฐกิจไทยอาจจะไม่สวยสดงดงามมากนักจาก 2 ประเด็นกดดัน ประการแรกคือการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งโดยส่วนตัวผมก็เชื่อว่าจะชะลอลงจริงทั้งจากอุปสงค์ที่ชะลอตามเศรษฐกิจ และผลที่เกิดจากการคุมนโยบายมากขึ้นเพื่อป้องกันปัญหาจากการชะลอมาตรการ QE ของสหรัฐฯ ความผันผวนในตลาดจากการโยกย้ายของเงินจะทำให้ระดับความเชื่อมั่นในการลงทุน อาจจะชะลอตามด้วย ขณะที่ภาครัฐเองก็เร่งใช้จ่ายได้ลำบากจากเงื่อนไขทางกฏหมายและการเมือง ด้านการส่งออกก็ชะลอตามอุปสงค์ของคู่ค้าหลักทั้งจีนและยุโรป ประการที่สองคือด้านการบริโภคในประเทศ ซึ่งก็จะไปเชื่อมโยงกับสิ่งที่ ธปท. กังวลคือระดับหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นจะไปเบียดบังการบริโภคและทำให้การ เติบโตทางเศรษฐกิจพึ่งพาอุปสงค์ในประเทศได้ลดลงจากที่คาดการณ์กันไว้

         สำหรับตลาดการลงทุนในช่วงครึ่งหลัง จะหวังว่าตลาดจะสดใสเหมือนไตรมาสแรกของปีคงเป็นไปไม่ได้จากเงื่อนไขเศรษฐกิจ ในปัจจุบัน แต่ก็คงไม่ได้เลวร้ายมากนักถ้าประเมินจากสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน โดยผมเชื่อว่าอนิสงค์การเติบโตของกำไรในไตรมาส 1-2 จะช่วยให้ผลประกอบการทั้งปียังเติบโตได้ในเกณฑ์ที่ดี แม้จะมีการชะลอตัวลงในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งถ้าชะลอลงแรงจริงก็เชื่อว่าน่าจะมีการผ่อนคลายนโยบายทางการเงินและการ ใช้จ่ายด้านการคลังเพื่อช่วยหนุนเพราะปัจจุบันทั้ง ธปท. และรัฐบาลยังพอมีกระสุนเหลืออยู่บ้างแม้จะไม่มากนัก แต่สิ่งที่เลี่ยงไม่ได้คือความผันผวนโดยเฉพาะกับค่าเงินบาทที่เราต้องรับกับ เงินทุนไหลเข้าออกตลอดช่วงครึ่งหลังของปีจากผลกระทบเรื่องการชะลอหรือไม่ ชะลอ QE

วันนี้ลากันไปก่อนครับ สำหรับนักลงทุนที่สนใจการลงทุนในตราสารอนุพันธ์อย่าง SET50 Index Futures, Gold - Silver futures รวมถึงอนุพันธ์อื่น ติดต่อได้ที่ GT Wealth Management 02-673-9911 ต่อ 250
กมลธัญ พรไพศาลวิจิต
ผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัท จีที เวลธ์ แมเนจเมนท์ จำกัด และ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ
กำลังโหลดความคิดเห็น