xs
xsm
sm
md
lg

คาด กนง.คงดอกเบี้ยที่ 2.50% เอื้อ ศก.โต จับตาหนี้ครัวเรือน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาด กนง.คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.50% ระบุอยู่ในอัตราที่เหมาะสมต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ ไม่กระทบเสถียรภาพระยะยาว จับตาคุณภาพหนี้ครัวเรือน ลด QE

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในการประชุมรอบที่ 5 ของปี 2556 ในวันที่ 10 กรกฎาคม 2556 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) น่าจะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% หลังจากที่ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ในการประชุมครั้งก่อนหน้า ถึงแม้ว่าพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยในระยะที่ผ่านมาเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลงก็ตาม ทั้งนี้ เนื่องจากระดับอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันยังถือว่าเป็นระดับที่ผ่อนคลายเพียงพอที่จะสนับสนุนการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพในระยะยาว

และ กนง. คงจะติดตามพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไปอย่างใกล้ชิด เพื่อใช้ชั่งน้ำหนักในการตัดสินใจเชิงนโยบายให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองไปข้างหน้าแล้วคงต้องยอมรับว่า การตัดสินใจทิศทางนโยบายการเงินของ กนง. เผชิญข้อจำกัดมากขึ้น โดยแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานใกล้เคียงกับกรอบล่างของอัตราเงินเฟ้อเป้าหมาย แต่การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ท่ามกลางภาวะที่ราคาสินทรัพย์ และหนี้ภาคครัวเรือนปรับตัวเร่งสูงขึ้น อาจนำไปสู่ความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจในระยะยาว รวมถึงการปรับล QE ซึ่งจะทำให้ตลาดเงินเกิดความผันผวน ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มีผลต่อการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยในอนาคต

อย่างไรก็ดี ด้วยพื้นฐานทางเศรษฐกิจไทยที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง และมีเสถียรภาพ รวมถึงแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐที่อยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมาย ก็คงมีส่วนให้เศรษฐกิจไทยสามารถปรับตัว ท่ามกลางความผันผวนของสภาวะเศรษฐกิจ และการเงินที่อาจจะเกิดขึ้นต่อไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวอย่างแข็งแกร่งในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งคงส่งผลให้เศรษฐกิจไทยสามารถรักษาระดับการเติบโตได้อย่างต่อเนื่องในระยะถัดไป

ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินรับฝาก และเงินให้กู้ยืมของธนาคารพาณิชย์ ท่ามกลางโอกาสการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท.ต่อเนื่องนั้น คาดว่าคงมีการเคลื่อนไหวตามสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ แนวโน้มสินเชื่อ และการรักษาส่วนแบ่งตลาด โดยต้องจับตาสภาพคล่องในช่วงที่เหลือของปี ท่ามกลางความต้องการสินเชื่อของภาครัฐ และเอกชน
กำลังโหลดความคิดเห็น